System Integrator คือใคร ทำอะไรบ้าง

อัปเดตล่าสุด 16 ก.พ. 2563
  • Share :
  • 17,005 Reads   

การนำหุ่นยนต์มาใช้ในทางปฎิบัติ จะต้องมีผู้ทำหน้าที่ในการศึกษาขั้นตอนการใช้งาน เลือกอุปกรณ์หลัก ออกแบบและผลิตอุปกรณ์เสริม เขียนโปรแกรมและจัดขั้นตอนการทำงานของหุ่นยนต์ ชึ่งผู้ที่ทำหน้าที่นี้ เราเรียกว่า System Integrator (SI)  นั่นก็คือ ผู้เชี่ยวชาญด้านบูรณาการระบบอัตโนมัติ โดยทั่วไปบริษัทผู้ผลิตหุ่นยนต์จะวางบทบาทตัวเองในฐานะผู้จำหน่ายอุปกรณ์ และให้ข้อมูลทางเทคนิคเท่านั้น จากนั้นจะเป็นหน้าที่ ของบริษัท System Integrator ที่จะรับช่วงทำงานจนสำเร็จลุล่วง การพัฒนา System Integrator จึงมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งต่อการผลักดันให้เกิดการนำหุ่นยนต์และระบบอัตโนม้ติไปใช้ในสายการผลิตในระดับต่าง ๆ ให้แพร่หลายมากขึ้น

งานของ SI: System Integrator

ด้วยเหตุนี้เอง งานของ System Integrator จึงมีความหลากหลาย ตั้งแต่การวิเคราะห์กระบวนการผลิตของธุรกิจลูกค้า, ออกแบบระบบเพื่อนำหุ่นยนต์มาใช้, ตั้งค่าพื้นฐานให้หุ่นยนต์, และอื่น ๆ ไปจนถึงการประกอบและติดตั้งหุ่นยนต์ให้กับลูกค้า สอนการตั้งค่าและการปรับแต่ง เพื่อให้ผู้ใช้สามารถนำหุ่นยนต์เข้าใช้ในโรงงานได้โดยไม่ติดขัด แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดในงานของ System Integrator ก็คือ การออกแบบแนวคิดให้ได้โซลูชั่นที่เหมาะสมที่สุด จึงเป็นที่คาดการณ์ว่าในอนาคตหลังจากนี้ไป ความต้องการ System Integrator ในตลาดก็จะสูงมากยิ่งขึ้น เรียกได้ว่าความต้องการนั้นมีอยู่แทบในทุกอุตสาหกรรมเลยทีเดียว

นอกจากนี้ ยังมีความเป็นไปได้อื่นอีกที่จะทำให้ธุรกิจ System Integrator เติบโตอย่างมากด้วยการต่อยอดจากองค์ความรู้ด้านหุ่นยนต์และสายการผลิต ในปัจจุบันได้มีแนวคิดในการทำให้หุ่นยนต์ใช้งานได้ง่ายและหลากหลายออกมาแล้ว เช่น 

  • แขนหุ่นยนต์ที่สามารถเปลี่ยนมือได้ตามความต้องการของลูกค้า
  • แนวคิด 3D Printer สำหรับปริ้นท์มือหุ่นยนต์ให้เข้ากับชิ้นงาน
  • แนวคิด IoT ซึ่งใช้ระบบเซนเซอร์ร่วมกับสติกเกอร์, จอภาพสำหรับควบคุมหุ่นยนต์ที่ใช้งานได้ง่าย, หรือการจัดทำคลังข้อมูลเป็นวีดิโอสำหรับสอนใช้งาน หรือแก้ไขปัญหาจากหุ่นยนต์พร้อมพนักงานที่สามารถช่วยเหลือได้จากทางไกล

 

เรียนรู้จากประเทศญี่ปุ่น

ญี่ปุ่นเป็นสังคมสูงอายุ ขาดแคลนแรงงาน จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ต้องนำหุ่นยนต์ (Robot) และระบบอัตโนมัติ (Automation) มาใช้ในสายการผลิต บริษัทขนาดใหญ่ประสบความสำเร็จอย่างมากในการใช้หุ่นยนต์ ในขณะที่บริษัทขนาดกลางและขนาดเล็ก (SMEs) ยังขาดแคลนบุคลากร ที่มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องการใช้หุ่นยนต์ ส่งผลให้เกิดอุปสรรคในการตัดสินใจนำหุ่นยนต์มาใช้ และอีกปัจจัยที่สำคัญ คือ ผู้เชี่ยวชาญด้าน SI ซึ่งมีอยู่น้อยรายและมักรับงานกับบริษัทขนาดใหญ่เป็นหลัก 

