ดัชนีความเชื่อมั่นอุตฯ ก.พ. 67 ปรับตัวลดลงอยู่ที่ 90.0 โดนหนี้ครัวเรือนฉุด ส่งออกชะลอตัว

ดัชนีความเชื่อมั่นอุตฯ ก.พ. 67 ปรับตัวลดลงอยู่ที่ 90.0 โดนหนี้ครัวเรือนฉุด ส่งออกชะลอตัว

อัปเดตล่าสุด 13 มี.ค. 2567
  • Share :
  • 1,173 Reads   

นายอิศเรศ รัตนดิลก ณ ภูเก็ต รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และนายพิตติพัตน์  มั่นบุปผชาติ รองเลขาธิการสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ร่วมเปิดเผยผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนกุมภาพันธ์ 2567 อยู่ที่ระดับ 90.0 ปรับตัวลดลงเล็กน้อย จาก 90.6 ในเดือนมกราคม 2567 ทั้งนี้เมื่อพิจารณาองค์ประกอบของดัชนีฯ พบว่ายอดขายโดยรวม คำสั่งซื้อโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ ปรับตัวลดลงจากเดือนก่อนหน้า โดยมีปัจจัยลบจากอุปสงค์ในประเทศที่ชะลอตัวลงจากเดือนก่อนหน้า เนื่องจากความกังวลเกี่ยวกับค่าครองชีพและปัญหาหนี้ครัวเรือน ส่งผลให้ประชาชนระมัดระวังการใช้จ่าย ด้านการส่งออกยังคงชะลอตัว เนื่องจากสภาวะเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าที่ยังอ่อนแอ โดยเฉพาะจีนและญี่ปุ่น ประกอบกับปัญหาความขัดแย้งบริเวณทะเลแดง ยังคงยืดเยื้อส่งผลกระทบต่อการนำเข้า-ส่งออกของไทยโดยเฉพาะตลาดยุโรปและตะวันออกกลาง นอกจากนี้ผู้ประกอบการยังเผชิญปัญหาการแข่งขันด้านการตลาดสูงขึ้น รวมถึงได้รับผลกระทบจากสินค้าราคาถูกที่ไม่ได้มาตรฐานจากต่างประเทศ ส่งผลให้ยอดขายสินค้าของผู้ประกอบการไทยลดลง ขณะที่ต้นทุนด้านราคาพลังงานปรับตัวสูงขึ้น

อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยบวกจากภาคการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวต่อเนื่อง และผลจากมาตรการยกเว้นวีซ่าฟรี (Visa Free) ให้กับนักท่องเที่ยวจีน คาซัคสถาน อินเดียและไต้หวัน รวมถึงมาตรการ Easy E-Receipt ช่วยกระตุ้นการใช้จ่ายในประเทศ (ช่วงวันที่ 1 มกราคม - 15 กุมภาพันธ์ 2567) และมาตรการตรึงราคาน้ำมันดีเซลไม่เกิน 30 บาทต่อลิตร ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2567 ส่งผลดีต่อภาคธุรกิจ

จากการสำรวจผู้ประกอบการ 1,316 ราย ครอบคลุม 46 กลุ่มอุตสาหกรรมของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ในเดือนกุมภาพันธ์ 2567 พบว่าปัจจัยที่ผู้ประกอบการมีความกังวลเพิ่มขึ้น ได้แก่ เศรษฐกิจโลก ร้อยละ 85.1 อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ ร้อยละ 74.3 ราคาน้ำมัน ร้อยละ 53.7 เศรษฐกิจในประเทศ ร้อยละ 48.5 ตามลำดับ ปัจจัยที่มีความกังวลลดลง ได้แก่ อัตราแลกเปลี่ยน (มุมมองผู้ส่งออก) โดยอัตราแลกเปลี่ยนอ้างอิงค่าเงินบาทเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ ร้อยละ 38.0 สถานการณ์การเมืองในประเทศ ร้อยละ 31.2 ตามลำดับ

ขณะที่ดัชนีฯคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 100.0 ปรับตัวเพิ่มขึ้น จาก 98.4 ในเดือนมกราคม 2567 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากมาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวของภาครัฐ ช่วยกระตุ้นการใช้จ่ายและการบริโภคในประเทศ ขณะที่การใช้จ่ายภาครัฐ ที่จะเพิ่มขึ้นในช่วงไตรมาส 2 ปี 2567 หลังจากพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่าย ประจำปีงบประมาณ 2567 ได้รับอนุมัติ แต่อย่างไรก็ตามยังมีปัจจัยที่ต้องติดตาม ได้แก่ ความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลกที่เพิ่มขึ้นจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน และความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออก ขณะที่สถานการณ์ภัยแล้งจากปรากฏการณ์เอลนีโญ (El Niño) อาจส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมที่ใช้วัตถุดิบในภาคเกษตรและปริมาณน้ำในภาคอุตสาหกรรม

ข้อเสนอแนะต่อภาครัฐ
1.  ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม เพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายและการบริโภคในประเทศ โดยเฉพาะมาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยว
2.  เสนอให้ภาครัฐต่ออายุมาตรการลดภาระค่าใช้จ่ายด้านน้ำมันเชื้อเพลิง โดยตรึงราคาน้ำมันดีเซล ไม่เกิน 30 บาทต่อลิตร และตรึงราคาก๊าซหุงต้มที่ราคา 423 บาทต่อถังขนาด 15 กิโลกรัม ซึ่งจะสิ้นสุดในวันที่ 31 มีนาคม 2567
3.  สนับสนุนให้ผู้ประกอบการ SMEs เข้าถึงการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐให้มากขึ้น เพื่อเพิ่มสัดส่วน การจัดซื้อจัดจ้างผู้ประกอบการ SMEs เป็นไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ของงบประมาณจัดซื้อจัดจ้าง  โดยเฉพาะในหน่วยงานปกครองส่วนท้องถิ่น

 

บทความยอดนิยม 10 อันดับ

 

อัปเดตข่าวทุกวันที่นี่ www.mreport.co.th   

Line / Facebook / Twitter / YouTube @MreportTH