ย้อนมอง 2018 หุ่นยนต์อุตสาหกรรม และระบบอัตโนมัติเป็นอย่างไรในปีนี้?

อัปเดตล่าสุด 31 ธ.ค. 2561
  • Share :
  • 2,236 Reads   

2018 อีกหนึ่งปีที่วงการอุตสาหกรรมมีความตื่นตัวในด้านหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ ทั้งการพัฒนาเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการนำไปใช้จริงในโรงงาน  ซึ่งเป็นผลจากปัจจัยมากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นของความต้องการยกระดับศักยภาพการผลิต และปัญหาการขาดแคลนแรงงานที่มีแนวโน้มจะรุนแรงมากยิ่งขึ้น  ซึ่งประเด็นเหล่านี้เอง ที่ผลักดันให้อุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติในช่วงปีที่ผ่านมามีความคึกคักเป็นพิเศษ

โดยในปีนี้ เป็นปีที่มีความก้าวหน้าเกิดขึ้นในอุตสาหกรรมหุ่นยนต์หลากหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นในส่วนของหุ่นยนต์อุตสาหกรรมโดยตรง และในส่วนของเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง


Cooperating Robot คืออนาคต

ในส่วนของการพัฒนาหุ่นยนต์อุตสาหกรรมโดยตรงนั้น นับได้ว่าเป็นปีที่มีการพัฒนา Cooperating Robot มากยิ่งขึ้น โดยหุ่นยนต์อุตสาหกรรมซึ่งสามารถนำมาใช้ทำงานร่วมกับมนุษย์ในสายการผลิตได้โดยไม่เป็นอันตรายเช่นนี้เอง ที่ถูกคาดการณ์ว่าจะมีความต้องการเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมากในอนาคต เนื่องจากความง่ายในการนำมาใช้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ช่วยดึงดูดให้ SME สนใจจัดหาหุ่นยนต์มากยิ่งขึ้น

ในส่วนของเทคโนโลยีหุ่นยนต์นั้น นับตั้งแต่ช่วงปี 2017 ถึงปัจจุบัน หลายฝ่ายได้มีการลงทุนกระตุ้นการพัฒนาหุ่นยนต์ฮิวแมนนอยด์ ทั้งจากภาคเอกชน สถาบันการศึกษา และแม้กระทั่งบริษัทสตาร์ทอัพ ซึ่งหุ่นยนต์ฮิวแมนนอยด์นี้ นอกจากสามารถนำมาใช้ทดแทนแรงงานได้แล้ว เทคโนโลยีที่ถูกใช้ในการพัฒนา ยังเชื่อมโยงไปยังความคืบหน้าของหุ่นยนต์อุตสาหกรรมในอนาคตอีกด้วย ซึ่งเห็นได้ชัดเจนจากการที่ธุรกิจในภาคอุตสาหกรรมหลายราย ได้ร่วมลงทุนให้กับการพัฒนา “Avatar Robot” หุ่นยนต์ฮิวแมนนอยด์ที่สามารถควบคุมได้จากทางไกล (Remote-Operations) ของ MELTIN MMI บริษัทสตาร์ทอัพค่ายญี่ปุ่น รวมแล้วเป็นมูลค่าสูงถึง 17.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ


ยุค 5G ที่กำลังมาถึง

เมื่อพูดถึงหุ่นยนต์ควบคุมทางไกลแล้ว จะพบว่า การมาถึงของเทคโนโลยี 5G ในปีนี้ ทำให้หุ่นยนต์ควบคุมทางไกลเข้าใกล้ความเป็นจริงไปอีกก้าว นอกจากนี้ ยังมีการพัฒนาเทคโนโลยีอื่นที่เกี่ยวข้อง ซึ่งอาจเข้ามามีบทบาทในการพัฒนาหุ่นยนต์อุตสาหกรรมในภายภาคหน้า

นอกจากนี้ การใช้หุ่นยนต์ยังมีความแพร่หลายมากยิ่งขึ้น เห็นได้จากการนำหุ่นยนต์ไปใช้ในอุตสาหกรรมอื่นนอกเหนือจากอุตสาหกรรมการผลิต เช่น ใช้หุ่นยนต์ในการประกอบอาหาร, หรือหุ่นยนต์บริการในอุตสาหกรรมงานบริการ, ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นการใช้งานที่คนส่วนมากคาดไม่ถึงอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม ด้วยความก้าวหน้าของอุตสาหกรรมหุ่นยนต์นี้เอง ที่ทำให้หลายคนเกิดความกังวลในเรื่องของหน้าที่การงาน ว่าการเข้ามาของหุ่นยนต์นี้ จะเป็นการเข้ามาแย่งงานของตนไปหรือไม่?

ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว หุ่นยนต์นั้นไม่ได้เข้ามาแย่งงานมนุษย์แต่อย่างใด แต่เป็นการแทนที่ตำแหน่งงาน และสร้างงานตำแหน่งใหม่ขึ้นมาชดเชยกันเท่านั้น อีกทั้งยังช่วยเพิ่มอัตราการจ้างได้อีกด้วย ซึ่งจากการทำแบบสำรวจโดย World Economic Forum ในปี 2018 นี้ พบว่า 90% ของธุรกิจในไทย มีแนวโน้มจัดหาระบบอัตโนมัติ และหุ่นยนต์อุตสาหกรรมเพื่อปรับรูปแบบการทำงานให้สอดคล้องกับความก้าวหน้าของเทคโนโลยี อย่างไรก็ตาม 85% ของธุรกิจมีแนวโน้มว่าจ้างพนักงานเพื่อให้ทำงานควบคู่กับเทคโนโลยีใหม่เหล่านี้ และ 79% ที่มีแนวโน้มว่างจ้างพนักงานเดิมของตนต่อ โดยมุ่งไปที่การพัฒนาทักษะเพื่อให้สามารถทำงานร่วมกับระบบอัตโนมัติได้ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงแนวโน้มในทางดีไม่น้อยเลยทีเดียว


ไม่ใช้หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ ถือว่าพลาด!!!

สำหรับผู้ประกอบการที่ต้องการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตด้วยการนำหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติเข้ามาใช้ในสายการผลิต สามารถขอรับงบสนับสนุนได้จาก BOI ภายใต้มาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต โดยการ “ยกเว้น” ภาษีเงินได้นิติบุคคล 50% ของเงินลงทุนเป็นเวลา 3 ปีให้ครอบคลุมประเภทกิจการกลุ่ม B [กลุ่ม B คือ อุตสาหกรรมสนับสนุนที่ใช้เทคโนโลยีไม่สูง แต่ยังสำคัญต่อห่วงโซ่มูลค่า]

ทั้งยังเพิ่มเติมสิทธิประโยชน์ในกรณีการใช้เครื่องจักรที่มีการเชื่อมอยู่หรือสนับสนุนอุตสาหกรรมการผลิตเครื่องจักรระบบอัตโนมัติในประเทศไม่น้อยกว่า 30% ของมูลค่าเพิ่มจากที่มีการปรับเปลี่ยนให้ได้รับการ “ยกเว้น” ภาษีเงินได้นิติบุคคล 50% ของเงินลงทุนเป็นเวลา 3 ปี

นอกจากนี้ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) พิจารณาให้ผู้ประกอบการที่ปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตด้วยการใช้หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ อยู่ในขอบข่ายการพิจารณาส่งเสริมเป็นพิเศษในการใช้กองทุนพัฒนา SMEs และเตรียมงบประมาณเพื่อปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ย 0% แก่ SMEs รายละ 1- 2 ล้านบาทอีกด้วย