Machine Tools ญี่ปุ่น จับเทรนด์ Green Transformation

Machine Tools ญี่ปุ่น จับเทรนด์ Green Transformation อย่างไร

อัปเดตล่าสุด 9 ม.ค. 2566
  • Share :
  • 3,299 Reads   

Green Transformation หรือ GX คีย์เวิร์ดใหม่ในยุครักษ์โลกที่สร้างแรงกระเพื่อมต่อธุรกิจอุตสาหกรรม ซึ่งรวมถึงผู้ผลิตเครื่องจักรกลญี่ปุ่นก็ไม่อาจเลี่ยงได้ การออกแบบและผลิตเครื่องจักรจึงต้องคำนึงถึงแนวคิดนี้

เครื่องจักรกล (Machine Tools) รุ่นใหม่ถูกออกแบบให้ตอบโจทย์การทำงานที่รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการทำงานได้หลายโปรเซสในเครื่องเดียว มีความเป็นอัตโนมัติและดิจิทัลยิ่งขึ้น และยังต้องการบริการที่เกี่ยวข้องเพิ่มขึ้นตามไปด้วย

Advertisement

นาย Masahiko Mori ประธานบริษัท DMG MORI แสดงความเห็นว่า สิ่งที่ต้องการในยุค Green Transformation (GX) ไม่ใช่แค่เครื่องจักรที่ประหยัดพลังงานเท่านั้น แต่ยังต้องมีส่วนช่วยในการลดปริมาณวัตถุดิบที่ใช้เพื่อประหยัดพื้นที่จัดเก็บวัตถุดิบ ช่วยลดกระบวนการผลิตให้น้อยลง มีขนาดเล็กช่วยให้ประหยัดพื้นที่ในโรงงาน และต่อยอดไปสู่การลดแรงงานที่สร้างมูลค่าเพิ่ม (Value-Added) ได้ต่ำ 

แนวคิดนี้ได้ถูกนำมาใช้งานจริงในโรงงาน DMG MORI ในจังหวัดมิเอะ โดยเปลี่ยน Machining Center ขนาดใหญ่จากเดิม 100 เครื่อง มาเป็นเครื่อง 5 แกนรุ่นใหม่ล่าสุด 20 เครื่อง ซึ่งพบว่าสามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ 42% ลดการใช้พลังงาน ลดพื้นที่สต็อกชิ้นงานระหว่างการผลิต ลดกระบวนการทำงาน

การรวมกระบวนการผลิตเข้าด้วยกัน และพัฒนาให้อัตโนมัติยิ่งขึ้น สามารถช่วยในการปรับปรุงรายได้ และพาผู้ผลิตไปถึง GX ได้ (ภาพจากบูธ DMG MORI ในงาน JIMTOF เดือนพฤศจิกายน 2022)

ทั้งหมดนี้นำไปสู่ต้นทุนที่ลดลงทำให้บริษัทมีแผนเสนอแนวคิดการใช้เครื่อง 5 แกนและ Composite Machine ให้กับสายการผลิตของลูกค้า ซึ่งนาย Masahiko Mori กล่าวว่า การรวมกระบวนการทำงานไว้ด้วยกัน ทำให้เป็นอัตโนมัติมากขึ้น และ DX (DIgital Transformation) อย่างเต็มที่ คือสิ่งที่จะนำไปสู่ GX ได้

ด้าน Brother เป็นอีกรายที่มีแนวคิดใกล้เคียงกัน โดยเลือกพัฒนา SPEEDIO Series เครื่องแมชชีนนิ่งเซ็นเตอร์ขนาดเล็กที่ใช้พลังงานเพียง 1 ใน 5 ของเครื่องขนาดใหญ่ให้ประหยัดพลังงานยิ่งขึ้น และประหยัดกว่าเครื่องขนาดเล็กทั่วไปมากกว่า 10%

นอกจากนี้ ทางบริษัทยังได้พัฒนา SPEEDIO M200Xd1-5AX เครื่อง 5 แกนรุ่นแรกของบริษัท ซึ่งให้ความสำคัญกับการประหยัดพลังงาน และกัดชิ้นงานได้เร็วขึ้นด้วยแกนทั้ง 5

เครื่อง 5 แกน “M200Xd1-5AX” จาก Brother

ทางด้าน Okuma เลือกขานรับเทรนด์ด้าน GX ด้วย CNC Controls “OSP-P500” ที่สามารถนำไปติดตั้งกับแมชชีนนิ่งเซ็นเตอร์และเครื่อง 5 แกนรุ่นต่าง ๆ ได้ โดยมีแนวคิดในการเพิ่มประสิทธิภาพในการกัดชิ้นงาน และลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน ด้วยการออกแบบเครื่องให้สามารถ “มองเห็น” ปริมาณคาร์บอนที่ถูกปล่อยจากกระบวนการผลิต

โดยออกแบบให้ระบบนี้สามารถหยุดการทำงานของอุปกรณ์ต่อพ่วงที่ไม่เกี่ยวข้องกับกระบวนการผลิตชิ้นงาน โดยใช้เทคโนโลยี Digital Twin ร่วมกับโมเดล 3D เพื่อคำนวนเวลาที่ใช้ในการกัดชิ้นงานและตารางการทำงานอย่างแม่นยำ ประเมินการปล่อยก๊าซคาร์บอนจากค่าที่ตั้งไว้ เพื่อให้สามารถปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงานให้สอดคล้องกันได้

