สวทช. เสนอ 5 นวัตกรรมฝีมือคนไทย ก้าวไกลระดับโลก

อัปเดตล่าสุด 18 ธ.ค. 2561
  • Share :
  • 1,970 Reads   

เมื่อปี 2561 ที่ผ่านมา สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ได้มีการพัฒนางานวิจัย เทคโนโลยี และนวัตกรรม หลายโครงการ เพื่อตอบโจทย์นโยบายรัฐบาล ภาคธุรกิจและประชาชนในทุกมิติ ตลอดทั้งปี โดยในปี 2561 สวทช. ได้ประสบความสำเร็จ และส่งมอบผลงานวิจัยและนวัตกรรมฝีมือคนไทยซึ่งเป็นที่ยอมรับทั้งในประเทศและระดับนานาชาติ

โดยสวทช. เป็นองค์การมหาชนในกำกับของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มีหน้าที่พัฒนาขีดความสามารถด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยดำเนินกิจกรรมด้านถ่ายทอดเทคโนโลยี การพัฒนาบุคลากร และการเสริมสร้างโครงสร้างพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ ให้ประเทศไทยมีความรู้ความสามารถที่จะพัฒนาเทคโนโลยีให้ประเทศไทยก้าวสู่ความเป็น 4.0   โดยนวัตกรรมที่น่าสนใจของ สวทช. ตลอดปี 2561 ที่ผ่านมาได้สร้างคุณค่าทางเศรษฐกิจให้ประเทศไทยได้อย่างดีเยี่ยม  อาทิ

“ผลิตภัณฑ์ดูดจับสารพิษจากเชื้อราที่ปนเปื้อนในอาหารสัตว์” จากเอนไซม์โปรติเอส (Enzyme Protease) โดย นาโนเทค สวทช. 
เอนไซม์โปรติเอส ถือเป็นนวัตกรรมระดับแนวหน้าจาก สวทช. ที่ได้ดำเนินการวิจัยให้กับ บริษัท คลีน กรีนเทค จำกัด เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ชนิดใหม่สำหรับใช้ลดปริมาณสารพิษจากเชื้อราปนเปื้อนในวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่มีประสิทธิภาพสูง และสามารถลดปริมาณสารพิษปนเปื้อนได้หลายชนิดในเวลาเดียวกัน โดยเฉพาะสารฟูโมนิซินและซีราลีโนน สารพิษจากเชื้อราที่สร้างความเสียหายในอุตสาหกรรมอาหารเลี้ยงสัตว์เป็นลำดับต้นๆ ในประเทศไทย (พบในกลุ่มอาหารสัตว์ ไก่ เป็ด สุกร และโค) นอกจากนั้นแล้วเอนไซม์โปรติเอสยังสามารถเปลี่ยนโครงสร้างทางเคมีของสารพิษเชื้อราให้อยู่ในสภาพที่ไม่เป็นพิษ และไม่เป็นอันตรายต่อสัตว์และสิ่งแวดล้อม ปัจจุบันมีการผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์สูตรใหม่ Zeta L-Tonic ทั้งในและต่างประเทศ รวม 7 ประเทศแล้ว  ปัจจุบันได้ถ่ายทอดเทคโนโลยีให้แก่บริษัทในประเทศสิงคโปร์ สร้างมูลค่าทรัพย์สินทางปัญญา มากกว่า 6,000 ล้านบาท

