หุ่นยนต์อุตสาหกรรมสำหรับการผลิตรถอีวี - หุ่นยนต์ที่เป็นมิตร - Friendly Robot - แนวทางการพัฒนาหุ่นยนต์ 2023

“โรบอทผลิตรถอีวี-โรบอทใช้งานง่าย” แนวทางใหม่สำหรับการพัฒนาหุ่นยนต์

อัปเดตล่าสุด 9 พ.ค. 2566
  • Share :
  • 38,339 Reads   

อุตสาหกรรมหุ่นยนต์กำลังเสนอแนวทางใหม่สำหรับการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าและแบตเตอรี่ และกระตุ้นความแพร่หลายด้วยแนวคิดหุ่นยนต์ที่ใช้งานง่าย (Friendly Robot) สู่การใช้งานโรบอทในภาคส่วนอื่น 

หุ่นยนต์อุตสาหกรรมกำลังกลายเป็นที่ต้องการของตลาดมากยิ่งขึ้น โดยข้อมูลจาก International Federation of Robotics (IFR) เผยว่า ปี 2021 ทั่วโลกมีการติดตั้งหุ่นยนต์อุตสาหกรรมรวม 517,000 ตัว เพิ่มขึ้น 31.2% จากปีก่อนหน้า สามารถไปถึงเป้าหมายเร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้เดิมปี 2024 

หุ่นยนต์อุตสาหกรรมสำหรับการผลิตรถอีวี - หุ่นยนต์ที่เป็นมิตร - Friendly Robot - แนวทางการพัฒนาหุ่นยนต์ 2023

แม้ปัจจุบันตลาดหุ่นยนต์ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจอยู่บ้าง แต่ปัญหาขาดแคลนแรงงานทำให้ความต้องการระบบอัตโนมัติยังเติบโตอย่างมั่นคง ซึ่งผู้ผลิตหุ่นยนต์ญี่ปุ่นยังคงเดินหน้าพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อรักษาจุดยืนของตนในตลาดหุ่นยนต์โลก

Advertisement

 

หุ่นยนต์เพื่อการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าและแบตเตอรี่

อุตสาหกรรมที่เป็นหัวหอกในวงการหุ่นยนต์ คือ อุตสาหกรรมยานยนต์ ซึ่งนำหุ่นยนต์มาใช้ในการเชื่อมและพ่นสี ปัจจุบันมีหุ่นยนต์ในโรงงานผลิตยานยนต์รวมแล้วมากกว่า 1 ล้านยูนิต คิดเป็นสัดส่วนราว 1 ใน 3 ของหุ่นยนต์อุตสาหกรรมทั่วโลก

ท่ามกลางกระแสรถยนต์ไฟฟ้าที่กำลังแพร่หลายอย่างรวดเร็ว ทำให้รัฐบาลหลายประเทศต่างประกาศเป้าหมายที่เกี่ยวข้อง ส่งผลให้อุตสาหกรรมรถอีวีมีการแข่งขันที่รุนแรงยิ่งขึ้น และจะทำให้ผู้ผลิตยานยนต์นำหุ่นยนต์มาใช้งานมากยิ่งขึ้นเช่นกัน

นาง Marina Bill ประธาน IFR และหัวหน้าฝ่ายการตลาดและการขายหุ่นยนต์ระดับโลก บริษัท ABB แสดงความเห็นว่า อุตสาหกรรมยานยนต์กำลังเปลี่ยนผ่านจากเครื่องยนต์สันดาปภายในไปสู่อีวี และส่งผลให้กระบวนการผลิตและเทคโนโลยีหุ่นยนต์ที่มีมาอย่างยาวนานกำลังพลิกโฉม

ด้วยเหตุนี้ การพัฒนาหุ่นยนต์ให้ตอบรับกับยุครถยนต์ไฟฟ้าที่จะมาถึงจึงเกิดขึ้น ยกตัวอย่างเช่น หุ่นยนต์หยิบจับชิ้นงาน (Handling robot) ขนาดใหญ่ “M1000-iA" จาก FANUC สำหรับติดตั้งแบตเตอรี่อีวีที่มีน้ำหนักมากเข้าไปในยานยนต์ที่มีขนาดกะทัดรัด หุ่นยนต์ถูกออกแบบให้เพรียวบาง แต่รับน้ำหนักได้มาก

