เล่าประเด็นหลักจาก Webinar: Support Measures for Economic Recovery โดย BOI ร่วม JFCCT

อัปเดตล่าสุด 14 ส.ค. 2563
  • Share :
  • 464 Reads   

สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (Thailand Board of Investment: BOI) ร่วมกับหอการค้าร่วมต่างประเทศในประเทศไทย (Joint Foreign Chambers of Commerce in Thailand: JFCCT) จัดงานเสวนาออนไลน์ เรื่อง “Support Measures for Economic Recovery” เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2020 ที่ผ่านมา ซึ่งดำเนินรายการโดย นายบ็อบ ฟอกซ์ ประธานกลุ่มไอซีที หอการค้าร่วมต่างประเทศในประเทศไทย และร่วมบรรยายโดย นางสาวดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการบีโอไอ, ดร. พิสิทธิ์ พัวพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค กระทรวงการคลัง, และ ดร. เชาว์ เก่งชน ประธานกรรมการบริหาร ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ในฐานะผู้แทนจากสมาคมธนาคารไทย

งานครั้งนี้จัดขึ้นพื่อเสวนาด้านมาตรการต่าง ๆ ที่สนับสนุนภาคธุรกิจในระยะฟื้นตัว ทั้งมาตรการส่งเสริมการลงทุน มาตรการด้านการเงินและการคลัง รวมถึงข้อเสนอแนะจากภาคเอกชน โดยในช่วงเปิดงาน นายสแตนลี คัง ประธานหอการค้าร่วมต่างประเทศในประเทศไทย ได้กล่าวแสดงความเห็นไว้ว่า "ในครึ่งปีหลัง ประเทศไทยต้องประสบความท้าทายทางเศรษฐกิจเป็นอย่างมาก และหวังว่านโยบายการค้าและการลงทุน จะช่วยให้ไทยฝ่าวิกฤตในครั้งนี้ไปได้ด้วยดี"

I มาตรการจากบีโอไอ เพื่อลดผลกระทบจากสถานการณ์โควิด

“โควิดคือความท้าทายทางสังคมที่ไทยไม่เคยประสบมาก่อน”

นางสาวดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการบีโอไอ กล่าวแสดงความเห็นภายในงานเสวนาว่า โควิด-19 คือความท้าทายทางสังคมที่ไทยไม่เคยประสบมาก่อน ซึ่งภาครัฐและเอกชนจำเป็นต้องมีความร่วมมืออย่างแข็งแกร่ง เศรษฐกิจไทยจึงจะฟื้นตัว เพื่อให้ประเทศไทยสามารถเป็นเป้าหมายการลงทุนที่น่าสนใจทั้งจากธุรกิจในประเทศและต่างประเทศต่อไป 

ด้วยเหตุนี้เอง บีโอไอจึงเสนอมีมาตรการในการลดผลกระทบจากโควิดรวมแล้ว 5 ข้อใหญ่ ดังนี้

  1. ยืดเส้นตายกำหนดส่งการยื่นขอใช้สิทธิประโยชน์ในการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล
  2. ขยายระยะเวลาการนำเข้าเครื่องจักร และการเริ่มดำเนินการเต็มรูปแบบสำหรับโครงการสตาร์ทอัพ เพื่อส่งเสริมโครงการที่อยู่ภายใต้มาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต
  3. ยืดเส้นตายการยื่นขอมาตรฐาน ISO 9002, CMMI, และอื่น ๆ
  4. มาตรการผ่อนปรนสำหรับโครงการของบริษัทสตาร์ทอัพ 
  5. ส่งเสริมการสนับสนุนอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ และเวชภัณฑ์ยา 

 

โดยมาตรการส่งเสริมการนำเข้าเครื่องจักรกลนั้นเป็นนโยบายที่มีขึ้นสำหรับผู้ประกอบการที่ต้องการอัปเกรดและทดแทนเครื่องจักรเดิมด้วยเทคโนโลยีออโตเมชัน (Automation) และ/หรือ Digitalization รวมถึงการเปลี่ยนไปใช้เครื่องจักรที่ประหยัดพลังงาน และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ซึ่งมาตรการนี้ยังครอบคลุมไปถึงการลงทุนวิจัยและพัฒนา และการส่งเสริมสายการผลิตในอุตสาหกรรมเกษตรให้ได้มาตรฐานสากลอีกด้วย โดยการงดเว้นภาษีนำเข้า และยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นเวลา 3 ปี โดยมีมูลค่าไม่เกิน 50% ของการลงทุน อย่างไรก็ตาม หากเป็นการลงทุนระบบออโตเมชัน จะได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลถึง 100% หากมีการเชื่อมโยงกับอุตสาหกรรมท้องถิ่นมากกว่า 30% ขึ้นไป ซึ่งผู้สนใจ สามารถยื่นเรื่องได้ภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2020 นี้

