อุตสาหกรรม ยุคพลังงานไฟฟ้า

ยุค Electrification กับการดิ้นรนของภาคอุตสาหกรรม

อัปเดตล่าสุด 5 ส.ค. 2564
  • Share :
  • 1,994 Reads   

การเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีที่เด่นชัดซึ่งเราได้เห็นในรถยนต์ไฟฟ้า พลังงานสะอาด แบตเตอรี่ ไปจนถึงที่อยู่อาศัย ได้กลายเป็นพื้นที่การแข่งขันแห่งยุค Electrification 

ท่ามกลางสงครามการค้าจีน - สหรัฐฯ ที่ยังคงรุนแรงต่อเนื่อง หนำซ้ำการระบาดของโควิดยังทำให้ความเปราะบางของซัพพลายเชนในระดับโลกมีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น ผนวกกับมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมที่เข้มข้นขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้เทคโนโลยีด้าน Electrification มีความสำคัญต่อการแข่งขันของทุกประเทศมากยิ่งขึ้น

Advertisement


การผลักดันอุตสาหกรรมแห่งยุค Electrification

ญี่ปุ่นกำลังยกระดับการพัฒนาขีดความสามารถทางการแข่งขันของประเทศด้าน Electrification ในระยะยาว ทั้งในอุตสาหกรรมการผลิต พลังงาน ไปจนถึงการส่งออก โดยเมื่อเดือนมิถุนายน 2021  Mr. Akira Amari รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวในการประชุมรัฐสภาว่า
 

“ใครเป็นผู้นำด้านแบตเตอรี่ จะได้เป็นผู้นำโลก”

 

ส่วนอดีตนายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะ ได้กล่าวในการประชุมวาระเดียวกันนี้ว่า อุตสาหกรรมแบตเตอรี่ เป็นเรื่องที่หลายกระทรวงต้องให้ความสำคัญ และจะขาดความร่วมมือจากภาคเอกชนไม่ได้

ซึ่งในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมานี้เอง ที่ญี่ปุ่นมีความเคลื่อนไหวในด้านนี้เป็นอย่างมาก โดยพรรคเสรีประชาธิปไตย ได้หยิบยก “ยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิก” เข้าสู่การประชุมสภาหลายต่อหลายครั้ง และได้รับการสนับสนุนจากภาคอุตสาหกรรมเป็นอย่างยิ่ง

โดยเหล่านักการเมืองและนักธุรกิจจากภาคอุตสาหกรรมหลายรายแสดงความเห็นว่า ญี่ปุ่นควรให้ความสำคัญกับเทคโนโลยีมากขึ้น เพื่อสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ และรักษาขีดความสามารถในการแข่งขันระดับประเทศเอาไว้ และเทคโนโลยีที่ถูกยกมาเป็นหัวใจสำคัญ คือ เทคโนโลยีด้าน Electrification ซึ่งจะตอบสนองต่อมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมในอนาคตได้เป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นรถยนต์ไฟฟ้า พลังงานสะอาด แบตเตอรี่ลิเธียมไอออน ไปจนถึงเทคโนโลยีด้านที่อยู่อาศัย ซึ่งไม่เพียงแต่จะต้องผลักดันในส่วนของการส่งออกเท่านั้น แต่รวมถึงการสร้างซัพพลายเชนในประเทศที่มั่นคงด้วย

โดยรายงาน 2050 Carbon Neutral Goal ของรัฐบาลญี่ปุ่น ได้เผยแผนระยะสั้น (ปี 2030) ไว้ ดังนี้

  • ประเทศญี่ปุ่นจะต้องผลิตแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าได้ 100 GWh
  • รถยนต์ไฟฟ้าและรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์สันดาปต้องมีราคา และสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้ใกล้เคียงกัน โดยตั้งเป้าว่า แบตเตอรี่ไฟฟ้าขนาด 1 กิโลวัตต์ จะต้องมีราคาต่ำกว่า 10,000 เยน หรือต่ำกว่า 90 ดอลลาร์สหรัฐ 
  • ติดตั้งระบบไฟฟ้าสำหรับโรงงานอุตสาหกรรมาจากแบตเตอรี่ จะต้องทำได้ในราคาถูก โดยตั้งเป้าไว้ต่ำกว่า 60,000 เยน หรือ 540 ดอลลาร์สหรัฐ
  • ที่อยู่อาศัย อาคารสำนักงาน และโรงงานอุตสาหกรรม จะต้องใช้พลังงานไฟฟ้าจากแบตเตอรี่ ที่ 24 GWh

 

อุตสาหกรรมแบตเตอรี่ไฟฟ้า คือ หัวใจของ Electrification 

Mr. Akira Amari รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้แสดงความเห็นเมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2021 ว่า ปัจจุบันญี่ปุ่นมีข้อได้เปรียบด้านเทคโนโลยี แต่เสียเปรียบในด้านธุรกิจ และต้องการแก้ไขสถานการณ์นี้ให้ดีขึ้น โดยได้เรียกร้องให้พรรคการเมืองในญี่ปุ่นให้การสนับสนุนอุตสาหกรรมแบตเตอรี่ไฟฟ้า 

ด้านกระทรวง METI ได้จัดตั้ง “สำนักงานอุตสาหกรรมแบตเตอรี่” ขึ้นภายในสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้าในเดือนเดียวกันนี้  เพื่อให้รัฐบาลสามารถเป็นตัวกลางในการพัฒนาเทคโนโลยี ไปจนถึงการออกนโยบายส่งเสริมและมาตรการด้านภาษีที่เกี่ยวข้องอย่างรวดเร็ว

