บอร์ดบีโอไอเคาะยุทธศาสตร์เชิงรุก 4 ปี ดันไทยสู่ฐานผลิตระดับโลก

บอร์ดบีโอไอเคาะยุทธศาสตร์เชิงรุก 4 ปี ดันไทยสู่ฐานผลิตระดับโลก

อัปเดตล่าสุด 11 ต.ค. 2566
  • Share :
  • 742 Reads   

บีโอไอเร่งขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ส่งเสริมการลงทุนเชิงรุก 4 ปี (พ.ศ. 2567 – 2570) ดึงลงทุน 5 กลุ่มอุตสาหกรรมสำคัญให้ก้าวสู่การเป็นฐานการผลิตระดับโลก ได้แก่ BCG ยานยนต์ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ ดิจิทัลและสร้างสรรค์ และส่งเสริมไทยเป็นศูนย์กลางธุรกิจ พร้อมผลักดันการเปลี่ยนผ่านประเทศสู่อุตสาหกรรมยุคใหม่

วันที่ 11 ตุลาคม 2566 นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ บีโอไอ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2566 ที่ประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บอร์ดบีโอไอ) นัดแรกภายใต้รัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ซึ่งได้มอบหมายให้นายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เป็นประธานบอร์ดบีโอไอ เพื่อขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ส่งเสริมการลงทุนเชิงรุกในระยะ 4 ปีข้างหน้า (พ.ศ. 2567 – 2570) โดยให้ความสำคัญกับ 5 อุตสาหกรรมยุทธศาสตร์ที่จะผลักดันประเทศไทยไปสู่เศรษฐกิจใหม่ ได้แก่ อุตสาหกรรมกลุ่ม BCG (โดยเฉพาะเกษตร อาหาร การแพทย์ และพลังงานสะอาด) อุตสาหกรรมยานยนต์ (โดยเฉพาะยานยนต์ไฟฟ้า) อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ (โดยเฉพาะต้นน้ำและอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ) อุตสาหกรรมดิจิทัลและสร้างสรรค์ และการส่งเสริมให้ไทยเป็นศูนย์กลางธุรกิจระหว่างประเทศ

นอกจากนี้ บีโอไอจะมุ่งขับเคลื่อน 5 วาระสำคัญเพื่อเปลี่ยนผ่านประเทศไทยให้ก้าวสู่การเป็นฐานการผลิตของอุตสาหกรรมชั้นนำระดับโลก ที่มุ่งตอบโจทย์กระแสการเปลี่ยนแปลงของโลก ได้แก่ 1) การเปลี่ยนผ่านสู่อุตสาหกรรมสีเขียว (Green Transformation) 2) การพัฒนาขีดความสามารถด้านเทคโนโลยี (Technology Development) 3) การพัฒนาและดึงดูดบุคลากรทักษะสูง (Talent Development & Attraction)  4) การส่งเสริมการลงทุนในรูปแบบคลัสเตอร์ (Cluster-based Investment) และ 5) การอำนวยความสะดวกด้านการลงทุน (Ease of Investment)

ทั้งนี้ บีโอไอจะทยอยออกมาตรการส่งเสริมการลงทุนชุดใหม่ เพื่อขับเคลื่อนการลงทุนของประเทศให้บรรลุเป้าหมายการเป็นฐานผลิตของอุตสาหกรรมชั้นนำระดับโลก และตอบโจทย์ 5 วาระสำคัญเพื่อเปลี่ยนผ่านประเทศไทยสู่อุตสาหกรรมยุคใหม่ เช่น การออกมาตรการสนับสนุนการจัดการด้านคาร์บอนเครดิตเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก มาตรการสนับสนุนผู้ประกอบการรายเดิมเปลี่ยนผ่านไปสู่อุตสาหกรรมใหม่ มาตรการส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากผลงานวิจัยและนวัตกรรมของรัฐหรือที่ดำเนินการร่วมกับรัฐไปผลิตต่อยอดในเชิงพาณิชย์  มาตรการส่งเสริมการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมและการจ้างงานในภูมิภาคเพื่อกระจายการลงทุนไปสู่พื้นที่ทั่วประเทศ เป็นต้น

“ช่วง 2 – 3 ปีจากนี้ เป็นช่วงที่มีความสำคัญต่อการลงทุนทั่วโลก เพราะมีการปรับโครงสร้างซัพพลายเชนครั้งใหญ่ และเกิดการย้ายฐานการลงทุนมุ่งหน้ามาสู่ภูมิภาคอาเซียนมากขึ้น ถือเป็นโอกาสทองของประเทศไทย เนื่องจากมีความโดดเด่น ด้วยจุดแข็งที่อยู่ใจกลางอาเซียน มีโครงสร้างพื้นฐาน ระบบคมนาคมขนส่ง รวมถึงบุคลากรที่มีคุณภาพ นอกจากนี้ ไทยถือเป็นประเทศที่มีซัพพลายเชนของอุตสาหกรรมสำคัญที่แข็งแกร่งที่สุดในภูมิภาค โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์และอิเล็กทรอนิกส์ ประกอบกับรัฐบาลให้ความสำคัญในการผลักดันการลงทุนอย่างมาก เพราะเป็นเครื่องยนต์สำคัญที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้เติบโตอย่างยั่งยืน การเสนอยุทธศาสตร์เชิงรุกในครั้งนี้ บีโอไอจะร่วมมือกับหน่วยงานพันธมิตรต่าง ๆ เพื่อสร้างมาตรการใหม่ ๆ และพัฒนาระบบนิเวศ เพื่อยกระดับประเทศไทยสู่การเป็นฐานการผลิตของอุตสาหกรรมชั้นนำระดับโลกอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป” นายนฤตม์ กล่าว

บทความยอดนิยม 10 อันดับ

 

อัปเดตข่าวทุกวันที่นี่ www.mreport.co.th   

Line / Facebook / Twitter / YouTube @MreportTH