พลังของวัสดุแห่งอนาคต ในโลกยานยนต์

อัปเดตล่าสุด 5 มิ.ย. 2562
  • Share :
  • 2,411 Reads   

การปฏิวัติอุตสาหกรรมยานยนต์กำลังสร้างโอกาสให้แก่วงการวัสดุศาสตร์ จากการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีด้านวัสดุชนิดใหม่ขึ้นอย่างมากมาย อาทิ วัสดุอีลาสโตเมอร์ Milastomer พลาสติกกันความร้อนสำหรับใช้ผลิตพาเนลของยานยนต์ หรือ Super Engineering Plastic Film ใช้ผลิตฉนวนกันความร้อนสำหรับมอเตอร์ รวมถึงวิธีคิดและแนวทางในการพัฒนาวัสดุแห่งอนาคตที่แตกต่างไปจากเดิม โดยเฉพาะแนวคิด CASE จะส่งเสริมให้ความต้องการวัสดุประเภท Engineering Plastic เพิ่มขึ้นอีก 7-8% ซึ่งจะเป็นกุญแจสำคัญสู่การสร้างรายได้ใหม่ของธุรกิจเคมีภัณฑ์ 

 


Fumie Shibata ผู้ออกแบบผลิตภัณฑ์ชื่อดังของญี่ปุ่น

ดีไซน์คือจุดขาย

ในงาน “Automotive Engineering Exposition Yokohama 2019” ซึ่งจัดขึ้นที่ Pacifico Yokohama ภายในงานมีบริษัทด้านเคมีหลายรายร่วมออกบูธ ทั้งที่เป็นงานของอุตสาหกรรมยานยนต์

ภายในงาน Sumitomo Chemical ได้สร้างความแปลกใจให้แขกผู้เยี่ยมชม ด้วยการเชิญ Fumie Shibata ผู้ออกแบบผลิตภัณฑ์ชื่อดังของญี่ปุ่น ซึ่งฝากผลงานไว้กับโซฟาของ Muji, เครื่องใช้ไฟฟ้า, เครื่องเขียน, และโรงแรมหลายแห่งมาเป็นผู้ออกแบบบูธให้กับบริษัท โดยผู้รับผิดชอบจาก Sumitomo Chemical ชี้แจงว่า “อยากแสดงให้เห็นถึงการทดลองนำดีไซน์เนอร์ หรือผู้ที่ไม่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาวัสดุ มาเป็นส่วนหนึ่งของการออกแบบดู”

ภายในบูธ ได้จัดแสดงแบบจำลองเมืองแห่งอนาคต ผลิตภัณฑ์จากแก้วหลายรูปแบบ และแบบจำลองยานยนต์ที่นั่งเดียว ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นวัสดุใหม่ที่อยากนำเสนอให้ผู้เข้าชมทั้งสิ้น ยกตัวอย่างเช่น Photodiode อุปกรณ์เซมิคอนดักเตอร์ที่ตรวจจับ และแปลงแสงเป็นพลังงานไฟฟ้าได้ ซึ่งจะมีประโยชน์อย่างยิ่งในการนำไปพัฒนาระบบความปลอดภัยของยานยนต์ในอนาคต

พลาสติกที่อากาศผ่านได้


คอนเซ็ปท์การตกแต่งภายในยานยนต์จากบริษัท Asahi Kasei

Asahi Kasei เปิดตัว “AKXY POD” รูปแบบการตกแต่งภายในยานยนต์ภายใต้แนวคิด “ประสาทสัมผัสทั้ง 5” ออกแบบภายในยานยนต์ให้เป็นลูกผสมของสถานที่ทำงาน และที่พัก เพื่อยกระดับความสะดวกสบายของการโดยสารให้มากยิ่งขึ้น

โดย AKXY POD ถูกผลิตขึ้นด้วยวัสดุผ้าหนังนิ่มจากเส้นใยไมโครไฟเบอร์ เพื่อให้ได้ความรู้สึกหรูหรา ติดตั้งลำโพงคุณภาพสูงไว้ข้างที่นั่งผู้โดยสาร และพัฒนาอัลกอริทึมให้ได้ความรู้สึกเหมือนเครื่องเสียงคุณภาพ

