หอการค้าฯ เผยดัชนีเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือน พ.ค.67 ปรับตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3

หอการค้าฯ เผยดัชนีเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือน พ.ค.67 ต่ำสุดรอบ 7 เดือน

อัปเดตล่าสุด 18 มิ.ย. 2567
  • Share :
  • 1,806 Reads   

ดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย (TCC Confidence Index: TCC-CI) ประจำเดือนพฤษภาคม 2567 อยู่ที่ระดับ 55.1 ลดลงจากเดือนที่แล้ว 0.2 ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภค (Consumer Confidence Index: CCI) ปรับตัวลดลงจากระดับ 62.1 เป็น 60.5 ซึ่งลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 และอยู่ในระดับต่ำสุดในรอบ 7 เดือน สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวม ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสหางานทำโดยรวม และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคต อยู่ที่ระดับ 54.3 57.6 และ 69.8 ตามลำดับ ปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 ในรอบ 10 เดือนทุกรายการ

13 มิถุนายน 2567 นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ เปิดเผยผลสำรวจตัวอย่างประชาชนทั่วประเทศจำนวน 2,245 คน พบว่าผู้บริโภคเริ่มกลับมากังวลการเมืองไทยเริ่มขาดเสถียรภาพหลังจากศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องของ40 สว.  เกี่ยวกับคุณสมบัติของนายกรัฐมนตรี และกังวลเศรษฐกิจไทยชะลอตัวลงและฟื้นตัวช้า ประกอบกับราคาพลังงานปรับตัวสูงขึ้นโดยเฉพาะน้ำมันเบนซินและผู้บริโภคยังคงมีความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์เศรษฐกิจโลกชะลอตัว สงครามในตะวันออกกลางที่อาจยืดเยื้อบานปลาย อาจเป็นปัจจัยที่เพิ่มแรงกดดันของการฟื้นตัวล่าช้าของเศรษฐกิจไทย

ปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อดัชนีความเชื่อมั่นของหอการค้าไทย

ปัจจัยด้านลบ

  • ความกังวลต่อสถานการณ์ทางการเมืองของประเทศไทย ที่มีข่าวด้านต่างๆ ออกมาทำให้คนส่วนใหญ่กังวลต่อเสถียรภาพทางการเมืองของรัฐบาล

  • สศช. เผยภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาสแรกปี 2567 ขยายตัว 1.5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน พร้อมทั้งปรับลดประมาณการณ์เศรษฐกิจไทยปี 2567 คาดว่าจะขยายตัว 2.5% ลดลงจากที่คาดไว้ก่อนหน้าที่คาดว่าจะขยายตัวได้ 2.7%

  • ความกังวลจากความตึงเครียดในตะวันออกกลางที่ยังคงอยู่อย่างต่อเนื่อง ส่งผลกระทบต่อสภาพคล่องของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงทำให้มีการปรับราคาน้ำมันเชื้อเพลิง

  •  ราคาน้ำมันดีเซลขายปลีกในประเทศ ปรับตัวเพิ่มขึ้นประมาณ 1.00 บาทต่อลิตร มาอยู่ที่ระดับ 32.94 บาทต่อลิตร สิ้นเดือน เม.ย. 67

  • SET Index เดือน พ.ค. 67 ปรับตัวลดลง 22.29 จุด จาก 1,367.95 ณ สิ้นเดือน เม.ย. 67 เป็น 1,345.66 ณ สิ้นเดือน พ.ค. 67

  • ค่าเงินบาทปรับตัวแข็งค่าขึ้นเล็กน้อยจากระดับ 36.789 ฿/$ ณ สิ้นเดือน เม.ย. 67 เป็น36.636 ฿/$ ณ สิ้นเดือน พ.ค. 67 สะท้อนว่ามีการไหลออกสุทธิของเงินตราต่างประเทศ

  • ความกังวลต่ออัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่รัฐบาลจะให้มีการปรับเพิ่มขึ้นในอัตราเดียวกันทั้งประเทศ ซึ่งจะทำให้ต้นทุนของธุรกิจเพิ่มสูงขึ้น

