สจล. เปิดตัว “AI ตรวจคุณภาพหน้ากากอนามัย” พร้อมฟังก์ชันประเมินประสิทธิภาพการป้องกันไวรัส

อัปเดตล่าสุด 15 เม.ย. 2563
  • Share :
  • 739 Reads   

สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) เปิดตัวนวัตกรรมปัญญาประดิษฐ์ (AI) ตรวจสอบคุณภาพการผลิตหน้ากากอนามัย ผลงานของวิทยาลัยนวัตกรรมการผลิตขั้นสูง และคณะเทคโนโลยีสารสนเทศ สจล. โดยนวัตกรรมดังกล่าวเป็นการนำเอาระบบ AI มาใช้ในกระบวนการตรวจสอบคุณภาพการผลิต แทนการใช้แรงงานคนที่มีความเสี่ยงในเรื่องการควบคุมมาตรฐานความสะอาดในการผลิต เพิ่มความแม่นยำในการตรวจสอบ และเพิ่มกำลังการผลิต ตอบสนองภาวะหน้ากากอนามัยขาดตลาดในสถานการณ์โควิด-19 โดย สจล. มุ่งหวังให้องค์ความรู้ดังกล่าวถูกนำไปใช้ในอุตสาหกรรมการผลิตหน้ากากอนามัยเพื่อบุคลากรทางการแพทย์ ตลอดจนประชาชนทั่วไป ภายใต้โครงการ 60 ปี พระจอมเกล้าลาดกระบัง ไร้ขีดจำกัด (KMITL 60th Year: Go Beyond the Limit)  

ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) กล่าวว่า สจล. มีความมุ่งมั่นที่จะนำองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มาสร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อช่วยสังคมก้าวผ่านช่วงวิกฤตการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 อีกทั้งส่งเสริมให้นักศึกษา บุคลากร ตลอดจนประชาชนทั่วไป ปฏิบัติตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุข โดยการรักษาระยะห่างทางสังคม (Social distancing) การหมั่นทำความสะอาดมือด้วยการล้างมือ หรือใช้สเปรย์ เจลแอลกอฮอล์ ตลอดจนสวมใส่หน้ากากอนามัยเมื่ออยู่ในสถานที่ที่มีคนหมู่มากและแออัด อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางภาวะหน้ากากอนามัยขาดตลาด ซึ่งส่งผลกระทบต่อผู้ที่จำเป็นต้องใช้หน้ากากอนามัย โดยเฉพาะบุคลากรทางการแพทย์ สจล. จึงเดินหน้าพัฒนานวัตกรรมปัญญาประดิษฐ์ (AI) ตรวจสอบคุณภาพการผลิตหน้ากากอนามัย ซึ่งมีส่วนช่วยในกระบวนการผลิตหน้ากากอนามัยให้ทันต่อความต้องการการใช้ในสถานพยาบาล รวมถึงประชาชนทั่วไป ภายใต้โครงการ 60 ปี พระจอมเกล้าลาดกระบัง ไร้ขีดจำกัด (KMITL 60th Year: Go Beyond the Limit) ทั้งนี้ การนำองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาใช้อย่างเหมาะสม และทันสถานการณ์จะช่วยดิสรัปต์ภาวะวิกฤตการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ได้  

รศ.ดร.ศิริเดช บุญแสง คณบดีคณะเทคโนโลยีสารสนเทศ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) กล่าวว่า ในกระบวนการผลิตหน้ากากอนามัย มีระบบการตรวจสอบการผลิต 2 ส่วน ได้แก่ 1) ตรวจสอบมาตรฐานกระบวนการผลิต 2) ตรวจสอบคุณภาพของวัสดุที่ใช้ในการผลิต โดยผลงานนวัตกรรมปัญญาประดิษฐ์ (AI) และจอแสดงผลตรวจสอบคุณภาพการผลิตหน้ากากอนามัย ของวิทยาลัยนวัตกรรมการผลิตขั้นสูง และคณะเทคโนโลยีสารสนเทศ สจล. สามารถเข้ามาช่วยตรวจสอบการผลิตได้ในทั้ง 2 ส่วน ในส่วนของมาตรฐานกระบวนการผลิต นวัตกรรมสามารถตรวจสอบคุณภาพทางกายภาพ ทั้งความสมบูรณ์ของหน้ากาก และขนาดที่ได้ตามมาตรฐาน ในขณะที่การตรวจสอบคุณภาพของวัสดุที่ใช้ในการผลิต นวัตกรรมจะตรวจสอบส่วนประกอบของการผลิตหน้ากากอนามัยให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้ ดังนี้

