โคบอท จุดกระแส สู่ยุค “หุ่นยนต์ทางการแพทย์”

อัปเดตล่าสุด 26 ก.พ. 2563
  • Share :
  • 1,643 Reads   

การผ่าตัดด้วยหุ่นยนต์ครั้งแรกเกิดขึ้นในปี 1985 หรือเมื่อ 35 ปีที่แล้ว ซึ่งเป็นที่รู้จักกันตามที่แพทย์เรียกว่าการผ่าตัดด้วยการส่องกล้อง อย่างไรก็ตาม International Federation of Robotics (IFR) เปิดเผยว่า “ยุคของหุ่นยนต์ทางการแพทย์” ได้เริ่มต้นขึ้นอย่างจริงจังแล้ว และเทคโนโลยีที่จะเป็นตัวจุดกระแสนี้ก็คือ “โคบอท” (Cobot: Collaborative Robot) ที่มีความแม่นยำ และทำงานร่วมกับมนุษย์ได้อย่างปลอดภัย  ด้วยจุดเด่นนี้เองที่ทำให้โคบอทจะถูกนำไปใช้อย่างแพร่หลายทั้งในห้องผ่าตัด ห้องแลปปฏิบัติการ ห้องจ่ายยา รวมถึงศูนย์ดูแลสุขภาพต่าง ๆ ในอุตสาหกรรมการแพทย์

หนึ่งในสมาชิกของ IFR บริษัท Advanced Osteotomy Tools AG (AOT) จากสวิตเซอร์แลนด์ ได้แนะนำโคบอททางการแพทย์ ชื่อว่า “CARLO” ซึ่งมาจาก Cold Ablation, Robot-guided Laser Osteotome หุ่นยนต์สำหรับงานทำลายผิวกระดูกด้วยเลเซอร์ (Laser Ablation) ซึ่งเป็นหุ่นยนต์รุ่นแรกที่ถูกใช้ในการศัลยกรรมกระดูก และอยู่ระหว่างการขอใบรับรองเป็นเครื่องมือแพทย์ 

ศาสตราจารย์ Hans-Florian Zeilhofer หัวหน้าแผนกศัลยกรรมช่องปากและใบหน้าขากรรไกรจาก University Hospital of Basel และ Canton Hospital Aarau แสดงความเห็นว่า “หุ่นยนต์ทางการแพทย์ มีเซนเซอร์ที่แม่นยำ และมีความละเอียดสูงกว่าการทำงานด้วยสายตามาก ในกรณีที่เกิดความผิดพลาดก็สามารถหยุดการทำงานได้รวดเร็วกว่ามนุษย์อีกด้วย เพื่อให้ทีมแพทย์เข้าตรวจสอบข้อผิดพลาดจนแล้วเสร็จ หุ่นยนต์ก็สามารถทำงานต่อจากที่ค้างไว้ได้ในทัทีที่ได้รับคำสั่ง อย่างไรก็ตาม หุ่นยนต์จะไม่ได้เข้ามาเป็นระบบอัตโนมัติในห้องพยาบาล แต่จะทำหน้าที่เปรียบเสมือนเป็นผู้ช่วยแพทย์มากกว่า”

การพัฒนาหุ่นยนต์ให้ใช้งานทางการแพทย์ได้นั้น สิ่งที่สำคัญที่สุดคือความแม่นยำของหุ่นยนต์ ซึ่งต้องทำงานตามคำสั่งได้ในระดับมิลลิเมตร และมีระบบนำร่องที่แม่นยำ ซึ่ง AOT ได้รับความร่วมมือจาก KUKA ในการพัฒนาระบบโคบอทนี้ ดร. Alfredo E. Bruno หัวหน้าฝ่ายวิทยาการ และเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท AOT กล่าวว่า “เป้าหมายในการพัฒนา คือการยกระดับการศัลยกรรมกระดูก เปลี่ยนจากการใช้เครื่องมือตัด เป็นการใช้เลเซอร์”

CARLO ทำงานโดยอาศัยข้อมูลจากทีมแพทย์ และ CT Scan โดยศัลยแพทย์จะสั่งการหุ่นยนต์ผ่านแอปพลิเคชันที่ถูกพัฒนาขึ้น จากนั้น CARLO จะทำงานตามขั้นตอนที่ถูกสั่งการ ในกรณีที่เกิดความผิดพลาด แพทย์สามารถหยุดการทำงานของหุ่นยนต์ได้โดยง่ายเพียงแค่แตะที่แขนหุ่นยนต์ โดยโคบอทรุ่นนี้ถูกออกแบบให้มีน้ำหนักเบา โค้งมนเพื่อให้ปลอดภัยเมื่อเคลื่อนที่ชนกับมนุษย์ CARLO มีแกนทั้งหมด 7 แกน ซึ่งทุกแกนล้วนติดตั้งเซนเซอร์ เพื่อให้สามารถหยุดการทำงานได้ในทันทีที่ต้องการ และสามารถติดตั้งในห้องพยาบาลได้โดยสะดวก 

 

IFR แสดงความเห็นว่าเทคโนโลยีนี้ยังอยู่ระหว่างการขอใบรับรองเป็นเครื่องมือแพทย์ และยังคงต้องใช้เวลาอีกมากกว่าจะแล้วเสร็จ สืบเนื่องจาก CARLO เป็นหุ่นยนต์รุ่นแรกที่ถูกใช้ในการศัลยกรรมกระดูก ทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจำเป็นต้องศึกษา และออกแบบข้อกำหนดด้านความปลอดภัยเพิ่มอีกมาก อย่างไรก็ตาม ในช่วงเวลาเดียวกันนี้ AOT ได้เดินหน้าพัฒนาโคบอทรุ่นถัดไป เพื่อรองรับความต้องการในอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต ซึ่งเป็นผลจากระดับความแม่นยำที่สูงกว่ากระบวนการทำงานโดยมนุษย์ที่ผ่านมา