 

SMEs มองว่าหุ่นยนต์เป็นเรื่องไกลตัว

The Small and Medium Enterprise Agency ได้จัดทำแบบสำรวจในประเทศญี่ปุ่นเมื่อปี 2016 ถึงสาเหตุที่ SMEs นำหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติมาใช้ในปริมาณต่ำนั้น นอกจากการขาดแคลนบุคลากรผู้เชี่ยวชาญแล้ว ยังมีสาเหตุอื่น ๆ ประกอบกัน โดยกว่า 60% ให้เหตุผลว่า “ไม่เห็นความจำเป็นที่จะต้องกู้เงินมาลงทุนเพิ่ม” เนื่องจากมองว่าเป็นการลงทุนที่ต้องใช้เม็ดเงินมหาศาล รวมถึงการปรับปรุงสายการผลิตยกใหญ่ หรือกระทั่งหลายรายที่มองว่าหุ่นยนต์เป็นเรื่องไกลตัวเกินไป ไม่มีความเป็นไปได้ที่จะนำมาใช้กับธุรกิจตน 

 

ความต้องการคนละขั้วระหว่าง “ผู้ผลิตหุ่นยนต์” และ “SMEs”

นอกจากอุปสรรคดังกล่าวที่ทำให้ System Integrator เข้ามามีบทบาทสำคัญแล้ว ความต้องการที่แตกต่างแบบคนละขั้ว ระหว่างผู้ผลิตหุ่นยนต์และ SMEs ทำให้ System Integrator ทวีความสำคัญยิ่งขึ้นไปอีก ผู้ผลิตหุ่นยนต์นั้นต้องการผลิตหุ่นยนต์ที่มีคุณภาพสูง มีคุณสมบัติในการทำงานที่ซับซ้อนมากขึ้นเรื่อย ๆ ในขณะที่ SMEs นั้นต้องการหุ่นยนต์ที่ใช้เงินลงทุนน้อย และสามารถจัดหาได้ง่าย โดยนำหุ่นยนต์มาใช้ในงานที่มีความเสี่ยงจากการทำงาน งานเคลื่อนย้ายของ งานในที่อุณหภูมิสูงหรือต่ำ และงานที่ต้องการความแม่นยำมากเป็นพิเศษ 

 