 

นอกจากนี้ บีโอไอยังออมาตรการยกเว้นภาษีสำหรับการลงทุนด้าน STEM (Science Technology Engineering and Mathematics Education: STEM Education/สะเต็มศึกษา) ซึ่งยิ่งลงทุนมากก็ยิ่งได้รับการยกเว้นภาษีมากนั้น สามารถยื่นเรื่องได้ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2021 โดยแบ่งเป็น

  • การศึกษาเชิงบูรณาการกับการทำงาน (Work Integrated Learning : WIL) ลดหย่อนภาษี 100%
  • การฝึกอบรมภาตใต้หลักสูตรที่ได้รับการรับรองจากกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ลดหย่อนภาษี 200%

อีกทั้งยังมีการสนับสนุนการลงทุนด้าน HRD infrastructure ซึ่งมีกำแพงการลดหย่อนภาษีที่ 100% เป็นเวลา 5 ปี และมาตรการส่งเสริมการลงทุนที่ครอบคลุมธุรกิจกว่า 120 รายการ ซึ่งงดเว้นภาษี 5 - 8 ปี และลดหย่อนภาษี 50% อีก 5 ปีสำหรับธุรกิจที่มีการลงทุนมากกว่า 500 ล้านบาทภายใน 30 ธันวาคม 2020 และ 1,000 ล้านบาทขึ้นไปภายใน 30 ธันวาคม 2021 อีกด้วย 

อย่างไรก็ตาม บีโอไอยังมีมาตรการอื่น ๆ อีก ซึ่งคาดการณ์ว่าจะได้รับการส่งเสริมให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการใช้พลังงานทดแทน, มาตรการด้านสิ่งแวดล้อม, IoT, และอื่น ๆ 

I แนวโน้มเศรษฐกิจ และมาตรการจากกระทรวงการคลัง

“กุญแจสำคัญคือโควิดจะเป็นยังไง การท่องเที่ยวจะเป็นยังไง แต่ถ้าคุมโรคได้ เศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวอย่างแน่นอน”

ดร. พิสิทธิ์ พัวพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค กระทรวงการคลัง ให้ข้อมูลว่า GDP ไทยในไตรมาสแรกลดลง 1.8% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า และลดลงต่ำสุดในช่วงเดือนเมษายน และพฤษภาคม ก่อนเริ่มฟื้นตัวตั้งแต่เดือนมิถุนายนที่ผ่านมา และมั่นใจว่าจะฟื้นตัวไปอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม เนื่องจากประเทศไทยมีรายได้จากการท่องเที่ยวคิดเป็น 11-12% ของ GDP รวมทั้งหมด ทำให้คาดการณ์ว่าในท้ายสุดแล้ว ปี 2020 นี้ เศรษฐกิจจะยังชะลอตัวถึง 8.5% ก่อนจะดีขึ้น 4-5% ในปีถัดไป

ด้วยเหตุนี้เอง คณะรัฐมนตรีจึงได้อนุมัติมาตรการบรรเทาผลกระทบจากโควิด ซึ่งมาตรการในช่วงเฟสที่ 3 ได้รับการอนุมัติเมื่อวันที่ 7 เมษายน 2020 ภายใต้วงเงิน 1.9 ล้านล้านบาท แบ่งเป็นเงินกู้สำหรับกระตุ้นภาคเศรษฐกิจ 1 ล้านล้านบาท สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำจากธนาคารเพื่อภาคธุรกิจ 5 แสนล้านบาท และอีก 4 แสนล้านบาทสำหรับรักษาสภาพคล่องทางการเงิน นอกจากนี้ ยังมีการสนับสนุนอุตสาหกรรมโรงแรม ลดภาษี และเตรียมจ่ายเงินชดเชยให้ผู้รับผลกระทบคิดเป็น 6% จาก GDP รวมถึงการออกพันธบัตรเพื่อให้ตลาดมีความมั่นใจมากขึ้นอีกด้วย

