ภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไทย ไตรมาสที่ 4/2563

ภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไทย ไตรมาส 4/2563

อัปเดตล่าสุด 11 มี.ค. 2564
  • Share :
  • 591 Reads   

กองวิจัยเศรษฐกิจอุตสาหกรรม สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เผย รายงานสรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมในไตรมาสที่ 4 ปี 2563 ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) หดตัวร้อยละ 0.9 ปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้าซึ่งหดตัวร้อยละ 8.1 

อุตสาหกรรมสำคัญที่หดตัวในไตรมาสที่ 4/2563 อาทิ

  • การผลิตน้ำตาล ภาวะการผลิตลดลง เนื่องจากปีนี้เปิดหีบช้ากว่าปีก่อนซึ่งเป็นผลกระทบจากภัยแล้งอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ปริมาณอ้อยเข้าหีบน้อยกว่าปีก่อน
  • การผลิตเสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย การผลิตลดลงเกือบทุกรายการสินค้า เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจทั่วโลก ผู้บริโภคลดการซื้อสินค้าที่ไม่จำเป็นลงโดยเฉพาะในกลุ่มเสื้อผ้า
  • การผลิตผลิตภัณฑ์ยางอื่น ๆ ที่มิใช่ยางล้อ ภาวะการผลิตลดลงจากสินค้ายางแท่ง เนื่องจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ตั้งแต่ช่วงต้นปี2563 ส่งผลให้เศรษฐกิจชะลอตัวทำให้มีคำสั่งซื้อเข้ามาน้อย รวมถึงมีการเกิดอุทกภัยครั้งใหญ่ในช่วงต้นเดือนธันวาคม 2563 ทำให้วัตถุดิบ (น้ำยาง) ออกสู่ตลาดลดลง

อุตสาหกรรมที่มีการขยายตัวดีในไตรมาสที่ 4/2563 อาทิ

  • การผลิตรถยนต์ การผลิตเพิ่มขึ้นทุกรายการสินค้า เนื่องจากไตรมาสสุดท้ายของปีมีการเปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่ ๆ ออกสู่ตลาดหลายรุ่น
  • การผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เพิ่มขึ้นตามความต้องการใช้ในตลาดโลกที่เพิ่มมาก เพื่อนำไปใช้ร่วมกับกลุ่มสินค้าขั้นปลาย เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้า อุปกรณ์ไฟฟ้าต่าง ๆ

 

ภาพรวมเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมไทยไตรมาสที่ 4 ปี 2563  GDP หดตัวร้อยละ 4.2 นับเป็นการหดตัวต่อเนื่องนาน 6 ไตรมาส แต่ปรับตัวดีขึ้นจากสองไตรมาสก่อนหน้า

ผลผลิตมวลรวมของภาคอุตสาหกรรม ไตรมาสที่ 4 ของปี 2563 เป็นการหดตัวต่อเนื่องนาน 6 ไตรมาส แต่ก็ปรับตัวดีขึ้นจากสองไตรมาสก่อนหน้าจาก ปัจจัยสนับสนุนจากการส่งออกที่เริ่มดีขึ้น โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์ มีคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นและการผลิตทยอยกลับมาดังเดิม รวมทั้งมาตรการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ของภาครัฐและภาคเอกชนโดยเฉพาะในโรงงานอุตสาหกรรมที่มีการควบคุมอย่างเข้มงวดอีกด้วย

GDP ภาคอุตสาหกรรม ไตรมาสที่ 4 ของปี 2563 หดตัวร้อยละ 0.7 ปรับตัวดีขึ้นอย่างมากจากไตรมาสที่ผ่านมาที่หดตัวร้อยละ 5.3 และปรับตัวดีขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่หดตัวร้อยละ 2.2 เป็นการปรับตัวดีขึ้นในหลายอุตสาหกรรม โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์ ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมหลักที่มีทิศทางดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผล GDP ภาคอุตสาหกรรม ปี 2563 หดตัวร้อยละ 5.7

ดัชนีอุตสาหกรรมที่สําคัญ

ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม ไตรมาสที่ 4 ปี 2563 อยู่ที่ระดับ 96.57 ขยายตัวร้อยละ 5.6 จากไตรมาสที่ผ่านมาซึ่งอยู่ที่ระดับ 91.42 แต่หากเทียบกับช่วงเดียวกันในปีก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ระดับ 97.46 พบว่าหดตัวร้อยละ 0.9 

