ส่งออกไทย 2565 เดือนกุมภาพันธ์

ส่งออกไทย 2565 เดือน ก.พ. ขยายตัว 16% เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

อัปเดตล่าสุด 25 มี.ค. 2565
  • Share :
  • 985 Reads   

สถานการณ์ส่งออกในเดือนกุมภาพันธ์ 2565 ไทยยังคงรักษาตัวเลขส่งออกเหนือระดับ 2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 12 ที่ตัวเลข 16.2% เมี่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน

เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2565 นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผย ตัวเลขการส่งออกเดือนกุมภาพันธ์ 2565 มีมูลค่า 23,483.1 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็น 770,819 ล้านบาท ขยายตัว 16.2% เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน โดยการส่งออกของไทยขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 12 ซึ่งสอดคล้องกับการส่งออกของหลายประเทศในภูมิภาคเอเชีย เนื่องจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าหลักทั่วโลกอยู่ในทิศทางฟื้นตัวต่อเนื่องทั้งภาคการผลิต และภาคการบริโภค สะท้อนจากดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตโลก (Global Manufacturing PMI) ที่อยู่เหนือระดับ 50 ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 20

ทั้งนี้ แม้จะมีการแพร่ระบาดของไวรัสสายพันธุ์โอมิครอน แต่ระบบสาธารณสุขของแต่ละประเทศยังสามารถรับมือการระบาดได้ดีโดยเฉพาะมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดในภาคอุตสาหกรรมของไทยที่มีประสิทธิภาพ ส่งผลให้ภาคการผลิตเพื่อการส่งออกไม่หยุดชะงัก และยังสร้างรายได้เข้าประเทศอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี ยังมีความไม่แน่นอนจากสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่อาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้า จึงต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดต่อไป

สรุปมูลค่าการค้ารวม

มูลค่าการค้าในรูปเงินดอลลาร์สหรัฐ เดือนกุมภาพันธ์ 2565 การส่งออก มีมูลค่า23,483.1ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 16.2 เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน การนำเข้า มีมูลค่า 23,359.8 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 16.8 ดุลการค้าเกินดุล 123.3 ล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่ภาพรวมการส่งออก 2 เดือนแรกของปี 2565 (มกราคม-กุมภาพันธ์) การส่งออก มีมูลค่า 44,741.7 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 12.2 การนำเข้า มีมูลค่า 47,144.8 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 18.7 ดุลการค้า 2 เดือนแรก ขาดดุล 2,403.1 ล้านเหรียญสหรัฐ

ตลาดส่งออกสำคัญ

การส่งออกไปยังตลาดสำคัญส่วนใหญ่ขยายตัวต่อเนื่อง เช่นเดียวกับการส่งออกไปทวีปออสเตรเลีย และทวีปแอฟริกาที่ปรับดีขึ้น โดยหดตัวในอัตราที่ชะลอลงจากเดือนก่อน ด้วยอานิสงส์จากแนวโน้มการฟื้นตัวต่อเนื่องของเศรษฐกิจและการค้าโลกที่ทำให้มีความต้องการซื้อจากประเทศคู่ค่าเพิ่มขึ้น

ภาพรวมการส่งออกไปกลุ่มตลาดต่าง ๆ สรุป ดังนี้ 1) ตลาดหลัก ขยายตัวร้อยละ 15.8 โดยขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ ร้อยละ 27.2 จีน ร้อยละ 3.0 ญี่ปุ่น ร้อยละ 2.6 อาเซียน (5) ร้อยละ 31.5 CLMV ร้อยละ 14.4 และสหภาพยุโรป (27) ร้อยละ 8.3 2) ตลาดรอง ขยายตัวร้อยละ 12.2 ขยายตัวในตลาดเอเชียใต้ร้อยละ 14.2 ตะวันออกกลาง ร้อยละ 13.8 ลาตินอเมริกา ร้อยละ 8.2 และรัสเซียและกลุ่มประเทศ CIS ร้อยละ 23.0 ขณะที่ทวีปออสเตรเลียและทวีปแอฟริกา หดตัวร้อยละ 2.5และร้อยละ 0.8 ตามล าดับ และ 3) ตลาดอื่น ๆ ขยายตัวร้อยละ 260.8

ทั้งนี้ กรมศุลกากรมีการปรับปรุงรหัสสถิติสินค้าตามพิกัดศุลกากรเพื่อให้สอดคล้องกับพิกัดศุลกากร ระบบฮาร์โมไนซ์อาเซียน (AHTN) ฉบับปี 2022 ทำให้โครงสร้างหรือจำนวนรายการสินค้าส่งออก-นำเข้ามีการเปลี่ยนแปลง ซึ่งในขณะนี้การจัดกลุ่มสินค้าตามโครงสร้างสินค้าของกระทรวงพาณิชย์อยู่ระหว่างปรับให้สอดคล้องกับรหัสสถิติสินค้าระบบพิกัดศุลกากรฉบับปัจจุบัน โดยจะสามารถเผยแพร่ข้อมูลการค้าระหว่างประเทศได้อย่างสมบูรณ์ในไตรมาสแรกของปี 2565

 

 

 

บทความยอดนิยม 10 อันดับ

 

อัปเดตข่าวทุกวันที่นี่ www.mreport.co.th   

Line / Facebook / Twitter / YouTube @MreportTH