เปิดพิมพ์เขียว "ระบบเกษตรอัจฉริยะ HandySense" สู่นวัตกรรมแบบเปิด เพื่อสังคมไทย

เปิดพิมพ์เขียว "ระบบเกษตรอัจฉริยะ HandySense" สู่นวัตกรรมแบบเปิด เพื่อสังคมไทย

อัปเดตล่าสุด 27 มี.ค. 2564
  • Share :
  • 2,747 Reads   

เปิดพิมพ์เขียวผลงานวัจัย "HandySense ระบบเกษตรแม่นยำ ฟาร์มอัจฉริยะ" ขับเคลื่อนสมาร์ทฟาร์มแบบเปิดสู่สังคมไทย ตั้งเป้าหมายให้เกษตรกร ผู้ประกอบการ หรือผู้สนใจทั่วไปนำไปผลิตเพื่อใช้หรือจำหน่ายได้ ภายใต้แนวคิด Smart Farming Open Innovation หรือ นวัตกรรมแบบเปิด

เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2564 ที่ผ่านมา กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดย กรมส่งเสริมการเกษตร จับมือ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดย ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ หรือ เนคเทค-สวทช. ประกาศเผยแพร่พิมพ์เขียวต้นแบบผลงานวิจัย HandySense ระบบเกษตรแม่นยำ ฟาร์มอัจฉริยะ เพื่อประโยชน์สาธารณะ ร่วมกับพันธมิตร ประกอบด้วย ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) จังหวัดฉะเชิงเทรา และ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) ขับเคลื่อนสมาร์ทฟาร์มแบบเปิดสู่สังคมไทย ตั้งเป้าหมายให้เกษตรกร ผู้ประกอบการ หรือผู้สนใจทั่วไปนำไปผลิตเพื่อใช้หรือจำหน่ายได้ ภายใต้แนวคิด Smart Farming Open Innovation หรือ นวัตกรรมแบบเปิด ซึ่งจะเป็นนวัตกรรมที่เปิดเผยรายละเอียดการผลิต และอนุญาตให้สาธารณะนำไปผลิตและใช้งานโดยไม่คิดค่าลิขสิทธิ์ (License Fee) และค่าตอบแทนการใช้สิทธิรายปี (Royalty Fee) โดยมุ่งหวังให้เกษตรกรไทยยุคใหม่ ได้มีเครื่องมือที่ทันสมัยใช้งานในราคาที่จับต้องได้ และต้องการให้เกิดอุตสาหกรรมการผลิตเครื่องมือทางด้านสมาร์ทฟาร์มโดยผู้ประกอบการไทย

เนคเทค-สวทช. ได้ดำเนินการวิจัยและพัฒนาระบบสมาร์ทฟาร์มที่ชื่อว่า “HandySense ระบบเกษตรแม่นยำ ฟาร์มอัจฉริยะ” มาตั้งแต่ปี 2560 ในระยะแรกได้มีการนำผลงานวิจัยไปขยายผลให้เกษตรกรได้ใช้ประโยชน์ภายใต้โครงการ “ดีแทคฟาร์มแม่นยำ” ซึ่งเป็นการบูรณาการความร่วมมือระหว่าง ดีแทค ร่วมกับ กรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และ เนคเทค-สวทช. มีเป้าหมายการพัฒนาให้เกิดฟาร์มต้นแบบ โดยใช้เทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตสรรพสิ่ง (IoT) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ลดต้นทุน และควบคุมคุณภาพการเพาะปลูก ซึ่งได้มีการทดลองใช้กับ 30 ฟาร์ม ใน 23 จังหวัด โดยการใช้อุปกรณ์ที่สำคัญประกอบด้วยกล่องเซนเซอร์ที่กระจายอยู่ในโรงเรือนเพาะปลูก ใช้สำหรับวัดความชื้นในดินและในอากาศ อุณหภูมิ และแสง จากนั้นทำการประมวลผลแล้วส่งข้อมูลจากแปลงเพาะปลูกไปยังสมาร์ทโฟน หรือแท็บเล็ตของเกษตรกรแบบ real-time เพื่อให้เกษตรกรสามารถควบคุมดูแลสภาพในแปลงเพาะปลูกได้อย่างใกล้ชิด และแก้ปัญหาได้หากเกิดเหตุการณ์ผิดปกติ

