เทคโนโลยีโลจิสติกส์ Truck Platooning System คืออะไร

เทคโนโลยีโลจิสติกส์ Truck Platooning System คืออะไร เริ่มใช้เมื่อไหร่คนขับรถตกงาน

อัปเดตล่าสุด 31 ส.ค. 2563
  • Share :
  • 3,239 Reads   

การพัฒนาเทคโนโลยีสำหรับรถยนต์มีความรุดหน้าอย่างต่อเนื่อง แต่สำหรับรถบรรทุกแล้วการพัฒนาเทคโนโลยีจนประสบผลสำเร็จและนำมาใช้จริงนั้นกลับกลายเป็นเรื่องยากกว่า อาทิ การพัฒนาเทคโนโลยีรถบรรทุกไฟฟ้า ด้วยระบบส่งกำลัง ระยะทางการวิ่ง น้ำหนักบรรทุก และความคงทน ล้วนต้องการมาตรฐานสูงกว่ารถยนต์ไฟฟ้า อีกทั้งยังต้องชาร์จไฟได้เร็วเนื่องจากความต้องการทางด้านโลจิสติกส์, การพัฒนารถบรรทุกอัตโนมัติ ซึ่งยังไม่เห็นผลที่ชัดเจนนัก จากปัญหาในด้านขีดความสามารถในการตัดสินใจของผู้ขับขี่ ซึ่งยังเป็นเรื่องยากที่ AI จะเทียบเท่า และข้อกำหนดทางกฎหมาย 

อย่างไรก็ตาม จากการพัฒนาเทคโนโลยต่าง ๆ เพื่อใช้ในรถบรรทุก ประกอบกับปัญหาการขาดแคลนแรงงานในภาคโลจิสติกส์ ทำให้เกิดแนวคิด “ขบวนรถบรรทุกอัตโนมัติ (Truck Platooning Syste)” ซึ่งกำลังได้รับความสนใจจากผู้ผลิตรถบรรทุกในขณะนี้ จึงมีการพัฒนาทั้งด้านเทคโนโลยี ความร่วมมือกันของผู้ผลิต ไปจนถึงการจัดการในข้อกำหนดต่าง ๆ เพื่อให้ขบวนรถบรรทุกอัตโนมัติใช้งานบนถนนจริงได้ในเร็ววัน

I ขบวนรถบรรทุกอัตโนมัติ (Truck Platooning System)

ขบวนรถบรรทุกอัตโนมัติ (Truck Platooning System) คือ ชื่อเรียกรูปแบบการวิ่งของรถบรรทุก ซึ่ง European Automobile Manufacturers Association (ACEA) ให้คำนิยามว่า 

“ระบบสนับสนุนการขับขี่อัตโนมัติ โดยใช้เทคโนโลยีการเชื่อมต่อเชื่อมรถบรรทุก 2 คันขึ้นไปเข้าด้วยกัน เพื่อให้สามารถวิ่งเป็นขบวนได้โดยอัตโนมัติตลอดการเดินทาง เช่น บนทางด่วน”

โดยขบวนรถบรรทุกอัตโนมัติ ทำงานโดยใช้รถบรรทุกคันหน้าสุดของขบวนเป็นผู้นำ ในขณะที่รถคันที่เหลือสามารถเคลื่อนที่ตามคันหน้าได้โดยอัตโนมัติแบบไม่ต้องอาศัยคนขับ และพร้อมรับการควบคุมจากคนขับรถนำขบวนได้ตลอดเวลาที่ต้องการ ทำให้ขบวนรถบรรทุกอัตโนมัติ สามารถประกอบขึ้นจากรถบรรทุกที่มีจุดหมายปลายทางต่างกันได้

ในปี 2015 รัฐบาลเนเธอร์แลนด์ ได้จัดแข่งขัน European Truck Platooning Challenge เพื่อทดสอบขบวนรถบรรทุกอัตโนมัติบนถนนจริงเป็นครั้งแรกของโลก โดยมีจุดมุ่งหมายในการสาธิตเทคโนโลยี และร่วมหาแนวทางการพัฒนาขบวนรถบรรทุกอัตโนมัติให้สอดคล้องกับกฎจราจรของแต่ละประเทศ โดยมีบริษัทที่เข้าร่วมทั้งหมด 6 ราย ประกอบด้วย DAF Trucks, Daimler Trucks, Iveco, MAN Truck & Bus, Scania AB, และ Volvo Trucks โดยทำการทดสอบวิ่งในช่วงวันที่ 29 มีนาคม 2016 ถึง 6 เมษายน 2016 โดยใช้สัญญาณ Wi-Fi เชื่อมต่อรถบรรทุกเข้าด้วยกัน ส่งข้อมูลจากกล้องและเรดาร์ของรถบรรทุกคันนำขบวนให้รถร่วมขบวน