หุ่นยนต์อุตสาหกรรมสำหรับการผลิตรถอีวี - หุ่นยนต์ที่เป็นมิตร - Friendly Robot - แนวทางการพัฒนาหุ่นยนต์ 2023

“M1000-iA" จาก FANUC

ความต้องการหุ่นยนต์ที่เพรียวเบาแต่บรรทุกน้ำหนักได้มาก ทำให้หุ่นยนต์รุ่นนี้จำเป็นต้องออกแบบใหม่ เปลี่ยนจากโครงสร้างแบบ "Parallel link mechanism" ที่มักใช้ในหุ่นยนต์ขนาดใหญ่ เป็น "Serial link mechanism" ที่มักใช้ในหุ่นยนต์ขนาดเล็กและขนาดกลาง เพื่อให้มีองศาการขยับกว้าง และเป็นครั้งแรกของบริษัทที่ได้ผลิตหุ่นยนต์ขนาดใหญ่ที่มีโครงสร้างเช่นนี้ ทำให้ได้หุ่นยนต์ที่หยิบจับชิ้นงานได้อย่างอิสระ 

อย่างไรก็ตาม การพัฒนาหุ่นยนต์รุ่นนี้ทำให้ FANUC จำเป็นต้องยืดระยะเวลาพัฒนาเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ตามความต้องการ ซึ่งเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นไม่บ่อยนัก 

นอกจากนี้ ยังมีบริษัทอื่น ๆ ที่ลงทุนพัฒนาหุ่นยนต์เพื่อการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าและแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนอย่างต่อเนื่อง และวางเป้าหมายให้อุตสาหกรรมอีวีเป็นแรงขับเคลื่อนหลักของธุรกิจหุ่นยนต์ 

Yaskawa Electric เผยว่า ในปีงบประมาณล่าสุดของบริษัท ซึ่งสิ้นสุดลงเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2023 ที่ผ่านมานี้ บริษัทมียอดขายรวม 223,800 ล้านเยน (1,671 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) เพิ่มขึ้น 25.3% จากปีก่อนหน้า และมีรายได้จากการดำเนินงาน 26,100 ล้านเยน (195 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) เพิ่มขึ้น 51.5%

นาย Masahiro Ogawa ประธานบริษัท Yaskawa Electric เปิดเผยว่า ปัจจุบัน ผู้ผลิตรถยนต์มีการสั่งซื้อหุ่นยนต์มากขึ้นจนเหมือนกับเป็น “งานเทศกาล” แต่ในขณะเดียวกัน การรักษาความสัมพันธ์กับผู้ผลิต Tier 1 และบริษัทที่มีศักยภาพในการลงทุนก็สำคัญเช่นกัน จึงได้วางแผนพัฒนาผลิตภัณฑ์และโซลูชันเพื่ออุตสาหกรรมอีวีและแบตเตอรี่ต่อไปในปีงบประมาณนี้

NACHI-FUJIKOSHI ได้แถลงในงานบรรยายสรุปผลประกอบการปี 2022 ว่า ปี 2023 หุ่นยนต์อุตสาหกรรมจะเป็นแรงขับเคลื่อนหลัก และคาดการณ์ว่าปีนี้จะทำยอดขายหุ่นยนต์ได้ 42,500 ล้านเยน (317 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) เพิ่มขึ้น 10.4% จากปีก่อนหน้า

รักษาจุดยืนในตลาดด้วยแนวทางการใช้หุ่นยนต์ใหม่ ๆ

หุ่นยนต์อุตสาหกรรมถูกวาดภาพไว้ให้เป็นวิธีแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานที่รุนแรงขึ้นอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม อัตราส่วนการแทนที่หุ่นยนต์อุตสาหกรรมต่อแรงงาน 10,000 คน หรือ “Robot Density” ของประเทศญี่ปุ่น อยู่ที่ 399 ตัวต่อแรงงาน 10,000 คน (ตัวเลข ณ ปี 2022) สะท้อนว่าญี่ปุ่นยังมีความล่าช้าในการนำหุ่นยนต์อุตสาหกรรมมาใช้งาน ทำให้เกิดแนวคิดว่าจะทำอย่างไรให้หุ่นยนต์ถูกนำมาใช้งานในภาคส่วนอื่น ๆ มากขึ้น

