เอ็นไอเอเปิดโพล “3 นวัตกรรมที่คนไทยต้องการมากที่สุดช่วงวิกฤตโควิด-19” พร้อมชี้โมเดล “นวัตกรรมแบบแบ่งปัน” อีกหนึ่งทางรอดของเศรษฐกิจ-สังคมไทย

NIA เปิดโพล "3 นวัตกรรมที่คนไทยต้องการมากที่สุดช่วงวิกฤตโควิด-19" พร้อมชี้โมเดลธุรกิจ “นวัตกรรมแบบแบ่งปัน” อีกหนึ่งทางรอดสังคมไทย

อัปเดตล่าสุด 21 มี.ค. 2564
  • Share :
  • 832 Reads   

3 นวัตกรรมที่คนไทยต้องการมาที่สุดในช่วงโควิด-19 ระบาด คือ เพิ่มรายได้-ลดความเหลื่อมล้ำ-ปรับกฎระเบียบให้เอื้อต่อการทำนวัตกรรมรูปแบบใหม่

เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2564 - สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA เผยผลสำรวจความต้องการด้านนวัตกรรมของประชาชนช่วงที่เกิดโควิด- 19 ระบาด พบประชาชนต้องการนวัตกรรมเพื่อเข้ามาแก้ไขปัญหาวิกฤตสูงสุด 3 อันดับ ได้แก่ 1) นวัตกรรมเพื่อการเพิ่มรายได้ที่ประชาชน 21.7% 2) นวัตกรรมเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ 19.6% และ 3) การปรับกฎระเบียบให้เอื้อต่อการทำนวัตกรรมรูปแบบใหม่ 15%

โดยจากผลสำรวจดังกล่าว NIA จะใช้เป็นแนวทางการทำงานร่วมกับภาคส่วนต่างๆ เพื่อทำให้การพัฒนานวัตกรรมเป็นไปอย่างตรงจุดทั้งในระยะสั้นและระยะยาว นอกจากนี้ยังแนะแนวทางการทำนวัตกรรมที่เหมาะสมกับบริบทประเทศไทยในขณะนี้ด้วยการสร้างรูปแบบธุรกิจนวัตกรรมแบบแบ่งปัน เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ สะท้อนคาแรคเตอร์ความเป็นสังคมไทย ตลอดจนเป็นโมเดลธุรกิจที่มีความยั่งยืน

 

ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA กล่าวว่า ในช่วงการระบาดของโรคโควิด – 19 ที่ผ่านมา นอกจาก NIA จะมุ่งเดินหน้าส่งเสริมนวัตกรรมที่มีความพร้อมใช้งานเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่สังคมและเศรษฐกิจแล้ว ยังได้สำรวจความคิดเห็นจากประชาชนทั่วไป นักเรียน นักศึกษา รวมไปถึงผู้ที่สนใจและอยากทำธุรกิจนวัตกรรม เพื่อให้ทราบข้อเท็จจริงว่าคนไทยต้องการนวัตกรรมอะไรมากที่สุดในช่วงที่ประเทศไทยกำลังเผชิญกับสถานการณ์วิกฤตการระบาดดังกล่าว ซึ่งข้อมูลที่ได้มานั้นพบว่านวัตกรรมที่ประชาชนต้องการมากที่สุด 3 อันดับ ได้แก่

นวัตกรรมเพื่อการเพิ่มรายได้ (21.7%) เนื่องจากขณะนี้เศรษฐกิจ คุณภาพชีวิต และหนทางในการสร้างรายได้ได้รับผลกระทบค่อนข้างมาก สิ่งที่เห็นได้อย่างเด่นชัดคือระบบขนส่ง - โลจิสติกส์ เริ่มมีปัญหาจากการล็อคดาวน์เพื่อยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคโควิด – 19 รวมถึงการเลิกจ้างงาน บางธุรกิจเริ่มมีการปิดตัว ในหลายอุตสาหกรรมต้องยกเลิกการผลิตและให้บริการ และเส้นเลือดใหญ่อย่างการท่องเที่ยวไม่สามารถดำเนินต่อไปได้ ดังนั้น จึงเป็นประเด็นสำคัญที่ทำให้ผู้ที่มีรายได้ลดลงต้องการโซลูชั่น หรือแนวทางการสร้างรายได้ที่เป็นรูปธรรมไม่ว่าจะเป็น การทำงานที่บ้าน การค้าขาย หรือแม้แต่กระทั่งการเข้าถึงระบบการเงินที่สามารถทำให้เกิดสภาพคล่องในช่วงเศรษฐกิจชะลอตัว

นวัตกรรมเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ (19.6%) การระบาดของโรคโควิด – 19 เป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้คนทั่วไปเห็นถึงความเหลื่อมล้ำที่ชัดขึ้นในหลากหลายมิติ ไม่ว่าจะเป็น สวัสดิการ โอกาสการเข้าถึงทางการแพทย์ ระบบการศึกษา ฯลฯ และสิ่งที่เกิดขึ้นนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะประเทศไทย แม้แต่ในประเทศมหาอำนาจ ประเทศที่พัฒนาแล้ว รวมถึงประเทศกำลังพัฒนาก็กำลังประสบปัญหานี้เช่นเดียวกัน แต่อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เกิดขึ้นถือเป็นสัญญาณที่ดีที่ทำให้ทั้งภาครัฐ และเอกชนหันมาสนใจและร่วมมือพัฒนานวัตกรรม – โซลูชั่นเพื่อให้คนทุกระดับชั้นเข้าถึงบริการต่าง ๆ ได้อย่างเท่าเทียมกันมากขึ้น ต่อเนื่องถึงการผลักดันให้เป็นนโยบายสำคัญในระดับมหภาคที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางสังคมในอนาคตต่อไป

