แนวโน้มอุตสาหกรรมการผลิตปี 2023

แนวโน้มอุตสาหกรรมการผลิตปี 2023

อัปเดตล่าสุด 4 ม.ค. 2566
  • Share :
  • 16,687 Reads   

แนวโน้มอุตสาหกรรมการผลิตในปี 2023 ผู้ผลิตต้องปรับตัวให้สอดรับกับสถานการณ์โลกทั้งด้านเทคโนโลยี บุคลากร วิกฤตซัพพลานเชน การแข่งขันที่รุนแรง ตลอดจนความรับผิดชอบต่อสังคม 

ดีลอยท์ จัดทำรายงาน Manufacturing Industry Outlook 2023 เผยแนวโน้มอุตสาหกรรมการผลิตที่รวบรวมความเห็นจากผู้บริหารบริษัทในสหรัฐอเมริกากว่า 100 รายจาก 9 อุตสาหกรรม โดยมีเนื้อหาสำคัญ ดังนี้

Advertisement

1. ลงทุนเทคโนโลยีไฮเทค ลดความเสี่ยง

ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ ผู้ผลิตได้เพิ่มการลงทุนด้านดิจิทัลเพื่อเร่งการนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ มาใช้งาน บริษัทที่มีความก้าวหน้าทางดิจิทัลได้แสดงให้เห็นถึงความยืดหยุ่นที่มากขึ้น ซึ่งเป็นแนวโน้มเดียวกับเมื่อครั้งการระบาดของโควิดที่เข้ามากระตุ้นการใช้งานเทคโนโลยี ซึ่งผู้ผลิตที่มีความก้าวหน้าทางดิจิทัลปรับตัวได้รวดเร็วกว่า อีกทั้งยังทำให้ซัพพลายเชนมองเห็นได้ชัดเจนยิ่งขึ้น ตอบรับกับวิกฤตซัพพลายเชนที่กำลังเป็นประเด็นสำคัญในขณะนี้

สำหรับการลงทุนเทคโนโลยีในช่วงปี 2023 จะให้ความสำคัญกับการรักษาสมดุลในการเลือกใช้เทคโนโลยีวิเคราะห์ข้อมูลต่าง ๆ ลดความเสี่ยงจากความไม่แน่นอน มุ่งลงทุนเพื่อปกป้องผลกำไรในระยะยาวควบคู่ไปกับการต่อยอด และการเพิ่มศักยภาพในการผลิตด้วยหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ, AI, และ Machine Learning

อย่างไรก็ตาม การนำออโตเมชันมาใช้ในบริษัทย่อมมาพร้อมกับความจำเป็นในการปรับโครงสร้างพนักงานให้สอดคล้องกันไปด้วย 

2. กลยุทธการรักษาพนักงาน ป้องกันการลาออกโดยสมัครใจ

ตลาดแรงงานและการเลิกจ้างจะเป็นแนวโน้มสำคัญที่ผู้ผลิตควรให้ความสำคัญในปี 2023 ยกตัวอย่างเช่นในสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีการจ้างงานใหม่เกือบสูงสุดเป็นประวัติการณ์ แต่มีจำนวนพนักงานที่ลาออกโดยสมัครใจสูงกว่าจำนวนพนักงานที่ถูกเลิกจ้างหรือเกษียณจากตำแหน่งเป็นอย่างมาก แสดงให้เห็นถึงแนวโน้มการออกจากงานที่มากขึ้น ซึ่งการขาดแคลนแรงงานและวิกฤตซัพพลายเชนเป็นหนึ่งในปัจจัยทำให้บริษัทมีประสิทธิภาพการดำเนินการและผลกำไรลดลง

โดยวิธีสร้างแรงจูงใจให้พนักงานทำงานต่อนั้นมีอยู่หลายทาง ทั้งการขึ้นค่าจ้างเพื่อรักษาพนักงานเก่าและดึงดูดพนักงานใหม่ การ Upskilling และ reskilling ซึ่งเป็นหนึ่งในทางเลือกให้พนักงานมีทักษะรองรับกับเทคโนโลยีใหม่ ๆ มากขึ้น การสร้างความหลากหลายในองค์กรด้วยแนวคิด DEI ด้วยการจ้างพนักงานหญิงและพนักงานต่างชาติมากขึ้น ไปจนถึงการปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงานให้ยืดหยุ่น เช่น การทำงานทางไกล หรือการทำงานแบบไฮบริด เพื่ออำนวยความสะดวกให้พนักงานเก่า และดึงดูดคนรุ่นใหม่ให้เข้ามาในบริษัท