ความร่วมมือครั้งใหญ่เกิดขึ้นในประเทศญี่ปุ่นเพื่อพัฒนา SI
 
การสร้าง System Integrator ให้มีจำนวนมากพอและมีความเชี่ยวชาญใน Application ต่าง ๆ ที่ครอบคลุมความต้องการในตลาด ได้ถูกปักหมุดเป็นความร่วมมือครั้งใหญ่ด้วยงบประมาณจากภาครัฐบาลญี่ปุ่นประสานความร่วมมือกับภาคเอกชน ทั้งจากทุกค่ายหุ่นยนต์ และบริษัทผลิตชิ้นส่วนในฐานะผู้ใช้หุ่นยนต์รายใหญ่ และที่ขาดไม่ได้คือ มหาวิทยาลัย  โดยปัจจุบัน มหาวิทยาลัยนาโกยา (Nagoya University) หรือ สถาบันเทคโนโลยีนาโกยา ซึ่งเป็นสถาบันการศึกษาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีระดับแนวหน้าของจังหวัดนาโกยา และเป็นหนึ่งในมหาวิทยาลัยด้านวิศวกรรมที่ดีที่สุดในประเทศญี่ปุ่น โดยนาโกยาเองเป็นศูนย์กลางการผลิตรถยนต์ของประเทศญี่ปุ่นอีกด้วย ได้มีบทบาทในการพัฒนา SI ผ่านหลากหลายโครงการ อาทิ
  • เปิดคอร์สอบรมการจัดหาหุ่นยนต์สำหรับงานอุตสาหกรรม ซึ่งผลลัพธ์จากความร่วมมือดังกล่าวจะช่วยผลักดัน System Integrator ผู้ซึ่งต้องมีความรู้ ข้อมูลจำเพาะ และเทคนิคต่าง ๆ ให้ได้รับการถ่ายทอดความรู้จากทีมผู้เชี่ยวชาญที่ค่ายหุ่นยนต์ส่งเข้ามาเป็นวิทยากรและเทรนเนอร์ มีการเปิดให้เยี่ยมชมโชว์รูมของผู้ผลิตหุ่นยนต์  สำหรับคอร์สเรียนเป็น System Integrator ที่มหาวิทยาลัยนาโกยานี้ เปิดรับเฉพาะผู้รับผิดชอบด้านการติดตั้งเครื่องจักรในโรงงาน หรือตำแหน่งงานที่ใกล้เคียงที่ทำงานอยู่ในโรงงานเท่านั้น และผู้เรียนไม่จำเป็นต้องมีพื้นฐานความรู้ด้านหุ่นยนต์มาก่อน
  • ถัดมาคือการดำเนินการจัดทำคู่มือสำหรับ System Integrator ออกมา ซึ่งจะรวบรวมข้อมูลพื้นฐานสำหรับผู้ต้องการจัดหาหุ่นยนต์ เลือกใช้คำศัพท์ที่ง่ายต่อการเข้าใจโดยคนนอกที่ไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญ อธิบายขั้นตอนต่าง ๆ ตั้งแต่การตัดสินใจนำหุ่นยนต์เข้าใช้ กระบวนการดำเนินงานในแต่ละขั้นตอน แนะนำหุ่นยนต์และเครื่องจักรอื่นที่เกี่ยวข้อง ไปจนถึงการวางมาตรการด้านความปลอดภัย อีกทั้งมีการก่อตั้งสมาคมเพื่อสนับสนุนความร่วมมือและการจับคู่ความต้องการในกลุ่ม SMEs และ System Integrator เพื่อให้การจัดหาหุ่นยนต์เกิดประโยชน์สูงสุด รวมไปถึงจัดทำ Web-based Directory ที่รวบรวมแนวทางการใช้หุ่นยนต์และข้อมูลของ System Integrator เอาไว้ในที่เดียว
  • นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยนาโกยายังได้สร้างเครือข่ายส่งเสริมการใช้หุ่นยนต์ในภาคอุตสาหกรรมขึ้น เพื่อให้เป็นแพลตฟอร์มที่รวบรวมรายชื่อ SMEs, System Integrator, ผู้ผลิตหุ่นยนต์, และองค์กรที่เกี่ยวข้อง เพื่อสนับสนุนการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกัน รวมถึงการจัดอบรบบุคลากร
  • ธุรกิจหลายประเภทประสบความสำเร็จในการนำหุ่นยนต์มาใช้ อาทิ บริษัท Shiokawa ธุรกิจด้านอาหารซึ่งได้ Yasunaka Denki เข้าช่วยติดตั้งหุ่นยนต์สำหรับการบรรจุเห็ดลงในถาดโดยไม่เกิดความเสียหาย, บริษัท Kaneko Optical ที่ได้ Yamaha Fine Technologies เข้าติดตั้ง Grinding Robot สำหรับงานขัดเลนส์แว่นเพื่อลดภาระของคนงาน

 

นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยนาโกยา ได้นำเสนอตัวอย่างโรงงานผลิตเครื่องดื่มแห่งหนึ่ง  ที่ไม่จำกัดการใช้งานหุ่นยนต์ไว้เพียงแบรนด์ใดแบรนด์หนึ่ง แต่เป็นการเลือกหุ่นยนต์ให้เหมาะสมกับงานในแต่ละ Process ซึ่งเป็นหน้าที่ของ System Integrator ในการจับคู่ความต้องการของผู้ใช้เข้ากับหุ่นยนต์ที่เหมาะสม และติดตั้งให้สามารถใช้งานร่วมกันได้โดยไม่ติดขัด

  • การผลิตขวด ทำด้วยหุ่นยนต์จาก Fanuc

  • ตรวจสอบคุณภาพขวดที่ได้ด้วยเครื่องจาก Denso Wave

  • หีบห่อขวดด้วยหุ่นยนต์จาก Mitsubishi Electric

  • ตรวจสอบคุณภาพแพ็คเกจด้วยหุ่นยนต์จาก Yaskawa

  • ประกอบกล่องสำหรับบรรจุด้วยหุ่นยนต์จาก Kawasaki

 

ซึ่งหุ่นยนต์จากทั้ง 5 แบรนด์ ได้ถูกเชื่อมต่อเข้าหากันผ่านอุปกรณ์ IoT เพื่อตรวจสอบและควบคุมการทำงาน  เสริมประสิทธิภาพในกระบวนการทำงานแต่ละขั้นตอนให้สูงขึ้น ลำเลียงชิ้นงานและควบคุมด้วยเครื่องจาก VR Technology ซึ่งรับหน้าที่เป็น System Integrator ในการออกแบบและติดตั้งเครื่องจักรทั้งหมดนี้  แบบจำลองโรงงานดังกล่าวได้จัดแสดงไว้ที่ SI Center จังหวัดกิฟุ เพื่อใช้เป็นตัวอย่างสำหรับสาธิตการทำงาน และในปี 2018 มี System Integrator จำนวน 209 รายที่ได้รับการตรวจสอบและรับรองโดย Japan Robot Association (JARA)