ดัชนีราคาผู้ผลิตไทย 2565 เดือนสิงหาคม และภาพรวม 9 เดือน ก.ค. - ก.ย.

ดัชนีราคาผู้ผลิตไทย 2565 เดือน ก.ย. เพิ่มขึ้น 10.5% ภาพรวม 9 เดือนเพิ่ม 11.4%

อัปเดตล่าสุด 12 ต.ค. 2565
  • Share :
  • 1,193 Reads   

สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยสรุปรายงานดัชนีราคาผู้ผลิตของประเทศไทย เดือนกันยายน 2565 อยู่ที่ระดับ 113.8 เพิ่มขึ้น 10.5% จากช่วงเดียวกันปีก่อน แต่ลดลง 0.1% จากเดือนก่อนหน้า ภาพรวม 9 เดือนแรก (มกราคม - กันยายน) เพิ่มขึ้น 11.4%

ดัชนีราคาผู้ผลิต​ แบ่งตามกิจกรรมการผลิต (CPA : Classification of Products by Activity) เดือนสิงหาคม 2565 (ปี 2558 = 100) เท่ากับ 113.8 เทียบกับเดือนกันยายน 2564 สูงขึ้นร้อยละ 10.5 (YoY) เป็นผลมาจากการปรับสูงขึ้นของราคาสินค้าผู้ผลิตทั้ง 3 หมวดหลัก ประกอบด้วย

Advertisement

  • หมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม สูงขึ้นร้อยละ 7.9 ตามต้นทุนการผลิตที่ทยอยปรับสูงขึ้นในช่วงปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการสูงขึ้นในทิศทางที่ชะลอลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่สาม เนื่องจากในช่วงไตรมาสที่ 3 ของปี 2565 สินค้าหลายรายการที่เป็นสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมันเริ่มปรับราคาลดลง ตามราคาน้ำมันในตลาดโลก ประกอบกับความต้องการของตลาดโลกชะลอตัว จากความผันผวนของเศรษฐกิจและการเงินโลก รวมทั้งความไม่แน่นอนของสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน โดยกลุ่มสินค้าสำคัญที่ราคาสูงขึ้น ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการกลั่นปิโตรเลียม ผลิตภัณฑ์อาหาร ผลิตภัณฑ์คอมพิวเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ เคมีภัณฑ์และผลิตภัณฑ์เคมี และผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมอื่น ๆ
  • หมวดผลิตภัณฑ์จากเหมือง สูงขึ้นร้อยละ 74.5 จากการสูงขึ้นของราคาสินค้า ได้แก่ ก๊าซธรรมชาติ น้ำมันปิโตรเลียมดิบ และแร่โลหะ
  • หมวดผลิตภัณฑ์เกษตรกรรมและการประมง สูงขึ้นร้อยละ 10.7 เป็นผลจากสินค้าสำคัญ ได้แก่ ข้าวเปลือก หัวมันสำปะหลังสด ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ พืชผัก สุกรมีชีวิต ไก่มีชีวิต ไข่ไก่ ไข่เป็ด และผลิตภัณฑ์จากการประมง

ขณะที่ ดัชนีราคาผู้ผลิต แบ่งตามขั้นตอนการผลิต (SOP : Stage of Processing) พบว่าดัชนีหมวดสินค้าสำเร็จรูป หมวดสินค้ากึ่งสำเร็จรูป (แปรรูป) และหมวดสินค้าวัตถุดิบ สูงขึ้นร้อยละ 4.6 14.2 และ 35.6 ตามลำดับ โดยมีสินค้าสำคัญในห่วงโซ่อุปทานที่ราคาปรับสูงขึ้นตามวัตถุดิบ ได้แก่ หัวมันสำปะหลังสด มันเส้น/มันอัดเม็ด/แป้งมันสำปะหลัง เนื่องจากมีความต้องการใช้ในอุตสาหกรรมต่อเนื่อง ทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ อ้อย น้ำตาลทรายดิบ น้ำตาลทรายขาว เนื่องจากราคาเคลื่อนไหวตามภาวะตลาดโลก

ดัชนีราคาผู้ผลิต 2565 เดือนกันยายน เทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน (YoY) สูงขึ้นร้อยละ 10.5 โดยมีการเปลี่ยนแปลงรายหมวด ดังนี้

  • หมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม สูงขึ้นร้อยละ 10.5 โดยหมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม สูงขึ้นร้อยละ 7.9 จากการสูงขึ้นของสินค้าสำคัญ ประกอบด้วยกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการกลั่นปิโตรเลียม ได้แก่ น้ำมันดีเซล น้ำมันเครื่องบิน น้ำมันแก๊สโซฮอล์ 91, 95 น้ำมันก๊าด น้ำมันเตา และก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) ซึ่งเป็นไปตามทิศทางราคาน้ำมันและก๊าซในตลาดโลก กลุ่มผลิตภัณฑ์อาหาร ได้แก่ เนื้อสุกร ไก่สด มันเส้น ปลาทูน่ากระป๋อง ข้าวนึ่ง น้ำสับปะรด และน้ำมันถั่วเหลืองบริสุทธิ์ เนื่องจากต้นทุนการผลิตปรับสูงขึ้น อาทิ ราคาวัตถุดิบ ราคาบรรจุภัณฑ์ และค่าขนส่งวัตถุดิบ ประกอบกับปริมาณวัตถุดิบมีน้อย น้ำตาลทราย ราคาเคลื่อนไหวตามภาวะราคาตลาดโลก กลุ่มผลิตภัณฑ์คอมพิวเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ ได้แก่ อุปกรณ์จัดเก็บข้อมูล (ฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์) เนื่องจากค่าเงินบาทอ่อนค่า กลุ่มเคมีภัณฑ์และผลิตภัณฑ์เคมี ได้แก่ โซดาไฟ ปุ๋ยเคมีผสม กรดกำมะถัน และเม็ดพลาสติก เนื่องจากราคาวัตถุดิบและราคาอ้างอิงตลาดต่างประเทศปรับสูงขึ้น กลุ่มผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมอื่น ๆ ได้แก่ ทองคำ เนื่องจากราคาปรับสูงขึ้นตามตลาดโลก 

  • หมวดผลิตภัณฑ์จากเหมือง สูงขึ้นร้อยละ 74.5 จากการสูงขึ้นของราคาสินค้า ได้แก่ ก๊าซธรรมชาติ น้ำมันปิโตรเลียมดิบ และแร่โลหะ (แร่สังกะสี เหล็ก วุลแฟรม) ตามทิศทางราคาตลาดโลกที่ปรับสูงขึ้น โดยเฉพาะราคาน้ำมันปิโตรเลียมดิบและก๊าซธรรมชาติ เนื่องจากอุปทานของน้ำมันดิบลดลง ซึ่งเป็นผลจากมาตรการคว่ำบาตรการนำเข้าพลังงานจากรัสเซีย ในขณะที่กลุ่มประเทศผู้ผลิตน้ำมันโอเปกพลัสยังคงประสบปัญหาในการเพิ่มกำลังการผลิตให้ได้ตามเป้าหมาย
  • หมวดผลิตภัณฑ์เกษตรกรรมและการประมง สูงขึ้นร้อยละ 10.7 จากการสูงขึ้นของราคาสินค้าสำคัญ ผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร ประกอบด้วย กลุ่มพืชล้มลุก ได้แก่ ข้าวเปลือกเจ้า และข้าวเปลือกเหนียว เนื่องจากความต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศยังมีอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับราคาส่งออกปรับตัวเพิ่มขึ้น หัวมันสำปะหลังสด เนื่องจากผลผลิตมันสำปะหลังของไทยยังเป็นที่ต้องการใช้สำหรับเป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมอาหารและอุตสาหกรรมเอทานอลของตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศจีน ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เนื่องจากความต้องการใช้ในอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ยังมีอยู่อย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในประเทศปรับตัวสูงขึ้น และพืชผัก (ต้นหอม พริกสด พริกแห้ง ผักคะน้า หน่อไม้ฝรั่ง ผักชี กระเทียม ถั่วฝักยาว ผักกวางตุ้ง กะหล่ำปลี ผักขึ้นฉ่าย) เนื่องจากปริมาณผลผลิตลดลงจากภาวะฝนตกหนัก ส่งผลให้ผักบางชนิดเน่าเสียง่าย ประกอบกับพื้นที่เพาะปลูกได้รับความเสียหาย กลุ่มสัตว์ ได้แก่ สุกรมีชีวิต เนื่องจากความต้องการบริโภคมีอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดลดลง และต้นทุนในการเลี้ยงปรับสูงขึ้น ไก่มีชีวิต ไข่ไก่ และไข่เป็ด เนื่องจากต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้นจากราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ปรับตัวสูงขึ้น กลุ่มผลิตภัณฑ์จากการประมง ได้แก่ กุ้งแวนนาไม กุ้งทะเล หอยนางรม หอยแครง หอยแมลงภู่ ปลาหมึกกล้วย และปูม้า เนื่องจากมีมรสุมเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ทำให้ผลผลิตออกสู่ตลาดลดลง ปลาช่อน ปลาดุก และปลานิล เนื่องจากความต้องการบริโภคเพิ่มขึ้นจากการท่องเที่ยวและบริการต่าง ๆ

