ส่งออกไทย 2565 เดือนตุลาคม (ต.ค.) กระทรวงพาณิชย์

ส่งออกไทย 2565 เดือน ต.ค. หดตัว 4.4% ครั้งแรกในรอบ 20 เดือน

อัปเดตล่าสุด 29 พ.ย. 2565
  • Share :
  • 1,353 Reads   

สถานการณ์ส่งออกในเดือนตุลาคม 2565 ไทยทำตัวเลขส่งออกอยู่ที่ระดับ 2.1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัว 4.4% เมี่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน โดยลดลงครั้งแรกในรอบ 20 เดือน สาเหตุสำคัญจากอุปสงค์ของประเทศคู่ค้าชะลอลง แต่สินค้าอุตสาหกรรมอย่างรถยนต์ เครื่องปรับอากาศ และกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ อุปกรณ์กึ่งตัวนำ ทรานซิสเตอร์ และไดโอด ยังคงขยายตัวได้ดี

วันที่ 28 พฤศจิกายน 2565 นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผย ตัวเลขการส่งออกเดือนตุลาคม 2565 มีมูลค่า 21,772.4 ล้านเหรียญสหรัฐ (801,273 ล้านบาท) หดตัวร้อยละ 4.4 หากหักสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ และยุทธปัจจัย หดตัวร้อยละ 2.8 เหตุจากอุปสงค์ของประเทศคู่ค้าชะลอลงจากการใช้นโยบายการเงินที่ตึงตัวเพื่อควบคุมอัตราเงินเฟ้อทั่วโลกที่อยู่ในระดับสูง ส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อและกิจกรรมทางเศรษฐกิจของผู้บริโภค

โดยภาคการผลิตของโลกชะลอลงต่อเนื่องสะท้อนจากดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อของโลกที่ต่ำกว่าระดับ 50 โดยเฉพาะตลาดสหภาพยุโรปที่ขาดแคลนพลังงานอย่างรุนแรง และตลาดจีนที่ยังคงใช้มาตรการโควิดเป็นศูนย์เพื่อควบคุมการระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้การส่งออกสินค้าในหลายหมวดชะลอตัวลง

อย่างไรก็ดี การส่งออกยังมีปัจจัยบวกจากภาวะเงินบาทอ่อนค่า และค่าระวางเรือที่เริ่มปรับเข้าสู่สมดุล ทั้งนี้ การส่งออกไทย 10 เดือนแรกยังขยายตัวได้ที่ร้อยละ 9.1 และเมื่อหักสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ และยุทธปัจจัย ขยายตัวร้อยละ 7.4

สรุปมูลค่าการค้ารวม

มูลค่าการค้าในรูปเงินดอลลาร์สหรัฐ เดือนตุลาคม 2565 การส่งออก มีมูลค่า 21,772.4 ล้านเหรียญสหรัฐ หดตัวร้อยละ 4.4 เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน การนำเข้า มีมูลค่า 22,368.8 ล้านเหรียญสหรัฐ หดตัวร้อยละ 2.1 ดุลการค้า ขาดดุล 596.4 ล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่ภาพรวม 10 เดือนแรกของปี2565 (มกราคม - ตุลาคม) การส่งออก มีมูลค่า 243,138.5 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 9.1 การนำเข้า มีมูลค่า 258,719.8 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 18.3 ดุลการค้า ขาดดุล 15,581.3 ล้านเหรียญสหรัฐ