 

ในส่วนของมาตรการสนับสนุนจากกระทรวงการคลังนั้น มีจุดมุ่งหมายไปที่การกระตุ้นการลงทุนภายในประเทศ เพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันของไทย โดยแบ่งเป็น

  • ลดหย่อนค่าใช้จ่ายสูงสุด 2.5 เท่าของมูลค่าการลงทุนเครื่องจักรจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2020
  • ยกเว้นภาษีการนำเข้าเครื่องจักร 146 รายการจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2020
  • เงินกู้ 5 พันล้านบาทจากธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM Bank) เพื่อสนับสนุนการลงทุนของธุรกิจที่มีการส่งออก

I คาดการณ์ GDP และข้อเรียกร้องจากภาคเอกชน

“ดูไม่ดี แต่มีโอกาสแน่นอน”

ดร. เชาว์ เก่งชน ประธานกรรมการบริหาร ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ในฐานะผู้แทนจากสมาคมธนาคารไทย แสดงความเห็นภายในงานว่า อาจต้องใช้เวลาจนถึงปี 2022 เศรษฐกิจไทยจึงจะฟื้นตัวขึ้นมาในระดับเทียบเท่าก่อนโควิด-19 ส่งผลให้เกิดช่องว่างระหว่าง GDP ที่คำนวนไว้ก่อนการมาของโควิด และหลังการมาของโควิดที่คิดเป็นมูลค่า 0.7 - 1.4 ล้านล้านบาทในปี 2020 ซึ่งหมายถึงในสิ้นปีเดียวกันนี้ จะยังคงมีคนตกงานอีกเป็นจำนวนมากอย่างแน่นอน

ด้วยเหตุนี้เอง ศูนย์วิจัยกสิกรไทยจึงทำการรวบรวมข้อมูลจากภาคเอกชน เพื่อรวบรวมข้อเรียกร้องที่มีต่อรัฐบาล ซึ่งประชาชนทั้งในระบบ และนอกระบบ คือ การลดภาษีมูลค่าเพิ่มชั่วคราวสำหรับสินค้าสินค้าอุปโภคบริโภคและบริการ เงินอุดหนุนค่าสาธารณูปโภค การลดภาษีเงินได้เพื่อสนับสนุนให้เกิดการใช้จ่าย เงินสนับสนุนผู้มีรายได้ต่ำ

ส่วนในภาคธุรกิจ และอุตสาหกรรมนั้น มีข้อเรียกร้อง ดังนี้

  • SME เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำสำหรับเป็นทุนหมุนเวียน และรักษาแรงงาน
  • ผู้ส่งออก ปรับเปลี่ยนนโยบายการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ เพื่อให้เงินบาทมีศักยภาพการแข่งขันสูงขึ้น
  • ภาคการก่อสร้าง เรียกร้องการลงทุนจากภาครัฐ และหน่วยงานบริหารส่วนจังหวัด
  • อสังหาริมทรัพย์ การลดค่าธรรมเนียมการโอน และการจดจำนองให้ครอบคลุมอสังหาริมทรัพย์จากเดิม 3 ล้านบาท เป็น 5 ล้านบาท และลดภาษีธุรกิจเฉพาะจากอัตราปัจจุบันที่อยู่ที่ 3.3%
  • อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว และค้าปลีก ขยายมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวเดิมซึ่งจะสิ้นสุดในเดือนตุลาคม และลดภาษีมูลค่าเพิ่มชั่วคราวให้โรงแรม ภัตตาคาร และห้างสรรพสินค้า

อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะเดินหน้านโยบายในทิศทางไหนก็ต้องมีการใช้เม็ดเงินจำนวนมหาศาล ซึ่งดร. เชาว์ กล่าวแสดงความเห็นภายในงานว่า ต้องเลือกระหว่างให้ประเทศไทยเป็นหนี้แล้วเศรษฐกิจฟื้น หรือไม่ฟื้น ซึ่งปัจจุบันธนาคารในไทยมองว่ายังไหว แต่หากเศรษฐกิจไทยไม่ฟื้นตัวแล้ว จะทำให้ส่งผลกระทบต่อการลงทุนจากต่างชาติเป็นอย่างมาก 

