ทุ่ม 1.4แสนล. แหลมฉบังเฟส3 รับ EEC กลางปีเปิดประมูลPPP-ต่างชาติ4รายสนใจร่วมทุน

อัปเดตล่าสุด 26 ก.พ. 2561
  • Share :
  • 458 Reads   

การท่าเรือฯเร่งเดินหน้าโครงการขยายท่าเรือแหลมฉบัง เฟส 3 มูลค่าลงทุน 1.3 แสนล้าน ตั้งเป้าเปิดให้บริการเต็มรูปแบบปี'68 รองรับปริมาณตู้สินค้าเพิ่มขึ้นถึง 7 ล้านทีอียู/ปี เผยทุนต่างชาติ 4 ราย สนใจร่วมลงทุน PPP ก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน-บริหารท่าเรือ เริ่มสนใจแล้ว 4 ราย พร้อมทั้งมุ่งสู่การชิปโหมดทางรถไฟ-เรือ หวังลดปัญหาการจราจร

 

นางพรทิพา ทวีนุช ผู้อำนวยการกองบริหารงานทั่วไป ท่าเรือแหลมฉบัง การท่าเรือแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า การท่าเรือฯอยู่ระหว่างผลักดันโครงการก่อสร้างท่าเรือแหลมฉบัง เฟส 3 ในพื้นที่ท่าเรือแหลมฉบัง ท่าเรือน้ำลึกหลักของไทย ซึ่งมีเนื้อที่รวมทั้งหมด 6,340 ไร่ เป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) ที่รัฐบาลกำลังเร่งดำเนินการ ทั้งนี้ ท่าเรือแหลมฉบัง เฟส 3 จะมีส่วนสำคัญยิ่งในการอำนวยความสะดวกเรื่องของการนำเข้า-ส่งออกสินค้าระหว่างประเทศ

โดยท่าเรือแหลมฉบังเป็นแลนด์ลอร์ดพอร์ต คือเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ มีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ทั้งการถมทะเลเพิ่มพื้นดินสำหรับเป็นท่าเทียบเรือ และการขุดลอกร่องน้ำเพิ่มความลึกของร่องน้ำให้สามารถรองรับเรือขนาดต่าง ๆ ได้ ตามแผนที่วางไว้จะเชิญชวนภาคเอกชนเข้ามาเป็นผู้บริหาร และลงทุนในซูเปอร์อินฟราสตรักเจอร์ต่าง ๆ ด้วยวิธีการร่วมลงทุนในรูปแบบ PPP เช่น ระบบไอที รวมทั้งการบริหารจัดการด้านอื่น ๆ

 

เร่งเฟส 3 ทุ่มลงทุน 1.4 แสน ล.

 

สำหรับโครงการท่าเรือแหลมฉบัง เฟส 3 มูลค่าการลงทุนรวมกว่า 1.4 แสนล้านบาท ขณะนี้ได้จัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) เสร็จเรียบร้อยแล้ว อยู่ระหว่างขั้นตอนการพิจารณาของสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) คาดว่า สผ.จะใช้ระยะเวลาในการพิจารณา 6 เดือน จากนั้นจะนำเข้าสู่ขั้นตอนการพิจารณาภายใต้โครงการ EEC Fast Track ประมาณกลางปี 2561 จะเปิดหาผู้ประกอบการภาคเอกชน เพื่อเข้ามาทำเทอร์มินอลโอเปอเรเตอร์ และไม่เกินต้นปี 2562 จะได้ตัวผู้ประกอบการ หลังจากนั้นจะประมูลหาผู้ก่อสร้าง ซึ่งคาดว่าไม่เกินต้นปี 2562 จะเดินหน้าก่อสร้างได้ ใช้เวลาในการก่อสร้าง 4-5 ปี รวมระยะเวลาทั้งการติดตั้งเครื่องมือ และสรรหาผู้ประกอบการ ไม่เกินปี 2568 ท่าเทียบเรือท่าแรกของท่าเรือแหลมฉบัง ขั้นที่ 3 จะสามารถเปิดให้บริการเต็มรูปแบบ 