ดัชนีราคาผู้ผลิต 2565 เดือนกันยายน เทียบกับเดือนก่อนหน้า (MoM) ลดลงร้อยละ 0.1 โดยมีการเปลี่ยนแปลงรายหมวด ดังนี้

  • หมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ลดลงร้อยละ 0.4 จากการลดลงของราคาสินค้าสำคัญ กลุ่มผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการกลั่นปิโตรเลียม ได้แก่ น้ำมันแก๊สโซฮอล์ 91, 95 น้ำมันเครื่องบิน น้ำมันเตา น้ำมันดีเซล และก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) ซึ่งเคลื่อนไหวในทิศทางเดียวกันกับราคาตลาดโลก เนื่องจากเศรษฐกิจโลกเริ่มชะลอตัว ส่งผลให้ความต้องการใช้น้ำมันลดลง กลุ่มเคมีภัณฑ์และผลิตภัณฑ์เคมี ได้แก่ เม็ดพลาสติก เนื่องจากราคาวัตถุดิบลดลง ประกอบกับความต้องการชะลอตัว โซดาไฟ ราคาปรับลดลงตามราคาอ้างอิงตลาดต่างประเทศ กลุ่มผลิตภัณฑ์ยางและพลาสติก ได้แก่ ยางแท่ง และยางแผ่นรมควัน เนื่องจากได้รับแรงกดดันจากราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ลดลง ประกอบกับความต้องการใช้ในอุตสาหกรรมยานยนต์ชะลอตัว ซึ่งเป็นผลจากการขาดแคลนชิปเซมิคอนดักเตอร์ ถุงมือยาง เนื่องจากความต้องการทั้งในประเทศและต่างประเทศลดลง แผ่นฟิล์มพลาสติก ถุงพลาสติก และยางรัดของ เนื่องจากราคาวัตถุดิบลดลง และกลุ่มผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมอื่น ๆ ได้แก่ ทองคำ ซึ่งเคลื่อนไหวตามตลาดโลก

  • หมวดผลิตภัณฑ์จากเหมือง สูงขึ้นร้อยละ 12.7 จากการสูงขึ้นของราคาสินค้าสำคัญ คือ ก๊าซธรรมชาติ ตามทิศทางราคาตลาดโลกที่ปรับสูงขึ้น เป็นผลจากสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน ทำให้เกิดความไม่แน่นอนของระดับอุปทานก๊าซธรรมชาติ
  • หมวดผลิตภัณฑ์เกษตรกรรมและการประมง ลดลงร้อยละ 1.0 จากการลดลงของราคาสินค้าสำคัญ ผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร ประกอบด้วย กลุ่มไม้ยืนต้น ได้แก่ ผลปาล์มสด เนื่องจากปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดเพิ่มขึ้น ประกอบกับปริมาณสต็อกน้ำมันปาล์มดิบในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้น ยางพารา เนื่องจากความต้องการใช้ยางในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องลดลงจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว กลุ่มพืชล้มลุก ได้แก่ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เนื่องจากภาวะฝนตกชุกส่งผลให้ความชื้นสูง ประกอบกับผลผลิตที่ออกสู่ตลาดอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ความต้องการใช้ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เพื่อเป็นวัตถุดิบอาหารสัตว์ชะลอตัว