3. เลือกกลยุทธที่ผ่านการพิสูจน์แล้ว ลดผลกระทบจากวิกฤตซัพพลายเชน

ในช่วงหลายเดือนมานี้ สิ่งที่กระทบผู้ผลิตเป็นอย่างมากคือการหยุดชะงักของซัพพลายเชน นำมาซึ่งการขาดแคลนวัสดุและชิ้นส่วนสำคัญ และคาดการณ์ว่าจะเป็นความไม่แน่นอนครั้งใหญ่ในปี 2023 เช่นเดียวกัน ซึ่งการลดผลกระทบนั้นไม่จำกัดแค่การหาเทคโนโลยีใหม่ แต่เป็นกลยุทธที่ใช้ด้วย

โดยแนวทางการลดผลกระทบจากปัญหาซัพพลายเชนนั้น มีตั้งแต่การบริหารจัดการซัพพลายเชน ยกระดับความสัมพันธ์กับซัพพลายเออร์อย่างใกล้ชิดเพื่อร่วมหาทางออก ลดความเสี่ยงด้วยการเลือกซัพพลายเออร์หลายรายมากขึ้น เปลี่ยนมาผลิตแบบ in-house และเลือกใช้ Local Content เพื่อลดความเสี่ยงจากการขนส่ง หรือนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาช่วยให้มองเห็นภาพรวมของซัพพลายเชนได้ดีขึ้น

4. มุ่งสู่ Smart Factory ขยายขีดความสามารถ

แนวโน้มการก้าวสู่ยุค Smart Factory ยังคงไม่หยุดนิ่ง ซึ่งการพัฒนาโรงงานและสายการผลิตจะช่วยให้ผู้ผลิตมีขีดความสามารถในการแข่งขันที่สูงขึ้น ซึ่งปัจจุบัน มีทั้งผู้ผลิตที่มี Smart Factory แล้ว และผู้ผลิตที่อยู่ระหว่างการลงทุนเทคโนโลยีพื้นฐานอย่างเทคโนโลยีดิจิทัล ระบบคลาวด์ และเครือข่าย 5G เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงในอนาคต 

เมื่อเทคโนโลยีพื้นฐานเพียบพร้อมแล้ว ก้าวถัดไปคือเทคโนโลยีใหม่ ๆ เช่น Augmented Reallity (AR), ปัญญาประดิษฐ์ (AI), IoT, Additive Manufacturing, และอื่น ๆ ซึ่งเป็นไปได้ทั้งการนำมาใช้ในสายการผลิต หรือนำมาใช้ในการอบรมพนักงาน ยกตัวอย่างเช่น ผู้ผลิตยานยนต์ซึ่งเลือกใช้ Metaverse ในการจำลองสายการผลิต และทดลองกระบวนการต่าง ๆ ก่อนติดตั้งสายการผลิตจริง

อย่างไรก็ตาม การนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้งาน ต้องควบคู่ไปกับการพัฒนาความปลอดภัยทางไซเบอร์ หรือ Cybersecurity ด้วย

5. ความรับผิดชอบต่อสังคม

แนวคิด ESG ( Environmental, Social, Governance) เป็นอีกสิ่งที่ผู้ผลิตต้องติดตามอย่างใกล้ชิดในปี 2023 ซึ่งแม้ว่าผู้ผลิตหลายรายจะสมัครใจปฏิบัติตาม แต่หน่วยงานทั่วโลกต่างเดินหน้าไปสู่การเรียกร้องให้เปิดเผยข้อมูลต่าง ๆ มากยิ่งขึ้น จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ผู้ผลิตจะต้องมีการปรับตัวการดำเนินธุรกิจให้ยั่งยืน ไม่ว่าจะเป็นการบริหารจัดการของเสียจากการผลิตที่ดียิ่งขึ้น ใช้เทคโนโลยีต่าง ๆ เพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เลือกใช้เครื่องจักรที่ประหยัดพลังงาน ไปจนถึงการเลือกใช้พลังงานหมุนเวียน การประหยัดไฟในอาคาร หรือสนับสนุนการใช้รถยนต์ไฟฟ้า

 

#อุตสาหกรรมการผลิต #วิกฤตซัพพลานเชน #ลงทุนเทคโนโลยี #Mreport #mreportth #ข่าวอุตสาหกรรม #onlinecontent

 

บทความยอดนิยม 10 อันดับ

 

อัปเดตข่าวทุกวันที่นี่ www.mreport.co.th   

Line / Facebook / Twitter / YouTube @MreportTH