  • ความกังวลจากจากปัญหาภัยธรรมชาติ โดยเฉพาะสถานการณ์ภัยแล้ง รวมทั้งบางพื้นที่อาจเกิดน้ำท่วมซึ่งจะสร้างความเสียหายปริมาณผลผลิตทางการเกษตร

  • ความกังวลในเรื่องของต้นทุนปัจจัยการผลิต-การเกษตรของผู้ประกอบการที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น

ปัจจัยด้านบวก

  • ภาครัฐดำเนินมาตรการลดภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงาน เพื่อบรรเทาผลกระทบต่อภาระค่าครองชีพของประชาชนและการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ

  • ภาครัฐออกมาตรการภาษีเพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวในเมืองรอง 55 จังหวัด ในช่วงระหว่างวันที่ 1 พ.ค. – 30 พ.ย. 2567

  • นักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยจำนวนมากขึ้น ส่งผลให้เกิดเม็ดเงินหมุนเวียนในประเทศมากขึ้น

  • ราคาพืชผลทางการเกษตรหลายรายการปรับตัวดีขึ้นหรือทรงตัวส่งผลให้เกษตรกรเริ่มมีรายได้สูงขึ้น และมีกำลังซื้อในต่างจังหวัดเริ่มปรับตัวดีขึ้น

  • การส่งออกของไทยเดือน เม.ย. 67 ขยายตัวร้อยละ 6.81 มูลค่าอยู่ที่ 23,278.59 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และการนำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.35 มีมูลค่าอยู่ที่ 24,920.30 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่งผลให้ขาดดุลการค้า 1,641.71 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

  • ความหวังของประชาชนจากการมีสัญญาณของการขึ้นค่าจ้างงาน และเริ่มจะมีในการจับจ่ายใช้สอยที่กลับมามากขึ้น แต่ยังคงมีการระวังการเลือกซื้อสินค้าเพิ่มขึ้น

  • ผลผลิตทางการเกษตรอย่างทุเรียนไทยถึงช่วงฤดูการเก็บเกี่ยว เริ่มทำให้เกษตรกรสวนทุเรียน และผู้ประกอบการส่งออกผลไม้มีรายได้เพิ่มขึ้น

  • ราคาน้ำมันขายปลีกแก๊สโซฮอล ออกเทน 91 (E10) และแก๊สโซฮอล ออกเทน 95 ในประเทศปรับตัวลดลงประมาณ 1.5 และ 2.2 บาทต่อลิตร อยู่ที่ระดับ 37.78 และ 38.15 บาทต่อลิตร

ข้อเสนอแนะต่อภาครัฐ และแนวทางการดำเนินการของภาคเอกชนในการแก้ไขปัญหา

  • การสร้างความเชื่อมั่นต่อเสถียรภาพทางการเมืองของประเทศไทย

  • แนวทางการดูแลค่าแรงของประชาชนให้เหมาะสมกับค่าครองชีพ และไม่ส่งผลกระทบกับการดำเนินงานในภาคธุรกิจขนาดเล็ก

  • มาตรการกำกับจัดสรรแก้ไขปัญหาน้ำที่เกิดจากสภาพอากาศที่แปรปรวน และส่งผลกระทบต่อการใช้น้ำในภาคเกษตร-อุตสาหกรรมอย่างมีประสิทธิภาพ

  • แนวทางการสนับสนุนให้มีการลงทุนภายในประเทศกับนักลงทุนชาวต่างชาติเพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศให้ฟื้นตัวขึ้น

  • มาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในประเทศในช่วง Low Season เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่คึกคักขึ้น

  • การรักษาเสถียรภาพของค่าเงินบาทให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมต่อภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน

#สภาหอการค้า #หอการค้าไทย #สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย #เศรษฐกิจไทย #อุตสาหกรรมไทย #ภาคการเกษตร #ท่องเที่ยวไทย #ส่งออกไทย #ราคาพลังงาน #GDP  

 

บทความยอดนิยม 10 อันดับ

 

อัปเดตข่าวทุกวันที่นี่ www.mreport.co.th   

Line / Facebook / Twitter / YouTube @MreportTH