ญี่ปุ่น นำร่อง รถไร้คนขับ MaaS ให้บริการทางการแพทย์

ญี่ปุ่น นำร่อง “รถไร้คนขับ” ให้บริการทางการแพทย์

อัปเดตล่าสุด 13 พ.ค. 2565
  • Share :
  • 2,844 Reads   

ญี่ปุ่นต่อยอดบริการรถไร้คนขับ MaaS (Mobility as a Service) โดยทดลองให้บริการรับ-ส่งผู้ป่วย และบุคลากรทางการแพทย์ พร้อมทั้งเก็บข้อมูลไปจนถึงให้บริการตรวจสุขภาพของผู้ป่วยแบบเคลื่อนที่

 “MaaS พึ่งพิงเทคโนโลยีล้ำสมัยจากการพัฒนายานยนต์ เช่น เทคโนโลยีรถยนต์ไฟฟ้า Connected Car ระบบขับขี่อัตโนมัติ และอื่น ๆ สู่การให้บริการระบบขนส่งทั้ง Ride Sharing, Car Sharing, ไปจนถึงร้านค้าหรือจุดให้บริการเคลื่อนที่ ” 

Advertisement

เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2022 สำนักข่าว Nikkan Kogyo Shimbun รายงานว่า ปัจจุบัน MaaS กำลังถูกนำมาทดสอบให้บริการในหลายพื้นที่ของประเทศญี่ปุ่น ซึ่งรวมถึงอุตสาหกรรมการแพทย์ที่กำลังประสบปัญหาขาดแคลนบุคลากรอย่างหนักเนื่องจากปัญหาสังคมผู้สูงอายุ อย่างไรก็ตาม อุปสรรคสำคัญคือ บริการเหล่านี้จะสร้างรายได้ได้จริงหรือไม่

ตรวจสุขภาพทางไกลแบบออนไลน์ในรถพยาบาล

นาย Shigeru Harada ผู้อำนวยการโรงพยาบาล Tsukuba Gakuen ซึ่งเป็นหัวหอกสำคัญของโครงการ Tsukuba Smart City Council ได้แสดงความคาดหวังว่า “ต้องการเห็นผู้ป่วยที่ไม่สะดวกเดินทางไปสถานพยาบาลได้รับการตรวจสุขภาพแบบครบวงจร”

โดย Tsukuba Smart City Council เกิดจากการรวมตัวของธุรกิจและองค์กรขนาดใหญ่กว่า 70 แห่ง เช่น สภาเมืองซึคุบะ, มหาวิทยาลัยซึคุบะ, Mitsubishi Electric, NEC, และอื่น ๆ ซึ่งได้ทดลองนำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence: AI) มาให้บริการตรวจสุขภาพกับผู้ป่วยนอกตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2022 โดยใช้เทคโนโลยีจดจำใบหน้า (Face Recognition) ในการรับผู้ป่วยขึ้นรถ และใช้วีลแชร์อัตโนมัติในการพาผู้ป่วยไปส่งยังจุดที่กำหนดในโรงพยาบาล

สำหรับการทดลองนี้ ผู้ป่วยสามารถเลือกโรงพยาบาลที่ต้องการเข้าตรวจสุขภาพผ่านแอปพลิเคชันมือถือเพื่อเรียกแท็กซี่ไร้คนขับ จากนั้น AI ที่ติดตั้งไว้กับระบบจะประเมินเส้นทางการรับส่งที่เหมาะสมจากข้อมูลของผู้ลงทะเบียนใช้งานแล้วพาไปส่งที่โรงพยาบาล ซึ่งระบบจดจำใบหน้าถูกนำมาใช้ตรวจสอบใบหน้าผู้รับบริการตั้งแต่ขั้นตอนการรับตัวขึ้นรถ ทำให้ผู้ใช้บริการไม่ต้องทำการลงทะเบียนซ้ำซ้อนที่โรงพยาบาล

