วิศวะฯ ธรรมศาสตร์ อวดโฉม ‘แขนกลไบค์เลน’ AI คัดกรองเลนจักรยาน

อัปเดตล่าสุด 3 มิ.ย. 2563
  • Share :
  • 652 Reads   

คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (TSE: Thammasat School of Engineering) จุดประกายไอเดีย พัฒนา “แขนกลไบค์เลน” นวัตกรรมแขนกลอัจฉริยะที่ช่วยคัดกรอง และกีดขวางรถจักรยานยนต์ที่ขับขี่บนเลนจักรยาน หนุนสายปั่นจักรยานสัญจรคล่องตัว-ปลอดภัย ในพื้นที่กรุงเทพฯ และหัวเมืองใหญ่ โดยมีองค์ประกอบ 2 ส่วนหลัก ดังนี้ ระบบแยกแยะพาหนะด้วย AI (ปัญญาประดิษฐ์) ที่ช่วยแยกแยะลักษณะของยานพาหนะในระยะ 4 เมตร พร้อมสั่งการเปิด-ปิดเส้นทางไปยังเมนบอร์ด แขนกลอัจฉริยะ ทำหน้าที่รับสัญญาณจากเมนบอร์ด โดยในกรณีที่ตรวจพบจักรยานยนต์ แขนกลจะปิดเส้นทางขับขี่ แต่ในกรณีที่ตรวจพบเป็นจักรยาน แขนกลจะเปิดเส้นทางให้ใน 5 วินาที โดยในอนาคตเตรียมวางแผนจำหน่ายเชิงพาณิชย์ 3.5 หมื่นบาท ทั้งนี้ นวัตกรรมดังกล่าว สามารถคว้ารางวัลชนะเลิศ บนเวทีประกวดนวัตกรรมยานยนต์ ครั้งที่ 10” (The 10th Motor Expo Automotive Innovation Award 2019) มาครองได้สำเร็จ

           

นายสุริยา สารธิมา นักศึกษาชั้นปีที่ 4 ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (TSE) ตัวแทนทีม กล่าวว่า แม้ที่ผ่านมาภาครัฐมีการผลักดัน “เมืองจักรยาน” ให้เกิดขึ้นจริงในประเทศไทย ด้วยการสร้างเลนจักรยาน เพื่อให้ประชาชนสัญจรได้อย่างปลอดภัย-ได้สุขภาพ ในพื้นที่กรุงเทพฯ และหัวเมืองใหญ่ โดยมีป้ายสัญลักษณ์หรือข้อความที่สื่อถึง เลนจักรยาน อย่างชัดเจน แต่ทั้งนี้กลับพบข้อจำกัดจำนวนมาก ทั้งการขับขี่ทับเลน การจอดกีดขวางเส้นทางจักรยาน ซึ่งล้วนแต่อาจจะก่อให้เกิดอันตรายแก่ผู้ขับขี่จักรยานได้ ดังนั้น ทีมวิจัยและคณะ จึงพัฒนา “แขนกลไบค์เลน” นวัตกรรมแขนกลอัจฉริยะที่ช่วยคัดกรอง และกีดขวางรถจักรยานยนต์ที่ขับขี่บนเลนจักรยาน หนุนสายปั่นจักรยานสัญจรคล่องตัว-ปลอดภัย ในเขตพื้นที่กรุงเทพฯ และหัวเมืองใหญ่ โดยมี รศ.ดร.ดุลยโชติ ชลศึกษ์ อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล เป็นที่ปรึกษา