การส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร

มูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร ขยายตัวร้อยละ 1.8 (YoY) ขยายตัวต่อเนื่อง 22 เดือน โดยสินค้าสำคัญที่ขยายตัวดี ได้แก่ ข้าว ขยายตัวร้อยละ 2.8 ขยายตัวต่อเนื่อง 9 เดือน (ขยายตัวในตลาดอิรัก จีน แอฟริกาใต้เซเนกัล และญี่ปุ่น) ไก่สด แช่เย็น แช่แข็ง และไก่แปรรูป ขยายตัวร้อยละ 38.0 ขยายตัวต่อเนื่อง 6 เดือน (ขยายตัวในตลาดญี่ปุ่น สหราชอาณาจักร จีน เนเธอร์แลนด์ และมาเลเซีย) ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ขยายตัวร้อยละ 26.3 (ขยายตัวในตลาดจีน ไต้หวัน มาเลเซีย เกาหลีใต้ และอินโดนีเซีย) อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป ขยายตัวร้อยละ 0.9 ขยายตัวต่อเนื่อง 9 เดือน (ขยายตัวในตลาดญี่ปุ่น ออสเตรเลีย ซาอุดีอาระเบีย ลิเบีย และเกาหลีใต้) อาหารสัตว์เลี้ยง ขยายตัวร้อยละ 4.8 ขยายตัวต่อเนื่อง 38 เดือน (ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ ออสเตรเลีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม และเยอรมนี) เครื่องดื่ม ขยายตัวร้อยละ 20.3 ขยายตัวต่อเนื่อง 4 เดือน (ขยายตัวในตลาดเวียดนาม เมียนมา สิงคโปร์ จีน และมาเลเซีย) ทุเรียนแช่แข็ง ขยายตัวร้อยละ 23.4 ขยายตัวต่อเนื่อง 2 เดือน (ขยายตัวในตลาดจีน) ไอศกรีม ขยายตัวร้อยละ 13.5 ขยายตัวต่อเนื่อง 29 เดือน (ขยายตัวในตลาดกัมพูชา เกาหลีใต้ เวียดนาม ออสเตรเลีย และฟิลิปปินส์) กล้วยไม้ขยายตัวร้อยละ 10.9 ขยายตัวต่อเนื่อง 20 เดือน (ขยายตัวในตลาดเวียดนาม สหรัฐฯ อิตาลี บราซิล และเกาหลีใต้)

สินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ ยางพารา หดตัวร้อยละ 28.5 หดตัวต่อเนื่อง 3 เดือน (หดตัวในตลาดจีน มาเลเซีย สหรัฐฯ ตุรกี และอินเดีย แต่ขยายตัวในตลาดเกาหลีใต้ ญี่ปุ่น เยอรมนี โรมาเนีย และโปแลนด์) ผลไม้สดและผลไม้แห้ง หดตัวร้อยละ 34.9 หดตัวต่อเนื่อง 4 เดือน (หดตัวในตลาดจีน อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฮ่องกง และสหรัฐฯ แต่ขยายตัวในตลาดฟิลิปปินส์ เนเธอร์แลนด์ ซาอุดีอาระเบีย กาตาร์ และออสเตรเลีย) ผลไม้กระป๋องและแปรรูป หดตัวร้อยละ 11.3 หดตัวในรอบ 18 เดือน (หดตัวในตลาดสหรัฐฯ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย เนเธอร์แลนด์ และกัมพูชา แต่ขยายตัวในตลาดจีน รัสเซีย ไต้หวัน เกาหลีใต้ และเมียนมา) ทั้งนี้ 10 เดือนแรกของปี 2565 การส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร ขยายตัวร้อยละ 12.0 (YoY)

การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม

มูลค่าการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม หดตัวร้อยละ 3.5 (YoY) หดตัวในรอบ 20 เดือน แต่ยังมีสินค้าสำคัญที่ขยายตัวดี อาทิ รถยนต์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ ขยายตัวร้อยละ 5.1 ขยายตัวต่อเนื่อง 3 เดือน (ขยายตัวในตลาดออสเตรเลีย เวียดนาม อินโดนีเซีย ซาอุดีอาระเบีย และนิวซีแลนด์) อัญมณีและเครื่องประดับ (ไม่รวมทองคำ) ขยายตัวร้อยละ 5.4 ขยายตัวต่อเนื่อง 20 เดือน (ขยายตัวในตลาดฮ่องกง สวิตเซอร์แลนด์ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เบลเยียม ญี่ปุ่น) เครื่องโทรสาร โทรศัพท์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ขยายตัวร้อยละ 90.6 ขยายตัวต่อเนื่อง 12 เดือน (ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ ญี่ปุ่น สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ฮ่องกง และเนเธอร์แลนด์) เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ ขยายตัวร้อยละ 8.5 ขยายตัวต่อเนื่อง 5 เดือน (ขยายตัวในตลาดออสเตรเลีย เวียดนาม ไต้หวัน สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และฝรั่งเศส) อุปกรณ์กึ่งตัวนำ ทรานซิสเตอร์ และไดโอด ขยายตัวร้อยละ 74.9 ขยายตัวต่อเนื่อง 4 เดือน (ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ เวียดนาม อินเดีย จีน และไต้หวัน) รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ ขยายตัวร้อยละ 14.9 ขยายตัวต่อเนื่อง 3 เดือน (ขยายตัวในตลาดจีน สหรัฐฯ กัมพูชา เบลเยียม และออสเตรเลีย)

สินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ สินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับนำมัน หดตัวร้อยละ 22.8 หดตัวต่อเนื่อง 3 เดือน (หดตัวในตลาดจีน เวียดนาม อินเดีย มาเลเซีย และกัมพูชา แต่ขยายตัวในตลาดลาว) เครื่องคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์หดตัวร้อยละ 27.4 กลับมาหดตัวในรอบ 3 เดือน (หดตัวในตลาดสหรัฐฯ ฮ่องกง เนเธอร์แลนด์ ญี่ปุ่น และสิงคโปร์ แต่ขยายตัวในตลาดจีน ไต้หวัน ไอร์แลนด์ อินเดีย และออสเตรเลีย) เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ หดตัวร้อยละ 13.1 หดตัวต่อเนื่อง 2 เดือน (หดตัวในตลาดญี่ปุ่น อินโดนีเซีย อินเดีย เวียดนาม และจีน แต่ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ มาเลเซีย แคนาดา ลาว และกัมพูชา) ทั้งนี้ 10 เดือนแรกของปี 2565 การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม ขยายตัวร้อยละ 7.8 (YoY)

ตลาดส่งออกสำคัญ

การส่งออกไปยังตลาดสำคัญส่วนใหญ่หดตัว ตามอุปสงค์จากประเทศคู่ค้าที่ปรับตัวลดลง ซึ่งสอดคล้องกับทิศทางการชะลอตัวของเศรษฐกิจและการค้าโลก

ทั้งนี้ ภาพรวมการส่งออกไปยังกลุ่มตลาดต่าง ๆ สรุปได้ดังนี้ (1) ตลาดหลัก หดตัวร้อยละ 4.5 โดยหดตัวในตลาดสหรัฐฯ ร้อยละ 0.9 จีนร้อยละ 8.5 ญี่ปุ่น ร้อยละ 3.1 อาเซียน (5) ร้อยละ 13.1 สหภาพยุโรป (27) ร้อยละ 9.8 ขณะที่ CLMV ขยายตัวร้อยละ 10.6 (2) ตลาดรอง หดตัวร้อยละ 5.7 โดยหดตัวในตลาดเอเชียใต้ร้อยละ 21.8 ทวีปแอฟริกา ร้อยละ 22.5 ลาตินอเมริกา ร้อยละ 5.0 รัสเซียและกลุ่ม CIS ร้อยละ 62.9 ขณะที่ทวีปออสเตรเลียและตะวันออกกลาง ขยายตัวร้อยละ 18.8 และร้อยละ 22.4 ตามลำดับ (3) ตลาดอื่น ๆ ขยายตัวร้อยละ 51.7 อาทิ สวิตเซอร์แลนด์ ขยายตัวร้อยละ 103.5

 

แนวโน้มการส่งออกระยะถัดไป

สำหรับแนวโน้มการส่งออกระยะถัดไป กระทรวงพาณิชย์ประเมินว่า การส่งออกของไทยยังสามารถบรรลุกรอบเป้าหมายที่วางไว้ โดยมีปัจจัยหนุนจากต้นทุนด้านพลังงานที่เริ่มลดลง ค่าระวางเรือขนส่งสินค้าที่เข้าสู่สมดุล อุปทานชิปประมวลผลที่มีมากขึ้นเพียงพอต่อการผลิตสินค้าเทคโนโลยีเพื่อการส่งออก การขยายตัวของนักท่องเที่ยวต่างชาติในไทยที่ส่งผลดีต่อมูลค่าการส่งออกสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว และเงินบาทที่ยังอ่อนค่าเมื่อเทียบกับคู่ค้าหลักของไทย

อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยเสี่ยงจากการหดตัวของอุปสงค์ในคู่ค้าสำคัญ ความไม่แน่นอนที่เกิดจากนโยบายการค้าของสหรัฐฯ และจีน รวมไปถึงความไม่สงบในยูเครนที่ยังคงอยู่ เป็นปัจจัยเฝ้าระวังที่กระทรวงพาณิชย์ต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดต่อไป

 

บทความยอดนิยม 10 อันดับ

 

อัปเดตข่าวทุกวันที่นี่ www.mreport.co.th   

Line / Facebook / Twitter / YouTube @MreportTH