จ่ายไฟฟ้าจากแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า, vehicle-to-grid (v2g) technology, Nissan Motor Thailand, การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย, นวัตกรรมโรงไฟฟ้าเสมือน, ต่อไฟจากแบตรถยนต์, ต่อไฟจากแบตเตอรี่รถยนต์

นิสสัน จับมือ กฟผ. ขานรับแนวคิดโรงไฟฟ้าเสมือน ทดสอบจ่ายไฟฟ้าจากอีวีสู่ระบบไฟฟ้า

อัปเดตล่าสุด 27 ต.ค. 2565
  • Share :
  • 1,324 Reads   

นิสสัน ประเทศไทย จับมือ กฟผ. ศึกษาและทดสอบควบคุมการสั่งจ่ายไฟฟ้าจากแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าหลายคันสู่ระบบไฟฟ้าพร้อมกัน ผ่านระบบ EGAT V2G & VPP ที่ กฟผ. พัฒนาขึ้น ขานรับแนวคิดโรงไฟฟ้าเสมือน เสริมความมั่นคงระบบไฟฟ้าของประเทศในอนาคต

วันที่ 26 ตุลาคม 2565 นายคาซูยะ นาชิดะ​ เอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย กล่าวแสดงความยินดี และ ดร. ศิริ จิระพงษ์พันธ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ร่วมเป็นประธานในพิธีเปิดโครงการความร่วมมือระหว่างบริษัท นิสสัน มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) นำร่องศึกษาการแปลงพลังงานระหว่างยานยนต์ไฟฟ้ากับระบบไฟฟ้า และการควบคุมกำลังไฟฟ้าจากศูนย์ควบคุมกำลังไฟฟ้าแห่งชาติ โดยมีนายอิซาโอะ เซคิกุจิ ประธาน นิสสัน ประเทศไทย และนายบุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร ผู้ว่าการ กฟผ. ร่วมในพิธี พร้อมด้วยผู้บริหารทั้งสองหน่วยงาน ณ ห้องออดิทอเรียม อาคาร 50 ปี กฟผ. สำนักงานใหญ่ จ.นนทบุรี

นายอิซาโอะ เซคิกุจิ ประธาน นิสสัน ประเทศไทย เปิดเผยว่า นิสสันดำเนินธุรกิจอยู่ในประเทศไทยมานานถึง 70 ปี เรามุ่งมั่นที่จะสนับสนุนการพัฒนาประเทศไทยในทุกด้าน โดยเฉพาะด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืน ในฐานะที่นิสสันเป็นผู้นำที่มีการพัฒนาเทคโนโลยีและยานยนต์ไฟฟ้าอย่างต่อเนื่องและได้รับการยอมรับเป็นอย่างสูงทั่วโลก ประกอบกับวิสัยทัศน์ Ambition 2030 ของนิสสันที่ตั้งเป้าหมายจะมุ่งมั่นพัฒนารถยนต์และเทคโนโลยียานยนต์เพื่อสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาอย่างยั่งยืน นิสสันจึงมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่จะสนับสนุนการศึกษาเพื่อหาแนวทางที่จะขับเคลื่อนประเทศไทยให้ก้าวสู่สังคมคาร์บอนเป็นศูนย์ภายในปี พ.ศ. 2608 บริษัท นิสสัน ประเทศไทย หวังว่าความร่วมมือในครั้งนี้จะสร้างคุณประโยชน์ให้กับทุกภาคส่วนสังคมไทย และสนับสนุนประเทศไทยให้บรรลุเป้าหมายคาร์บอนเป็นศูนย์ต่อไปในอนาคต