  • สายคล้องหู: ต้องใช้วัสดุที่มีความแข็งแรง ไม่ขาดหลุดง่าย และมีการเย็บติดเข้ากับตัวหน้ากากอย่างแน่นหนา
  • โครงลวด: ต้องใช้โครงลวดที่มีขนาดตามมาตรฐาน และมีการปะยึดลวดไม่ให้หลุดระหว่างการใช้งาน
  • ตัวล็อคโครงลวด: ตัวล็อคโครงลวดมีความสำคัญในการช่วยยึดลวดให้ไม่เลื่อนหลุดจากตัวหน้ากาก ซึ่งอาจทำให้เกิดการฉีกขาดของหน้ากาก ทำให้ผู้ใช้ได้รับอันตราย รวมถึงเกิดการปนเปื้อนของเชื้อโรค
  • ตัวแผ่นหน้ากาก: จะต้องมีความหนาแน่นของเส้นใยที่ได้มาตรฐาน โดยแผ่นหน้ากากชั้นนอกและชั้นในใช้เส้นใยชนิดเดียวกัน มีรูพรุนขนาด 3 ไมครอน ในขณะที่ชั้นกลาง (active) ซึ่งเป็นชั้นที่ใช้ป้องกันไวรัส จะต้องมีรูพรุนสูงประมาณ 1 ไมครอนหรือต่ำกว่า และมีความหนาแน่นของเส้นใยสูง เพื่อประสิทธิภาพในการป้องกันเชื้อไวรัส เมื่อประกอบกันทั้ง 3 ชั้น ด้วยกระบวนการยึดติดที่ได้มาตรฐาน จึงจะเป็นหน้ากากอนามัยที่สามารถป้องกันเชื้อไวรัสได้

 

นวัตกรรมปัญญาประดิษฐ์ (AI) และจอแสดงผลตรวจสอบคุณภาพการผลิตหน้ากากอนามัย มีหลักการทำงานได้แก่ 1) รักษามาตรฐานความสะอาดในกระบวนการผลิต ลดความเสี่ยงการแพร่เชื้อโรคจากการใช้แรงงานคน 2) เพิ่มความแม่นยำในการตรวจสอบคุณภาพการผลิต และ 3) เพิ่มประสิทธิภาพและกำลังการผลิต ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาการผลิตหน้ากากอนามัยที่ขาดตลาดในปัจจุบัน ให้ทันต่อความต้องการที่เพิ่มขึ้นตามความรุนแรงของสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทั้งในส่วนของผู้ที่มีความจำเป็นในการใช้งานอย่างบุคลากรทางการแพทย์ ตลอดจนประชาชนทั่วไป โดยนวัตกรรมดังกล่าว นับเป็นความภาคภูมิใจของ สจล. ที่สามารถนำองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่มี เข้ามาช่วยแก้ปัญหาในภาวะที่สังคมต้องการความช่วยเหลือในด้านนี้ได้ นอกจากนี้ นวัตกรรมดังกล่าวเป็นผลงานที่ สจล. ได้ร่วมวิจัยกับ CP โดยได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) และตั้งเป้าเตรียมนำองค์ความรู้จากการวิจัยไปใช้ทันทีในโครงการผลิตหน้ากากอนามัยของ CP เพื่อแจกฟรีสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ รศ.ดร.ศิริเดช กล่าวทิ้งท้าย

ทั้งนี้ สจล. มุ่งมั่นพัฒนานวัตกรรมต่าง ๆ เพื่อช่วยสังคมก้าวผ่านสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ภายใต้โครงการ 60 ปี พระจอมเกล้าลาดกระบัง ไร้ขีดจำกัด (KMITL 60th Year: Go Beyond the Limit) สำหรับหน่วยงานที่สนใจนวัตกรรมต่างๆ ของ สจล. ก็พร้อมที่จะร่วมมือในการต่อยอดทั้งในด้านวิชาการ และเชิงพาณิชย์ ผู้สนใจสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักบริหารงานทั่วไปและประชาสัมพันธ์ สจล. โทรศัพท์ 02-329-8111 เฟซบุ๊กแฟนเพจ www.facebook.com/kmitlofficial  หรือเว็บไซต์ www.kmitl.ac.th