สมาร์ทซิตี้-เมืองอัจฉริยะ กระตุ้นธุรกิจอุตสาหกรรมใดใน ASEAN บ้าง?

อัปเดตล่าสุด 8 มี.ค. 2563
  • Share :
  • 1,771 Reads   

หากพูดถึง "สมาร์ทซิตี้-เมืองอัจฉริยะ" แล้ว ธุรกิจอุตสาหกรรมที่จะได้ประโยชน์อันดับต้น ๆ ก็คือ IoT, ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence: AI), และ Big Data ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่สมาร์ทซิตี้ (Smart City) ขาดไม่ได้ อย่างไรก็ตาม โอกาสทางธุรกิจของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมไม่ได้จำกัดอยู่ที่ผู้มีเทคโนโลยีก้าวหน้าเหล่านี้ แต่รวมไปถึงธุรกิจอื่น ๆ ด้วย

เมื่อต้นเดือนตุลาคม รัฐบาลญี่ปุ่น ได้ก่อตั้ง Japan Association for Smart Cities in ASEAN (JASCA) ขึ้น เพื่อส่งเสริมการพัฒนา Smart City ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยประเทศสมาชิกสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรืออาเซียน (Association of Southeast Asian Nations: ASEAN) ถูกคาดการณ์ว่า จะมีประชากรอัตราส่วน 2 ใน 3 ของประเทศ อาศัยอยู่ในเขตตัวเมือง และจะนำมาซึ่งปัญหาต่าง ๆ ทั้งการจราจร มลภาวะ และความไม่เสมอภาค ด้วยเหตุนี้เอง ญี่ปุ่นจึงคาดการณ์ว่า จะเกิดการเติบโตในธุรกิจการพัฒนาผังเมือง และโครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะเทคโนโลยีด้านความปลอดภัย

เหตุผลข้อถัดมาคือความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership: RCEP) ที่เกิดขึ้นเมื่อครั้งสหรัฐอเมริกาถอนตัวจากข้อตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (Trans-Pacific Partnership: TPP) ซึ่งหากการรวมตัวกันของอาเซียนบวก 6 (ASEAN +6) ซึ่งประกอบด้วยประเทศสมาชิกอาเซียน และญี่ปุ่น จีน เกาหลีใต้ อินเดีย ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์เกิดขึ้นแล้ว จะทำให้ 16 ประเทศสมาชิก มีประชากรรวมแล้วเท่ากับ 50% ของประชากรโลก และมี GDP รวมอยู่ที่ 30% ของทั้งโลก

ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาคมีกำหนดบรรลุข้อตกลงภายในเดือนพฤศจิกายนนี้ ซึ่งจะลดข้อจำกัดของซัพพลายเชน และธุรกิจข้ามชาติเป็นอย่างมาก โดยผู้บริหารกระทรวงขนส่งภาคพื้นดิน โครงสร้างพื้นฐานและการท่องเที่ยวประเทศญี่ปุ่น แสดงความเห็นว่า “ข้อตกลงนี้ เป็นโอกาสทางธุรกิจที่ดี โดยเฉพาะธุรกิจมาร์ทซิตี้, สิ่งแวดล้อม, การแพทย์, และการคมนาคม”

ASEAN – Japan Smart Cities Network High Level Meeting

ภายในการประชุม ASEAN – Japan Smart Cities Network High Level Meeting ตัวแทนจากประเทศสมาชิก มีมติว่า การร่วมมือในครั้งนี้ จะให้ความสำคัญกับการชลประทาน, การพัฒนาผังเมือง, การคมนาคม, Smart Life, สิ่งแวดล้อม, การกำจัดของเสีย, และความปลอดภัย ซึ่งหัวข้อเหล่านี้เอง ที่จะนำมาซึ่งโอกาสทางธุรกิจอุตสาหกรรมให้กับผู้มีเทคโนโลยี หรือโซลูชันที่เกี่ยวข้อง

ภายในการประชุม รัฐบาลญี่ปุ่น และมาเลเซีย ได้ร่วมลงนามบันทึกความตกลงระหว่างสถาบันการเงินทั้ง 2 ประเทศ และ Urban Renaissance Agency (UR) ได้ประกาศความร่วมมือกับภาครัฐ และเอกชนไทยรวมทั้งสิ้น 8 รายการ เช่น การรถไฟแห่งประเทศไทย

ส่วนในด้านการพัฒนานั้น แต่ละประเทศได้ให้ความสำคัญต่างกันออกไป เช่น สิงคโปร์ และไทย ให้ความสำคัญกับการพัฒนาโครงการด้าน IT เป็นหลัก โดย Japan International Cooperation Agency (JICA) ได้เตรียมเข้าสนับสนุนการพัฒนาพื้นที่ชุมทางกลางบางซื่อให้เป็น Smart City หลังจากปี 2021 และได้ตั้งเป้าให้พัฒนาเป็น สมาร์ทซิตี้-เมืองอัจฉริยะ ที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน

เริ่มจากปัญหา

นอกจากการพัฒนาเทคโนโลยีแล้ว การแก้ปัญหา ก็เป็นอีกสิ่งที่ถูกจับตามอง ยกตัวอย่างเช่นปัญหาน้ำดื่มของเมียนมา ปัญหาน้ำท่วมฉับพลันซึ่งไม่สามารถป้องกันได้ด้วยเขื่อนของมาเลเซีย และปัญหาการเข้าถึงของการแพทย์ในอินโดนีเซีย ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นปัจจัยพื้นฐานที่จำเป็นต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน

Mr. Takuya Kurita ที่ปรึกษากระทรวงคมนาคมประเทศญี่ปุ่น แสดงความเห็นว่า “การวางแนวทางให้ชัดเจนจำเป็นต้องใช้เวลา ดังนั้นจึงต้องเริ่มจากการรับฟังปัญหาของแต่ละเมืองเสียก่อน” 

นอกจากนี้ อีกสิ่งหนึ่งที่ขาดไม่ได้ในการพัฒนาสมาร์ทซิตี้-เมืองอัจฉริยะ ก็คือโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งญี่ปุ่น ได้แสดงความเห็นว่า การเติบโตของโครงสร้างพื้นฐานในอาเซียนมีศักยภาพสูงกว่าในญี่ปุ่นมาก สืบเนื่องจากประเทศสมาชิกเป็นประเทศกำลังพัฒนา จึงมีความเป็นไปได้ในการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้มากกว่าประเทศพัฒนาแล้ว พร้อมคาดการณ์ว่าการศึกษาข้อมูลเพื่อหาเทคโนโลยีที่เหมาะสม และตอบโจทย์ความต้องการของประชาชนได้ จะนำมาซึ่งผลลัพธ์ที่ดีต่อธุรกิจที่เกี่ยวข้องอย่างแน่นอน