ไม่พึ่งแม่พิมพ์ เทคนิคผลิตตัวถังยานยนต์ด้วยโรบอทจาก Nissan

อัปเดตล่าสุด 9 ต.ค. 2562
  • Share :
  • 2,147 Reads   

เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม Nissan Automotive ประกาศผลสำเร็จการพัฒนาเทคโนโลยีผลิตชิ้นส่วนตัวถังยานยนต์แบบไร้แม่พิมพ์ ด้วยการใช้แขนโรบอทติดตั้งทูลส์ทรงกระบอกแทนที่ โดยเทคนิคการผลิตนี้ รองรับการผลิตชิ้นส่วนตัวถังหลายรูปแบบ และเหมาะสำหรับการผลิตชิ้นส่วนแบบ High-Mix Low-Volume เป็นอย่างยิ่ง อีกทั้งมีต้นทุนเครื่องจักรเพียง 10% ซึ่ง Nissan ตั้งเป้าใช้เทคโนโลยีนี้ในการผลิตอุปกรณ์แต่งรถ, และชิ้นส่วนสำหรับซ่อมรถยนต์โมเดลเก่าที่เลิกผลิตไปแล้ว พร้อมวางแผนใช้ในสายการผลิตทั่วไปในอนาคต

Mr. Hideyuki Sakamoto รองประธานบริษัท Nissan กล่าวว่า เทคโนโลยีการผลิตนี้ เรียกว่า “Incremental Forming” โดยจะเริ่มด้วยการขึ้นรูปชิ้นส่วนเป็นข้อมูล 3D จากนั้นใช้แขนโรบอทที่ติดตั้งทูลส์ทรงกระบอกไว้ในการขึ้นรูปชิ้นส่วนคร่าว ๆ ก่อนใช้หุ่นยนต์อีก 2 เครื่องประกบหน้าหลัง เพื่อขึ้นรูปชิ้นส่วนให้ได้รูปทรงตามต้องการ จากนั้นจึงนำชิ้นส่วนที่ได้ไปติดตั้งกับอุปกรณ์จับยึด เพื่อปิดงานเป็นขั้นตอนสุดท้าย อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันยังไม่มีรถยนต์ของบริษัทที่ถูกผลิตด้วยเทคโนโลยีนี้แต่อย่างใด

Mr. Hideyuki Sakamoto กล่าวต่อว่า โดยทั่วไปแล้ว การผลิตชิ้นส่วนตัวถังยานยนต์ใช้วิธีการเพรสขึ้นรูป ซึ่งเหมาะแก่การผลิตจำนวนมากเนื่องจากมีต้นทุนต่ำ แต่หากเป็นชิ้นส่วนที่ต้องผลิตจำนวนน้อยแล้วจะไม่คุ้มค่าแม่พิมพ์ ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว ผู้ใช้ยานยนต์มีรสนิยมที่หลากหลายเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะในปัจจุบัน ซึ่งความต้องการยานยนต์ที่มีรูปทรงเดียวกับโมเดลเก่า ๆ เพิ่มขึ้น ทาง Nissan จึงคาดว่า เทคโนโลยีนี้ จะสามารถตอบโจทย์ความต้องการเช่นนี้ได้เป็นอย่างดี

โดยการผลิตวิธีนี้ จะมีต้นทุนค่าอุปกรณ์ และค่าออกแบบอยู่ที่ 100,000 - 1,000,000 เยน และสามารถใช้แขนโรบอททั่วไปในการผลิตได้ และมี Lead Time อยู่ที่ 3 วัน - 4 สัปดาห์ ต่างจากการผลิตด้วยแม่พิมพ์ ซึ่งอาจใช้เวลาถึง 1 ปี เมื่อรวมขั้นตอนการออกแบบแม่พิมพ์แล้ว

ที่ผ่านมา ปัญหาทางเทคนิคอย่างหนึ่ง ที่ทำให้เทคโนโลยีนี้ยังใช้งานจริงไม่ได้คือ การรักษาความแม่นยำ และคุณภาพผิวงาน โดย Nissan ได้แก้ไขด้วยการใช้สารเคลือบผิวเพื่อลดแรงเสียดทานจากการทำงาน และโปรแกรมให้สามารถสร้าง Tool Path ให้รองรับความเค้นของชิ้นงาน และอยู่ระหว่างพัฒนาต่อยอดให้สามารถใช้ผลิตชิ้นส่วนจาก High Tensile Steel ได้ในอนาคต โดย Nissan รายงานว่า มีความต้องการชิ้นส่วนตกแต่งภายนอกสำหรับ Nissan Skyline เข้ามาเป็นอย่างมาก รวมไปถึงความต้องการชิ้นส่วนสำหรับซ่อมรถยนต์โมเดลเก่าที่ทางบริษัทเลิกผลิตไปแล้ว จึงทำให้บริษัทมีแผนนำเทคโนโลยีนี้เข้าสู่สายการผลิตเดือนพฤศจิกายนที่จะมาถึง

Mr. Haruhiko Yoshimura เจ้าหน้าที่บริหารบริษัท Nissan รายงานว่า เทคโนโลยีนี้ถูกวางแผนนำมาใช้ในสายการผลิตรถหรูของบริษัทในอนาคต ในขณะที่ Mr. Hideyuki Sakamoto แสดงความเห็นว่า “อยากร่วมมือกับผู้ผลิตหุ่นยนต์ เพื่อแก้ปัญหาที่ยังเหลืออยู่ให้หมดไป”