ส่งออกไทย 2565 เดือนสิงหาคม (ส.ค.)

ส่งออกไทย 2565 เดือน ส.ค. ขยายตัว 7.5% โตต่อเนื่องเดือนที่ 18

อัปเดตล่าสุด 26 ก.ย. 2565
  • Share :
  • 2,274 Reads   

สถานการณ์ส่งออกในเดือนสิงหาคม 2565 ไทยทำยังตัวเลขส่งออกได้ดีต่อเนื่อง อยู่ที่เหนือระดับ 2.3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 18 เดือนติด ที่ตัวเลข 7.5% เมี่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน

วันที่ 26 กันยายน 2565 นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผย ตัวเลขการส่งออกเดือนสิงหาคม 2565 มีมูลค่า 23,632.7 ล้านเหรียญสหรัฐ (861,169 ล้านบาท) ขยายตัวร้อยละ 7.5 ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 18 หากหักสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ และยุทธปัจจัย ขยายตัวร้อยละ 10.1 การส่งออกในเดือนสิงหาคมขยายตัวได้ดีจากสินค้าอุตสาหกรรมเกษตร โดยเฉพาะกลุ่มอาหารแปรรูปที่มีความต้องการสูง เช่น อาหารทะเลแช่แข็งและแปรรูป ไก่สดแช่แข็งและแปรรูป และอาหารสัตว์เลี้ยง

ขณะที่สินค้าอุตสาหกรรมกลับมาขยายตัวสูงอีกครั้งหลังชะลอตัวในเดือนก่อน จากการส่งออกรถยนต์และส่วนประกอบ เครื่องคอมพิวเตอร์ และเครื่องใช้ไฟฟ้าหลายรายการที่กลับมาขยายตัว ภายใต้ปัจจัยเสี่ยงเศรษฐกิจโลก อาทิ ภาวะเงินเฟ้อทำให้กำลังซื้อทั่วโลกชะลอตัว ภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวของจีนจากวิกฤตด้านอสังหาริมทรัพย์ และปัญหาการขาดแคลนพลังงานในสหภาพยุโรป เป็นต้น ทั้งนี้ การส่งออกไทย 8 เดือนแรก ขยายตัวได้ที่ร้อยละ 11.0 และเมื่อหักสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ และยุทธปัจจัย ขยายตัวร้อยละ 8.5

สรุปมูลค่าการค้ารวม

มูลค่าการค้าในรูปเงินดอลลาร์สหรัฐ เดือนสิงหาคม 2565 การส่งออก มีมูลค่า 23,632.7 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 7.5 เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน การนำเข้า มีมูลค่า 27,848.1 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 21.3 ดุลการค้า ขาดดุล 4,215.4 ล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่ภาพรวม 8 เดือนแรกของปี 2565 (มกราคม - สิงหาคม) การส่งออก มีมูลค่า 196,446.8 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 11.0 การนำเข้า มีมูลค่า 210,578.5 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 21.4 ดุลการค้า ขาดดุล 14,131.7 ล้านเหรียญสหรัฐ

การส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร

มูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร ขยายตัวร้อยละ 4.6 (YoY) ขยายตัวต่อเนื่อง 21 เดือน โดยสินค้าสำคัญที่ขยายตัวดี ได้แก่ ข้าว ขยายตัวร้อยละ 15.3 ขยายตัวต่อเนื่อง 7 เดือน (ขยายตัวในตลาดอิรัก สหรัฐฯ แคนาดา มาเลเซีย และเนเธอร์แลนด์) น้ำตาลทราย ขยายตัวร้อยละ 173.5 ขยายตัวต่อเนื่อง 13 เดือน (ขยายตัวในตลาดอินโดนีเซีย มาเลเซีย กัมพูชา ลาว และไต้หวัน) อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป ขยายตัวร้อยละ 18.5 ขยายตัวต่อเนื่อง 7 เดือน (ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย แคนาดา และซาอุดีอาระเบีย) ไก่สด แช่เย็น แช่แข็ง และไก่แปรรูป ขยายตัวร้อยละ 125.4 ขยายตัวต่อเนื่อง 4 เดือน (ขยายตัวในตลาดญี่ปุ่น สหราชอาณาจักร จีน เนเธอร์แลนด์ และเกาหลีใต้) อาหารสัตว์เลี้ยง ขยายตัว ร้อยละ 25.5 ขยายตัวต่อเนื่อง 36 เดือน (ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย มาเลเซีย และฟิลิปปินส์) ผลิตภัณฑ์ข้าวสาลีและอาหารสำเร็จรูปอื่น ๆ ขยายตัวร้อยละ 9.4 ขยายตัวต่อเนื่อง 16 เดือน (ขยายตัวในตลาด จีน กัมพูชา ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น และอินโดนีเซีย) ผลไม้กระป๋องและแปรรูป ขยายตัวร้อยละ 14.3 ขยายตัวต่อเนื่อง
16 เดือน (ขยายตัวในตลาดจีน รัสเซีย ออสเตรเลีย แคนาดา และไต้หวัน) เครื่องดื่ม ขยายตัวร้อยละ 14.9 ขยายตัวต่อเนื่อง 2 เดือน (ขยายตัวในตลาดเวียดนาม กัมพูชา จีน ลาว และมาเลเซีย) ไอศกรีม ขยายตัวร้อยละ 71.2 ขยายตัวต่อเนื่อง 27 เดือน (ขยายตัวในตลาดมาเลเซีย สหรัฐฯ เกาหลีใต้ อินโดนีเซีย และเวียดนาม)

สินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ ยางพารา หดตัวร้อยละ 2.8 กลับมาหดตัวในรอบ 4 เดือน (หดตัวในตลาดจีน มาเลเซีย ญี่ปุ่น สหรัฐฯ และบราซิล แต่ขยายตัวในตลาดเกาหลีใต้ อินเดีย สเปน เยอรมนี และสโลวีเนีย) ผลไม้สดแช่เย็น แช่แข็ง และแห้ง หดตัวร้อยละ 63.8 หดตัวต่อเนื่อง 2 เดือน (หดตัวในตลาดจีน อินโดนีเซีย มาเลเซีย สหรัฐฯ และฮ่องกง แต่ขยายตัวในตลาดสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ แคนาดา ฟิลิปปินส์ อินเดีย และไต้หวัน) ทั้งนี้ 8 เดือนแรกของปี 2565 การส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร ขยายตัวร้อยละ 15.2 (YoY)

การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม

มูลค่าการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม ขยายตัวร้อยละ 9.2 (YoY) ขยายตัวต่อเนื่อง 18 เดือน โดยสินค้าสำคัญที่ขยายตัวดี ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ ขยายตัวร้อยละ 22.5 กลับมาขยายตัวในรอบ 8 เดือน (ขยายตัวในตลาดออสเตรเลีย ฟิลิปปินส์ ญี่ปุ่น มาเลเซีย และเวียดนาม) อัญมณีและเครื่องประดับ (ไม่รวมทองคำ) ขยายตัวร้อยละ 31.2 ขยายตัวต่อเนื่อง 18 เดือน (ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ อินเดีย เยอรมนี สหราชอาณาจักร และเบลเยียม) แผงวงจรไฟฟ้า ขยายตัวร้อยละ 25.1 ขยายตัวต่อเนื่อง 21 เดือน (ขยายตัวในตลาดสิงคโปร์ สหรัฐฯ จีน ญี่ปุ่น และไต้หวัน) เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ ขยายตัวร้อยละ 15.6 ขยายตัวต่อเนื่อง 19 เดือน (ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ ญี่ปุ่น อินโดนีเซีย อินเดีย และเวียดนาม) เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ ขยายตัวร้อยละ 61.1 ขยายตัวต่อเนื่อง 3 เดือน (ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ ออสเตรเลีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เวียดนาม และสิงคโปร์) เครื่องโทรสาร โทรศัพท์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ขยายตัวร้อยละ 32.8 ขยายตัวต่อเนื่อง 10 เดือน (ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เมียนมา กัมพูชา และแคนาดา) หม้อแปลงไฟฟ้าและส่วนประกอบ ขยายตัวร้อยละ 53.6 ขยายตัวต่อเนื่อง 10 เดือน (ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ จีน เม็กซิโก ญี่ปุ่น และเนเธอร์แลนด์) แผงสวิตซ์และแผงควบคุมกระแสไฟฟ้า ขยายตัวร้อยละ 29.7 ขยายตัวต่อเนื่อง 10 เดือน (ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ จีน ญี่ปุ่น สิงคโปร์ และสโลวัก)

สินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ สินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน หดตัวร้อยละ 11.4 หดตัวในรอบ 19 เดือน (หดตัวในตลาดจีน กัมพูชา อินเดีย ญี่ปุ่น และอินโดนีเซีย แต่ขยายตัวในตลาดเวียดนาม มาเลเซีย สิงคโปร์  ลาว และเมียนมา) ผลิตภัณฑ์ยาง หดตัวร้อยละ 0.2 หดตัวต่อเนื่อง 3 เดือน (หดตัวในตลาดสหรัฐฯ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย อินโดนีเซียและเยอรมนี แต่ขยายตัวในตลาดจีน มาเลเซีย เกาหลีใต้ เวียดนาม และอินเดีย) ทั้งนี้ 8 เดือนแรกของปี 2565 การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม ขยายตัวร้อยละ 9.0 (YoY)

ตลาดส่งออกสำคัญ

การส่งออกไปยังประเทศคู่ค้าสำคัญยังคงมีความไม่แน่นอน ท่ามกลางความเสี่ยงที่กดดันภาวะเศรษฐกิจการค้าโลก อาทิ ภาวะเงินเฟ้อที่สูงขึ้น การใช้นโยบายการเงินแบบตึงตัวในหลายประเทศ สถานการณ์ความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ ตลอดจนมาตรการควบคุมไวรัสโควิด-19 ที่เข้มงวดในจีน ซึ่งล้วนส่งผลต่ออุปสงค์จากประเทศคู่ค้า

ทั้งนี้ ภาพรวมการส่งออกไปยังกลุ่มตลาดต่าง ๆ สรุปได้ดังนี้ (1) ตลาดหลัก  ขยายตัวร้อยละ 8.3 โดยขยายตัวต่อเนื่องในตลาดสหรัฐฯ ร้อยละ 16.3 อาเซียน (5) ร้อยละ 5.8 CLMVร้อยละ 41.1 และสหภาพยุโรป (27) ร้อยละ 19.0 ญี่ปุ่นกลับมาขยายตัวร้อยละ 6.6 ขณะที่จีน หดตัวร้อยละ 20.1 (2) ตลาดรอง ขยายตัวร้อยละ 6.9 ขยายตัวในตลาดทวีปออสเตรเลีย ร้อยละ 19.0 ตะวันออกกลาง ร้อยละ 38.4 และลาตินอเมริกา ร้อยละ 27.4 ขณะที่เอเชียใต้ทวีปแอฟริกา และรัสเซียและกลุ่ม CIS หดตัวร้อยละ 2.1 ร้อยละ 10.1 และร้อยละ 21.6 ตามลำดับ (3) ตลาดอื่น ๆ หดตัวร้อยละ 40.3 อาทิ สวิตเซอร์แลนด์ หดตัวร้อยละ 40.1

 

แนวโน้มการส่งออกระยะถัดไป

สำหรับแนวโน้มการส่งออกระยะถัดไป กระทรวงพาณิชย์ ประเมินว่า ยังคงมีสัญญาณบวกที่ช่วยสนับสนุนการส่งออกของไทยในปีนี้ให้สามารถบรรลุตามเป้าหมาย โดยเฉพาะความต้องการสินค้าอาหารที่คาดว่าจะปรับตัวสูงขึ้นในช่วงที่เหลือของปีตามราคาอาหารทั่วโลกที่ยังทรงตัวในระดับสูง ขณะที่นโยบายของสหรัฐฯ ที่จำกัดการเข้าถึงสินค้าเทคโนโลยีของจีน อาจทำให้มีอุปทานชิปประมวลผลส่วนเกินจากผู้ผลิตเข้าสู่ตลาดมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลดีต่อภาคการผลิตอุตสาหกรรมของไทย เช่น อุตสาหกรรมรถยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์

นอกจากนี้ การปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในประเทศคู่ค้าสำคัญอย่างต่อเนื่อง จะส่งผลให้เงินบาทอ่อนค่าเมื่อเทียบกับเงินสกุลหลัก และยังเป็นปัจจัยบวกที่ทำให้ไทยสามารถรักษาความสามารถในการแข่งขันไว้ได้ อย่างไรก็ตาม ปัญหาเงินเฟ้อในหลายประเทศ การขาดแคลนพลังงานในทวีปยุโรป และวิกฤตอสังหาริมทรัพย์ในจีน อาจเป็นปัจจัยกดดันที่ทำให้
เศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าชะลอตัว ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดต่อไป

 

บทความยอดนิยม 10 อันดับ

 

อัปเดตข่าวทุกวันที่นี่ www.mreport.co.th   

Line / Facebook / Twitter / YouTube @MreportTH