จากการทดสอบ พบว่าขบวนรถบรรทุกสามารถตอบสนองได้เร็วกว่าการใช้คนขับถึง 25 เท่า สามารถเบรกได้จากระบบเซนเซอร์ก่อนที่คนขับรถนำขบวนจะเหยียบเบรคจริง ใช้พื้นที่บนถนนน้อยกว่าการวิ่งรถบรรทุกทั่วไปในจำนวนเท่ากัน และประหยัดเชื้อเพลิงของรถร่วมขบวนได้ถึง 10% จากการใช้รถนำขบวนบังกระแสลม อย่างไรก็ตาม ในการทดสอบครั้งนี้ รถบรรทุกต่างค่ายยังไม่สามารถเชื่อมต่อเข้าด้วยกันได้

ACEA คาดการณ์ว่า ผู้ผลิตจะเริ่มพัฒนาให้รถบรรทุกสามารถเชื่อมต่อข้ามค่ายได้ในปี 2018 และแล้วเสร็จก่อนปี 2025 ซึ่งในปี 2017 รัฐบาลอังกฤษได้อนุมัติงบประมาณ 11 ล้านดอลลาร์สหรัฐให้กับการทดสอบขบวนรถบรรทุก ซึ่งในปีเดียวกันนี้ Peloton Technology บริษัทด้าน Connected Car ได้ดำเนินการทดลองขบวนรถบรรทุกในสหรัฐอเมริกา, Ford Otosan บริษัทร่วมทุนระหว่าง Ford และ KOC Holding ที่ดำเนินการทดลองในปี 2019 และรัฐบาลญี่ปุ่นที่ประกาศความร่วมมือระหว่างผู้ผลิต 4 ค่าย ได้แก่ Isuzu Motors, Hino Motors, Fuso, และ UD Trucks เมื่อปลายเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา

I ข้อดี-ข้อเสีย ขบวนรถบรรทุกอัตโนมัติ

ขบวนรถบรรทุกอัตโนมัติ เป็นแนวคิดที่มีศักยภาพในการเพิ่มความปลอดภัยบนท้องถนน ด้วยการเชื่อมต่อระบบเบรคเข้าด้วยกันของรถในขบวน ทำให้สามารถวิ่งติดกันโดยเว้นระยะห่างเพียงเล็กน้อย และหยุดรถได้โดยใช้เวลาเพียง 1 ใน 5 ของมนุษย์ จึงช่วยให้การขนส่งมีประสิทธิภาพ และรถคันหน้าสุดของขบวนยังช่วยลดแรงต้านอากาศให้แก่รถคันหลัง ทำให้ลดมลพิษทางอากาศได้มากขึ้นกว่าที่แล้วมาจากการใช้เชื้อเพลิงที่ลดลง ซึ่งผลงานวิจัยจากสภาวิจัยแห่งชาติแคนาดา (National Research Council: NRC) พบว่า ระยะทางถึง 65% ของการขนส่ง สามารถแทนที่ด้วยขบวนรถอัตโนมัตินี้ได้ 

อย่างไรก็ตาม ขบวนรถบรรทุกอัตโนมัติก็สร้างประเด็นที่น่ากังวลในการแย่งงานของคนขับรถ ซึ่งก็เป็นเรื่องที่ขึ้นอยู่กับมุมมองและสภาพสังคมของประเทศที่นำไปใช้ PricewaterhouseCoopers (PwC) ได้แสดงความเห็นโต้แย้งว่า สหรัฐอเมริกาขาดแคลนคนขับรถบรรทุกถึง 60,800 ตำแหน่งในปี 2019 และจะเพิ่มขึ้นเป็น 160,000 ตำแหน่งในปี 2028, ความเสี่ยงของระบบ จากที่รถตามขบวนวิ่งโดยเว้นระยะห่างเพียงเล็กน้อย ทำให้มีโอกาศเกิดความเสียหายสูงหากมีความผิดพลาด ในขณะที่ American Transportation Research Institute (ATRI) คาดการณ์ว่า อาจต้องใช้เวลาอีกหลายปีกว่าขบวนรถบรรทุกอัตโนมัติจะสามารถวิ่งบนถนนจริง สืบเนื่องจากความแตกต่างของกฎจราจร หรือการที่ Daimler ประกาศลดงบประมาณการวิจัยขบวนรถบรรทุกตั้งแต่ต้นปี 2019 เนื่องจากไม่พอใจในผลการทดสอบ และเชื่อมั่นว่ารถบรรทุกอัตโนมัติจะคุ้มค่ามากกว่า 

 

อ่านต่อ