เมื่อมาถึงโรงพยาบาล วีลแชร์อัตโนมัติจะพาผู้ป่วยไปยังห้องตรวจที่กำหนด ซึ่งวีลแชร์เหล่านี้ถูกออกแบบเป็นรถเข็นไฟฟ้าที่สามารถวิ่งกลับไปยังตำแหน่งที่ต้องการได้โดยอัตโนมัติหลังส่งผู้ป่วยแล้ว โดยนาย Tatsuo Igarashi ผู้ว่าเมืองซึคุบะ ได้แสดงความเห็นหลังการทดลองใช้ด้วยตนเองว่า “ระบบรับส่งสามารถใช้ได้จริง และช่วยลดภาระให้ผู้ป่วยได้”

ผู้ใช้บริการสามารถนั่งบนวีลแชร์ แล้วเลือกตำแหน่งที่ต้องการไปผ่านแอปพลิเคชัน

โครงการนำร่องที่เริ่มทดลองในเดือนกุมภาพันธ์นั้นได้รับความร่วมมือจากหลายหน่วยงาน ได้แก่ KDDI ให้ความร่วมมือด้าน Taxi on Demand, NEC สนับสนุนระบบจดจำใบหน้า, WHILL สนับสนุนวีลแชร์ไฟฟ้าอัตโนมัติ, และอื่น ๆ ซึ่งนาย Masatoshi Ito หัวหน้าแผนกส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จังหวัดอิบารากิ ได้แสดงความเห็นว่า “ต้องการเห็นระบบนี้ถูกนำไปใช้ในที่อื่น ๆ ในจังหวัด”

Tokio Marine Nichido บริษัทประกันภัยทรัพย์สินและวินาศภัย เป็นอีกบริษัทที่มีแนวทางใกล้เคียงกัน โดยมีกำหนดทดสอบระบบนัดหมายแพทย์และระบบแท็กซี่ร่วมกับบริษัท Cyber Transporters, Carepro, และเมืองชิบะในเดือนพฤษภาคมนี้ เพื่อสนับสนุนผู้ป่วยที่มีความลำบากในการไปโรงพยาบาล ไม่ว่าจะจากการถูกยึดใบขับขี่ หรือมีปัญหาทางด้านสุขภาพเรื้อรัง ซึ่งในการทดสอบจะมุ่งเน้นไปที่ผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาต่อเนื่อง และความพึงพอใจของผู้ใช้เป็นหลัก  

โดยทางบริษัทจะใช้แอปพลิเคชัน MaaS ที่พัฒนาขึ้นเองในการจองรถแท็กซี่ และใช้แอปพลิเคชันอื่นในการรับใบสั่งยา เพื่อให้ผู้ป่วยที่พบแพทย์แล้วสามารถแวะรับยาได้จากเภสัชกรโดยไม่ต้องรอคิวรับยาเป็นเวลานาน ไปจนถึงตัวเลือกการขอรับผู้ดูแลระหว่างการเดินทาง ซึ่งทางบริษัทอยู่ระหว่างพิจารณานำระบบนี้ไปใช้งานในจังหวัดอื่น ๆ ในอนาคต

ไม่ใช่เพียงภาคเอกชนเท่านั้น แต่ความคืบหน้าของ MaaS ยังมาจากฟากรัฐบาลอีกด้วย โดยตั้งแต่ปีงบประมาณ 2019 กระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรม, และกระทรวงที่ดิน โครงสร้างพื้นฐาน การขนส่ง และการท่องเที่ยว ประเทศญี่ปุ่น ได้จัดตั้งโครงการ SmartMobility Challenge เพื่อสนับสนุนการนำเทคโนโลยี MaaS มาใช้ และร่วมกับภาครัฐ เอกชน และสถานศึกษากว่า 340 แห่ง ก่อตั้ง “Smart Mobility Challenge Promotion Council” เพื่อร่วมแบ่งปันข้อมูลและผลลัพธ์การทำงานอีกด้วย