eLysozymeTM สารยับยั้งแบคทีเรียจากโปรตีนไข่ขาว โดย ไบโอเทค สวทช. 
การวิจัยและพัฒนา “ไลโซไซม์ (Lysozyme)” ที่เป็นโปรตีนชนิดหนึ่งที่อยู่ในไข่ขาวของไก่ ซึ่งทำหน้าที่ปกป้องตัวอ่อนของไก่จากการรุกรานของเชื้อแบคทีเรียในสิ่งแวดล้อม ซึ่งในอุตสาหกรรมอาหารมีการนำไลโซไซม์มาใช้ประโยชน์ในฐานะของสารยับยั้งแบคทีเรียหรือสารกันบูดจากธรรมชาติ (Natural Preservative) ทั้งนี้ไลโซไซม์ได้รับการยอมรับจากองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) องค์การอนามัยโลก (WHO) และหลายๆ ประเทศ ทั้งในยุโรปและเอเชีย ถึงความปลอดภัยในการบริโภค และได้รับอนุญาตให้ใช้ในผลิตภัณฑ์อาหาร ยา และการบำบัดรักษาบางประเภท


อย่างไรก็ตามโดยธรรมชาติแล้ว ไลโซไซม์จากไข่ขาวของไก่มีความสามารถในการยับยั้งแบคทีเรียแกรมบวก และแบคทีเรียในกลุ่มแบคทีเรียแลคติกได้ดีกว่าแบคทีเรียแกรมลบ ทว่าด้วยความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีชีวภาพ ทำให้คณะผู้วิจัยสามารถพัฒนาไลโซไซม์ที่มีฤทธิ์ยับยั้งแบคทีเรียได้ดีขึ้นทั้งแกรมบวกและแกรมลบ จึงยับยั้งครอบคลุมแบคทีเรียที่ทำให้อาหารเน่าเสีย แบคทีเรียก่อโรคที่มักพบปนเปื้อนในอาหาร และแบคทีเรียก่อโรคที่มีความสำคัญในระบบการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำและปศุสัตว์ โดยผลงานวิจัยดังกล่าวกำลังนำไปผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ไลโซไซม์ประสิทธิภาพสูง ภายใต้ชื่อทางการค้า eLysozymeTM (eLYS-T1)  สำหรับใช้เป็นสารยับยั้งแบคทีเรียในอาหาร และ eLysozymeTM (eLYS-T2) สำหรับใช้เป็นสารยับยั้งแบคทีเรียในอาหารสัตว์ ทั้งนี้ สวทช. ได้ทำสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิในผลงานวิจัยการผลิตสารยับยั้งแบคทีเรียจากโปรตีนไข่ขาว ให้แก่ บริษัท ดีเอ็มเอฟ (ประเทศไทย) จำกัด และบริษัท โอโว่ ฟู้ดเทค จำกัด เพื่อผลิตเป็นผลิตภัณฑ์และจำหน่ายในเชิงพาณิชย์ ซึ่งขณะนี้ทางบริษัทกำลังติดตั้งเครื่องจักรสำหรับผลิต และมีแผนทดลองผลิตสารยับยั้งแบคทีเรียจากโปรตีนไข่ขาวรอบแรกเร็วๆ นี้ 

ข้อเข่าเทียม ที่มีขนาดรูปทรง และการงอเข่าที่เหมาะสมกับคนเอเชีย โดย เอ็มเทค สวทช. 

การพัฒนาข้อเข่าเทียม ที่มีขนาด รูปทรงและการงอเข่าที่เหมาะสมกับคนเอเชีย จากการอ้างอิงการวัดกายวิภาคข้อเข่าคนไทยและคนญี่ปุ่น โดยร่วมมือกับThe New Energy and Industrial Technology Development Organization (NEDO) ประเทศญี่ปุ่น ในการพัฒนาข้อเข่าเทียมและเครื่องมือช่วยผ่าตัด โดยมี บริษัท เทยิน นาคาซิม่า เมดิคอล (Teijin Nakashima Medical) ซึ่งเป็นบริษัทผู้ผลิตและจำหน่ายข้อเทียมในประเทศญี่ปุ่น เป็นผู้ร่วมดำเนินโครงการกับเอ็มเทค สวทช. ซึ่งแต่ละฝ่ายได้ศึกษาวิจัยกายวิภาคข้อเข่าของกลุ่มตัวอย่างคนญี่ปุ่นและคนไทยเพศหญิงฝ่ายละ 100 ราย นำมาใช้อ้างอิงในการออกแบบพัฒนาข้อเข่าเทียมเดิมให้เหมาะสมกับกายวิภาคข้อเข่าคนเอเชียมากขึ้น รวมทั้งออกแบบให้รองรับการงอเข่าได้ถึง 150 องศา เพื่อให้ตรงกับอิริยาบถการใช้ชีวิตประจำวันในการนั่งพื้นของคนเอเชียซึ่งต่างจากชาวตะวันตก  

