สศอ. เคาะ 6 แนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรม มุ่งปรับโครงสร้างภาคการผลิต

สศอ. เคาะ 6 แนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรม มุ่งปรับโครงสร้างภาคการผลิต

อัปเดตล่าสุด 29 มี.ค. 2565
  • Share :
  • 1,719 Reads   

สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม เผยแผนงานบูรณาการพัฒนาอุตสาหกรรมและบริการแห่งอนาคต พ.ศ. 2566 เคาะ 6 แนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรม เพื่อปรับโครงสร้างภาคการผลิตและบริการไปสู่การเป็นเศรษฐกิจฐานนวัตกรรม ยกระดับความสามารถการแข่งขันภาคในด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยี มุ่งสร้างงานสร้างรายได้และฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศไทย

วันที่ 29 มีนาคม 2565 นายทองชัย ชวลิตพิเชฐ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) กล่าวว่า สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม ในฐานะเจ้าภาพแผนงานบูรณาการพัฒนาอุตสาหกรรมและบริการแห่งอนาคต มีแนวทางในการขับเคลื่อนการพัฒนาอุตสาหกรรมและบริการแห่งอนาคต ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 โดยให้ความสำคัญกับการเชื่อมโยงและการบรรลุเป้าหมายตามยุทธศาสตร์ชาติ เพื่อขับเคลื่อนให้ประเทศไทยมีขีดความสามารถในการแข่งขันที่สูงขึ้นจึงได้กำหนดแนวทางการพัฒนาสำคัญ คือ การต่อยอดนวัตกรรมในอุตสาหกรรมเป้าหมาย (Product Innovation / Capability) การนำนโยบาย BCG มาขับเคลื่อนการพัฒนาอุตสาหกรรมไปสู่ความยั่งยืน (BCG Model) และการส่งเสริมการใช้เทคโนโลยี Smart System เพื่อปรับโครงสร้างภาคการผลิตและบริการไปสู่การเป็นเศรษฐกิจฐานนวัตกรรมและสามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืน โดยแผนงานบูรณาการพัฒนาอุตสาหกรรมและบริการแห่งอนาคต ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ประกอบด้วย 6 แนวทาง ดังนี้

1. ส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมชีวภาพและอุตสาหกรรมอาหารแห่งอนาคต โดยมุ่งเน้นการส่งเสริม อุตสาหกรรมชีวภาพ ให้เกิดการพัฒนาผลิตภัณฑ์ชีวภาพให้มากขึ้น เช่น วัสดุชีวภาพทางการแพทย์ ชีวเภสัชภัณฑ์ สารสกัดสมุนไพร โอเลโอเคมี Smart Packaging รวมถึงการสร้างผู้ประกอบการและบุคลากรในอุตสาหกรรมชีวภาพเพื่อรองรับการผลักดันให้เกิดอุตสาหกรรมชีวภาพในไทยมากขึ้น ในขณะที่การส่งเสริมอุตสาหกรรมอาหารแห่งอนาคต     จะมุ่งเน้นการสร้างนวัตกรรมอาหารแห่งอนาคต (Future Food Innovation) โดยการสนับสนุนการถ่ายทอดและประยุกต์ใช้เทคโนโลยี (Process / Product / People) เพื่อแปรรูปอาหารอนาคต รวมทั้งการสร้างปัจจัยพื้นฐาน (Enabling) เช่น   การสร้างระบบตรวจสอบย้อนกลับ การสร้างระบบมาตรฐาน การสร้างตราสัญลักษณ์ Functional Food เป็นต้น

2. ส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมและบริการการแพทย์ครบวงจร มุ่งเน้นการเชื่อมโยงต่อยอดการวิจัย พัฒนาวัสดุอุปกรณ์และเครื่องมือแพทย์ของไทยสู่การผลิตเชิงพาณิชย์ ทำการตลาดหรือสร้างเครือข่ายร่วมกับโรงพยาบาลและเครือข่ายโรงพยาบาลกลุ่มสถาบันการแพทย์ศาสตร์แห่งประเทศไทยให้วัสดุอุปกรณ์และเครื่องมือแพทย์ที่ผลิตในประเทศเกิดการยอมรับในวงกว้าง

