เตรียมตัว! ไต้หวันกำหนดอัตราภาษีเงินได้สำหรับคนต่างชาติที่ทำงานในไต้หวัน

อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2562
  • Share :
  • 1,580 Reads   

ปัจจุบัน ไต้หวันไม่เพียงเป็นจุดหมายด้านการท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยมจากคนไทยแต่ยังถือเป็นตัวเลือกประเทศแรก ๆ สำหรับคนไทยเพื่อไปทำงานยังต่างประเทศด้วย เห็นได้จากสถิติกรมการจัดหางาน กองบริหารแรงงานไทยไปต่างประเทศระบุว่าจากจำนวนแรงงานไทยในต่างประเทศในเดือนกันยายน 2562 ทั้งหมด 156,822 คน มีแรงงานไทยจำนวนมากถึง 69,956 คน ที่ทำงานในไต้หวัน ซึ่งถือเป็นมีจำนวนมากที่สุดในกลุ่มประเทศเอเชียและเอเชียใต้ อย่างไรก็ตาม แม้ว่าการทำงานต่างประเทศจะมีหลายปัจจัยที่ต้องคำนึงถึง อาทิ การชีวิตในสภาพแวดล้อมใหม่ ๆ หรือการพบคนต่างชาติต่างภาษา อย่างไรก็ตาม มีหนึ่งปัจจัยที่หลาย ๆ คนมักมองข้าม ซึ่งเป็นปัจจัยที่สำคัญและหลีกเลี่ยงไม่ได้เลย นั่นก็คือเรื่องภาษีเงินได้ และถึงแม้บางบริษัทจะมีคนช่วยจัดการ

แต่ผู้มีหน้าที่เสียภาษีทุกคนก็ควรศึกษาไว้เพื่อรักษาประโยชน์ของตนเอง คนไทยที่ทำงานในต่างประเทศนั้น จะต้องพิจารณาหลักเกณฑ์ในการจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของประเทศที่เข้าไปทำงาน ซึ่งหลักใหญ่ ๆ จะต้องทราบว่าประเทศที่เข้าไปทำงานนั้นกำหนดการจัดเก็บภาษีบุคคลธรรมดาจากฐานเงินได้ของบุคคลดังกล่าวที่เกิดขึ้นทั่วโลก หรือเฉพาะฐานเงินได้ที่เกิดในประเทศของผู้จัดเก็บภาษีเท่านั้น รวมถึงอัตราภาษีที่แต่ละประเทศเป็นคนกำหนดด้วย
 
ไต้หวันได้กำหนดให้ผู้ที่อาศัยอยู่ในไต้หวันตั้งแต่ 90 วันขึ้นไป มีหน้าที่ต้องเสียภาษีตามอัตราที่กำหนด โดยผู้มีหน้าที่เสียภาษีต้องยื่นแบบแสดงรายการเงินได้ตลอดปี 2562 และดำเนินการจ่ายหรือขอคืนภาษีระหว่างวันที่ 1 – 30 พฤษภาคม 2563 โดยผู้ที่อยู่ในประเทศเกินกว่า 90 วัน แต่น้อยกว่า 183 วันจะถือว่าเป็นผู้เสียภาษีในประเภท non-resident โดยเมื่อปี 2561 ไต้หวันได้กำหนดให้เสียภาษีที่ร้อยละ 18 โดยจะต้องเสียภาษีในส่วนของรายได้จากทั้งในและนอกไต้หวันในส่วนที่เกี่ยวข้องกับภารกิจในประเทศ อย่างไรก็ตามรายได้จากแหล่งรายได้นอกไต้หวันดังกล่าวจะได้รับการยกเว้นภาษีหากได้รับการระบุให้ยกเว้นภาษีในสนธิสัญญาหรือกฎหมายภายในของไต้หวันที่เกี่ยวข้อง ส่วนผู้ที่อยู่ในไต้หวันเกินกว่า 183 วันขึ้นไป จะถือเป็นผู้เสียภาษีในประเภท resident ซึ่งรายได้ทั้งหมดในไต้หวันจะต้องหักภาษีและบุคคลดังกล่าวต้องนำรายได้ที่ได้มาจากต่างประเทศคำนวณรวมกับรายได้ไต้หวันด้วย โดยในแต่ละปีจะต้องจ่ายภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามอัตราขั้นบันไดตั้งแต่ร้อยละ 5 ถึงร้อยละ 40 ที่กำหนด

ดังนี้ (1) ผู้ที่มีรายได้ระหว่าง 0-540,0000 ดอลลาร์ไต้หวัน (NTD) ต้องเสียภาษีที่ร้อยละ 5 (2)ผู้ที่มีรายได้ระหว่าง 540,0000-1,210,000 NTD ต้องเสียภาษีที่ร้อยละ 12 (3) ผู้ที่มีรายได้ระหว่าง 1,210,000-2,420,000  NTD ต้องเสียภาษีที่ร้อยละ 20 (4) ผู้ที่มีรายได้ระหว่าง 2,420,000-4,530,000 NTD ต้องเสียภาษีที่ร้อยละ 30 และ (5) ผู้ที่มีรายได้ตั้งแต่ 4,530,000 NTD ขึ้นไป ต้องเสียภาษีที่ร้อยละ 40

ส่วนภาษีสำหรับในกรณีของหุ้นนั้นจะถือว่าเป็นรายได้อื่น ๆ ที่จะต้องหักภาษีด้วย อย่างไรก็ตามอัตราภาษีดังกล่าวจะจำกัดเฉพาะบุคคลต่างชาติในไต้หวันเท่านั้น  นอกจากนี้ผู้ที่ต้องเสียภาษีเองก็ยังสามารถตรวจสอบสิทธิประโยชน์ในการที่จะได้รับการยกเว้นลดหย่อนและลดหย่อนพิเศษ ซึ่งเงินได้ที่จะได้รับการยกเว้นภาษีเหล่านี้มีอยู่หลายกรณีที่สำคัญ ดังเกณฑ์ต่อไปนี้

