ส่งออกไทย 2565 เดือนกรกฎาคม (ก.ค.)

ส่งออกไทย 2565 เดือน ก.ค. ขยายตัว 4.3% จากช่วงเดียวกันปีก่อน

อัปเดตล่าสุด 26 ส.ค. 2565
  • Share :
  • 2,080 Reads   

สถานการณ์ส่งออกในเดือนกรกฎาคม 2565 ไทยทำตัวเลขส่งออกได้อยู่เหนือระดับ 2.3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวต่อเนื่องเดือนที่ 17 ที่ตัวเลข 4.3% เมี่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน

วันที่ 26 สิงหาคม 2565 นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผย ตัวเลขการส่งออกเดือนกรกฎาคม 2565 มีมูลค่า 23,629.3 ล้านเหรียญสหรัฐ (829,029 ล้านบาท) ขยายตัวร้อยละ 4.3 ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 17 หากหักสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ และยุทธปัจจัย ขยายตัวร้อยละ 4.1 โดยยังคงขยายตัวจากการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรเป็นหลัก ซึ่งได้รับปัจจัยบวกจากราคาสินค้าเกษตรและอาหารที่สูงขึ้นตามปริมาณผลผลิตโลกที่ยังได้รับผลกระทบจากหลายปัจจัย อาทิ การส่งออกธัญพืชได้อย่างจำกัดของยูเครนในช่วงเวลาก่อนหน้า มาตรการจำกัดการส่งออกของต่างประเทศ จึงทำให้ไทยได้รับประโยชน์ในฐานะเป็นแหล่งนำเข้าสำคัญ ขณะที่การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมขยายตัวเพียงเล็กน้อย เนื่องจากภาคการผลิตที่เกี่ยวเนื่องกับเซมิคอนดักเตอร์เริ่มได้รับผลกระทบมากขึ้น และผลจากมาตรการล็อกดาวน์เมืองอุตสาหกรรมสำคัญของจีน ทำให้เป็นอุปสรรคต่อการผลิตและการส่งมอบ

อย่างไรก็ดี ยังมีบางกลุ่มสินค้าที่การส่งออกขยายตัวดี โดยเฉพาะสินค้าที่ได้ประโยชน์จากการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการแพร่ระบาด อาทิ อัญมณีและเครื่องประดับ เครื่องสำอาง สบู่ และผลิตภัณฑ์รักษาผิว เครื่องนุ่งห่ม เป็นต้น สำหรับด้านตลาดส่งออกเริ่มเห็นสัญญาณเติบโตในอัตราชะลอตัว เนื่องจากคู่ค้ามีแรงกดดันจากภาวะเงินเฟ้อที่สูง ทั้งนี้ การส่งออกไทย 7 เดือนแรก ขยายตัวร้อยละ 11.5 และเมื่อหักสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ และยุทธปัจจัย ขยายตัวร้อยละ 8.3

สรุปมูลค่าการค้ารวม

มูลค่าการค้าในรูปเงินดอลลาร์สหรัฐ เดือนกรกฎาคม 2565 การส่งออก มีมูลค่า 23,629.3 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 4.3 เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน การนำเข้า มีมูลค่า 27,289.8 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 23.9 ดุลการค้าขาดดุล 3,660.5 ล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่ภาพรวม 7 เดือนแรกของปี2565(มกราคม - กรกฎาคม) การส่งออก มีมูลค่า 172,814.1 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 11.5 การนำเข้า มีมูลค่า 182,730.4 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 21.4 ดุลการค้า ขาดดุล 9,916.3 ล้านเหรียญสหรัฐ

การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม

มูลค่าการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม ขยายตัวร้อยละ 0.1 (YoY) ขยายตัวต่อเนื่อง 17 เดือน โดยสินค้าสำคัญที่ขยายตัวดี อาทิ อัญมณีและเครื่องประดับ (ไม่รวมทองคำ) ขยายตัวร้อยละ 19.1 ขยายตัวต่อเนื่อง 17 เดือน (ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ ฮ่องกง อินเดีย เยอรมนี และสหราชอาณาจักร) เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ ขยายตัวร้อยละ 25.5 ขยายตัวต่อเนื่อง 2 เดือน (ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ ออสเตรเลีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ไต้หวัน และอินเดีย) เครื่องโทรสาร โทรศัพท์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ขยายตัวร้อยละ 34.6 ขยายตัวต่อเนื่อง 9 เดือน (ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ เนเธอร์แลนด์ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เมียนมา และมาเลเซีย) เครื่องสำอาง สบู่ และผลิตภัณฑ์รักษาผิว ขยายตัวร้อยละ 13.6 ขยายตัวต่อเนื่อง 11 เดือน (ขยายตัวในตลาดฟิลิปปินส์ จีน ออสเตรเลีย เวียดนาม และเมียนมา) ผลิตภัณฑ์อะลูมิเนียม ขยายตัวร้อยละ 21.4 ขยายตัวต่อเนื่อง 20 เดือน (ขยายตัวในตลาดอินเดีย เวียดนาม จีน เกาหลีใต้และออสเตรเลีย) เครื่องนุ่งห่ม ขยายตัวร้อยละ 10.7 ขยายตัวต่อเนื่อง 17 เดือน (ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ ญี่ปุ่น เยอรมนีออสเตรเลีย และเนเธอร์แลนด์)