จากจุดเริ่มต้นดังกล่าวทีมนักวิจัยของเนคเทค-สวทช. ได้เดินหน้าสู่การนำผลงานวิจัยและองค์ความรู้ของอุปกรณ์ HandySense ไปขยายผลในหลายพื้นที่ อาทิ ในปี พ.ศ. 2562 โดยการสนับสนุนงบประมาณจากจังหวัดฉะเชิงเทรา มีการขยายผลการใช้งานจริงในพื้นที่ทำการเกษตรปลอดภัยสูงหรือผักปลอดภัยให้กับเกษตรกรผู้สนใจใน 34 แห่ง ผลการดำเนินงาน พบว่าช่วยให้เกษตรกรสามารถควบคุมสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมแก่การเจริญเติบโตของพืช ระบบใช้งานง่าย ทนทาน ราคาประหยัด สามารถลดการใช้แรงงานได้ประมาณ 50% มีรายได้จากการเพิ่มคุณภาพปริมาณผลผลิตและลดการใช้ทรัพยากรโดยเฉลี่ยอย่างน้อย 20% และในปีงบประมาณ 2564 สำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดฉะเชิงเทรา ได้ขยายผลเพิ่มอีก 50 แห่ง โดยเป็นการมุ่งเน้นการควบคุมกระบวนการเพาะปลูกพืชเศรษฐกิจสำคัญ ที่เป็นอัตลักษณ์ของจังหวัดฉะเชิงเทราให้ได้อย่างเหมาะสม

ดร. ทองเปลว กองจันทร์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ประธานในพิธีเปิด กล่าวว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมส่งเสริมการเกษตรร่วมมือกับศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) ธกส. และหน่วยงานพันธมิตร ส่งเสริมการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ คือ ระบบการบริหารจัดการแปลงเกษตรด้วยระบบเกษตรอัจฉริยะ (HandySense) โดยการสร้างต้นแบบแปลงเรียนรู้การบริหารจัดการแปลงเกษตรด้วยระบบเกษตรอัจฉริยะ ที่ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) และศูนย์ปฏิบัติการในสังกัดของกรมส่งเสริมการเกษตร จำนวน 50 ศูนย์ พร้อมพัฒนาความรู้ทักษะในการบริหารจัดการให้แก่เกษตรกรต้นแบบ ใน ศพก. และเจ้าหน้าที่กรมส่งเสริมการเกษตร เพื่อยกระดับเป็นวิทยากรเกษตรอัจฉริยะ รวมทั้งศึกษาวิเคราะห์ข้อมูลการบริหารจัดการแปลงเกษตรด้วยระบบอัจฉริยะ แล้วนำไปประยุกต์ใช้ในการผลิตสินค้าเกษตรได้อย่างเหมาะสมกับสภาพพื้นที่ของชุมชน ซึ่งเชื่อมโยงนโยบายของ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ต้องการสร้างความเข้มแข็งให้แก่สถาบันเกษตรกรและเศรษฐกิจฐานราก โดยการสนับสนุนและส่งเสริมเทคโนโลยีเกษตร การประดิษฐ์ นวัตกรรม รวมทั้งเครื่องจักรกลเกษตรที่เหมาะสมกับพื้นที่ โดยเชื่อมโยงการทํางานกับศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) เพื่อยกระดับสู่การทําเกษตรสมัยใหม่ และเกษตรแบบแม่นยํา (Precision Agriculture) รวมทั้งได้มอบหมายให้หน่วยงานภายใต้สังกัดดำเนินการขับเคลื่อนแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ในประเด็นการเกษตร โดยมีจุดเน้นในด้านการเกษตรอัจฉริยะ ซึ่งจะต้องเริ่มต้นจากการมีข้อมูลทางการเกษตร ประกอบกับเทคโนโลยี และแบบจำลองต่างๆ ซึ่งจุดเน้นคือการให้เกษตรกรและหน่วยงานเข้าถึงการใช้ประโยชน์จากฐานข้อมูลระบบเทคโนโลยีและ applications ต่างๆ และเน้นการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลให้มากขึ้น

