ออฟฟิศแห่งอนาคต หน้าตาเป็นยังไง?

อัปเดตล่าสุด 17 ก.ย. 2561
  • Share :
  • 634 Reads   

เทคโนโลยีและไลฟ์สไตล์ที่เปลี่ยนไป คือ สิ่งที่ผลักดันให้สถานที่ทำงานอย่างออฟฟิศ มีพัฒนาการไปข้างหน้าไม่ต่างกับสิ่งอื่น ๆ ซึ่งในช่วงเวลาเช่นนี้เองที่ธุรกิจหลายราย ได้เสนอแนวคิดออฟฟิศที่แปลกใหม่อย่างไม่เคยมีมาก่อนและในขณะเดียวกันก็ยังมีความต้องการสภาพแวดล้อมการทำงานที่เอื้อเฟื้อต่อการทำงานที่หลากหลาย กระแสความนิยมของ “Shared Office” ที่แพร่หลายมากยิ่งขึ้น และ “Coworking Space” ที่เปิดให้บริการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จึงเป็นที่น่าสนใจว่า ออฟฟิศแบบเดิม ๆ จะเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางใด จึงจะสามารถอยู่รอดได้ในยุคที่มีแนวคิดใหม่ ๆ เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องเช่นนี้
Value Center

 

คุณค่าของออฟฟิศ เกิดจากความคิดสร้างสรรค์ของพนักงาน
Mr. Masaya Shioura ผู้จัดการทั่วไปแห่ง “NIKKEN ACTIVITY DESIGN Lab (NAD)” แผนกผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบจากบริษัท Nikken Sekkei กล่าวว่า “ปัจจุบันออฟฟิศก็เหมือนเกม” ซึ่งออฟฟิศส่วนมาก ได้ให้ความสำคัญกับ “Cost center” เพื่อให้ได้ประสิทธิภาพงานสูงสุด ด้วยต้นทุนต่ำที่สุด อย่างไรก็ตาม Mr. Shioura มองว่า “สิ่งที่จำเป็นต่อออฟฟิศที่สุดคือการที่พนักงานสามารถสร้างมูลค่าให้กับบริษัทได้ หรือที่เรียกว่า “Value Center” มากกว่า”

Mr. Shinichi Mitsuki หัวหน้าแผนก Design Management แห่ง Mitsui Designtec บริษัทลูกของ Mitsui Home ซึ่งรับผิดชอบด้านการออกแบบภายใน กล่าวแสดงความเห็นต่อประเด็นความก้าวหน้าของเทคโนโลยีว่า “ในอนาคต AI จะเข้ามาแทนที่มนุษย์ในหลายตำแหน่ง อย่างไรก็ตาม หากมนุษย์สามารถหางานที่มีแต่ตนเท่านั้นที่ทำได้ก็ไม่ต้องกังวล และด้วยเหตุนี้เอง ความต้องการสภาพแวดล้อมซึ่งเอื้ออำนวยให้เกิดความคิดสร้างสรรค์จึงเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง”


 

สิ่งหนึ่งที่มีอิทธิพลต่อออฟฟิศมาก คือ พัฒนาการของสมาร์ทโฟนที่ทำให้พนักงานมีทางเลือกในการทำงานมากขึ้น เช่น การทำงานจากบ้านโดยไม่เข้าออฟฟิศ ซึ่งเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของไลฟ์สไตล์ในยุคนี้ โดย Mr. Mitsuki กล่าวแสดงความเห็นว่า “มีหลายบริษัทที่ตั้งใจใช้จุดนี้มาพัฒนาเป็นธุรกิจต่อไปในอนาคต”

นอกจากนี้ Mr. Shioura ได้แสดงความเห็นเพิ่มเติมว่า “หลังจากนี้ จะเข้าสู่ยุคของ “Community Center” ซึ่งจะสนับสนุนการพบปะเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดของพนักงาน เชื่อมโยงไปสู่การกระตุ้นความคิดสร้างสรรค์ เพื่อสร้างคุณค่าของงานมากขึ้น”

Shared Office และการดึงดูดพนักงานใหม่ด้วยสภาพแวดล้อมที่ทำงานด้วยได้ง่าย

Jones Lang LaSalle (JLL) ผู้ให้บริการด้านอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่จากสหรัฐฯ รายงานว่าใน 5 ย่านหลักของจังหวัดโตเกียว ซึ่งประกอบด้วยชิโยดะ มินาโตะ ชูโอ ชินจุกุ และชิบุย่า มี Coworking Space รวมทั้งหมดแล้วเป็นพื้นที่มากถึง 62,608 ตารางเมตร (ข้อมูลจากเดือนมิถุนายน 2018) ซึ่งมากกว่าในปี 2017 ถึง 2 เท่า  

นอกจากนี้ ในอาคารใหม่แต่ละแห่งยังมีพื้นที่และจำนวนเก้าอี้มากขึ้น ซึ่งผู้ให้บริการ Coworking Space หลายรายกำลังอยู่ระหว่างการออกแบบธุรกิจงานบริการเพื่อสนับสนุนผู้เข้าใช้ โดยเฉพาะธุรกิจรายใหม่ เพื่อให้เกิดการใช้ Coworking Space มากขึ้นอีกด้วย

JLL คาดการณ์ว่า Shared Office และ Coworking Space จะมีบทบาทสำคัญในฐานะพื้นที่เพื่อความคิดสร้างสรรค์มากขึ้นในอนาคต

Mr. Shioura กล่าวแสดงความเห็นต่อประเด็นนี้ว่า “หากแนวโน้มเช่นนี้ดำเนินต่อไปแล้ว ในอนาคต คุณจะสามารถทำงานจากที่ไหนก็ได้ในเมือง”

Mr. Mitsuki กล่าวว่า “หากรูปแบบออฟฟิศเปลี่ยน รูปแบบการทำงานก็จะเปลี่ยนไปด้วย ซึ่งดีไซน์ของออฟฟิศนั้นเป็นเพียงแค่ขั้นตอนหนึ่งเท่านั้น’”

ที่สุดแล้ว สภาพแวดล้อมในการทำงานที่ดีจะเป็นอย่างไร?

Mitsui Designtec มองว่า สิ่งสำคัญในการปฏิวัติรูปแบบการทำงาน และอาคารสำนักงาน คือการรับฟังความต้องการของลูกค้าตั้งแต่ในขั้นตอนการออกแบบ ซึ่งทำให้เราได้คิดค้นธุรกิจ “ที่ปรึกษาการทำงาน” และจัดเวิร์กช็อปสำหรับเจ้าของธุรกิจ และลูกจ้าง เพื่อหาวิธีการทำงานและรูปแบบออฟฟิศที่เหมาะสมให้กับบริษัทนั้น ๆ 

ทางบริษัทเล็งเห็นว่า การทำงานในกรอบเวลาแบบเดิม ๆ นั้น “ไม่เหมาะสมต่อการจุดประกายความคิดสร้างสรรค์ และแต่ละบริษัทยังมีตารางเวลาที่เหมาะสมต่างกันไป ซึ่งหากจัดเวลาที่เหมาะสมได้ ก็จะสามารถสร้างคุณค่าได้สูงสุด”

นอกจากนี้ หากมีสภาพแวดล้อมการทำงานที่ดีแล้ว บริษัทนั้น ๆ ยังสามารถนำมาใช้เป็นจุดดึงดูดพนักงานใหม่ได้อีกด้วย