ขณะที่สินค้าสำคัญที่หดตัว อาทิรถยนต์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ หดตัวร้อยละ 2.9 หดตัวต่อเนื่อง 7 เดือน (หดตัวในตลาดเวียดนาม และเม็กซิโก แต่ขยายตัวในตลาดออสเตรเลีย ญี่ปุ่น ฟิลิปปินส์ สหรัฐฯ และมาเลเซีย) เครื่องคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ หดตัวร้อยละ 21.3 (หดตัวในตลาดสหรัฐฯ ฮ่องกง เนเธอร์แลนด์ จีน และสิงคโปร์ แต่ขยายตัวในตลาดญี่ปุ่น อินเดีย ไอร์แลนด์ ออสเตรเลีย และฮังการี) ผลิตภัณฑ์ยาง หดตัวร้อยละ 4.4 หดตัวต่อเนื่อง 2 เดือน (หดตัวในตลาดสหรัฐฯ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย เยอรมนี และอินโดนีเซีย แต่ขยายตัวในตลาดจีน มาเลเซีย เวียดนาม เกาหลีใต้ และอินเดีย) ทั้งนี้ 7 เดือนแรกของปี 2565 การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมขยายตัวร้อยละ 9.0 (YoY)

การส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร

มูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร ขยายตัวร้อยละ 14.6 (YoY) ขยายตัวต่อเนื่อง 20 เดือน โดยสินค้าสำคัญที่ขยายตัวดี ได้แก่ ยางพารา ขยายตัวร้อยละ 12.0 ขยายตัวต่อเนื่อง 3 เดือน (ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ มาเลเซีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และอินเดีย) น้ำตาลทราย ขยายตัวร้อยละ 258.8 ขยายตัวต่อเนื่อง 12 เดือน (ขยายตัวในตลาดเกาหลีใต้ มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และกัมพูชา) ไก่สด แช่เย็น แช่แข็ง และไก่แปรรูป ขยายตัวร้อยละ 35.5 ขยายตัวต่อเนื่อง 3 เดือน (ขยายตัวในตลาดญี่ปุ่น สหราชอาณาจักร จีน เนเธอร์แลนด์ และเกาหลีใต้) อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป ขยายตัวร้อยละ 16.4 ขยายตัวต่อเนื่อง 6 เดือน (ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ ออสเตรเลีย แคนาดา สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และซาอุดีอาระเบีย) ข้าว ขยายตัวร้อยละ 21.5 ขยายตัวต่อเนื่อง 6 เดือน (ขยายตัวในตลาดอิรัก โมซัมบิก ฟิลิปปินส์เซเนกัล และญี่ปุ่น) อาหารสัตว์เลี้ยง ขยายตัวร้อยละ 25.4 ขยายตัวต่อเนื่อง 35 เดือน (ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ มาเลเซีย ออสเตรเลีย ฟิลิปปินส์ และอิตาลี) ผลไม้กระป๋องและแปรรูป ขยายตัวร้อยละ 17.3 ขยายตัวต่อเนื่อง 15 เดือน (ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ จีน ญี่ปุ่น รัสเซีย และออสเตรเลีย) ไอศกรีม ขยายตัวร้อยละ 34.2 ขยายตัวต่อเนื่อง 26 เดือน (ขยายตัวในตลาดมาเลเซีย เกาหลีใต้ เวียดนาม อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์)

สินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ ผลไม้สด หดตัวร้อยละ 32.6 หดตัวในรอบ 3 เดือน (หดตัวในตลาดจีน ฮ่องกง เวียดนาม เมียนมา และสหรัฐฯ แต่ขยายตัวในตลาดมาเลเซีย อินโดนีเซีย เกาหลีใต้ สิงคโปร์ และอินเดีย) ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง หดตัวร้อยละ 10.1 หดตัวในรอบ 5 เดือน (หดตัวในตลาดจีน ญี่ปุ่น และไต้หวัน แต่ขยายตัวในตลาดอินโดนีเซีย สหรัฐฯ เกาหลีใต้ มาเลเซีย และฟิลิปปินส์) สิ่งปรุงรสอาหาร หดตัวร้อยละ 5.4 หดตัวต่อเนื่อง 3 เดือน (หดตัวในตลาดสหรัฐฯ ญี่ปุ่น ฟิลิปปินส์ และเนเธอร์แลนด์ แต่ขยายตัวในตลาดออสเตรเลีย มาเลเซีย กัมพูชา เมียนมา และสหราชอาณาจักร) ทั้งนี้ 7 เดือนแรกของปี 2565 การส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร ขยายตัวร้อยละ 16.7 (YoY)

ตลาดส่งออกสำคัญ

การส่งออกไปประเทศคู่ค้าสำคัญส่วนใหญ่ขยายตัวในอัตราที่ชะลอลง ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจการค้าโลกที่มีแรงกดดันจากภาวะเงินเฟ้อที่สูงขึ้นต่อเนื่องในหลายประเทศ และความไม่แน่นอนจากสถานการณ์ความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครนที่ยืดเยื้อ ขณะที่การส่งออกไปจีนและญี่ปุ่นหดตัวตามภาคการผลิตและการบริโภคในประเทศ ที่ชะลอตัวจากผลกระทบของมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่เข้มงวด

ทั้งนี้ ภาพรวมการส่งออกไปยังกลุ่มตลาดต่าง ๆ สรุปได้ดังนี้ (1) ตลาดหลัก ขยายตัวร้อยละ 4.2 โดยขยายตัวต่อเนื่องในตลาดสหรัฐฯ ร้อยละ 4.7 อาเซียน (5) ร้อยละ 21.3 CLMV ร้อยละ 24.2 สหภาพยุโรป (27) ร้อยละ 8.1 ขณะที่ตลาดจีนและญี่ปุ่น หดตัวร้อยละ 20.6 และ 4.7 ตามลำดับ (2) ตลาดรอง ขยายตัวร้อยละ 7.4 ขยายตัวในตลาดเอเชียใต้ร้อยละ 21.1 ทวีปออสเตรเลีย ร้อยละ 20.0 ตะวันออกกลาง ร้อยละ 27.4 และทวีปแอฟริกา ร้อยละ 4.3 ขณะที่ลาตินอเมริกา และ รัสเซียและกลุ่ม CIS หดตัวร้อยละ 6.7 และร้อยละ 39.7 ตามลำดับ (3) ตลาดอื่น ๆ หดตัวร้อยละ 58.3 อาทิ สวิตเซอร์แลนด์ หดตัวร้อยละ 64.4

 

แนวโน้มการส่งออกระยะถัดไป

ส่วนแนวโน้มการส่งออกระยะถัดไป กระทรวงพาณิชย์ ประเมินว่า การส่งออกไทยจะยังเติบโตต่อเนื่องท่ามกลางปัจจัยเศรษฐกิจโลกที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง โดยไทยมีการกระจายความเสี่ยงการส่งออกไปในหลายตลาดมากขึ้น นอกจากนี้สินค้าเกษตรและอาหารที่ไทยมีศักยภาพในการผลิตและส่งออก ยังมีความต้องการสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกัน ยังมีปัจจัยบวกจากเงินบาทอ่อนค่าที่สนับสนุนให้ผู้ส่งออกไทยมีความสามารถทางการแข่งขัน และมีรายได้ในรูปของเงินบาทเพิ่มขึ้น ค่าระวางเรือที่มีแนวโน้มลดลง การขนส่งสินค้าเริ่มมีสัญญาณที่ดีจากปริมาณตู้สินค้าที่เข้ามายังไทย และจำนวนเที่ยวเรือที่เพิ่มขึ้น อีกทั้งราคาพลังงานโลกมีแนวโน้มลดลงล้วนส่งผลให้ต้นทุนของผู้ส่งออกลดลง อย่างไรก็ตาม การส่งออกยังมีปัจจัยเสี่ยงจากภาวะเงินเฟ้อ และผลจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในประเทศคู่ค้า ซึ่งอาจทำให้กำลังซื้อและปริมาณสินเชื่อเพื่อการบริโภคชะลอตัว อีกทั้งความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ในอนาคตที่อาจกระทบต่อห่วงโซ่การผลิตของโลกและไทย ซึ่งจำเป็นต้องติดตามอย่างใกล้ชิด

 

บทความยอดนิยม 10 อันดับ

 

อัปเดตข่าวทุกวันที่นี่ www.mreport.co.th   

Line / Facebook / Twitter / YouTube @MreportTH