จากจอสมาร์ทโฟนสู่ตึกเปลี่ยนสีได้ ช่วยลดการดูดกลืนความร้อนจากแสงแดด

อัปเดตล่าสุด 23 ก.ย. 2562
  • Share :
  • 438 Reads   

คณะวิจัยจาก University of Cambridge ประสบความสำเร็จในการพัฒนาจุดพิกเซล (Pixel) จุดภาพบนจอแสดงผลที่มีขนาดเล็กกว่าจุดภาพของหน้าจอสมาร์ทโฟนถึงล้านเท่า คาดต่อยอดสู่การผลิตจอภาพแบบยืดหยุ่นที่มีขนาดใหญ่กว่าอาคารทั้งหลังได้

จุดพิกเซลที่พัฒนาขึ้นนี้ รองรับการผลิตแบบ Roll-to-Roll หรือการพิมพ์แบบม้วน จึงมีต้นทุนในการผลิตต่ำ และสามารถพิมพ์ลงบนแผ่นฟิล์มพลาสติกทั่วไปได้ จึงเหมาะแก่การผลิตจอภาพแบบพับม้วนเป็นอย่างยิ่ง ต่างจากการผลิตด้วยกระบวนการทั่วไปซึ่งมีต้นทุนสูงมาก

จุดพิกเซลนี้ ผลิตขึ้นจากอนุภาคทอง (Gold Particle) และผิวสะท้อน (Reflective Surface) เคลือบด้วยสารเคมีที่ทำปฏิกิริยากับกระแสไฟฟ้าได้ เพื่อกักเก็บแสงให้อยู่ในพื้นที่ว่างของจุดภาพ และเปลี่ยนสีได้ทุกเฉดสี

จากนั้น อีกทีมวิจัยจึงพัฒนาต่อ โดยการเปลี่ยนสารเคลือบที่ใช้เป็น Polyaniline (PANI) ซึ่งเป็นโพลิเมอร์นำไฟฟ้าชนิดสังเคราะห์ได้ ช่วยให้กระบวนการผลิตมีต้นทุนต่ำลงกว่าเดิมมาก

จุดพิกเซลที่พัฒนาขึ้นนี้ เป็นจุดภาพที่มีขนาดเล็กที่สุดในปัจจุบัน มองเห็นได้ชัดในพื้นที่แสงจ้า และประหยัดพลังงานเป็นอย่างมาก จึงเหมาะแก่การผลิตจอภาพขนาดใหญ่เป็นอย่างยิ่ง ซึ่งศาสตราจารย์ Jeremy J Baumberg ผู้นำคณะวิจัย กล่าวแสดงความเห็นต่อเทคโนโลยีนี้ว่า “เป็นก้าวที่จำเป็นในการพัฒนาเทคโนโลยีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม”

คณะวิจัยคาดการณ์ว่า จุดพิกเซลนี้ สามารถนำไปใช้ในการพัฒนาต่อยอดเป็นจอภาพขนาดใหญ่ สำหรับออกแบบอาคารที่เปลี่ยนสีได้ เพื่อให้สีของอาคารสามารถดูดกลืนความร้อนจากแสงแดดได้น้อยที่สุดในทุกสภาพแวดล้อม หรือนำไปผลิตสารเคลือบ, เครื่องแต่งกาย, ไฟแสดงสถานะของอุปกรณ์ IoT และอื่น ๆ ซึ่งปัจจุบัน คณะวิจัยอยู่ระหว่างการพัฒนาเทคโนโลยีนี้ให้สามารถแสดงสีสันได้ดีขึ้นอีกด้วย