คลื่น “แรงงานย้ายถิ่น” อาเซียน ตัวช่วยปั๊ม “เศรษฐกิจ” ขยายตัว

อัปเดตล่าสุด 11 ต.ค. 2560
  • Share :
  • 520 Reads   

นับตั้งแต่ที่ 10 ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้รวมกลุ่มกันเป็น “ประชาคมอาเซียน” ความสำคัญของการย้ายถิ่นแรงงานระหว่างกัน ได้ถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นประเด็นสำคัญลำดับต้น ๆ

ธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์) เปิดเผยรายงานล่าสุดระบุว่า การเคลื่อนย้ายแรงงานในอาเซียนส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในหลายมิติ โดยเฉพาะการเติบโตทางเศรษฐกิจของแต่ละประเทศ ทั้งยังกลายเป็นปัจจัยหลัก ๆ ในการพิจารณาการลงทุนของนักธุรกิจทั้งจากในและนอกภูมิภาค

โดยระหว่างปี 2538-2558 พบว่า 3 ประเทศสำคัญ คือ มาเลเซีย, สิงคโปร์ และไทย กลายเป็น “ฮับของแรงงานย้ายถิ่น” มีจำนวนแรงงานรวมกันกว่า 6.5 ล้านคน หรือราว 96% ของจำนวนแรงงานย้ายถิ่นทั้งหมดในอาเซียน

โดยที่ผ่านมาสมาชิกอาเซียนได้เริ่มการเคลื่อนย้ายแรงงานอย่างเสรี แต่กฎข้อบังคับครอบคลุมแค่บางกลุ่มวิชาชีพเท่านั้น ได้แก่ แพทย์ ทันตแพทย์ พยาบาล วิศวกร สถาปนิก นักบัญชี และวิชาชีพด้านการท่องเที่ยว แต่สัดส่วนของแรงงานกลุ่มอาชีพดังกล่าวมีเพียง 5% ของแรงงานทั้งหมดในภูมิภาค

ดร.ชูเดียร์ แชตตี้ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกของเวิลด์แบงก์ กล่าวว่า ข้อตกลงการเคลื่อนย้ายเสรีแรงงานอย่างถูกต้อง กับกระแสที่เกิดขึ้นสวนทางกัน และแรงงานในอุตสาหกรรมอื่น ๆ ที่ไม่ได้อยู่ในข้อตกลงการเคลื่อนย้ายเสรีเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ อันมีปัจจัยหลักมาจากความเหลื่อมล้ำในการพัฒนาประเทศที่ไม่เท่าเทียมกัน ซึ่งประเทศยากจนก็จำเป็นต้องดิ้นรนเพิ่มรายได้มากขึ้น

ตัวอย่างแรงงานอาเซียนจากประเทศยากจนที่เข้ามาทำงานในสิงคโปร์และมาเลเซีย ส่วนใหญ่จะเข้ามาทำงานในภาคบริการ และภาคอุตสาหกรรมเป็นหลัก สำหรับประเทศไทย แรงงานอาเซียนที่เข้ามาจะเป็นแรงงานในภาคอุตสาหกรรมมากที่สุด 41% ภาคบริการ 31% และภาคเกษตร 28%

นอกจากนี้ ดร.เมาโร เทสเทอเวอร์ด นักเศรษฐศาสตร์ กลุ่มงานการคุ้มครองทางสังคมและงาน กล่าวว่า ข้อมูลในปี 2558 พบว่า แรงงานอาเซียนที่ออกไปทำงานนอกประเทศมากที่สุด 4 ประเทศ ได้แก่ ฟิลิปปินส์ เวียดนาม เมียนมา และกัมพูชา โดยตัวเลขที่ส่งเงินกลับประเทศรวมกันราว 62,000 ล้านบาท โดยเงินที่ส่งกลับประเทศของฟิลิปปินส์คิดเป็น 10% ของจีดีพี เวียดนามอยู่ที่ 7% ของจีดีพี และเมียนมาคิดเป็น 5% และกัมพูชาคิดเป็น 3% ของจีดีพี

ดร.เทสเทอเวอร์ดประเมินว่า มูลค่าเงินที่ส่งกลับแต่ละประเทศ โดยเฉพาะในกลุ่ม 4 ประเทศดังกล่าว จะขยายตัวเพิ่มขึ้น 2-3 เท่าตัว ในอีก 5-10 ปีข้างหน้า เนื่องจากจำนวนเงินดังกล่าวยังไม่รวมกับแรงงานนอกระบบ และไม่ได้ทำธุรกรรมการเงินอย่างถูกต้อง หรือเคลื่อนย้ายเงินในรูปแบบอื่น

อย่างไรก็ตาม ในภาพรวมที่ผ่านมาพบว่า ขั้นตอนการย้ายถิ่นแรงงานทั่วภูมิภาคอาเซียนยังถือว่า “เข้มงวด” มีอุปสรรคในเรื่องขั้นตอนการจ้างงาน ค่าใช้จ่ายสูงที่เรียกเก็บจากนายหน้า รวมถึงการกำหนดจำนวนแรงงานต่างชาติที่ได้รับอนุญาตให้ทำงาน อันเป็นเหตุผลมาจากความคิดที่ว่าการมีแรงงานย้ายถิ่นหลั่งไหลเข้าประเทศนั้น จะทำให้เกิดผลกระทบด้านลบทางเศรษฐกิจ แต่จากการศึกษาออกมาในทางตรงกันข้าม ซึ่งจากการวิเคราะห์ด้วยแบบจำลองพบว่า ในมาเลเซีย หากจ้างแรงงานย้ายถิ่นทักษะต่ำเพิ่มขึ้น 10% จะเพิ่มจีดีพีประเทศได้อีก 1.1% ประเทศไทยพบว่า หากไม่มีแรงงานย้ายถิ่นจะทำให้จีดีพีของไทยลดลงไป 0.75%

รายงานของเวิลด์แบงก์ยังเสนอแนะว่า ประเทศผู้รับแรงงานควรนำมาตรการที่ดีเพื่อสร้างประโยชน์จากการเคลื่อนย้ายแรงงานอย่างเต็มที่ เช่น “มาเลเซีย” ควรปรับปรุงนโยบายรวมถึงแก้ไขระบบเก็บภาษีแรงงานและประสานงานอย่างใกล้ชิดกับประเทศผู้ส่งออกแรงงาน ส่วน “ไทย” การนำแรงงานย้ายถิ่นที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนเข้าสู่ระบบ พร้อมกับลดค่าใช้จ่ายในขั้นตอนเข้าประเทศ สำหรับ “สิงคโปร์” ที่มีการพัฒนาระบบการย้ายถิ่นที่มีประสิทธิภาพ แต่ควรให้ความสนใจในเรื่องการให้สวัสดิการแก่แรงงานย้ายถิ่นอย่างต่อเนื่อง ส่วนประเทศที่ส่งออกแรงงาน ควรให้ความสำคัญกับการเจรจากับประเทศปลายทาง และกวดขันบริษัทจัดหางานมากขึ้น

นี่คือภาพสะท้อนถึงบทบาทของแรงงานย้ายถิ่นหรือ “แรงงานต่างด้าว” ที่จะเข้ามาช่วยดึงเม็ดเงินลงทุนต่างชาติ รวมถึงการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของแต่ละประเทศที่ไม่ควรมองข้าม

Source: ประชาชาติธุรกิจ

https://www.prachachat.net/aseanaec/news-53482