เทรนด์หุ่นยนต์จากงานแข่งขันหุ่นยนต์โลก 2021

จับเทรนด์หุ่นยนต์ ในงาน World Robot Summit

อัปเดตล่าสุด 20 ก.ย. 2564
  • Share :
  • 1,004 Reads   

จับเทรนด์โรบอท ในงานจัดแสดงเทคโนโลยีหุ่นยนต์ระดับโลก World Robot Summit 2020 ได้จัดขึ้นเมื่อวันที่ 9 - 12 กันยายน 2021 ที่ประเทศญี่ปุ่น ภายในงานมีการแข่งขันหุ่นยนต์หมวดหมู่ต่าง ๆ ซึ่งสะท้อนแนวโน้มของเทคโนโลยีหุ่นยนต์แต่ละประเภทที่มีโจทย์ความต้องการแตกต่างกัน

Advertisement

ความแม่นยำ คือ พื้นฐานของหุ่นยนต์อุตสาหกรรมในอนาคต

ผลงานที่ได้รับรางวัลชนะเลิศในการแข่งขันหุ่นยนต์หมวดอุตสาหกรรมการผลิต คือ “ROBO-SUPPO plus” จากบริษัท YANAGIHARA MECHAX 

โจทย์การแข่งขันครั้งนี้ว่าด้วยการพัฒนาระบบหุ่นยนต์สำหรับประกอบระบบขับเคลื่อนสายพานลำเลียง ซึ่งต้องประกอบชิ้นส่วนทั้งหมด 33 ชิ้นด้วยความแม่นยำระดับไมโครเมตรอย่างรวดเร็ว และผู้เข้าแข่งขันไม่มีโอกาสรู้ล่วงหน้าว่าชิ้นส่วนที่ได้รับจะเป็นอย่างไร

Mr. Issei Sawaguchi วิศวกรจากบริษัทดังกล่าวแสดงความเห็นว่า เป็นโจทย์ที่ดูเหมือนง่ายแต่ในความเป็นจริงแล้วยากมาก ทีมวิศวกรที่เข้าแข่งขันพบปัญหาของชิ้นส่วนที่ต้องนำมาประกอบเข้าด้วยกันมีขนาดไม่ตรงกับคู่มือ ซึ่งเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ยากยิ่งในภาคธุรกิจจริง หรือต่อให้เกิดขึ้นก็สามารถจัดหาสินค้าอื่นทดแทนได้ 

ซึ่งมีเพียงทีม YANAGIHARA MECHAX ที่ประสบความสำเร็จในการประกอบระบบขับเคลื่อนสายพานลำเลียงด้วยหุ่นยนต์ได้ทันเวลาที่กำหนดไว้


“ROBO-SUPPO plus” จากบริษัท YANAGIHARA MECHAX

ทางทีมวิศวกรเปิดเผยว่า สิ่งสำคัญของมือหุ่นยนต์คือการควบคุมที่แม่นยำ มือหุ่นยนต์ต้องจับชิ้นงานในตำแหน่งที่เหมาะสม และประกอบชิ้นส่วนแต่ละชิ้นเข้าด้วยกันในมุมและองศาที่เหมาะสม หรือหากมือหุ่นยนต์ขาดความแม่นยำก็จำเป็นต้องมีอุปกรณ์จับยึดที่แม่นยำมาทดแทน โดยเฉพาะกับชิ้นส่วนที่มีรูปทรงที่หยิบจับได้ยาก ซึ่งทางทีมได้พัฒนาเทคนิคนี้ต่อจากผู้เข้าแข่งขันทีมหนึ่งในงาน World Robot Summit 2018 โดย ศาสตราจารย์ Yasuyoshi Yokokoji จากมหาวิทยาลัยโกเบซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ตัดสินแสดงความเห็นว่า 
 