CNC Controls “OSP-P500” จาก OKUMA

ไม่ใช่เฉพาะกระบวนการทำงานเท่านั้นที่ส่งผลต่อสิ่งแวดล้อม แต่การปรับปรุงส่วนอื่น ๆ เองก็เช่นกัน ยกตัวอย่างเช่นกรณีของ Yamazaki Mazak ซึ่งเลือกปรับปรุงอุปกรณ์หล่อเย็นเพื่อเป็นออพชันใหม่ให้กับเครื่อง 5 แกนรุ่น “VARIAIX i-700 NEO” ซึ่งระบบ CNC จะคำนวณเศษตัดที่เกิดจากการผลิต จากนั้นจึงควบคุมการใช้น้ำมันคูลแลนท์อย่างเหมาะสม เพื่อช่วยลดการสิ้นเปลืองของน้ำมันหล่อเย็นระหว่างการกัดชิ้นงาน

ทางด้าน JTEKT ได้เลือกเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างแผนกธุรกิจและกลุ่มบริษัทผ่านหลักการ “One JTEKT” เพื่อให้บริษัทในเครือสามารถมีส่วนร่วมในการพัฒนาเทคโนโลยีที่ช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ยกตัวอย่างเช่น การพัฒนาตลับลูกปืนรุ่นใหม่ “High-ability” สำหรับติดตั้งในเครื่องแมชชีนนิ่งเซ็นเตอร์ FH500 Series เพื่อลดการใช้อากาศของสปินเดิลลง 80% และออกแบบให้สามารถเลือกใช้ชุดไฮดรอลิกประหยัดพลังงานที่มีตัวควบคุมอินเวอร์เตอร์ที่ช่วยลดการใช้พลังงานได้ 35% ซึ่งทั้งหมดนี้ทำให้ตัวเครื่องสามารถลดการปล่อยก๊าซได้ 50%

ฝั่ง Makino ได้จัดตั้ง “สำนักงานส่งเสริมความยั่งยืน” ขึ้นในปลายปี 2022 เพื่อส่งเสริมด้านความยั่งยืนภายในบริษัท ด้วยการเดินหน้าพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อรองรับยุคความเป็นกลางทางคาร์บอน ซึ่งจะกลายเป็นคอนเซปต์ที่ได้รับความสำคัญต่อจากการพัฒนาการผลิตแม่พิมพ์อย่างที่ผ่านมา ซึ่งปัจจุบัน บริษัทเผยว่ากำลังอยู่ระหว่างการพัฒนาเครื่องรุ่นต้นแบบ ซึ่งยังต้องทดลองอีกมากว่าจะสามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนได้มากแค่ไหน

ญี่ปุ่นเดินหน้า ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนจากเครื่องจักรกล 38% ภายใน 2030 

ในช่วงปลายปี 2022 สมาคมเครื่องจักรกลญี่ปุ่น (JMTBA) ได้ประกาศเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากเครื่องจักรญี่ปุ่น โดยภายในปี 2030 ปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนจะต้องลดลงเหลือปีละ 225,100 ตัน ซึ่งลดลง 38% เมื่อเทียบจากปี 2013 

ซึ่งในความเป็นจริง ผู้ผลิตเครื่องจักรกลญี่ปุ่นต่างให้ความสำคัญกับการลดการปล่อยก๊าซตั้งแต่ก่อนสมาคมประกาศเป้าหมายแล้ว โดยในปี 2021 อุตสาหกรรม Machine Tools ญี่ปุ่นมีมูลค่าการผลิตเพิ่มขึ้น 21.3% แต่การปล่อยก๊าซเพิ่มขึ้นเพียง 12.4% เท่านั้น อย่างไรก็ตาม การปล่อยก๊าซคาร์บอนที่ลดลงอาจเกิดจากปัจจัยอื่นด้วย เช่น การเปลี่ยนเครื่องปรับอากาศ หลอดไฟ คอมเพรสเซอร์ และการประหยัดพลังงานมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม แนวโน้มด้านสิ่งแวดล้อมกำลังจะกลายเป็นปัญหาใหม่ของ SME หากเทียบกับบริษัทขนาดใหญ่แล้ว SME สามารถเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ยุค GX ได้ยากกว่า ซึ่งสมาคมเครื่องจักรกลญี่ปุ่นกำลังอยู่ระหว่างการจัดทำไกด์ไลน์เพื่อประเมินวัฏจักรชีวิตของผลิตภัณฑ์ (Life Cycle Assessment: LCA) ในขณะนี้

ทางสมาคมฯ คาดการณ์ว่า ในอนาคตมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมจะยิ่งทวีความเข้มข้นโดยมียุโรปเป็นศูนย์กลางความเปลี่ยนแปลง ทำให้การปรับตัวตามแนวทางด้านสิ่งแวดล้อมมีความสำคัญมากกว่าที่ผ่านมา ซึ่งนาย Yoshiharu Inaba ประธานสมาคม และ CEO บริษัท Fanuc แสดงความเห็นว่า หากผู้ผลิตไม่เดินหน้าตาม GX แล้ว ก็อาจจะถูกกีดกั้นออกจากตลาดได้

 

ที่มา: Nikkan Kogyo Shimbun

 

#MachineTools #เครื่องจักรกล #GreenTransformation #Mreport #mreportth #ข่าวอุตสาหกรรม #onlinecontent

 

บทความยอดนิยม 10 อันดับ

 

อัปเดตข่าวทุกวันที่นี่ www.mreport.co.th   

Line / Facebook / Twitter / YouTube @MreportTH