Isuzu, Hino, Fuso, และ UD Trucks ร่วมรัฐบาลญี่ปุ่นพัฒนา Truck Platooning System เปิดตัว 2021 แก้ปัญหาขาดแคลนแรงงาน

4 ค่ายรถร่วมพัฒนา “ขบวนรถบรรทุกอัตโนมัติ” เปิดตัว 2021 แก้ปัญหาขาดแคลนแรงงาน

อัปเดตล่าสุด 10 ส.ค. 2563
  • Share :
  • 1,091 Reads   

การพัฒนา “ขบวนรถบรรทุกอัตโนมัติ (Truck Platooning System)” เกิดจากการผนึกกำลังของ4 ผู้ผลิตรายใหญ่ร่วมกับรัฐบาลญี่ปุ่น เพื่อแก้วิกฤตขาดแคลนแรงงานภาคโลจิสติกส์

อีซูซุ (Isuzu Motors), ฮีโน่ (Hino Motors), มิตซูบิชิ ฟูโซ่ ทรัค แอนด์ บัส คอร์ปอเรชั่น (Fuso), และยูดี ทรัคส์ (UD Trucks)  ร่วมก่อตั้งคณะกรรมการพิเศษด้านยานยนต์ขนาดใหญ่ ในฐานะส่วนหนึ่งของ Japan Automobile Manufacturers Association (JAMA) ลุยแก้ปัญหาขาดแคลนแรงงานภาคโลจิสติกส์ร่วมกับรัฐบาลญี่ปุ่น มุ่งพัฒนาขบวนรถบรรทุกอัตโนมัติ (Truck Platooning System) ขบวนรถบรรทุกที่สามารถวิ่งได้โดยใช้คนขับเพียงแค่คันหน้าสุด ส่วนคันอื่น ๆ สามารถวิ่งตามหลังได้โดยไม่ต้องมีคนขับ ให้พร้อมเปิดตัวสู่ตลาดภายในปี 2021 ที่จะถึงนี้

ขบวนรถบรรทุกอัตโนมัติ (Truck Platooning System) พัฒนาจากการผนวกเทคโนโลยี Adaptive Cruise Control (ACC) และ Lane Keep Assist (LKA) เข้าด้วยกัน

ทั้ง 4 บริษัท รายงานว่าขบวนรถบรรทุกอัตโนมัติไม่ใช่ชื่อเรียกเทคโนโลยีใดอย่างเจาะจง ซึ่งเป้าหมายของการพัฒนาในครั้งนี้ คือการพัฒนาให้รถบรรทุกต่างรุ่นจากต่างค่าย สามารถร่วมวิ่งในขบวนอัตโนมัติได้โดยง่าย เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้ประกอบการโลจิสติกส์ที่จำเป็นต้องใช้รถหลายรุ่นตามความต้องการของสินค้า โดยทั้ง 4 บริษัท จะร่วมพัฒนาเทคโนโลยีในการควบคุมความเร็วของรถบรรทุกที่วิ่งตามหัวขบวน ให้สามารถทำงานได้อย่างราบรื่น และปลอดภัย

โดยแต่เดิม ทั้ง 4 รายเคยเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการทดลองขบวนรถบรรทุกอัตโนมัติโดยภาครัฐในปี 2017 และมีการศึกษาความเป็นไปได้ทางเทคโนโลยีร่วมกับผู้ประกอบการโลจิสติกส์อย่างต่อเนื่อง ซึ่งรัฐบาลญี่ปุ่นคาดหวังว่า หากนำเทคโนโลยีนี้มาพัฒนาร่วมกับเทคโนโลยีขับขี่อัตโนมัติโดยสมบูรณ์จะช่วยอำนวยความสะดวกด้านโลจิสติกส์ และโครงสร้างพื้นฐานได้เป็นอย่างมาก

ที่แล้วมา แม้จะมีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น แต่การพัฒนาเทคโนโลยียังไม่ได้ทำร่วมกัน และค่ายรถให้ความสำคัญกับความปลอดภัยเป็นหลัก อย่างไรก็ตาม พบว่าในอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ ทักษะของผู้ขับรถบรรทุกทั้งในด้านการใช้ความเร็วและการตัดสินใจที่เหมาะสมนั้นเป็นสิ่งที่จำเป็นต่อการขนส่งเป็นอย่างมาก และคาดการณ์ว่ายังต้องใช้เวลาอีกนานกว่าจะพัฒนาระบบขับขี่อัตโนมัติให้สามารถแทนที่คนขับรถบรรทุกได้ จึงเลือดพัฒนาขบวนรถบรรทุกอัตโนมัติ ซึ่งมีความเป็นไปได้ในการใช้งานจริงสูงกว่า

นอกจากนี้ ขบวนรถบรรทุกอัตโนมัติยังมีส่วนช่วยในการลดการปล่อยไอเสีย ด้วยการออกแบบระบบให้รถสามารถเร่ง และชะลอความเร็วได้อย่างเหมาะสม ซึ่งจะช่วยประหยัดเชื้อเพลิง และลดการเผาไหม้ได้เป็นอย่างดี

หลังขบวนรถบรรทุกอัตโนมัติเข้าสู่ตลาดแล้ว ทั้ง 4 บริษัทมีแผนรับฟังความเห็นจากภาครัฐ เอกชน และอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ เพื่อร่วมพัฒนาเทคโนโลยีโครงสร้างพื้นฐานต่อไป และมีแผนนำเทคโนโลยี Cooperative Adaptive Cruise Control (CACC) มาช่วยเสริมประสิทธิภาพในอนาคต

อย่างไรก็ตาม JAMA รายงานว่า รถบรรทุกที่มีอยู่เดิมอาจไม่สามารถติดตั้งเทคโนโลยีนี้ได้ และต้องเป็นรถบรรทุกรุ่นใหม่ที่พัฒนาขึ้นเพื่อการนี้เท่านั้น