”มือหุ่นยนต์ที่มีความแม่นยำจะเป็นสิ่งที่จำเป็น และแพร่หลายไปทุกส่วนของอุตสาหกรรมการผลิตในอนาคต”

 

การเคลื่อนไหวที่รวดเร็วของหุ่นยนต์ยังไม่พอ ต้องต่อเนื่องด้วย

ผลงานที่ได้รับรางวัลชนะเลิศในการแข่งขันหุ่นยนต์หมวดอุตสาหกรรมบริการ คือ “NAIST-RITS-Panasonic” ร่วมพัฒนาโดย Nara Institute of Science and Technology, Ritsumeikan University, และ Panasonic

ในหมวดหุ่นยนต์เพื่ออุตสาหกรรมบริการ โจทย์ของการแข่งขัน คือ หุ่นยนต์สามารถทำงานได้หลากหลายและมีความยืดหยุ่น ซึ่งจะทดสอบโดยให้หุ่นยนต์ตัวเดียวทำความสะอาดห้องน้ำ จัดเรียงสินค้าบนชั้นวาง และต้อนรับลูกค้า

“NAIST-RITS-Panasonic” และ รองศาสตราจารย์ Garcia Gustavo จาก Nara Institute of Science and Technology

NAIST-RITS-Panasonic สร้างความประทับใจให้แก่คณะกรรมการในความเร็วอันโดดเด่น เนื่องจากใช้เวลาน้อยที่สุดทั้งการติดตั้งและการทำงานให้สำเร็จลุล่วง 

ทีมผู้พัฒนา “NAIST-RITS-Panasonic” รับรางวัลบนเวที

รองศาสตราจารย์ Garcia Gustavo จาก Nara Institute of Science and Technology แสดงความเห็นว่า การหยุดทำงานของหุ่นยนต์หมายถึงการเสียโอกาสทางธุรกิจ ดังนั้น หุ่นยนต์จึงไม่เพียงแต่ต้องเคลื่อนที่ได้อย่างรวดเร็ว แต่ต้องติดตั้งและระบุปัญหาได้อย่างรวดเร็วเมื่อเกิดความผิดพลาด

ด้วยเหตุนี้เอง NAIST-RITS-Panasonic จึงถูกออกแบบให้กำจัด Time Loss ให้ได้มากที่สุด โดยในการแข่งขัน พบว่าเกิดข้อผิดพลาดระหว่างการใช้หุ่นยนต์จัดเรียงข้าวปั้น 1 ห่อ อย่างไรก็ตาม ทางทีมงานได้ออกแบบให้หุ่นยนต์สามารถทำงานต่อไปได้โดยไม่หยุดชะงัก ซึ่ง Dr. Yoshiaki Ando จากสถาบันวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอุตสาหกรรมขั้นสูงแห่งชาติ หนึ่งในคณะกรรมการแสดงความเห็นว่า “หุ่นยนต์ที่ทำงานต่อได้ทันทีโดยไม่หยุดชะงักจากข้อผิดพลาดเล็กน้อยคือสิ่งที่น่าประทับใจ” เนื่องจากในความเป็นจริงแล้ว การหยุดทำงานจากข้อผิดพลาดเล็กน้อยอาจเกิดความสูญเสียมากกว่าก็เป็นได้

Advertisement

 

หากไม่ใช้หุ่นยนต์ในภาคธุรกิจ ความเร็วก็ไม่จำเป็นเสมอไป

ถัดมาคือหมวด Partner Robot หรือหุ่นยนต์ที่ถูกออกแบบขึ้นสำหรับใช้งานในครัวเรือน ซึ่งโจทย์คือ ทางกรรมการจะจัดห้องจำลองให้ และหุ่นยนต์จะต้องเคลื่อนที่ในห้องที่มีพื้นต่างระดับ และสามารถทำงานได้แม้มีการจัดวางสิ่งของที่ไม่เป็นระเยียบ