นอกจากนี้ คณะวิจัยเอ็มเทค ยังได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีในการศึกษาวิจัยกายวิภาคข้อเข่า การออกแบบและทดสอบข้อเข่าเทียม โดยได้รับการสนับสนุนเครื่องทดสอบการสึกหรอข้อเข่าเทียมมูลค่าร่วม 20 ล้านบาท จาก NEDO  และหลังจากความร่วมมือในโครงการดังกล่าวสำเร็จ บริษัท เทยิน นาคาซิม่า เมดิคอล ได้เริ่มนำผลิตภัณฑ์ Future Knee® ที่พัฒนาขึ้น ออกใช้จริงในเชิงคลินิกในประเทศญี่ปุ่น โดยในระยะเวลา 1 ปี มีการผ่าตัดในผู้ป่วยแล้วมากกว่า 200 ราย ซึ่งประสิทธิผลของข้อเข่าเทียมหลังผ่าตัดเป็นที่ยอมรับอย่างมากจากศัลยแพทย์ งานวิจัยดังกล่าวจะเพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุโรคข้อเข่าเสื่อมที่ดีขึ้น สามารถงอเข่าใช้ชีวิตประจำวันได้ใกล้เคียงปกติ และการผลักดันให้เกิดผลิตภัณฑ์ข้อเข่าเทียมดังกล่าวนี้จะช่วยให้ผู้ป่วยคนไทยได้มีโอกาสใช้ในการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมทดแทนผลิตภัณฑ์นำเข้าด้วย ทั้งนี้ สวทช. ได้เตรียมการจดทะเบียนบัญชีนวัตกรรมไทยเพื่อนำผลิตภัณฑ์ออกสู่เชิงพาณิชย์ ผ่านรูปแบบบริษัทร่วมลงทุนระหว่าง สวทช. บริษัท เทยิน นาคาซิม่า เมดิคอล และบริษัทเอกชนไทย เพื่อผลักดันให้เกิดบริษัทเครื่องมือแพทย์        ขั้นสูงขึ้นในประเทศไทย

ศูนย์บริการถ่ายทอดการสื่อสารแห่งประเทศไทย (Thai Telecommunication Relay Service : TTRS) 
โดย เนคเทค สวทช. 

เนคเทค สวทช. ได้ร่วมมือกับ มูลนิธิสากลเพื่อคนพิการ พัฒนา ระบบบริการถ่ายทอดการสื่อสาร สำหรับคนพิการทางการได้ยิน และคนพิการทางการพูด ประกอบด้วย บริการถ่ายทอดการสื่อสารแบบข้อความสั้น, บริการถ่ายทอดการสื่อสารแบบรับ-ส่งข้อความผ่าน TTRS Message, บริการถ่ายทอดการสื่อสารแบบสนทนาข้อความผ่าน TTRS Live Chat, บริการถ่ายทอดการสื่อสารแบบสนทนาวิดีโอผ่านตู้ TTRS, บริการถ่ายทอดการสื่อสารแบบแปลงเสียงเป็นข้อความผ่าน TTRS Caption และบริการถ่ายทอดการสื่อสารแบบปรับปรุงเสียงพูดสำหรับคนไร้กล่องเสียงและ    ปากแหว่งเพดานโหว่ มีจำนวนสมาชิกที่ใช้งานรวม 47,721 คน และมีจำนวนครั้งการใช้บริการรวม 900,934 ครั้ง ทั้งนี้ศูนย์ TTRS เป็นกลไกหนึ่งภายใต้การจัดให้มีบริการโทรคมนาคมพื้นฐาน โดยทั่วถึงและบริการเพื่อสังคม สนับสนุนให้   คนพิการและผู้ด้อยโอกาสทางสังคม สามารถเข้าถึงบริการโทรคมนาคมพื้นฐานที่มีประสิทธิภาพ ช่วยสร้างผลกระทบ   เชิงสังคมมากกว่า 4,900 ล้านบาท 