นายสุริยา กล่าวต่อว่า โดยนวัตกรรมดังกล่าว ประกอบด้วย 2 องค์ประกอบหลัก ดังนี้  
 
1. ระบบแยกแยะพาหนะด้วย AI หรือ ปัญญาประดิษฐ์ เป็นระบบตรวจจับ และแยกแยะลักษณะของยานพาหนะที่มองเห็นได้ในระยะ 4 เมตร โดยใช้กล้องเว็บแคม (WebCam) ส่งสัญญาณภาพไปยังโปรแกรมปัญญาประดิษฐ์ที่ทำงานบนสมองกลขนาดเล็ก ซึ่งโปรแกรมนี้ถูกฝึกด้วยการป้อนภาพของจักรยานยนต์และจักรยานจำนวนมากเข้าไปจนโปรแกรมเรียนรู้ที่จะแยกแยะความแตกต่าง จากนั้นสมองกลจะสั่งการเปิด-ปิดเส้นทางไปยังเมนบอร์ดของระบบแขนกล
2. แขนกลอัจฉริยะ ทำหน้าที่รับสัญญาณจากเมนบอร์ด ซึ่งในสภาวะปกติแขนกลจะปิดเส้นทาง กรณีตรวจพบจักรยานยนต์ฝ่าฝืน แขนกลจะไม่เปิดเส้นทางขับขี่ แต่ในกรณีที่ระบบตรวจพบเป็นจักรยาน แขนกลจะเปิดเส้นทางให้ใน 5 วินาที อย่างไรก็ดี ทางทีมวิจัยได้ออกแบบให้แขนกลอัจฉริยะมีขนาด 1.5 เมตร และสามารถพับเก็บได้ภายในตู้แขนกล เพื่อความสะดวกต่อการใช้งานบางพื้นที่ที่มีหลังคาเตี้ย

ทั้งนี้ นวัตกรรมดังกล่าวมีต้นทุนในการพัฒนาราว 2 หมื่นบาท และในอนาคตกรณีที่การทำงานในส่วนต่าง ๆ มีความเสถียรยิ่งขึ้น เตรียมวางแผนจำหน่ายเชิงพาณิชย์ในราคา 3.5 หมื่นบาท โดยเมื่อไม่นานมานี้ นวัตกรรมดังกล่าว ได้คว้า “รางวัลชนะเลิศ” บนเวทีประกวดนวัตกรรมยานยนต์ ครั้งที่ 10” (The 10th Motor Expo Automotive Innovation Award 2019) มาครองได้สำเร็จ พร้อมด้วยเพื่อนนักศึกษาภาควิศวกรรมเครื่องกล ในรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 “ยานพาหนะปัญญาประดิษฐ์ขับเคลื่อนอัตโนมัติสำหรับผู้พิการทางสายตา” และรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 “รถเข็นไฟฟ้าสำหรับผู้พิการทางสมองและกล้ามเนื้ออ่อนแรง” นายสุริยา กล่าวสรุป

ด้าน รศ.ดร.ธีร เจียศิริพงษ์กุล คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (TSE) กล่าวเสริมว่า TSE มีนโยบายในการบ่มเพาะและผลิต “วิศวกรรุ่นใหม่” ที่มีความรอบรู้ด้านวิศวกรรม ก้าวทันความเปลี่ยนแปลง คิดสร้างสรรค์เพื่อสังคม สามารถขมวดรวมศาสตร์ความรู้ต่างสาขา สู่การผลิตนวัตกรรมหรือองค์ความรู้ใหม่ที่สามารถยกระดับคุณภาพชีวิต สังคม และภาคธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งก้าวสู่การเป็นฟันเฟืองหนึ่ง ที่มีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนภาคเศรษฐกิจ และอุตสาหกรรมของประเทศในอนาคต ผ่านการเรียนรู้จากคณาจารย์ผู้เชี่ยวชาญ เรียนรู้การใช้เครื่องมือจริงในภาคอุตสาหกรรม เพื่อพัฒนานวัตกรรมต้นแบบ ณ ศูนย์รังสิตและศูนย์พัทยา อาทิ เครื่องพิมพ์สแกน 3 มิติ Faro Arm Edge 2.7 และเครื่องพิมพ์สามมิติ รุ่น Projet 260C นอกจากนี้ นักศึกษาที่ TSE ยังได้ฝึกประสบการณ์ในหน่วยงานพันธมิตรในภาคอุตสาหกรรม อย่าง กลุ่มสยามกลการ บริษัท เอสเอไอซี มอเตอร์-ซีพี จำกัด (SAIC Motor – CP) เพื่อเป็นการเตรียมพร้อมก่อนเข้าสู่โลกการทำงานจริงอย่างเต็มศักยภาพ

อ่านเพิ่มเติม