ซึ่งกุญแจสำคัญ คือ หุ่นยนต์ต้องไม่ได้มีแค่ประสิทธิภาพที่ดี แต่ต้องมีแนวคิด Friendly Robot คือ ใช้งานง่าย สามารถทำงานร่วมกับคนได้สะดวก

กระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรมญี่ปุ่น (METI) ได้จัดประชุมเรื่องนี้เมื่อเดือนมีนาคม 2023 ที่ผ่านมา และสาธิตตัวอย่างของ Friendly Robot หลายรายการ และพบว่าการพัฒนาหุ่นยนต์ต้องไม่เกิดจากการแบ่งปันปัญหาในอุตสาหกรรมเท่านั้น แต่ต้องร่วมมือกับผู้ใช้งานและผู้ขายหุ่นยนต์ตั้งแต่แรกเริ่มเพื่อพัฒนาหุ่นยนต์ที่ “ใช้งานได้จริง” และต้องมีการแบ่งปันข้อมูลการพัฒนาไปยังบริษัทอื่น ๆ ในอุตสาหกรรมเดียวกันอีกด้วย

หุ่นยนต์อุตสาหกรรมสำหรับการผลิตรถอีวี - หุ่นยนต์ที่เป็นมิตร - Friendly Robot - แนวทางการพัฒนาหุ่นยนต์ 2023

ภาพจากการหารือเกี่ยวกับความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนในการดำเนินการทางสังคมของหุ่นยนต์ โดยกระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรม เมื่อเดือนมีนาคม 2023

นาย Masaaki Sakudo ประธานบริษัท Maxvalu Tokai ผู้ประสบความสำเร็จในการทดแทนแรงงานด้วยระบบอัตโนมัติในสายการผลิต เผยในการหารือว่า อยากเห็นบริษัทอื่น ๆ ในอุตสาหกรรมอาหารสำเร็จรูปใช้หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติเพื่อให้อุตสาหกรรมมีความก้าวหน้ายิ่งขึ้น ในขณะที่เจ้าของร้านค้าปลีกรายใหญ่รายหนึ่งแสดงความเห็นว่า การร่วมมือกันพัฒนาหุ่นยนต์จะช่วยให้ได้แพลตฟอร์มที่มีราคาต่ำลง และอยากให้เกิดความร่วมมือเช่นนี้ขึ้นอย่างต่อเนื่อง

Kawasaki Heavy Industries และ Sony Group ได้ร่วมก่อตั้งบริษัท “Remote Robotics” เมื่อเดือนธันวาคม 2021 เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานผ่านมุมมองใหม่ ๆ และได้รับความสนใจเป็นอย่างมากจากชุดเครื่องมือ “Remolink for Developers" ที่ออกแบบขึ้นเพื่อใช้ในเชิงพาณิชย์ และกำลังเปิดให้ทดลองใช้ ซึ่งเป็นชุดเครื่องมื่อที่ช่วยให้ System Intergrators ทำงานกับหุ่นยนต์จากทางไกล และเปิดโอกาสให้ผู้ที่ไม่สามารถทำงานได้จากเหตุผลทางกายภาพมีบทบาทมากยิ่งขึ้น

ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว การขาดแคลนแรงงานไม่ใช่ปัญหาที่จำกัดวงเฉพาะญี่ปุ่นเท่านั้น แต่เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นทั่วโลก อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ญี่ปุ่นจึงเล็งเห็นว่า หากสามารถนำเสนอแนวทางการใช้หุ่นยนต์ใหม่ ๆ ได้ ก็ย่อมรักษาจุดยืนในตลาดเอาไว้ได้เช่นเดียวกัน

หุ่นยนต์อุตสาหกรรมสำหรับการผลิตรถอีวี - หุ่นยนต์ที่เป็นมิตร - Friendly Robot - แนวทางการพัฒนาหุ่นยนต์ 2023

ระบบหุ่นยนต์ขนาดเล็ก ใช้พื้นที่ 1 ใน 4 ของระบบทั่วไป

 

#หุ่นยนต์ #automation #ขาดแคลนแรงงาน #หุ่นยนต์อุตสาหกรรม #mreportth #ข่าวอุตสาหกรรม #onlinecontent

 

ที่มา: Nikkan Kogyo Shimbun

 

บทความยอดนิยม 10 อันดับ

 

อัปเดตข่าวทุกวันที่นี่ www.mreport.co.th   

Line / Facebook / Twitter / YouTube @MreportTH