3. ส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมและบริการเทคโนโลยีดิจิทัล ข้อมูลปัญญาประดิษฐ์ หุ่นยนต์ ระบบอัตโนมัติ และอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ โดยการส่งเสริม อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ ระบบอัตโนมัติ จะเร่งพัฒนาบุคลากรและจัดทำมาตรฐานด้านฝีมือแรงงานและวิชาชีพให้มีเพียงพอรองรับกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรม รวมถึงการสร้างมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติให้ชิ้นส่วนหรืออุปกรณ์ที่ผลิตขึ้นในประเทศได้รับการยอมรับด้านมาตรฐาน ซึ่งจะเป็นการสร้างห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) ขึ้นในประเทศ ในขณะที่การส่งเสริมอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ จะให้ความสำคัญกับการพัฒนาทักษะด้าน IC/PCB/Sensor Design ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมต้นน้ำสำคัญและสร้างมูลค่าเพิ่มได้สูง รวมถึงการสร้างนวัตกรรมต้นแบบ ผลิตชิ้นส่วนและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ Sensor มูลค่าสูง หรือ Advanced IC  ให้สอดคล้องกับความต้องการที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น

4. ส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าและยานยนต์สมัยใหม่ มุ่งเน้นการพัฒนาทักษะให้แก่แรงงานและผู้ประกอบการเพื่อรองรับการปรับเปลี่ยนไปสู่ยานยนต์ไฟฟ้า ยานยนต์อัตโนมัติ และชิ้นส่วนยานยนต์สมัยใหม่ สนับสนุนการวิจัยพัฒนาเทคโนโลยี นวัตกรรมยานยนต์ไฟฟ้า ยานยนต์อัตโนมัติ และชิ้นส่วนยานยนต์สมัยใหม่ เพื่อสนับสนุนให้ประเทศไทยมีศักยภาพด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมตั้งแต่การออกแบบผลิตภัณฑ์ กระบวนการผลิต รวมไปถึงการพัฒนาชิ้นส่วนหรืออุปกรณ์ยานยนต์ไฟฟ้าและยานยนต์อัตโนมัติ

5. ส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมความมั่นคงของประเทศ มุ่งเน้นการพัฒนาอุตสาหกรรมป้องกันประเทศไปสู่การผลิตยุทโธปกรณ์และยุทธภัณฑ์ทางการทหารในเชิงพาณิชย์ รวมทั้งอุตสาหกรรมที่เป็นเทคโนโลยีสองทางที่สามารถต่อยอดเทคโนโลยีไปพัฒนาอุตสาหกรรมอื่น ๆ เพื่อลดการพึ่งพาด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมจากต่างประเทศ ตลอดจนลงทุนพัฒนาต่อยอดเป็นอุตสาหกรรมส่งออกต่อไป

6. พัฒนาระบบนิเวศอุตสาหกรรมและบริการแห่งอนาคต มุ่งเน้นการยกระดับสถานประกอบการ บุคลากรและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อรองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมแห่งอนาคตได้อย่างยั่งยืน

“แผนงานบูรณาการพัฒนาอุตสาหกรรมและบริการแห่งอนาคตเป็น 1 ใน 11 แผนงานบูรณาการประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ที่จะเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนแผนระดับชาติต่าง ๆ ให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม โดยมี หน่วยงานที่เข้าร่วมโครงการจำนวน  37 หน่วยงาน (8 กระทรวง 1 รัฐวิสาหกิจ 1 ส่วนราชการ) อย่างไรก็ดี การขับเคลื่อนแผนงานบูรณาการพัฒนาอุตสาหกรรมและบริการแห่งอนาคตให้เกิดผลได้อย่างเป็นรูปธรรมคงต้องได้รับการสนับสนุนงบประมาณในการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ภาคการผลิตของไทยสามารถยกระดับความสามารถในการแข่งขันด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยี รวมถึงเกิดการสร้างงาน สร้างรายได้ ซึ่งจะส่งผลต่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจของชาติได้ต่อไป” นายทองชัย กล่าว

 

บทความยอดนิยม 10 อันดับ

 

อัปเดตข่าวทุกวันที่นี่ www.mreport.co.th   

Line / Facebook / Twitter / YouTube @MreportTH