ดัชนีราคาผู้ผลิตไทย 2565 เดือนมกราคม

ดัชนีราคาผู้ผลิตไทย 2565 เดือน ม.ค. เพิ่มขึ้น 8.7% จากช่วงเดียวกันปีก่อน

อัปเดตล่าสุด 4 ก.พ. 2565
  • Share :
  • 1,424 Reads   

สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยสรุปรายงานดัชนีราคาผู้ผลิตของประเทศไทย เดือนมกราคม 2565 อยู่ที่ระดับ 107.4 เพิ่มขึ้น 8.7% จากช่วงเดียวกันปีก่อน

ดัชนีราคาผู้ผลิต​ แบ่งตามกิจกรรมการผลิต (CPA : Classification of Products by Activity) เดือนมกราคม 2565 (ปี 2558 = 100) เท่ากับ 107.4 เทียบกับเดือนมกราคม 2564 สูงขึ้นร้อยละ 8.7 (YoY) เป็นผลจากการสูงขึ้นของราคาสินค้าทั้ง 3 หมวดหลัก ประกอบด้วย

Advertisement

  • หมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม สูงขึ้นร้อยละ 8.0 เนื่องจากการปรับสูงขึ้นราคาวัตถุดิบและราคาตลาดโลก สำหรับกลุ่มสินค้าสำคัญที่ราคาสูงขึ้น ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการกลั่นปิโตรเลียม ผลิตภัณฑ์อาหาร เคมีภัณฑ์และผลิตภัณฑ์เคมี ผลิตภัณฑ์คอมพิวเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ และผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมอื่น ๆ
  • หมวดผลิตภัณฑ์จากเหมือง สูงขึ้นร้อยละ 51.0 จากสินค้าสำคัญ ได้แก่ ก๊าซธรรมชาติ น้ำมันปิโตรเลียมดิบ และกลุ่มแร่ ตามภาวะตลาดโลก 
  • หมวดผลิตภัณฑ์เกษตรกรรมและการประมง สูงขึ้นร้อยละ 3.8 เป็นผลจากสินค้าเกษตรกรรมเป็นสำคัญ อาทิ ผลปาล์มสด อ้อย ยางพารา หัวมันสำปะหลังสด และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เนื่องจากความต้องการใช้ในอุตสาหกรรมยังมีอย่างต่อเนื่อง

ขณะที่ ดัชนีราคาผู้ผลิต แบ่งตามขั้นตอนการผลิต (SOP : Stage of Processing) พบว่าดัชนีหมวดสินค้าสำเร็จรูป หมวดสินค้ากึ่งสำเร็จรูป (แปรรูป) และหมวดสินค้าวัตถุดิบ สูงขึ้นร้อยละ 4.2 14.8 และ 20.1 ตามลำดับ โดยมีสินค้าสำคัญในห่วงโซ่อุปทานที่ราคาปรับสูงขึ้นตามวัตถุดิบ ได้แก่ ผลปาล์มสด น้ำมันปาล์มดิบ น้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ มันสำปะหลังสด มันเส้น/มันอัดเม็ด/แป้งมันสำปะหลัง และ อ้อย น้ำตาลทรายดิบ น้ำตาลทรายขาว เนื่องจากความต้องการของตลาดยังคงมีอย่างต่อเนื่อง

ดัชนีราคาผู้ผลิต 2565 เดือนมกราคม เทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน (YoY) สูงขึ้นร้อยละ 8.7 โดยมีการเปลี่ยนแปลงรายหมวด ดังนี้

  • หมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม สูงขึ้นร้อยละ 8.0 จากการสูงขึ้นของราคาสินค้าสำคัญ กลุ่มผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการกลั่นปิโตรเลียม ได้แก่ น้ำมันดีเซล น้ำมันแก๊สโซฮอล์ 91, 95 น้ำมันเครื่องบิน น้ำมันเตา และก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) เนื่องจากราคาปรับตามตลาดโลก กลุ่มผลิตภัณฑ์อาหาร ได้แก่ เนื้อสุกร และไก่สด จากความต้องการเพิ่มขึ้น ขณะที่ปริมาณผลผลิตไม่เพียงพอ ประกอบกับมีการระบาดของเชื้อโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร น้ำมันปาล์ม จากราคาวัตถุดิบที่สูงขึ้น เนื่องจากได้รับผลบวกจากมาตรการของภาครัฐในการกระตุ้นการใช้ในประเทศและส่งออก เพื่อลดผลผลิตส่วนเกิน น้ำตาลทราย และกากน้ำตาล ตามภาวะราคาตลาดโลก มันเส้น มันอัดเม็ด แป้งมันสำปะหลัง และน้ำมันถั่วเหลืองบริสุทธิ์ จากวัตถุดิบสินค้าเกษตรมีราคาสูงขึ้น กลุ่มเคมีภัณฑ์และผลิตภัณฑ์เคมี ได้แก่ เม็ดพลาสติก โซดาไฟ ปุ๋ยเคมีผสม กรดเกลือ คลอรีน กรดกำมะถัน และยางสังเคราะห์ จากราคาวัตถุดิบสูงขึ้น ประกอบกับมีความต้องการใช้ในภาคอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่อง กลุ่มผลิตภัณฑ์คอมพิวเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ ได้แก่ อุปกรณ์จัดเก็บข้อมูล (ฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์) จากการปรับโครงสร้างต้นทุนสินค้าใหม่ กลุ่มผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมอื่น ๆ ได้แก่ ทองคำ เนื่องจากราคาปรับตามตลาดโลก เครื่องประดับเทียม จากราคาวัตถุดิบสูงขึ้น กลุ่มโลหะขั้นมูลฐาน ได้แก่ เหล็กแผ่น ท่อเหล็ก เหล็กเส้น เหล็กฉาก เหล็กรูปตัวซี และลวดเหล็ก จากราคาวัตถุดิบสูงขึ้น กลุ่มผลิตภัณฑ์ยางและพลาสติก ได้แก่ ยางแท่ง ท่อ ข้อต่อ ถุงพลาสติก แผ่นฟิล์มพลาสติก บรรจุภัณฑ์พลาสติกอื่นๆ และถุงมือยาง จากความต้องการของตลาดที่มีอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับราคาวัตถุดิบปรับสูงขึ้น กลุ่มเครื่องจักรและเครื่องมือ ได้แก่ เครื่องสูบน้ำ จากวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตปรับราคาสูงขึ้น กลุ่มยานยนต์ ชิ้นส่วนและอุปกรณ์ ได้แก่ รถยนต์นั่ง และรถบรรทุกขนาดเล็ก จากราคาชิ้นส่วนนำเข้าปรับสูงขึ้น ประกอบกับมีการปรับโฉมรถใหม่   

  • หมวดผลิตภัณฑ์จากเหมือง​ สูงขึ้นร้อยละ 51.0 จากการสูงขึ้นของราคาสินค้า ได้แก่ ก๊าซธรรมชาติ น้ำมันปิโตรเลียมดิบ และกลุ่มแร่ (ดีบุก สังกะสี และวุลแฟรม) ตามภาวะตลาดโลก
  • หมวดผลิตภัณฑ์เกษตรกรรมและการประมง สูงขึ้นร้อยละ 3.8 จากการสูงขึ้นของสินค้าสำคัญ ผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร ประกอบด้วย กลุ่มพืชล้มลุก ได้แก่ อ้อย ถั่วเขียว และถั่วลิสง เนื่องจากความต้องการของตลาดเพิ่มขึ้น ประกอบกับปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดยังมีน้อย มันสำปะหลังสด เนื่องจากความต้องการของตลาดเพิ่มขึ้นตามทิศทางการขยายตัวของการใช้ในอุตสาหกรรมต่อเนื่องทั้งตลาดในประเทศและตลาดส่งออก ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เนื่องจากความต้องการใช้เพื่อเป็นวัตถุดิบอาหารสัตว์ ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดไม่เพียงพอกับความต้องการ และพืชผัก ได้แก่ ผักกวางตุ้ง มะเขือ กะหล่ำปลี ผักคะน้า หน่อไม้ฝรั่ง ผักขึ้นฉ่าย และกะหล่ำดอก เนื่องจากปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดลดลงเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา กลุ่มไม้ยืนต้น ได้แก่ ผลปาล์มสด เนื่องจากความต้องการใช้ในกลุ่มพลังงานและอาหารเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และยางพารา เนื่องจากความต้องการใช้ในอุตสาหกรรมต่อเนื่องเพิ่มขึ้น ประกอบกับมีมาตรการรักษาเสถียรภาพราคายางของภาครัฐ กลุ่มสัตว์ ได้แก่ สุกรมีชีวิต เนื่องจากผลผลิตมีน้อยกว่าความต้องการบริโภคจากผลกระทบของโรคระบาดในสุกร ไก่มีชีวิต ไข่ไก่ และไข่เป็ด เนื่องจากความต้องการบริโภคเพิ่มขึ้น และกลุ่มผลิตภัณฑ์จากการประมง ได้แก่ กุ้งแวนนาไม ปลาหมึกกล้วย และปลาลัง เนื่องจากปริมาณผลผลิตลดลง ขณะที่ความต้องการบริโภคเพิ่มขึ้นตามการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวภายในประเทศ สำหรับสินค้าที่ราคาปรับตัวลดลง ได้แก่ ข้าวเปลือก เนื่องจากความต้องการของตลาดชะลอตัวจากการแข่งขันด้านราคาส่งออกกับประเทศคู่ค้า ผลไม้ (สับปะรด ลำไย กล้วยน้ำว้า กล้วยไข่ ส้มเขียวหวาน) เนื่องจากความต้องการของตลาดชะลอตัว ประกอบกับสภาพอากาศที่เอื้ออำนวยส่งผลให้ปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดเพิ่มขึ้น

