อัปเดตล่าสุด 6 ประเทศหลัก ลงทุน R&D อุตสาหกรรมหุ่นยนต์

อัปเดตล่าสุด 6 ประเทศหลัก ลงทุน R&D อุตสาหกรรมหุ่นยนต์

อัปเดตล่าสุด 2 มิ.ย. 2564
  • Share :
  • 858 Reads   

เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2021 International Federation of Robotics (IFR) ได้เปิดเผยรายงาน “World Robotics R&D Programs” ซึ่งจัดทำเป็นปีที่ 2 โดยรวบรวมแนวทางสำคัญในการลงทุนวิจัยและพัฒนาอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ของประเทศที่มีความก้าวหน้าด้านหุ่นยนต์

Advertisement

จีน - ตั้งเป้าสร้าง 3 บริษัทหุ่นยนต์ระดับโลก

ปีนี้ยังคงเป็นอีกปีที่จีนเดินแผนกลยุทธ์ “Made in China 2025” ซึ่งกำหนดให้หุ่นยนต์เป็น 1 ใน 10 อุตสาหกรรมหลักที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล เพื่อส่งเสริมการพัฒนาหุ่นยนต์ที่มีความชาญฉลาด โดยมุ่งเป้าไปที่การพัฒนาเทคโนโลยียุคใหม่สำหรับหุ่นยนต์, หุ่นยนต์อุตสาหกรรม, และหุ่นยนต์บริการ เพื่อให้อุตสาหกรรมหุ่นยนต์มีการเติบโตอย่างต่อเนื่องและมั่นคง ซึ่งรัฐบาลจีนตั้งเป้ายกระดับบริษัทหุ่นยนต์จีนอย่างน้อย 3 บริษัทให้สามารถเข้าแข่งขันในเวทีโลก และมีแผนผลักดันอุตสาหกรรมสนับสนุนที่เกี่ยวข้องอย่างน้อย 5 อุตสาหกรรม 

"จีน" มีอัตราส่วนหุ่นยนต์อุตสาหกรรม 187 ตัว ต่อแรงงาน 10,000 คน และอยู่ในอันดับ 15 ของโลก

 

ญี่ปุ่น - เล็งขึ้นฮับนวัตกรรมหุ่นยนต์อันดับหนึ่ง

ยังคงเดินหน้า “The New Robot Strategy” จากนโยบายอาเบะโนมิกส์ที่ต้องการยกระดับญี่ปุ่นให้ขึ้นเป็นฮับนวัตกรรมหุ่นยนต์อันดับหนึ่งของโลก ในปี 2020 ที่ผ่านมา อุตสาหกรรมการผลิตญี่ปุ่นมีการใช้หุ่นยนต์เพิ่มขึ้น 25% ในบริษัทขนาดใหญ่ และเพิ่มขึ้น 10% ในระดับ SMEs ซึ่งเป็นผลจากการเติบโตของธุรกิจ System Intergrator ตัวกลางระหว่างผู้ผลิตและผู้ใช้งาน ทำให้เกิดการใช้หุ่นยนต์มากขึ้น นอกจากนี้ ในภาคบริการหลัก เช่น ภาคการเกษตร โครงสร้างพื้นฐาน และการดูแลสุขภาพ โดยเฉพาะการพยาบาลและการแพทย์เพียงอย่างเดียวได้วางงบประมาณไว้ถึง 997.3 ล้านเหรียญสหรัฐ และสนับสนุนการปฏิรูปสุขภาพข้อมูลโดยส่งเสริมการใช้งานหุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์

"ญี่ปุ่น" ผู้ผลิตหุ่นยนต์อุตสาหกรรมอันดับหนึ่ง และมีการใช้หุ่นยนต์ญี่ปุ่นมากถึง 47% จากทั่วโลก

 

เกาหลีใต้ - มุ่งลงทุนหนัก ผลักหุ่นยนต์แพทย์ใน 5 ปี

มาตรการ Intelligent Robot Development and Supply Promotion Act ผลักดันให้หุ่นยนต์เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมหลักแห่งยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม 4.0 ที่ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ โดยมุ่งเน้นไปที่อุตสาหกรรมการผลิต พร้อมกับเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้แก่ SMEs หุ่นยนต์บริการซึ่งรวมถึงการดูแลสุขภาพและโลจิสติกส์ ไปจนถึงส่วนประกอบสำคัญในยุคถัดไปและซอฟต์แวร์ที่สำคัญของหุ่นยนต์ ในช่วงปี 2020-2025 เกาหลีใต้มีแผนลงทุน 1.07 พันล้านดอลาร์สหรัฐในโครงการพัฒนาอุปกรณ์การแพทย์ครบวงจรอีกด้วย

เกาหลีใต้ทำสถิติใหม่ในปี 2019 มีหุ่นยนต์อุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น 13% และในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ความพยายามของรัฐบาลเกาหลีใต้ได้ส่งผลชัดเจน ทำให้มีการใช้หุ่นยนต์อุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นสองเท่า 

"เกาหลีใต้" มีอัตราส่วนหุ่นยนต์อุตสาหกรรม 868 ตัว ต่อแรงงาน 10,000 คน แซงหน้าญี่ปุ่นขึ้นเป็นอันดับ 2 ของโลก