ดร.ชัย วุฒิวิวัฒน์ชัย ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) กล่าวว่า “จากผลสำเร็จที่เกิดขึ้นกับเกษตรกรที่เป็นพื้นฐานสำคัญของประเทศไทย ประกอบกับทีมนักวิจัยของเนคเทค-สวทช. ผู้วิจัยพัฒนา HandySense ระบบเกษตรแม่นยำ ฟาร์มอัจฉริยะ มีความมุ่งมั่นที่อยากจะเห็นทุกบ้าน ทุกหลังคาเรือนของเกษตรกรไทย ได้เข้าถึงและสามารถใช้เครื่องมือหรือเทคโนโลยีด้านเกษตรสมัยใหม่ได้โดยง่าย ในราคาที่ประหยัดและเหมาะสมต่อการใช้งาน อีกทั้งสามารถนำไปใช้ประโยชน์ ก่อให้เกิดมูลค่าเพิ่มของผลผลิตทางด้านการเกษตรได้อย่างยั่งยืน จึงเป็นที่มาของการประกาศเดินหน้าขับเคลื่อนสมาร์ทฟาร์มแบบเปิดสู่สังคมไทย ตั้งเป้าเปิดเผยพิมพ์เขียวต้นแบบผลงานวิจัย HandySense ให้เกษตรกร ผู้ประกอบการไทย หรือผู้สนใจทั่วไปนำไปผลิตเพื่อใช้หรือจำหน่ายได้ เป็นการเปิดเผยรายละเอียดการผลิต และอนุญาตให้สาธารณะนำไปผลิตและใช้งานโดยไม่คิดค่าลิขสิทธิ์ (License Fee) และค่าตอบแทนการใช้สิทธิรายปี (Royalty Fee) โดยมุ่งหวังให้เกษตรกรไทยยุคใหม่ ได้มีเครื่องมือที่ทันสมัย ใช้งานในราคาที่จับต้องได้ และต้องการให้เกิดอุตสาหกรรมการผลิตเครื่องมือทางด้านสมาร์ทฟาร์มโดยผู้ประกอบการไทย พร้อมตั้งความหวังไว้ว่า HandySense จะเป็นส่วนหนึ่งของการใช้เทคโนโลยีการเกษตรอย่างยั่งยืน และในอนาคต หากเกษตรกรไทยมีการใช้ระบบนี้อย่างแพร่หลาย การบริหารจัดการด้านการเกษตรของไทยก็จะสามารถก้าวกระโดดไปสู่ยุคเกษตรอัจฉริยะได้ ”

ด้าน นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า “กรมส่งเสริมการเกษตรได้ส่งเสริมการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีสมัยใหม่ให้แก่เกษตรกร เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายของ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในการสร้างความเข้มแข็งให้แก่สถาบันเกษตรกรและเศรษฐกิจฐานราก โดยการสนับสนุนและส่งเสริมเทคโนโลยีเกษตร การประดิษฐ์ นวัตกรรม รวมทั้งเครื่องจักรกลเกษตรที่เหมาะสมกับพื้นที่ โดยเชื่อมโยงการทํางานกับ ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) เพื่อยกระดับสู่การทําเกษตรสมัยใหม่ และเกษตรแบบแม่นยํา (Precision Agriculture) และนโยบายของ ดร.ทองเปลว กองจันทร์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่มอบหมายให้หน่วยงานภายใต้สังกัดดำเนินการขับเคลื่อนแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ในประเด็นการเกษตร โดยมีจุดเน้นในด้านการเกษตรอัจฉริยะ คือการให้เกษตรกรและหน่วยงานเข้าถึงการใช้ประโยชน์จากฐานข้อมูลระบบเทคโนโลยีและแอปพลิเคชันต่าง ๆ และเน้นการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล กรมส่งเสริมการเกษตรจึงได้กำหนดแนวทางการส่งเสริมการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีสมัยใหม่ให้แก่เกษตรกร