ดัชนีราคาผู้ผลิต 2565 เดือนมกราคม เทียบกับเดือนก่อนหน้า (MoM) สูงขึ้นร้อยละ 1.6 โดยมีการเปลี่ยนแปลงรายหมวด ดังนี้

  • หมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม สูงขึ้นร้อยละ 1.3 จากการสูงขึ้นของราคาสินค้าสำคัญ กลุ่มผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการกลั่นปิโตรเลียม ได้แก่ น้ำมันดีเซล น้ำมันแก๊สโซฮอล์ 91, 95 น้ำมันเตา และน้ำมันก๊าด โดยราคาสูงขึ้นตามภาวะตลาดโลก เนื่องจากสถานการณ์ความไม่สงบในประเทศผู้ผลิตน้ำมัน ส่งผลให้ปริมาณน้ำมันดิบโลกตึงตัว ประกอบกับมีการลดระดับความเข้มงวดของมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในหลายประเทศ ทำให้ความต้องการใช้น้ำมันโลกปรับตัวดีขึ้น กลุ่มผลิตภัณฑ์อาหาร ได้แก่ เนื้อสุกร ไก่สด น้ำมันปาล์ม ข้าวสารเจ้า ข้าวนึ่ง ปลายข้าว ข้าวสารเหนียว และน้ำตาลทราย เนื่องจากราคาวัตถุดิบสูงขึ้น ประกอบกับมีปริมาณผลผลิตน้อย ขณะที่ความต้องการทั้งในและต่างประเทศยังมีอย่างต่อเนื่อง ไส้กรอก กุนเชียง ลูกชิ้น ข้าวโพดหวานกระป๋อง มันอัดเม็ด แป้งมันสำปะหลัง อาหารไก่ และอาหารสุกร เนื่องจากราคาวัตถุดิบสูงขึ้น น้ำมันถั่วเหลืองบริสุทธิ์ อาหารสัตว์เลี้ยงสำเร็จรูป น้ำสับปะรด น้ำผลไม้อื่นๆ น้ำปลา และเส้นหมี่ เนื่องจากต้นทุนการผลิตปรับราคาสูงขึ้นหลายด้าน (วัตถุดิบ บรรจุภัณฑ์ และค่าขนส่งวัตถุดิบ) กลุ่มผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมอื่นๆ ได้แก่ ทองคำ ราคาปรับตามตลาดโลก กลุ่มผลิตภัณฑ์ยางและพลาสติก ได้แก่ ยางแท่ง และยางแผ่นรมควัน เนื่องจากมีปริมาณผลผลิตน้อย ขณะที่ผู้ประกอบการยังมีความต้องการเพื่อส่งมอบ บรรจุภัณฑ์พลาสติกอื่นๆ และถุงพลาสติก เนื่องจากราคาวัตถุดิบสูงขึ้น (เม็ดพลาสติก) และสินค้าอุตสาหกรรมกลุ่มอื่นๆ ที่ราคาปรับสูงขึ้นจากราคาวัตถุดิบเป็นหลัก ประกอบด้วย กลุ่มเครื่องจักรและเครื่องมือ ได้แก่ เครื่องสูบน้ำ กลุ่มเฟอร์นิเจอร์ ได้แก่ ที่นอน กลุ่มผลิตภัณฑ์ที่ทำจากแร่อโลหะ ได้แก่ คอนกรีตผสมเสร็จ กระเบื้องปูพื้น-บุผนัง เสาเข็มคอนกรีต ปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ อิฐก่อสร้าง ท่อคอนกรีต แผ่นคอนกรีตสำเร็จรูป คอนกรีตบล็อก (อิฐบล็อก/อิฐมวลเบา) กลุ่มกระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษ ได้แก่ กระดาษคร๊าฟท์ เยื่อกระดาษ กระดาษพิมพ์เขียน กล่องกระดาษ กลุ่มสิ่งทอ ได้แก่ เส้นใยสังเคราะห์ ด้ายไนล่อน ผ้าใยสังเคราะห์ ด้ายฝ้าย และด้ายใยสังเคราะห์ผสมฝ้าย กลุ่มผลิตภัณฑ์โลหะประดิษฐ์ ได้แก่ กุญแจ และตะปู/สกรู/น๊อต และกลุ่มโลหะขั้นมูลฐาน ได้แก่ เหล็กแผ่นรีดเย็น เหล็กรูปตัวซี และลวดแรงดึงสูง