PTEC มาตรฐาน ‘ห้องปฏิบัติการฯ ระดับอาเซียน’ 

ศูนย์ทดสอบผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (ศทอ.) หรือ PTEC สวทช. เป็นหน่วยงานบริการวิเคราะห์ทดสอบ ตรวจสอบ รับรองผลิตภัณฑ์ครบวงจร ที่มีการส่งเสริมการพัฒนาผลิตภัณฑ์ร่วมกับภาคธุรกิจเพื่อยกระดับอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ของประเทศ ด้วยบุคลากรมืออาชีพ ได้จัดตั้งห้องปฏิบัติการทดสอบแบตเตอรี่แพ็กขนาดกำลังไฟฟ้า 600 กิโลวัตต์ ได้ตามมาตรฐาน UN ECE R100 และมาตรฐานสากลอื่นๆ ปัจจุบัน บริษัท เดมเลอร์ ผู้ผลิตรถยนต์เบนซ์ ร่วมกับ บริษัท ธนบุรีประกอบรถยนต์ เป็นลูกค้ารายแรกของ PTEC โดย บริษัท เดมเลอร์ กำลังลงทุนก่อสร้างโรงงานประกอบแบตเตอรี่ในประเทศไทย ซึ่งจะเริ่มดำเนินการในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2562 และส่งแบตเตอรี่  มาทดสอบที่ สวทช. ในเดือนถัดไป ถือเป็นแห่งแรกในอาเซียนและเป็นแห่งที่ 4 ของโลก ต่อจากโรงงานแบตเตอรี่ในประเทศเยอรมนี ญี่ปุ่นและจีน นอกจากยานยนต์ไฟฟ้าแล้ว ยังมีผู้ประกอบการมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า รถโดยสารขนส่ง และแหล่งเก็บกักพลังงานอีกหลายรายสนใจ ถือได้ว่าเป็นก้าวแรกที่ประเทศไทยได้เข้าสู่อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้ายุคใหม่อย่างเป็นรูปธรรม ด้วยการมีโรงงานผลิต ห้องปฏิบัติการทดสอบ และรับรองและจำหน่ายในตลาดอย่างครบถ้วน 

PTEC ยังได้รับการขึ้นทะเบียนจาก ASEAN SECTORAL MRA ON ELECTRICAL AND ELECTRONIC EQUIPMENT (ASEAN EE MRA) เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา ให้เป็นห้องปฏิบัติการทดสอบผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ของอาเซียน โดยมีประเทศสมาชิกอาเซียนให้การยอมรับมากถึง 7 ประเทศ ได้แก่ บรูไน กัมพูชา อินโดนีเซีย มาเลเซีย เมียนมา สิงคโปร์ และเวียดนาม และได้รับการยอมรับให้เป็นห้องปฏิบัติการการทดสอบ EMC ซึ่งเป็นการทดสอบความคงทนต่อสัญญาณคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ตามมาตรฐานในประเทศและมาตรฐานสากล จากสถาบัน QUACERT ประเทศเวียดนามด้วย 

และในปีต่อไป สวทช. ก็มีแผนที่จะต่อยอดงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอื่นๆ อีกมาก ทั้งในงานวิจัยเพื่อสังคมและงานวิจัยเชิงพาณิชย์ ซึ่งจะแสดงให้นานาชาติเห็นว่า  “คนไทยไม่แพ้ชาติใดในโลก”