ประกอบด้วย 1) การส่งเสริมการเกษตรบนพื้นฐานของข้อมูลทางวิชาการ โดยการถ่ายทอดเทคโนโลยีและนวัตกรรมการเกษตรที่เหมาะสมให้แก่เกษตรกรเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร ลดต้นทุนการผลิต พัฒนาคุณภาพผลผลิต และสร้างมูลค่าเพิ่ม นำไปสู่การพัฒนาอาชีพการเกษตรและยกระดับความเป็นอยู่ของเกษตรกร 2) การส่งเสริมและสนับสนุนให้เกษตรกรกลุ่มต่าง ๆ สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีและนวัตกรรมการเกษตรจากแหล่งต่าง ๆ ได้มากขึ้น เพื่อนำไปประยุกต์ใช้ในการยกระดับการผลิตสินค้าเกษตรและพัฒนาเข้าสู่การเกษตรสมัยใหม่ และ 3) การสร้างเครือข่ายความร่วมมือทางวิชาการกับสถาบันการศึกษา หน่วยงานวิชาการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับเทคโนโลยีและนวัตกรรมจากการศึกษาวิจัยสำหรับถ่ายทอดสู่เกษตรกร และสะท้อนข้อมูลจากประสบการณ์ในงานส่งเสริมการเกษตรเพื่อนำไปกำหนดโจทย์หรือประเด็นการศึกษาวิจัย เพื่อให้ได้เทคโนโลยีและนวัตกรรมการเกษตรที่เหมาะสม สอดคล้องกับศักยภาพ และความต้องการของเกษตรกร

โดยกรมส่งเสริมการเกษตรได้ร่วมมือกับ เนคเทค-สวทช. ธ.ก.ส. และหน่วยงานพันธมิตร ส่งเสริมการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ คือ ระบบการบริหารจัดการแปลงเกษตรด้วยระบบเกษตรอัจฉริยะ (HandySense) โดยการสร้างต้นแบบแปลงเรียนรู้การบริหารจัดการแปลงเกษตรด้วยระบบเกษตรอัจฉริยะ ที่ ศพก. และศูนย์ปฏิบัติการในสังกัดของกรมส่งเสริมการเกษตร จำนวน 50 ศูนย์ พร้อมพัฒนาความรู้ทักษะในการบริหารจัดการให้แก่เกษตรกรต้นแบบ ใน ศพก. และเจ้าหน้าที่กรมส่งเสริมการเกษตร เพื่อยกระดับเป็นวิทยากรเกษตรอัจฉริยะ รวมทั้งศึกษาวิเคราะห์ข้อมูลการบริหารจัดการแปลงเกษตรด้วยระบบอัจฉริยะ แล้วนำไปประยุกต์ใช้ในการผลิตสินค้าเกษตรได้อย่างเหมาะสมกับสภาพพื้นที่ของชุมชนต่อไป ซึ่งในปี 2564 กรมส่งเสริมการเกษตรมีเป้าหมายจะดำเนินการร่วมกับ เนคเทค-สวทช. และ ธ.ก.ส. รวม 16 จุด แบ่งเป็น ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) จำนวน 6 ศูนย์ (เขตละ 1 ศูนย์) และศูนย์ปฏิบัติการของกรมส่งเสริมการเกษตรอีก 10 ศูนย์ และมีแผนจะขยายผลให้ครบทั้ง 50 ศูนย์ปฏิบัติการภายในปี 2566 ”