ทีมจากสถาบันเทคโนโลยีคิวชูขณะหาทางแก้ปัญหาที่เกิดกับหุ่นยนต์

โดยทีมผู้ชนะ Partner Robot คือทีมจากสถาบันเทคโนโลยีคิวชู ซึ่งมีจุดเด่นที่แตกต่างจากทีมอื่น ๆ ตรงที่การออกแบบหุ่นยนต์ให้หยิบจับสิ่งของที่มีรูปทรงซับซ้อน และมีความกล้าที่จะหยุดการทำงานของหุ่นยนต์หลังเกิดข้อผิดพลาดเพื่อหาทางแก้ปัญหาแทนที่จะปล่อยให้หุ่นยนต์ทำงานต่อ ซึ่งเป็นจุดที่แตกต่างจากหุ่นยนต์อุตสาหกรรมหรือหุ่นยนต์บริการ เนื่องจากความผิดพลาดของหุ่นยนต์ไม่ได้หมายถึงการสูญเสียรายได้ของธุรกิจ แสดงให้เห็นถึงความเข้าใจในโจทย์ของการแข่งขันเป็นอย่างดี 

 

การใช้หุ่นยนต์แก้ปัญหาในชีวิตประจำวัน

นอกจากการแข่งขันพัฒนาด้านเทคโนโลยีของหุ่นยนต์แล้ว ยังมีการแข่งขันในหมวดหมู่นักเรียนและนักศึกษาที่อายุต่ำกว่า 19 ปี ซึ่งเป็นการแข่งขันด้านความคิดสร้างสรรค์ผ่านช่องทางออนไลน์ โดยมีเกณฑ์การตัดสินคือ “ความเป็นไปได้ในการนำไปใช้แก้ปัญหาให้บุคคลและสังคม” ไม่ใช่ความโดดเด่นทางเทคโนโลยีที่จะนำมาใช้

โดยผู้ชนะ คือทีม “Saku” ที่มีสมาชิกชาวญี่ปุ่นและชาวฟิลิปปินส์ นำเสนอไอเดียให้นำหุ่นยนต์มาใช้สนับสนุนอาจารย์ในสถานศึกษา เช่น รวบรวมการบ้านจากนักเรียน ช่วยคำนวนคะแนน และอื่น ๆ เนื่องจากเล็งเห็นว่าปัจจุบันอาจารย์ในหลายโรงเรียนต้องแบกรับภาระจากงานเอกสารจำนวนมาก ทำให้ไม่สามารถสอนนักเรียนได้ดีเท่าที่ควร โดยเสนอว่า ปัจจุบันในญี่ปุ่นก็มีการพัฒนาหุ่นยนต์ฮิวมานอยด์อยู่แล้ว หากมีการพัฒนาโปรแกรมเพิ่มเติม ก็จะช่วยให้หุ่นยนต์ทำงานได้ดีขึ้น ซึ่งผู้ช่วยศาสตราจารย์ Takumi Kawasetsu จากมหาวิทยาลัยโอซาก้า หนึ่งในคณะกรรมการได้แสดงความเห็นว่าเป็นประเด็นที่ควรให้ความสนใจ เนื่องจากเป็นแนวคิดที่สะท้อนให้เห็นปัญหาที่นักเรียนนักศึกษาพบในชีวิตประจำวัน



#World Robot Summit #แข่งขันหุ่นยนต์ #หุ่นยนต์โรบอท #หุ่นยนต์อุตสาหกรรม #หุ่นยนต์บริการ #Robot #Automation #Industrial Robot #Service Robot #Partner Robot #ระบบอัตโนมัติ #โรบอท #วงในอุตสาหกรรม #ข่าวอุตสาหกรรม #Mreport #M Report #mreportth

 

บทความยอดนิยม 10 อันดับ

 

อัปเดตข่าวทุกวันที่นี่ www.mreport.co.th   

Line / Facebook / Twitter / YouTube @MreportTH