ดัชนีราคาผู้ผลิต 2565 เฉลี่ย 9 เดือน (ม.ค.- ก.ย.) เทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน (AoA) สูงขึ้นร้อยละ 11.4 โดยมีการเปลี่ยนแปลงรายหมวด ดังนี้

  • หมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม​ สูงขึ้นร้อยละ 10.0 
  • หมวดผลิตภัณฑ์จากเหมือง สูงขึ้นร้อยละ 64.6 
  • หมวดผลิตภัณฑ์เกษตรกรรมและการประมง สูงขึ้นร้อยละ 7.8

ดัชนีราคาผู้ผลิต 2565 ไตรมาส 3 (ก.ค.- ก.ย.)

  • เทียบกับไตรมาสเดียวกันปีก่อน (YoY) สูงขึ้นร้อยละ 11.2 โดยหมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม สูงขึ้นร้อยละ 9.0 หมวดผลิตภัณฑ์จากเหมือง สูงขึ้นร้อยละ 64.3 หมวดผลิตภัณฑ์เกษตรกรรมและการประมง สูงขึ้นร้อยละ 11.3
  • เทียบกับไตรมาสก่อนหน้า (QoQ) ลดลงร้อยละ 0.9 โดยหมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ลดลงร้อยละ 1.1 หมวดผลิตภัณฑ์เกษตรกรรมและการประมง ลดลงร้อยละ 3.2 หมวดผลิตภัณฑ์จากเหมือง สูงขึ้นร้อยละ 8.0

แนวโน้มดัชนีราคาผู้ผลิต 2565 ไตรมาส 4

ดัชนีราคาผู้ผลิตในไตรมาส 42565 มีแนวโน้มสูงขึ้นแต่อยู่ในอัตราที่ชะลอตัวต่อเนื่องจากไตรมาสที่ 3 ตามราคาพลังงานและสินค้าโภคภัณฑ์โลก อย่างไรก็ตาม ราคาสินค้าดังกล่าวยังคงอยู่ในระดับสูงเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะสินค้าในกลุ่มปิโตรเลียมดิบและก๊าซธรรมชาติ สำหรับปัจจัยที่ส่งผลให้ดัชนีราคาผู้ผลิตยังคงขยายตัว ได้แก่ 1) ต้นทุนการผลิต แม้ราคาน้ำมันจะปรับตัวลงเล็กน้อยในช่วงก่อนหน้า แต่ราคาปุ๋ย อาหารสัตว์ วัตถุดิบ ค่าขนส่ง และค่าไฟฟ้า ยังคงอยู่ในระดับสูงเมื่อเทียบกับปีก่อน รวมทั้งค่าแรงขั้นต่ำที่ปรับสูงขึ้น 2) ต้นทุนการนำเข้าที่ยังเพิ่มขึ้นจากเงินบาทอ่อนค่า และ 3) อุปสงค์ภายในประเทศที่ปรับตัวดีขึ้นจากภาคการท่องเที่ยวและการส่งออก

อย่างไรก็ตาม ความกังวลต่อการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก การดำเนินนโยบายการเงินที่เข้มงวดในหลายประเทศ และความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ รวมทั้งแนวโน้มการปรับลดกำลังการผลิตน้ำมันของกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมันหรือโอเปกในเดือนตุลาคม อาจส่งผลต่ออุปสงค์และอุปทานของสินค้าและบริการ ซึ่งจะกระทบต่อภาคการผลิตและดัชนีราคาผู้ผลิตของประเทศไทยตามลำดับ ทั้งนี้ จะต้องมีการติดตามและประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิด

 

#ดัชนีราคาผู้ผลิต 2565 #ดัชนีราคาผู้ผลิต ppi #ดัชนีราคาผู้ผลิต ย้อนหลัง #แนวโน้มดัชนีราคาผู้ผลิต #ดัชนีราคา #ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม #กองดัชนีเศรษฐกิจการค้า #สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า #กระทรวงพาณิชย์

 

บทความยอดนิยม 10 อันดับ

 

อัปเดตข่าวทุกวันที่นี่ www.mreport.co.th   

Line / Facebook / Twitter / YouTube @MreportTH