ศาสตราจารย์ Yoshihiro Suda จากศูนย์วิจัย Mobility สมัยใหม่ สถาบันวิทยาศาสตร์อุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยโตเกียว แสดงความเห็นว่า การนำเทคโนโลยี MaaS มาใช้ในสังคม และหวังทำกำไรจากคมนาคมในภูมิภาคอย่างเดียวเป็นเรื่องยาก และมองว่าการเดินทางเป็นแค่กระบวนการ จึงต้องคิดไปให้ไกลกว่านี้ เช่น ใช้ MaaS ร่วมกับการแพทย์ และการท่องเที่ยว 

นอกจากการรับส่งผู้ป่วยด้วย MaaS แล้ว ยังมีความพยายามในการรับส่งบุคลากรทางการแพทย์เพื่อให้บริการด้านสุขภาพอีกด้วย เช่น ในเมืองอินะ จังหวัดนากาโนะ ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่ภูเขาและมีประชากรกว่า 30% เป็นผู้สูงอายุ เทคโนโลยี MaaS ได้ถูกนำมาทดลองใช้ในการส่งรถพยาบาลและเจ้าหน้าที่ไปตรวจสุขภาพผู้ป่วยถึงบ้าน ไปจนถึงการตรวจสุขภาพแบบออนไลน์เพื่อลดภาระให้ผู้ป่วย

รถพยาบาลที่ถูกใช้ในการทดลองนี้สามารถใช้งานร่วมกันได้โดยสถานพยาบาลหลายแห่ง โดยเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์สามารถเลือกจองรถผ่านแอปพลิเคชันได้ในเวลาที่ต้องการ ส่วนบนรถได้ติดตั้งอุปกรณ์ต่าง ๆ ทั้งเครื่องวัดความดันโลหิต เครื่องวัดออกซิเจนในเลือด เครื่องวัดชีพจร และอุปกรณ์ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ โดยพยาบาลที่อยู่บนรถจะเป็นผู้ทำการตรวจผู้ป่วยภายใต้การดูแลของแพทย์ที่ประจำอยู่ที่โรงพยาบาล

โดยในการทดสอบนี้มีบริษัทที่เข้าร่วมคือ MONET Technologies ซึ่งเกิดจากการร่วมทุนของโตโยต้าและ SoftBank, Philips Japan, และอื่น ๆ ซึ่ง MONET แสดงความเห็นว่าบริษัทต้องการให้การเดินทางไม่ใช่แค่เรื่องของคน แต่อยากทุ่มเทให้ภาคงานบริการก็สามารถเดินทางได้เช่นเดียวกัน

ลดเวลารอพบแพทย์ด้วยการตรวจสุขภาพล่วงหน้าในรถบัส

Mitsubishi Corporation, Macnica, Mitsubishi Electric, และ Shonan Health Innovation Park ได้ร่วมพัฒนารถบัสอัตโนมัติเพื่อให้การแพทย์มีประสิทธิภาพมากขึ้น 

โดยเมื่อเดือนธันวาคม 2021 โรงพยาบาล Shonan Kamakura ได้ตัดสินใจทดลองใช้รถบัสในการตรวจสุขภาพล่วงหน้า โดยผู้ป่วยจะได้รับการตรวจสุขภาพและวัดค่าต่าง ๆ บนรถระหว่างเดินทางไปโรงพยาบาล เพื่อลดขั้นตอนและเวลาที่ใช้ในโรงพยาบาลให้น้อยลง เพื่อให้การรักษารวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้น 

นาย Noriyuki Ashihara เลขาธิการโรงพยาบาล Shonan Kamakura แสดงความเห็นว่า การรอคิวตรวจในโรงพยาบาลเป็นปัญหาในการรักษาสุขภาพมาอย่างยาวนาน และการตรวจผู้ป่วยล่วงหน้าก็จะช่วยลดเวลาในส่วนนี้ได้

ศาสตราจารย์ Yoshihiro Suda จากมหาวิทยาลัยโตเกียว แสดงความเห็นว่า MaaS จะเป็นที่แพร่หลายได้จริงนั้นจะต้องมีการแบ่งปันข้อมูลผู้ใช้ระหว่างองค์กร เพื่อให้สามารถพัฒนาบริการที่เหมาะสม และบริการใหม่ ๆ ได้ ดังนั้น แพลตฟอร์มที่แชร์ข้อมูลระหว่างบริษัทและหน่วยงานต่าง ๆ จึงเป็นสิ่งสำคัญในการพัฒนาระบบ