อีกภาคส่วน คือ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) โดย นายธนารัตน์ งามวลัยรัตน์ ผู้จัดการธนาคารฯ กล่าวว่า “ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ได้มีบันทึกความเข้าใจ (MOU) ร่วมกับ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยมีเป้าหมายเพื่อประสานความร่วมมือในการสร้างระบบนิเวศนวัตกรรมการเกษตร และร่วมกันเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันตลอดห่วงโซ่คุณค่าอุตสาหกรรมการเกษตร สำหรับงานส่งมอบนวัตกรรมด้านการเกษตรแบบเปิด เพื่อประโยชน์สาธารณะในวันนี้ ธ.ก.ส. ได้ให้การสนับสนุนงบประมาณในการติดตั้ง ระบบเกษตรแม่นยำฟาร์มอัจฉริยะ (HandySense) ให้กับเกษตรกร ที่เป็นเกษตรกรต้นแบบของศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) ของกรมส่งเสริมการเกษตร จำนวน 6 แห่งๆ โดย ธ.ก.ส. มุ่งหวังให้เกิดการบูรณาการความร่วมมือกับกรมส่งเสริมการเกษตร และ เนคเทค-สวทช. เพื่อเป็นศูนย์การเรียนรู้ด้านนวัตกรรมเกษตร สำหรับเกษตรกรและผู้สนใจเข้ามาเรียนรู้และนำองค์ความรู้ที่ได้ไปประยุกต์ใช้เพื่อยกระดับการประกอบอาชีพการเกษตร ในขณะเดียวกันหากเกษตรกรและผู้ประกอบการ SMEs เกษตร มีความสนใจในระบบ HandySense ไปผลิตเพื่อใช้งานหรือจำหน่าย ธ.ก.ส. พร้อมที่จะสนับสนุนสินเชื่อเพื่อรองรับความต้องการด้านเงินทุนในลักษณะ การส่งเสริมความรู้คู่ทุน ให้กับเกษตรกร โดยมีโครงการต่าง ๆ รองรับ อาทิ โครงการสินเชื่อ Smart Farmer สินเชื่อเพื่อปรับโครงสร้างการผลิตการเกษตรสู่ความยั่งยืน เป็นต้น”

ด้าน นางสาวอัจฉริยา จันทรวงศ์ เกษตรและสหกรณ์จังหวัดฉะเชิงเทรา กล่าวว่า “จังหวัดฉะเชิงเทราได้บูรณาการงานวิจัยร่วมกับ เนคเทค-สวทช. โดยสำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดฉะเชิงเทรา เป็นหน่วยงานบูรณาการในการกำหนดพื้นที่ต้นแบบนำร่องในการติดตั้ง HandySense ระบบเกษตรแม่นยำ ฟาร์มอัจฉริยะ เครื่องมือสำคัญที่จะช่วยเพิ่มความสะดวกให้เกษตรกรสามารถควบคุมปัจจัยในการผลิตและยังสามารถเข้าถึงข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการเกษตรได้ง่ายขึ้น โดยในปี พ.ศ .2562 จังหวัดฉะเชิงเทรามีพื้นที่ทำการเกษตรปลอดภัยสูงหรือผักปลอดภัยให้กับเกษตรกรผู้สนใจ 34 แห่ง กระจายอยู่ในทุกอำเภอของจังหวัด และในปีงบประมาณ 2564 จังหวัดฉะเชิงเทราได้อนุมัติโครงการขยายผลต่อเนื่องโดยมีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการ 43 ราย แบ่งออกเป็นพืช 33 ราย (ผักผสมผสาน พืชในโรงเรือน เห็ด ฝรั่ง มะนาว มะม่วง มันญี่ปุ่น ทุเรียน ไผ่ มะพร้าว กล้วย เมล่อน ลำไย สะเดา ปาล์ม ขนุน) ประมง 5 ราย (ฟาร์มกุ้งขาว) และปศุสัตว์ 5 ราย (ฟาร์มไก่ไข่) โดยจังหวัดหวังว่าเทคโนโลยีจะช่วยพัฒนาให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น แก้ไขปัญหาขาดแคลนแรงงานภาคเกษตร และปรับเกษตรกรให้เป็นผู้ใช้ข้อมูลในการทำการเกษตรเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน”