 

สหภาพยุโรป - ดันหุ่นยนต์ใน 4 คลัสเตอร์ 

จากแผนงาน “Horizon Europe” ซึ่งต่อยอดจาก “Horizon 2020” ได้ถูกวางกรอบเวลาไว้ในช่วงปี 2020-2027 โดยสนับสนุนนักวิจัยชั้นนำ นักประดิษฐ์ และพลเมืองทั่วไปในการพัฒนาความรู้และวิธีแก้ปัญหาที่จำเป็นเพื่อสร้างอนาคตสีเขียว ดิจิทัล และสุขภาพ 

แผนงานที่เกี่ยวข้องกับหุ่นยนต์กระจายอยู่ใน 4 คลัสเตอร์ คือ ดิจิทัล อุตสาหกรรม อวกาศ และโครงการวัจัยพัฒนาที่เกี่ยวข้องกับหุ่นยนต์ ซึ่งมุ่งเน้นการเปลี่ยนด้านดิจิทัลของเซกเตอร์การผลิตและก่อสร้าง โซลูชันอัตโนมัติสนับสนุนแรงงาน ความรู้ความเข้าใจที่เพิ่มขึ้น และการทำงานร่วมกันระหว่างมนุษย์กับหุ่นยนต์ 

"อียู" มีแผนวิจัยและพัฒนาอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ด้วยงบลงทุนรวม 240 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2021 - 2022

 

เยอรมนี - ตั้งวงเงิน 3.5% ของ GDP พัฒนาหุ่นยนต์

จากแผน High-Tech Strategy ฉบับที่ 4 ซึ่งเป็นฉบับล่าสุด ได้ตั้งเป้ายกระดับนวัตกรรมหุ่นยนต์และบริการที่เกี่ยวข้องในปี 2025 โดยมุ่งไปที่การส่งเสริมความร่วมมือระหว่างบริษัทเอกชน ภาคการศึกษา และสถาบันวิจัย นอกจากนี้ยังมีโครงการอื่น ๆ ที่มีเนื้อหาใกล้เคียงกัน เช่น Shape Technology for the People และ Together Through Innovation ภายใต้กระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งกระทรวงฯ ได้ประกาศลงทุนสนับสนุนงานวิจัยในโครงการเหล่านี้รวมทั้งสิ้นปีละ 84 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ไปจนถึงปี 2026 

"เยอรมัน" ตั้งงบประมาณการวิจัยและพัฒนาอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ไว้ที่ 3.5% ของ GDP 

 

สหรัฐอเมริกา - พุ่งเป้าไปอวกาศ พัฒนาเทคโนโลยีไร้มนุษย์

โครงการ National Robotics Initiative (NRI) เพื่อส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาหุ่นยนต์สำหรับวงการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้ถูกปรับปรุงเป็นฉบับ 2.0 โดยคงความสำคัญกับการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างภาครัฐ เอกชน สถานศึกษา และองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร และศึกษาความเชื่อมโยงระหว่างหุ่นยนต์ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และการนำมาใช้งานจริงมากขึ้น และได้เลือกให้ “หุ่นยนต์อวกาศ (Space Robotics)” เป็นหนึ่งในเป้าหมายหลัก ด้วยการก่อตั้งโครงการ Artemis เพื่อส่งนักบินอวกาศขึ้นไปยังดวงจันทร์อีกครั้งในปี 2024 ซึ่งนอกจากจะได้รับความร่วมมือจาก NASA แล้ว ยังมีพันธมิตรอีกมากทั้งแคนาดา, ญี่ปุ่น, รัสเซีย, และอื่น ๆ รวม 22 ประเทศ นักลงทุนรายใหญ่ที่สุดในเทคโนโลยีระบบไร้มนุษย์ยังคงเป็นกระทรวงกลาโหมของสหรัฐอเมริกา (DOD) ซึ่งมีงบประมาณ 7.3 พันล้านเหรียญสหรัฐในปี 2020-2021 

"สหรัฐอเมริกา" มีอัตราส่วนหุ่นยนต์อุตสาหกรรม 228 ตัว ต่อแรงงาน 10,000 คน และอยู่ในอันดับที่ 9 ของโลก

 

#ลงทุน R&D อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ #ลงทุน R&D หุ่นยนต์ #ประเทศที่มีความก้าวหน้าด้านหุ่นยนต์ #อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ #หุ่นยนต์อุตสาหกรรม #Robot Density #อัตราส่วนหุ่นยนต์อุตสาหกรรมต่อแรงงาน #หุ่นยนต์อวกาศ #Space Robotics #Service Robots #Logistics Robot #หุ่นยนต์แพทย์ #หุ่นยนต์ ญี่ปุ่น #หุ่นยนต์ จีน #หุ่นยนต์ AI ญี่ปุ่น #หุ่นยนต์ จีน #ฮับนวัตกรรมหุ่นยนต์ #Robotics #Robots Industry #Industrial Robots

อ่านต่อ

 

อัปเดตข่าวทุกวันที่นี่

Facebook / Twitter : MreportTH

Youtube official : MReport

Line : @mreportth

Website : www.mreport.co.th