ด้านนายบุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร ผู้ว่าการ กฟผ. กล่าวเพิ่มเติมว่า การส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ภายในประเทศถือเป็นหนึ่งในแนวทางสำคัญของการผลักดันประเทศไทยสู่เป้าหมาย Carbon Neutrality ในปี พ.ศ. 2593 กฟผ. ในฐานะหน่วยงานที่ดูแลความมั่นคงด้านพลังงานไฟฟ้าของประเทศ ได้เตรียมความพร้อมของระบบไฟฟ้าและการบริหารจัดการพลังงานรองรับการใช้ EV ที่เพิ่มขึ้นในอนาคต รวมถึงรองรับเทคโนโลยีการจ่ายไฟฟ้าจากแบตเตอรี่ยานยนต์ไฟฟ้าเข้าสู่ระบบไฟฟ้า (Vehicle-to-Grid หรือ V2G) โดย กฟผ. ได้พัฒนาออกแบบระบบ EGAT V2G & VPP ซึ่งเป็นระบบควบคุมการสั่งจ่ายไฟฟ้าจากแบตเตอรี่ของรถอีวีหลาย ๆ คัน กลับเข้าสู่ระบบไฟฟ้าพร้อมกัน และส่งกำลังไฟฟ้าไปยังศูนย์สั่งการการตอบสนองด้านโหลด (Demand Response Control Center หรือ DRCC) ซึ่งอยู่ภายใต้การดูแลของ กฟผ. ขานรับแนวคิดโรงไฟฟ้าเสมือน (Virtual Power Plant หรือ VPP) รองรับการรับซื้อไฟฟ้าส่วนเหลือจากแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าเข้าสู่ระบบไฟฟ้าในอนาคต เพื่อเป็นระบบสำรองไฟฟ้าช่วยเสริมความมั่นคงไฟฟ้าของประเทศ โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่เกิดความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดตามแผนการขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านสมาร์ทกริดของประเทศไทย ระยะปานกลาง พ.ศ. 2565 – 2574 ภายใต้โครงการทดสอบนวัตกรรมที่นำเทคโนโลยีมาสนับสนุนการให้บริการด้านพลังงาน (ERC Sandbox) ระยะที่ 2 ซึ่งจะมีส่วนสำคัญสำหรับการศึกษาเทคโนโลยี V2G ที่เหมาะสมกับประเทศไทย รวมถึงการนำข้อมูลมาใช้จัดทำข้อกำหนดและระเบียบปฏิบัติให้สอดรับกับแนวทางการใช้พลังงานรูปแบบใหม่ในอนาคตต่อไป

ความร่วมมือครั้งนี้ นิสสัน ประเทศไทย และ กฟผ. จะร่วมกันศึกษาจ่ายไฟฟ้าจากจากแบตเตอรี่ของรถยนต์นิสสันลีฟ (Nissan LEAF) เข้าสู่ระบบไฟฟ้า เพื่อเป็นแหล่งพลังงานไฟฟ้าสำรอง โดยรถยนต์นิสสันลีฟเป็นรถยนต์พลังงานไฟฟ้า 100% รองรับเทคโนโลยีการชาร์จไฟฟ้าแบบสองทิศทาง (Bi-directional Charging) คือ นอกจากชาร์จไฟฟ้าให้แก่รถยนต์ไฟฟ้า ยังสามารถจ่ายไฟฟ้าจากแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าสู่ระบบโครงข่ายไฟฟ้าของ กฟผ. ผ่านเครื่องอัดประจุไฟฟ้าแบบสองทิศทางสำหรับบ้านเครื่องแรกของโลก รุ่น Quasar จากแบรนด์ Wallbox ซึ่งเป็นผู้นำด้านเครื่องชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าและระบบบริหารจัดการพลังงานสุดอัจฉริยะระดับโลกที่นำเข้าและให้บริการหลังการขายโดยบริษัท อินโนพาวเวอร์ จำกัด เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในการใช้พลังงานไฟฟ้าจากแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้ามาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด

 

บทความยอดนิยม 10 อันดับ

 

อัปเดตข่าวทุกวันที่นี่ www.mreport.co.th   

Line / Facebook / Twitter / YouTube @MreportTH