นอกจากนี้ อีกสิ่งที่ประเทศไทยควรทำ คือการเตรียมพร้อมต่อสภาพแวดล้อมทางการค้าใหม่ที่จะเกิดขึ้นหลังโควิด โดยปัจจุบัน แนวโน้มที่เริ่มปรากฎชัดคือการ Deglobalization ซึ่งหลายประเทศเริ่มทบทวนการพึ่งพาซัพพลายเชนในประเทศตนมากกว่าต่างชาติ ซึ่งจะทำให้การซัพพลายสินค้าระหว่างประเทศลดลง และกระตุ้นให้เกิดการผลิตในประเทศมากขึ้น นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีอื่น ๆ ในอนาคต รวมถึงการหลั่งไหลของแรงงานต่างด้าวที่จะต่างไปจากเดิม และการให้ความสำคัญกับการควบคุมโรคที่มีมาตรฐานมากยิ่งขึ้นอีกด้วย

ดร. เชาว์แสดงความเห็นว่า สถานการณ์ปัจจุบันดูยากลำบาก และอาจมีการเติบโตไม่มากนัก แต่ก็ยังมีโอกาสอยู่ โดยแสดงความเห้นว่าในช่วงเวลาเช่นนี้เอง ที่การเข้าซื้อ หรือควบรวมธุรกิจเป็นหนึ่งในเรื่องน่าพิจารณา และเสนอว่าควรสนับสนุนอุตสาหกรรมที่พึ่งพาซัพพลายเชนในประเทศ เช่น อุตสาหกรรมอาหาร และอุตสาหกรรมเกษตร รวมไปถึงการส่งเสริมอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ เวชภัณฑ์ยา และเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) ซึ่งให้ความสำคัญกับการกินอยู่มากยิ่งขึ้น

I สนับสนุนรายย่อยอย่างไร?

นางสาวดวงใจกล่าวว่า บีโอไอมีการสนับสนุนธุรกิจรายย่อยมาโดยตลอด อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันสิ่งที่ทำได้ยังมีข้อจำกัด การสนับสนุนธุรกิจรายย่อยจึงต้องพิจารณาโดยคำนึงว่าจะช่วยให้เศรษฐกิจไทยไปต่อได้หรือไม่ ซึ่งล่าสุด บีโอไอได้เลือกสนับสนุนอุตสาหกรรมเกษตร และการแพทย์ รวมถึงอุตสาหกรรมใหม่อย่าง Plant Factory หรือโรงงานผลิตพืช ซึ่งยังไม่เป็นที่รู้จักในวงกว้าง

ส่วนในประเด็นการเลิกจ้างซึ่งถูกพูดถึงในวงกว้างนั้น นางสาวดวงใจแสดงความเห็นว่าปัจจุบันยังคงมีความต้องการตำแหน่งงานอยู่ เช่น ในตำแหน่งช่างซ่อมเครื่องจักร รวมถึงตำแหน่งผู้ใช้แรงงาน ซึ่งสิ่งสำคัญคือการทำอย่างไรให้ไม่เลิกจ้าง และมีการจ้างงานมากขึ้น ซึ่งบีโอไอจะเน้นช่วยเหลือผู้ถูกเลิกจ้างเป็นหลัก และอาจมีมาตรการเพิ่มเติมช่วยเหลือให้มีการเลิกจ้างน้อยลงในอนาคต

โดยในช่วงท้ายของรายการ นายบ็อบ ฟอกซ์ ประธานกลุ่มไอซีที หอการค้าร่วมต่างประเทศในประเทศไทย ได้แสดงความเห็นเพิ่มเติมไว้ว่าประเทศไทยจำเป็นต้องมีกระตุ้นการลงทุนทั้งรัฐและเอกชน ซึ่งตลอดช่วง 20-30 ปีที่ผ่านมานี้ การลงทุนกว่า 30-40% ของ GDP มาจากเอกชน จึงพบว่ารัฐต้องกระตุ้นการลงทุนในประเทศมากขึ้น ทั้งจากข้อตกลงการค้าเสรีและนโยบายอื่น ๆ เช่น มาตรการภาษี, การลดภาษีวิจัยและพัฒนา, และที่สำคัญที่สุดคือการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งคาดว่าจะเพิ่มมากขึ้นในช่วงครึ่งปีหลังนี้