แต่ที่โดดเด่นที่สุด คือแนวคิดระหว่างการพัฒนาอย่าง “ไม้สำหรับยานยนต์” และ “พลาสติกที่อากาศผ่านได้”
 ซึ่งแม้จะยังไม่ได้ริเริ่มการพัฒนาจริง แต่ก็เป้นแนวคิดที่สามารถเรียกความสนใจจากแขกได้เป็นอย่างมาก ยกระดับความอิสระในการออกแบบ และยังเป็นการดึงดูดผู้สนใจร่วมการพัฒนาอีกด้วย

ปรุงยังไงจึงจะอร่อย


ตัวอย่างจอสัมผัสที่ผลิตขึ้นจาก “Milastomer” ของ Mitsui Chemicals

Mitsui Chemicals แสดงความเห็นว่า นอกจากการพัฒนาวัสดุแล้ว สิ่งสำคัญคือต้องนำเสนอว่าวัสดุเหล่านั้นนำไปใช้พัฒนาอะไรได้บ้าง ไม่ใช่เอาไปทำอะไรได้บ้าง โดยเปรียบเทียบการนำเสนอนี้ว่าเหมือนกัน “แสดงให้ลูกค้าเห็นว่า อาหารนี้ต้องปรุงยังไงจึงจะอร่อย”

ยกตัวอย่างเช่น วัสดุ Elastomer “Milastomer” พลาสติกกันความร้อนสำหรับผลิตพาเนลยานยนต์นั้น Mitsui Chemicals ได้เสนอให้นำไปใช้ในการผลิตจอสัมผัส โดยอาศัยความอ่อนนุ่มของวัสดุให้เป็นประโยชน์ และสามารถผลิตได้ง่าย 

ส่วนMitsubishi Chemical Holdings (HD) มอบพื้นที่ส่วนหนึ่งของบูธให้กับวัสดุตามแนวคิด CASE โดยเฉพาะ พร้อมประกาศให้ความสำคัญกับแนวคิดนี้เป็นอย่างยิ่ง 

โดยทางบริษัท ได้ยกตัวอย่างการใช้ Super Engineering Plastic Film ในการผลิตฉนวนกันความร้อนสำหรับมอเตอร์ ใช้วัสดุที่ดูดซับคลื่นมิลลิเมตรได้ในการผลิตเรดาร์ขนาดเล็กสำหรับติดไว้ด้านหลังโลโก้ยานยนต์ และอื่น ๆ ซึ่งล้วนนำไปสู่อิสระในการออกแบบที่มีมากขึ้น โดยทางบริษัทคาดการณ์ว่า การมาของ CASE จะทำให้ความต้องการ  Engineering Plastic เพิ่มขึ้นอีก 7-8% 


CASE ช่องทางทำกำไรใหม่ของธุรกิจเคมีภัณฑ์

ปัจจุบัน อุตสาหกรรมเคมีเล็งเห็นแล้วว่า แนวคิด CASE ของอุตสาหกรรมยานยนต์ จะกลายเป็นกุญแจสำคัญสู่รายได้ในอนาคต โดย Fuji Chimera Research Institute คาดการณ์ว่า ในปี 2030 ตลาดแบตเตอรี่ไฟฟ้าทั่วโลกจะมีมูลค่าสูงกว่าในปี 2017 ถึง 3.6 เท่า และ 33% ของยอดขายรถทั่วโลกในปี 2040 จะเป็นยานยนต์อัตโนมัติระดับ 3 ขึ้นไป

ด้วยเหตุนี้เอง จึงมีความเป็นไปได้อย่างยิ่ง ที่ความต้องการวัสดุใหม่ที่มีความคงทน และน้ำหนักเบาจะเพิ่มขึ้นอน่างก้าวกระโดด เพื่อชดเชยกับเครื่องยนต์ และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ที่จะมีน้ำหนักมากขึ้น ส่งผลให้ผู้ผลิตหลายราย ตัดสินใจพัฒนาพลาสติก ที่มีคุณสมบัติเหมาะสมแก่การนำไปพัฒนายานยนต์ให้เป็นส่วนหนึ่งในแผนธุรกิจระยะกลางในช่วงปีนี้

อย่างไรก็ตาม แน่นอนว่าความเปลี่ยนแปลงจะต้องเกิดขึ้น ซึ่งนอกจากเทคโนโลยีแล้ว ซัพพลายเชน และงานต้นน้ำจะถูกสถานการณืบีบบังคับให้เปลี่ยนแปลงตามไปด้วย ซึ่งผู้ผลิต จำเป็นต้องปรับตัวให้ตามทันคลื่นลูกนี้ จึงจะสามารถจำหน่ายสินค้าที่ตรงกับความต้องการได้ในอนาคตถัดไป