โดยภาคอุตสาหกรรมมีเสียงตอบรับว่า อุตสาหกรรมแบตเตอรี่มีความสำคัญในยุค Electrification และอนาคตที่ต้องการลดการปล่อยคาร์บอนจริง แต่ยังไม่ได้รับข้อมูลที่ชัดเจนจากรัฐบาล เช่น จะหาวัตถุดิบจากไหน จะผลิตที่ไหน และจะรีไซเคิลอย่างไร 

โดยรัฐบาลญี่ปุ่น ได้วางไทม์ไลน์การเติบโตของอุตสาหกรรมแบตเตอรี่ไว้ดังนี้

  • 2030 ยกระดับอุตสาหกรรมแบตเตอรี่ไฟฟ้า ด้วยการพัฒนาแบตเตอรี่ราคาถูก การจัดหาวัตถุดิบที่มีซัพพลายมั่นคง ลงทุนวิจัยและพัฒนา ส่งเสริมการรีไซเคิล และกำหนดมาตรฐานด้านเทคโนโลยี
  • 2050 แบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าจะกลายเป็นส่วนหนึ่งของกริดพลังงาน

 

อุตสาหกรรมยานยนต์ ผู้บุกเบิกสู่การเดินทางแห่งยุค Electrification 

แน่นอนว่า ผู้ที่รับผลกระทบรายแรกย่อมไม่พ้นอุตสาหกรรมยานยนต์ ซึ่งปัจจุบันหลายบริษัทได้มีการประกาศเป้าหมายด้านรถยนต์ไฟฟ้าออกมาอย่างต่อเนื่อง และมีการแข่งขันที่รุนแรง โดยเฉพาะในสหรัฐฯ จีน และยุโรป ซึ่งมีการประกาศสร้างโรงงานผลิตแบตเตอรี่อย่างต่อเนื่อง หรือในเกาหลีใต้ที่มีการประกาศลงทุนผลิตแบตเตอรี่ครั้งใหญ่

 

Arthur D. Little Japan ที่ปรึกษาด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม คาดการณ์ว่า
 

ในปี 2030 รถยนต์ไฟฟ้า และรถยนต์ไฮบริด จะมีสัดส่วนคิดเป็น 59% ของยอดผลิตยานยนต์ทั่วโลก

 

ซึ่งตัวเลขนี้ เป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้รัฐบาลญี่ปุ่นเล็งเห็นถึงความสำคัญของอุตสาหกรรมแบตเตอรี่ และตั้งใจวางโครงสร้างด้านซัพพลายเชนแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าให้อยู่ในเอเชียและในญี่ปุ่นเองเพื่อกำจัดความเสี่ยง เช่นเดียวกับที่ยุโรปพยายามสร้างซัพพลายเชนในยุโรป

อย่างไรก็ตาม บริษัทจากเอเชียหลายรายยังคงแผนสร้างโรงงานในยุโรปตามเดิม ไม่ว่าจะเป็น CATL, LG Chem, และ SK Innovation ไปจนถึงการประกาศความร่วมมือข้ามชาติในหลายข้อตกลง


“Ariya Limited” รถยนต์ไฟฟ้าจากนิสสันรุ่นพิเศษที่จะจำหน่ายในญี่ปุ่นเท่านั้น

โดย METI คาดการณ์ว่าในปี 2025 สหรัฐฯ จะมีกำลังผลิตแบตเตอรี่ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น 4 เท่าจากปี 2020, ยุโรปเพิ่มขึ้น 11 เท่า, จีนเพิ่มขึ้น 4 เท่า, และญี่ปุ่นเพิ่มขึ้น 1.8 เท่า

Mr. Shoichi Matsumoto ประธานบริษัท Envision AESC บริษัทด้าน Green Tech ที่เป็นเจ้าของเทคโนโลยีแบตเตอรี่ไฟฟ้า แสดงความเห็นว่า ตั้งแต่ย่างเข้าปี 2021 สถานการณ์ในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าและแบตเตอรี่เปลี่ยนไปจากเดิมเป็นอย่างมาก และเผยว่าจะสร้างโรงงานใหม่ในญี่ปุ่นภายใน 3 ปีข้างหน้านี้

ทางด้าน Prime Planet Energy & Solutions ซึ่งก่อตั้งโดยโตโยต้าและพานาโซนิค ซึ่งมีแผนเพิ่มกำลังการผลิตแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าในประเทศญี่ปุ่น ได้แสดงความเห็นว่าในหลายประเทศ ภาครัฐและเอกชนมีการเดินหน้าพัฒนาเทคโนโลยีในทิศทางเดียวกัน  ทำให้ความสามารถในการแข่งขันของญึ่ปุ่นในตลาดโลกมีความยากยิ่งขึ้น

 


#Electrification #พลังงานไฟฟ้า #ยุคพลังงานไฟฟ้า #รถยนต์ไฟฟ้า #รถอีวี #แบตเตอรี่ #แบตเตอรี่ลิเธียมไอออน #แบตเตอรี่ไฟฟ้า #โรงงานผลิตแบตเตอรี่ #ผู้ผลิตรถยนต์ #พลังงานสะอาด #ลดคาร์บอน #2050 Carbon Neutral #อุตสาหกรรมยานยนต์ #ญี่ปุ่น #ค่ายรถญี่ปุ่น #อุตสาหกรรมแบตเตอรี่ #อุตสาหกรรมพลังงาน #M Report #mreportth #วงในอุตสาหกรรม #ข่าวอุตสาหกรรม

 

บทความยอดนิยม 10 อันดับ

 

อัปเดตข่าวทุกวันที่นี่ www.mreport.co.th   

Line / Facebook / Twitter / YouTube @MreportTH