สำนักงานส่งเสริมการขับขี่อัตโนมัติ หน่วยงานภายใต้สังกัด METI แสดงความเห็นว่า แม้การแบ่งบันข้อมูลระหว่างผู้ใช้และผู้ให้บริการ MaaS จะจำเป็น แต่ก็ยังต้องพัฒนากันอีกมาก ทำให้ในปีงบประมาณ 2022 จะเน้นไปที่การส่งเสริมให้ใช้ระบบที่สามารถใช้งานร่วมกันได้แทนที่การใช้ระบบที่มีลักษณะเฉพาะ เนื่องจากระบบที่ใช้ร่วมกันได้จะช่วยลดต้นทุน และนำไปสู่ขีดความสามารถในการแข่งขันที่สูงขึ้น นอกจากนี้ การเข้าถึงข้อมูลยังสามารถนำมาซึ่งรายได้อื่น เช่น รายได้จากการโฆษณาอีกด้วย

ซึ่ง MaaS จะก้าวไปในทิศทางใดต่อไปนั้น ย่อมขึ้นอยู่กับว่า จะนำข้อมูลมาใช้ประโยชน์ได้มากแค่ไหนนั่นเอง

อุปสรรคในการนำ MaaS สู่การใช้งานเชิงพาณิชย์

อุปสรรคในการนำ MaaS มาใช้งานจริง คือ ทรัพยากรทางการเงิน หากมีมาตรการเงินสนับสนุนมากเกินไป ก็มักจะมีกรณีที่ไม่สามารถดำเนินธุรกิจจริงต่อได้ ซึ่งแม้ว่ารัฐฐาลญี่ปุ่นจะยกเป็นโครงการระดับชาติ แต่ในความเป็นจริงแล้วพบว่าเป็นแค่การทดลองส่วนท้องถิ่นเท่านั้น ด้วยเหตุนี้ จึงจำเป็นต้องมีการพัฒนารูปแบบการหารายได้แม้จะทีละเล็กน้อย ยกตัวอย่างเช่น การตั้งตัวเลือกสถานที่ตามร้านค้าที่จ่ายเงินค่าสปอนเซอร์ ซึ่งนอกจากจะได้รับรายได้แล้ว ยังเป็นการเพิ่มปลายทางให้ผู้ใช้อีกด้วย

ส่วนกรณีการนำ MaaS มาใช้ทางการแพทย์นั้น พบว่า โมเดลธุรกิจในปัจจุบันเน้นไปที่ผู้สูงอายุ จึงจำเป็นต้องพัฒนาช่องทางการใช้งานให้เหมาะสมกับผู้สูงอายุด้วย เนื่องจากการใช้งานแอปพลิเคชันอาจเป็นเรื่องยากสำหรับผู้สูงอายุบางคน ซึ่งสามารถแก้ไขได้ด้วยการจัดตั้งคอลเซ็นเตอร์ควบคู่ ไปจนถึงความสำคัญของการกระจายข้อมูลออกไปให้กว้างขวางขึ้นผ่านช่องทางอนาล็อก เช่น โปสเตอร์ประชาสัมพันธ์ หนังสือพิมพ์ ใบปลิว และอื่น ๆ

 

#MaaS #Mobility as a Service #Medical #AI #ตรวจสุขภาพ #สุขภาพ #การแพทย์ #ยานยนต์อัตโนมัติ #IT #บริการ  #M Report #mreportth #วงในอุตสาหกรรม #ข่าวอุตสาหกรรม #onlinecontent

 

ที่มา: Nikkan Kogyo Shimbun

 

บทความยอดนิยม 10 อันดับ

 

อัปเดตข่าวทุกวันที่นี่ www.mreport.co.th   

Line / Facebook / Twitter / YouTube @MreportTH