1. กรณีเงินที่ได้รับการยกเว้น ผู้มีหน้าที่เสียภาษีจะได้รับสิทธิยกเว้นเงินได้จำนวน 88,000 NTD หากผู้เสียภาษีมีคู่สมรสหรือบุคคลที่อยู่ในอุปการะ จะได้สิทธิลดหย่อนเพิ่มอีกคนละ 88,000 NTD (แต่หากมีคู่สมรสหรือบุพการีอายุเกิน 70 ปี จะสามารถลดหย่อนได้ถึง 132,000 NTD)

2. กรณีค่าลดหย่อน บุคคลสถานะโสดได้รับค่าลดหย่อนตามมาตรฐานคนละ 120,000 NTD และสถานะสมรสได้รับค่าลดหย่อนตามมาตรฐาน 240,000 NTD (ถึงแม้ว่าจะมีเพียงคนใดคนหนึ่งมีรายได้ก็ตาม) โดยมีค่าลดหย่อนตามรายการ ได้แก่ (1) เงินบริจาค หักได้สูงสุดไม่เกินร้อยละ 20 ของรายได้ (2) เบี้ยประกันสูงสุด 24,000 NTD ต่อคน (3) ค่ารักษาพยาบาลและค่าคลอดบุตร ไม่จำกัดตามเงื่อนไข (4)ดอกเบี้ยเงินกู้ยืมสำหรับที่อยู่อาศัย สูงสุด 300,000 NTD (5) ความเสียหายจากภัยพิบัติ แต่ผู้มีหน้าที่เสียภาษีจะไม่ได้สิทธิลดหย่อน หากได้รับการเยียวยาจากประกันแล้ว และ (6) ค่าเช่าที่อยู่อาศัยสูงสุด 120,000 NTD นอกจากนี้ ยังมีค่าลดหย่อนพิเศษ ได้แก่ (1) เงินขาดทุนจากการโอนทรัพย์สิน (Property Transaction Losses) จะสามารถลดหย่อนได้ช่วงเวลา 3 ปี (2) รายได้หรือเงินเดือน สามารถเรียกร้องได้สูงสุดไม่เกิน 200,000 NTD (3) เงินออมและเงินลงทุน 270,000 NTD (4) ผู้ทุพพลภาพ/อุปการะผู้ทุพพลภาพ 200,000 NTD ต่อคน (5) ค่าเล่าเรียนบุตร 25,000 NTD ต่อคน ตามเงื่อนไข และ (6) บุตรก่อนวัยเรียน 120,000 NTD ต่อคน

อย่างไรก็ตาม ผู้มีหน้าที่เสียภาษีมีสิทธิระหว่างค่าลดหย่อนมาตรฐานกับค่าลดหย่อนตามรายการอย่างใดอย่างหนึ่งเท่านั้น และหากผู้มีถิ่นพำนักในไต้หวันมีความตั้งใจจะออกเดินทางและจะไม่กลับภายในปีเดียวกัน จำนวนเงินที่ได้รับการยกเว้น การลดหย่อนมาตรฐาน และค่าครองชีพขั้นพื้นฐาน จะคำนวณตามสัดส่วนของจำนวนวันทั้งหมดที่พำนักอยู่ในไต้หวัน โดยที่ผู้มีหน้าที่เสียภาษีจะต้องยื่นแบบฟอร์มเงินได้และชำระภาษีก่อนเดินทาง 7 วัน และสรรพกรท้องที่จะคืนเงินภาษีส่วนที่จ่ายเกินให้เป็นเช็คหลังจากการยื่นแบบฟอร์มแล้ว 4 เดือน
 
ผู้เสียภาษีควรเตรียมเอกสารต่าง ๆ ที่ใช้ประกอบการยื่นคำร้อง โดยแรงงานไทยผู้ขอภาษีคืนจะต้องกรอกรายละเอียดในแบบฟอร์มบันทึกการสอบข้อเท็จจริงกรณีการจ่ายเงินค่าภาษีไต้หวันส่วนที่จ่ายเกิน เพื่อขอเงินคืนภาษีและแนบเอกสารที่จำเป็น ประกอบด้วย (1) สำเนาหนังสือเดินทางฉบับที่ใช้เดินทางมาทำงานที่ไต้หวัน (2) สำเนาบัตรแสดงถิ่นที่อยู่หรือบัตรประจำตัวแรงงานต่างด้าว ในกรณีที่ไม่มีบัตร ผู้มีหน้าที่เสียภาษีจะต้องมีที่อยู่นายจ้างที่ชัดเจนและถูกต้อง (3) หนังสือมอบอำนาจการขอรับเงินคืนภาษีที่เป็นภาษาจีน พร้อมทั้งลงลายมือชื่อให้เหมือนในหนังสือเดินทาง และ (4) สำเนาเลขที่บัญชีเงินฝากที่จะให้โอนเงินเข้า ซึ่งควรจะเป็นบัญชีในชื่อของคนงานผู้ร้อง และจะต้องไม่ปิดบัญชีที่แจ้งไว้ ทั้งนี้ ผู้อ่านสามารถไปอ่านกฎหมายฉบับเต็มได้ที่
 
https://www.ntbt.gov.tw/etwmain/front/ETW118W/CON/1687/6206174845235233933


อ่านบทความ และรับข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่  : ศูนย์ธุรกิจสัมพันธ์ กรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ www.globthailand.com