ขณะนี้มีนักลงทุน 2 ส่วนแสดงความสนใจโครงการขายท่าเรือแหลมฉบัง เฟส 3 ได้แก่ 1.ผู้สนใจก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ถมทะเล ขุดลอกร่องน้ำ และ 2.ผู้สนใจเข้ามาบริหารจัดการส่วนเทอร์มินอล รวมถึงมีนักลงทุนที่สนใจเข้ามาลงทุนในโครงการ EEC ที่ต้องการความมั่นใจว่าประตูส่งออกสินค้าสามารถรองรับจำนวนตู้สินค้าที่จะเพิ่มมากขึ้นในอนาคตได้

นายจำเริญ โพธิยอด ผู้ตรวจราชการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า นอกจากนักลงทุนไทยแล้ว นักลงทุนจากต่างประเทศก็เข้ามาว่าโครงการนี้มีความเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน และรายละเอียดโครงการเป็นอย่างไร ในจำนวนนี้มีทั้งกลุ่มที่สนใจเทอร์มินอลโอเปอเรเตอร์ และกลุ่มที่สนใจงานก่อสร้าง สำหรับมูลค่าลงทุนโครงสร้างพื้นฐานอยู่ที่ 5.4 หมื่นล้านบาท ในจำนวนนี้มีกลุ่มใหญ่ ๆ เข้ามาประมาณ 4 ราย

 

เพิ่มความสามารถรองรับตู้สินค้า

 

นางพรทิพากล่าวว่า โครงการท่าเรือแหลมฉบัง เฟส 3 จะเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับตู้สินค้าได้มากถึง 7 ล้านทีอียู/ปี มากกว่าเฟสที่ 1 และ 2 ที่อยู่ที่ 4.3 และ 6.8 ล้านทีอียู/ปี ตามลำดับ ขณะที่ปัจจุบันมีตู้สินค้าเข้ามาประมาณ 7.6 ล้านทีอียู/ปี อย่างไรก็ตาม ปริมาณตู้สินค้ามีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ประมาณปีละ 5% หากไม่ดำเนินการเฟส 3 คาดว่าภายในปี 2563-2564 จำนวนตู้สินค้าก็เต็มขีดความสามารถของทั้งเฟส 1 และ 2 ที่รับได้เพียง 10.8 ล้านทีอียู/ปี

แม้ว่าท่าเทียบเรือกว่า 14 ท่าในท่าเรือแหลมฉบัง ประมาณ 90% จะเป็นท่าเทียบเรือคอนเทนเนอร์ แต่ยังมีสินค้ารถยนต์เป็นอีกหนึ่งสินค้าสำคัญ จึงต้องเร่งขยายท่าเรือรองรับเพิ่ม โดยสินค้ารถยนต์ประมาณ 98% ของไทยนำเข้าและส่งออกที่ท่าเรือแหลมฉบัง มีทั้งส่งออกไปตลาดหลักแถบยุโรป และออสเตรเลีย และตลาดรองในเอเชีย ได้แก่ อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น และแอฟริกาใต้ ทั้งนี้ ไทยถือเป็นอันดับ 5 ของโลกที่มีการส่งออกรถยนต์ โดยปี 2560 มีปริมาณรถยนต์เข้าท่าเรือกว่า 1.3 ล้านคัน ขณะที่ความสามารถในการรองรับอยู่ที่ 1.9 ล้านคัน/ปี แต่หากท่าเรือแหลมฉบัง เฟส 3 แล้วเสร็จ จะเพิ่มขีดความสามารถรองรับรถยนต์ได้ถึง 3 ล้านคัน/ปี

 

เน้นขนส่งทางรถไฟ-เรือ

 

ขณะเดียวกันจากที่ปัจจุบันโหมดการขนส่งในท่าเรือแหลมฉบังมี 3 โหมด ได้แก่ ทางรถบรรทุก 87.5% ทางเรือชายฝั่ง 7% และทางรถไฟ 5.5% จะเห็นว่าการขนส่งหลักยังคงเป็นทางรถบรรทุก ส่งผลให้เกิดปัญหาการจราจรแออัด ส่วนนี้การท่าเรือฯตระหนักและให้ความสำคัญเป็นพิเศษ โดยได้จัดทำโครงการเพื่อชิปโหมดการขนส่งตู้ให้มาขนส่งทางชายฝั่งและทางรถไฟแทน เพื่อบรรเทาการจราจรแออัดบริเวณโดยรอบท่าเรือแหลมฉบัง

นอกจากนี้ ท่าเรือแหลมฉบังได้พัฒนาอีก 2 โครงการ คือ

1.โครงการพัฒนาศูนย์การขนส่งตู้สินค้าทางรถไฟ (Single Rail Transfer Operator) เพื่อเพิ่มสัดส่วนการขนส่งตู้สินค้าทางรถไฟให้มากขึ้น เนื่องจากปัจจุบันมีการขนถ่ายทางรถไฟปีละประมาณ 4 แสนทีอียู โดยจะลงทุนรางรถไฟให้เป็น 6 แทร็ก และติดตั้งปั้นจั่นยกตู้สินค้าชนิดเดินบนรางคร่อมรางรถไฟ (Rail Mounted Gantry Crane : RMG) โดยมีอัตราค่าภาระที่จูงใจผู้ประกอบการ เพื่อให้สามารถแข่งกับการขนส่งทางถนนได้

คิดค่าบริการอัตราต่ำดึงลูกค้า

โดยคิดอัตราการต่ำสุดอยู่ที่ 376 บาท และอัตราขั้นสูงที่ 830 บาทต่อตู้ ในจำนวนนี้รวมถึงค่ายกจากรถไฟและค่าลากไปเทอร์มินอลโอเปอเรเตอร์ด้วย ขณะนี้การก่อสร้างคืบหน้าไปแล้วกว่า 90% คาดว่าสามารถเปิดให้บริการได้ภายในปี 2562 ทั้งนี้ เมื่อแล้วเสร็จจะสามารถขนถ่ายตู้สินค้าได้มากถึงปีละ 3 ล้านทีอียูในระยะแรก หรือสามารถเพิ่มขึ้นจาก 7% เป็น 16-17% และจะเพิ่มขึ้นเป็น 6 ล้านทีอียูในอนาคต

2.โครงการท่าเทียบเรือชายฝั่ง (Coastal Terminal A) ปัจจุบันท่าเรือแหลมฉบังยังไม่ได้เป็นท่าเรือชายฝั่งเป็นการเฉพาะ เพราะส่วนใหญ่เป็นเรือขนส่งระหว่างประเทศ ฉะนั้นหากมีท่าเทียบเรือชายฝั่งเฉพาะ ให้เรือชายฝั่งที่มาจากทางภาคต่าง ๆ หรือทางแม่น้ำเจ้าพระยา สามารถขนส่งตู้มาที่แหลมฉบังได้ จะสามารถช่วยลดความแออัดบนท้องถนนได้มาก ซึ่งโครงการนี้สามารถรองรับได้ 3 แสนทีอียู/ปี ขณะนี้ก่อสร้างคืบหน้าแล้ว 98% คาดว่าไม่เกินปลายปี 2561 จะสามารถเปิดให้บริการได้

ด้านนายจำเริญ โพธิยอด ผู้ตรวจราชการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า นอกจากนักลงทุนไทยแล้ว นักลงทุนจากต่างประเทศก็สนใจเข้ามาลงทุนโครงการขยายท่าเรือแหลมฉบัง เฟส 3 เห็นได้จากหลายรายเข้ามาสอบถามรายละเอียดโครงการ ในจำนวนนี้มีทั้งกลุ่มที่สนใจเทอร์มินอลโอเปอเรเตอร์ และกลุ่มที่สนใจงานก่อสร้าง สำหรับมูลค่าลงทุนโครงสร้างพื้นฐานอยู่ที่ 5.4 หมื่นล้านบาท ในจำนวนนี้มีกลุ่มใหญ่ ๆ เข้ามาประมาณ 4 ราย