การปรับกฎระเบียบให้เอื้อต่อการทำนวัตกรรมรูปแบบใหม่ ๆ (15%) ในช่วงที่เกิดการระบาดของโรคโควิด -19 เป็นตัวเร่งให้เกิดทั้งธุรกิจนวัตกรรม สตาร์ทอัพ รวมทั้งความสนใจในด้านการพัฒนางานวิจัย - นวัตกรรมอย่างเต็มรูปแบบ แต่ในการเกิดขึ้นของสิ่งเหล่านี้กลับมีตัวแปรสำคัญคือเรื่องของกฎระเบียบที่ยังไม่สามารถอำนวยความสะดวกได้เท่าที่ควร ไม่ว่าจะเป็นกฎหมาย การลดข้อจำกัด โครงสร้างพื้นฐานที่ช่วยปูทางให้ความก้าวหน้าทางนวัตกรรมสามารถดำเนินไปได้อย่างเต็มที่ ทั้งนี้ ถ้าหากสิ่งเหล่านี้ถูกปลดล็อกได้มากขึ้นในอนาคตจะทำให้เห็นคนในกลุ่มต่าง ๆ โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่และเยาวชนเข้ามามีบทบาทในภาคเศรษฐกิจฐานนวัตกรรมเพิ่มมากขึ้น รวมทั้งทำให้เกิดการลงทุนในด้านวิจัย พัฒนา และเทคโนโลยีที่สามารถสร้างคุณค่าและมูลค่าได้อย่างมีนัยสำคัญ

“ซึ่ง NIA ก็ได้มีการสนับสนุนความต้องการเหล่านี้มาอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการสนับสนุนด้านเงินทุน การพัฒนาศักยภาพและองค์ความรู้ของผู้ประกอบการและเยาวชน รวมถึงผลักดันกฎระเบียบต่าง ๆ ให้เอื้อต่อระบบนิเวศนวัตกรรมมากยิ่งขึ้น สิ่งที่เป็นการบ้านเพิ่มเติมสำหรับ NIA รวมทั้งองค์กรเพื่อการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย เทคโนโลยี และนวัตกรรมในระยะหลังจากนี้คือ “การสื่อสารทางนวัตกรรม” ซึ่งขณะนี้ในหลายมิติถือว่าเริ่มมาถูกทาง แต่ยังต้องทำให้คนในทุกระดับเกิดความเข้าใจ และเกิดพฤติกรรมในการช่วยกันส่งเสริมนวัตกรรมให้เกิดขึ้นอย่างทั่วถึง โดยเฉพาะการสร้างนวัตกรรมที่เกิดจากสิ่งบ่งชี้ทางกายภาพเพื่อทำให้ภาพลักษณ์ของประเทศมีความเด่นชัด (Branding) ดังเช่นที่เกาหลีมีความโดดเด่นในเรื่องอุตสาหกรรมความบันเทิง สิงคโปร์ - ฮ่องกง ที่มีอัตลักษณ์ในด้านทรัพยากรมนุษย์ หรือแม้แต่อิสราเอลที่ถูกพูดถึงในความเป็นชาติแห่งสตาร์ทอัพ ทั้งนี้ แม้ว่าเรื่องดังกล่าวจะยังเป็นเรื่องที่ใหม่หรือไกลตัวสำหรับประเทศไทย แต่ก็จำเป็นต้องเร่งสนับสนุนและผลักดัน เพราะหากมีความชัดเจนในเรื่องที่กำลังพัฒนา หรือพัฒนาจนประสบความสำเร็จ สิ่งนี้จะเป็นปัจจัยและเครื่องมือสำคัญที่ทำให้เกิดความเชื่อมั่น การสร้างมูลค่าเศรษฐกิจ รวมถึงเป็นแนวทางให้เกิดการพัฒนานวัตกรรมได้อย่างตรงจุดจนนำไปสู่ความยั่งยืนได้ต่อไป”

สำหรับการสำรวจข้อมูลดังกล่าว NIA จะใช้เป็นแนวทางเพื่อการทำงานร่วมกับภาคส่วนต่าง ๆ เพื่อทำให้การพัฒนานวัตกรรมเป็นไปอย่างตรงจุดทั้งในระยะสั้นและระยะยาวไม่ว่าจะเป็นการส่งเสริมกลุ่มผู้ประกอบการเอสเอ็มอี และสตาร์ทอัพ ในการใช้นวัตกรรมเพื่อฟื้นฟูธุรกิจ การพัฒนาระบบนวัตกรรมของประเทศให้มีความเข้มแข็ง ฯลฯ นอกจากนี้ NIA ยังมีแนวทางและแนวคิดสำคัญในการทำนวัตกรรมที่เหมาะสมสำหรับคนไทยในช่วงเวลาปัจจุบันคือ “การส่งเสริมนวัตกรรมแบบแบ่งปัน” ซึ่งเป็นรูปแบบธุรกิจสำคัญที่ประเทศไทยกำลังต้องการมากที่สุดในช่วงเวลานี้ และถือเป็นเครื่องยนต์สำคัญที่ช่วยให้เศรษฐกิจและสังคมเกิดทางรอด โดยโมเดลนี้นอกจากจะทำให้ความเหลื่อมล้ำถูกขจัดได้อย่างตรงจุดแล้ว ยังสะท้อนคาแรคเตอร์ความเป็นคนไทยในด้านการเป็นสังคมที่มีน้ำใจและพร้อมช่วยเหลือ ตลอดจนเป็นโมเดลทางธุรกิจที่มีความยั่งยืนอีกด้วย” ดร.พันธุ์อาจ กล่าวเพิ่มเติม