  • อุตสาหกรรมที่ส่งผลให้ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมา ได้แก่ การผลิตยานยนต์ การผลิตน้ำตาล การผลิตผลิตภัณฑ์ยางอื่นๆ เป็นต้น 
  • อุตสาหกรรมที่ส่งผลให้ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมลดลงจากช่วงเดียวกันในปีก่อนหน้า ได้แก่ การผลิตน้ำตาล การผลิตเสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย การผลิตผลิตภัณฑ์ยางอื่น ๆ เป็นต้น

ดัชนีการส่งสินค้า ไตรมาสที่ 4 ปี 2563 อยู่ที่ระดับ 97.64 ขยายตัวร้อยละ 4.1 จากไตรมาสที่ผ่านมาซึ่งอยู่ที่ระดับ 93.79 แต่หากเทียบกับช่วงเดียวกันในปีก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ระดับ 99.48 พบว่าหดตัวร้อยละ 1.8 

  • อุตสาหกรรมที่ส่งผลให้ดัชนีการส่งสินค้าเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมา ได้แก่ การผลิตยานยนต์ การผลิตผลิตภัณฑ์ยางอื่นๆ การผลิตคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ต่อพ่วง เป็นต้น 
  • อุตสาหกรรมที่ส่งผลให้ดัชนีการส่งสินค้าลดลงจากช่วงเดียวกันในปีก่อนหน้าได้แก่ การผลิตน้ำตาล การผลิตพลาสติกและยางสังเคราะห์ขั้นต้น การผลิตน้ำมันปาล์ม เป็นต้น

ดัชนีสินค้าสำเร็จรูปคงคลัง​ ไตรมาสที่ 4 ปี 2563 ดัชนีอยู่ที่ระดับ 126.72 ขยายตัวร้อยละ 6.9 จากไตรมาสที่ผ่านมาซึ่งอยู่ที่ระดับ 118.50  แต่หากเทียบกับช่วงเดียวกันในปีก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ระดับ 135.03 พบว่าหดตัวร้อยละ 6.2 

  • อุตสาหกรรมที่ส่งผลให้ดัชนีสินค้าสำเร็จรูปคงคลังเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมา ได้แก่ การผลิตยานยนต์ การผลิตน้ำตาล และการผลิตจักรยานยนต์ เป็นต้น
  • อุตสาหกรรมที่ส่งผลให้ดัชนีสินค้าสำเร็จรูปคงคลังลดลงจากไช่วงเดียวกันในปีก่อนหน้า ได้แก่ การผลิตยานยนต์ การต้ม การกลั่น และการผสมสุรา รวมถึง การผลิตน้ำตาล เป็นต้น

อัตราการใช้กำลังการผลิต ไตรมาสที่ 4 ปี 2563 อยู่ที่ระดับร้อยละ 64.22 ขยายตัวร้อยละ 60.63 จากไตรมาสที่ผ่านมา และขายตัวร้อยละ 63.33 จากช่วงเดียวกันในปีก่อนหน้า

  • อุตสาหกรรมที่ส่งผลให้อัตราการใช้กำลังการผลิตเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมา ได้แก่ การผลิตยานยนต์ การผลิตน้ำตาล การผลิตชิ้นส่วนและแผ่นวงจรอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น
  • อุตสาหกรรมที่ส่งผลให้อัตราการใช้กำลังการผลิตเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันในปีก่อนหน้า ได้แก่ การผลิตยานยนต์ การผลิตผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการกลั่นปิโตรเลียม การผลิตชิ้นส่วนและแผ่นวงจรอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น

ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม ไตรมาสที่ 4 ของปี 2563 มีค่าดัชนี 86.40 เพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมาซึ่งอยู่ที่ระดับ 83.90 และลดลงจากช่วงเดียวกันในปีก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ระดับ 91.73 ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นคาดการณ์ล่วงหน้า 3 เดือน อยู่ที่ระดับ 92.90 ลดลงจากช่วงเดียวกันในปีก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ระดับ 101.43 

ปัจจัยบวกที่ส่งผลต่อการปรับตัวเพิ่มขึ้นของความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในไตรมาส 4 ปี 2563 มาจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและช่วยเหลือ SMEs ของรัฐบาล เช่น โครงการเราเที่ยวด้วยกัน โครงการคนละครึ่ง และการควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในประเทศไทยค่อนข่างดีรวมทั้งการคิดค้นวัคซีนและการทดลองฉีดวัคซีนในหลายประเทศก็เป็นตัวชี้และสร้างความเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจมีทิศทางที่ดีขึ้น

 

อ่านต่อ: