รัฐบาลขับเคลื่อน EEC ต่อเนื่อง พร้อมปั้นเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจเอเชีย

อัปเดตล่าสุด 26 ก.ค. 2562
  • Share :
  • 402 Reads   
ส่วนหนึ่งของคำแถลงนโยบายคณะรัฐมนตรีในวันที่ 25 กรกฎาคม 2562 โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี แถลงต่อรัฐสภา ระบุถึง การพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจและการกระจายความเจริญสู่ภูมิภาค ว่าเป็นหนึ่งในนโยบายหลัก 12 ด้าน โดยมุ่งเน้นการใช้ประโยชน์จากศักยภาพและโอกาสของพื้นที่จะช่วยกระจายความเจริญไปสู่ภูมิภาค และสร้างโอกาสการพัฒนาทั้งทางด้านเศรษฐกิจและสังคม ลดความเหลื่อมล้ำของการพัฒนา ลดการกระจุกตัวของการพัฒนาและประชากรของเมืองใหญ่ในปัจจุบัน โดยสร้างสังคมชนบทเป็นสังคมเมืองที่สงบสุข เพียงพอ และแก้ปัญหาการย้ายถิ่นฐาน
 
ด้วยนโยบายส่งเสริมพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษเพื่อเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจของเอเชีย หนึ่งในนั้นคือการเดินหน้าพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) อย่างต่อเนื่อง ซึ่งสะท้อนถึงการให้ความสำคัญและดำเนินการขับเคลื่อน EEC  อย่างจริงจังของรัฐบาล โดยพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานที่ทันสมัยให้เป็นไปตามเป้าหมาย พัฒนาพื้นที่โดยรอบให้เป็นเมืองมหานครการบิน ศูนย์กลางทางการแพทย์ของเอเชีย และเมืองอัจฉริยะที่มีความน่าอยู่และทันสมัยระดับนานาชาติ ยกระดับภาคการเกษตรให้เชื่อมโยงกับภาคอุตสาหกรรม พาณิชยกรรม คมนาคม ดิจิทัล วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และเร่งพัฒนาบุคลากร รวมทั้งทบทวนกฎระเบียบเพื่อรองรับและส่งเสริมอุตสาหกรรมเป้าหมายที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงอย่างโปร่งใสและเป็นธรรม
 
 
นอกจากนี้ยังส่งเสริมและเร่งรัดการพัฒนาเมืองอัจฉริยะน่าอยู่ทั่วประเทศ โดยมุ่งเน้นไปที่การพัฒนาเมืองศูนย์กลางทางเศรษฐกิจของประเทศ ได้แก่ กรุงเทพมหานครและปริมณฑล จังหวัดเชียงใหม่ นครราชสีมา ขอนแก่น เมืองในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก สงขลา และภูเก็ต ภายใต้แนวคิดการขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองอัจฉริยะและเมืองน่าอยู่ที่มีระบบเศรษฐกิจดิจิทัล โครงสร้างพื้นฐานทางสังคม และพื้นที่สีเขียวที่เพียงพอ กระตุ้นให้เกิดการพัฒนาอุตสาหกรรมและธุรกิจบริการ พร้อมทั้งส่งเสริมให้เกิดการจ้างงานในพื้นที่         
 
ขณะที่นโยบายหลักอีกด้านที่เกี่ยวข้องกับ EEC คือ การพัฒนาเศรษฐกิจและความสามารถในการแข่งขันของไทย โดยส่วนหนึ่งคือการมุ่งเน้นพัฒนาอุตสาหกรรมภายใต้แนวคิดเศรษฐกิจชีวภาพเศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว [Bio-Circular-Gren (BCG) Economy] โดยนำความก้าวหน้ทางเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาพัฒนาต่อยอดและสร้างมูลค่าเพิ่มจากทรัพยากรความหลากหลายทางชีวภาพและวัฒนธรรมการผลิตสินค้าเกษตร อุตสาหกรรม และการบริการของท้องถิ่น ปรับระบบการบริหารจัดการการผลิตและรบบโลจิสติกส์ ส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทน การใช้ประโยชน์จากวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรมาเพิ่มมูลค่า การบริหารจัดการของเสียอุตสาหกรรมและขยะแบบคลัสเตอร์ระหว่างอุตสาหกรรมและชุมชนในแต่ละพื้นที่ของจังหวัด กลุ่มจังหวัด เพื่อลดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ พร้อมทั้งให้ความสำคัญกับกฎระเบียบทางด้านสิ่งแวดล้อมในระดับประเทศและระหว่างประเทศ 
 
ขณะเดียวกันก็มุ่งพัฒนาสาธารณูปโภคพื้นฐาน โดยการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมให้ครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศและสามารถรองรับการขนส่งและการเดินทางต่อเนื่องหลายรูปแบบได้อย่างไร้รอยต่อ สานต่อการพัฒนารถไฟความเร็วสูง และเริ่มต้นการปรับปรุงระบบรถไฟขนาดราง 1 เมตร  ให้เป็นระบบไฟฟ้าเพื่อสนับสนุนให้เป็นเครือข่ายหลักในการเดินทางและขนส่งสินค้าของประเทศ  และให้ความสำคัญกับการบูรณาการการพัฒนาระบบขนส่งกับการพัฒนาพื้นที่และเมือง การพัฒนาขีดความสามารถของผู้ให้บริการภาคขนส่งและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่อง การเชื่อมโยงแหล่งท่องเที่ยว การกระจายความเจริญสู่ภูมิภาค รวมทั้งเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการด้านความปลอดภัยทางถนนที่สอดประสานกันระหว่างระบบการเตือนภัย การช่วยเหลือกู้ภัย และการช่วยเหลือเยียวยาผู้ประสบภัยที่มีประสิทธิภาพ  รวมถึงการยกระดับโครงข่ายระบบไฟฟ้าและพลังงานให้มีความทันสมัย ทั่วถึง เพียงพอ มั่นคง  และมีเสถียรภาพ โดยจัดทำแผนพัฒนาโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะทั้งระบบให้สามารถรองรับเทคโนโลยีด้านพลังงานสมัยใหม่ในอนาคต มุ่งเน้นการพัฒนาโครงข่ายในประเทศให้เชื่อมต่อระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันตก ตะวันออก เหนือ และใต้ เพื่อให้สามารถบริหารจัดการระบบไฟฟ้าและพลังงานระหว่างพื้นที่ต่างๆ ได้อย่างมั่นคง และมีประสิทธิภาพโดยเฉพาะในภาคการผลิต
 
รวมถึงการพัฒนาอุตสาหกรรมไทยให้สามารถตอบสนองการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีและแนวโน้มการค้าโลก โดยคำนึงถึงศักยภาพ ความสามารถในการแข่งขัน แนวโน้มความต้องการของตลาดในประเทศและตลาดโลก เพื่อให้อุตสาหกรรมมีระดับผลิตภาพ (Productivity) ที่สามารถแข่งขันได้ในระดับโลก สร้างนวัตกรรมที่มีมูลค่าสูงในอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพ และอุตสาหกรรมอนาคต อาทิ อุตสาหกรรมต่อเนื่องจากการพัฒนาระบบคมนาคมของประเทศ อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมความมั่นคงของประเทศ และอุตสาหกรรมอวกาศ เป็นต้น พร้อมทั้งให้ความสำคัญกับการพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อมตลอดห่วงโซ่อุปทานให้สามารถใช้ประโยชน์จากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี เพื่อยกระดับความสามารถในการแข่งขัน ขณะเดียวกันก็สร้างกลไกสนับสนุนการพัฒนาขีดความสามารถของผู้ประกอบการรายใหม่ โดยการสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเข้าถึงเทคโนโลยี การวิจัยและนวัตกรรม การปรับปรุงกฎระเบียบให้เอื้อต่อการพัฒนาผู้ประกอบการ การเข้าถึงแหล่งเงิน การพัฒนาศูนย์ทดสอบหรือวิจัยและออกแบบที่ได้มาตรฐานสากล และการใช้สถาบันการศึกษาที่มีอยู่ในพื้นที่มาสนับสนุนด้านการวิจัยและพัฒนาเพื่อเพิ่มคุณค่าให้กับสินค้าและบริการ เป็นต้น
 
      อีกทั้งยังพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลและการมุ่งสู่การเป็นประเทศอัจฉริยะ โดยเฉพาะเทคโนโลยีสื่อสารไร้สายในระบบ 5G ตลอดจนการพัฒนาอำนวยความสะดวกเพื่อสนับสนุนธุรกิจการค้า การนำเข้า ส่งออก และโลจิสติกส์ในรูปแบบดิจิทัล รวมทั้งนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้ามาใช้ในการดำเนินงาน เช่น Internet of Things (IoT), AI และ Big Data เป็นต้น
 
นอกจากนี้ยังเน้นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การวิจัยและพัฒนา และนวัตกรรม โดยการพัฒนาสภาพแวดล้อมและระบบที่เอื้อต่อการส่งเสริมการพัฒนาดังกล่าว รวมถึงสนับสนุนการพัฒนาโรงงาน ห้องปฏิบัติการต้นแบบที่เป็นโครงสร้างพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิจัยและนวัตกรรมในระดับต้นน้ำ โดยเฉพาะโรงงานและห้องปฏิบัติการนำร่อง ที่สามารถตอบสนองต่อความต้องการในการพัฒนาเศรษฐกิจภายใต้แนวคิดชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว [Bio-Circular-Gren (BCG) Economy] และสนับสนุนให้เกิดการลงทุนจากภาคธุรกิจเอกชนไปพร้อมกัน
 
สนับสนุนบทความโดย :  สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.)    www.eeco.or.th