ขณะที่ ดร.ปรีสาร รักวาทิน ผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาการเกษตรสมัยใหม่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล กล่าวว่า “ดีป้า มีภารกิจหลักในการส่งเสริมและสนับสนุนดิจิทัลสตาร์ทอัพ (Digital StartUp) สัญชาติไทย พัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัล ซอฟต์แวร์ หรือแพลตฟอร์มใหม่ ๆ ที่ตอบโจทย์การใช้งานในทุกภาคส่วน โดยเฉพาะภาคการเกษตร ที่ต้องการนำโซลูชันไปต่อยอดธุรกิจ เพิ่มศักยภาพการผลิต ลดต้นทุน และสร้างรายได้ เพื่อก้าวสู่เกษตรอัจฉริยะ ซึ่งทาง ดีป้า ได้เดินหน้าผลักดันพี่น้องเกษตรกรและกลุ่มวิสาหกิจชุมชนมาอย่างต่อเนื่อง ผ่านมาตรการคูปองดิจิทัลเพื่อการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัล (depa mini Transformation Voucher) ที่เปิดโอกาสให้เกษตรกรได้รับการสนับสนุนและเลือกเทคโนโลยีดิจิทัลด้วยตนเอง กระตุ้นให้เกิดการจับคู่ทางธุรกิจระหว่างดิจิทัลสตาร์ทอัพกับเกษตรกร ร่วมกันศึกษา ค้นหาต้นเหตุของปัญหาและเรียนรู้ปัจจัยสำคัญ เพื่อให้พี่น้องเกษตรกรสามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน”

ทางด้านของเอกชน โดย นายณฤต ดวงเครือรติโชติ หัวหน้าส่วนงาน IoT และพันธมิตรธุรกิจ 5G บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค กล่าวว่า “ดีแทคมีความพร้อมในการให้บริการ Smart IoT Management เพื่องานด้านการจัดการด้านการเกษตรและภาคอุตสาหกรรมอื่น ๆ ที่นำเสนอในรูปแบบโซลูชันบริการครบวงจรเพื่อผู้ประกอบการทุกราย อาทิ 1. IoT SIM ที่รองรับตั้งแต่ผู้ประกอบการรายย่อยไปถึงธุรกิจขนาดใหญ่มีความปลอดภัยในการเชื่อมต่อสูง, 2. IoT Cloud Platform รองรับธุรกิจในการสร้าง IoT โซลูชันได้ง่ายและรวดเร็ว ด้วยการจัดการ IoT Cloud มาตรฐานสากลที่รองรับการใช้งานในไทยได้อย่างสมบูรณ์ สร้างแอปพลิเคชันสำหรับ IoT ได้ง่าย และยืดหยุ่นในการใช้งานเพื่อตอบโจทย์ครบความต้องการด้วยประสิทธิภาพสูงสุด และ 3. IoT SIM & IoT Cloud Platform ครบทุกความต้องการใช้งาน ด้วยโครงข่ายคุณภาพ แพลตฟอร์ม Cloud ที่มีมาตรฐานสากลรองรับการใช้งานทุกรูปแบบอย่างสมบูรณ์”

ทั้งนี้ ที่ผ่านมาดีแทค และ เนคเทค-สวทช. กรมส่งเสริมการเกษตร ได้ร่วมมือในการนำเทคโนโลยี IoT เพื่อการเกษตรภายใต้ชื่อโครงการ “ฟาร์มแม่นยำ” เมื่อ 3 ปีที่แล้ว เพื่อยกระดับเกษตรกรรายย่อยให้สามารถจัดการการเพาะปลูกด้วยการตัดสินใจบนข้อมูลที่แม่นยำ โซลูชันเกษตรแม่นยำช่วยให้เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการนำร่องสามารถเพิ่มปริมาณและคุณภาพของผลผลิตโดยเฉลี่ยร้อยละ 20 ของผลผลิตเดิม

“จากความร่วมมือด้านสังคม ดีแทคมีความยินดีที่วันนี้ได้ต่อยอดความร่วมมือกับ เนคเทค-สวทช. ในการนำโซลูชัน HandySense ซึ่งมีคอนเซ็ปต์เดียวกับ “ฟาร์มแม่นยำ” มาสร้างเป็นพิมพ์เขียวนวัตกรรมเปิด เพื่อผู้ประกอบการและเกษตรกรที่สนใจจะนำมาใช้งาน หรือ ผู้ผลิตในประเทศจะนำมาให้บริการเชิงพาณิชย์เต็มรูปแบบ นี่จะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของการเปลี่ยนผ่านภาคเกษตรไทยสู่ระบบเศรษฐกิจสังคมดิจิทัล อันจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อยกระดับผลิตผลและสร้างความสามารถในการแข่งขันให้เกษตรกรของไทย” นายณฤต กล่าวในที่สุด

คลิกชมเว็บไซต์ HandySense