  • หมวดผลิตภัณฑ์จากเหมือง สูงขึ้นร้อยละ 4.1 จากการสูงขึ้นของราคาสินค้า ได้แก่ ก๊าซธรรมชาติ และแร่โลหะ (แร่ดีบุก สังกะสี และวุลแฟรม) ตามภาวะตลาดโลก
  • หมวดผลิตภัณฑ์เกษตรกรรมและการประมง สูงขึ้นร้อยละ 3.1 จากการสูงขึ้นของสินค้าสำคัญ ผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร ประกอบด้วย กลุ่มพืชล้มลุก ได้แก่ ข้าวเปลือกเจ้า และข้าวเปลือกเหนียว เนื่องจากหมดฤดูกาล ส่งผลให้ปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดน้อยลง ขณะที่ผู้ประกอบการโรงสี มีความต้องการเพิ่มขึ้น อ้อย และหัวมันสำปะหลังสด เนื่องจากเป็นช่วงต้นฤดูกาลเก็บเกี่ยว ทำให้ปริมาณผลผลิตยังออกสู่ตลาดไม่มากนัก ขณะที่ความต้องการของตลาดเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และสับปะรดโรงงาน เนื่องจากความต้องการของตลาดเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ราคาอยู่ในเกณฑ์ดี กลุ่มไม้ยืนต้น ได้แก่ ผลปาล์มสด เนื่องจากเป็นช่วงปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดน้อย ขณะที่ความต้องการด้านพลังงานและการบริโภคมีอย่างต่อเนื่อง ราคาจึงอยู่ในระดับสูง กลุ่มสัตว์ ได้แก่ สุกร/ไก่มีชีวิต ไข่ไก่ และไข่เป็ด และผลิตภัณฑ์จากการประมง ได้แก่ กุ้งแวนนาไม ปลาหมึกกล้วย ปลาดุก ปลาช่อน และปลานิล เนื่องจากปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดน้อยกว่าความต้องการบริโภค และผู้ประกอบการร้านค้า ร้านอาหารต่างๆ กลับมาเปิดให้บริการตามปกติหลังจากมีการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ ประกอบกับเป็นช่วงเทศกาลท่องเที่ยวและปีใหม่ส่งผลให้การบริโภคปรับตัวสูงขึ้น สำหรับสินค้าที่ราคาปรับลดลง ได้แก่ พืชผัก (มะนาว ต้นหอม ถั่วฝักยาว มะเขือ ผักคะน้า กะหล่ำปลี ผักชี ผักกาดขาว ผักกวางตุ้ง ผักขึ้นฉ่าย พริกชี้ฟ้าสด แตงกวา และมะระจีน) เนื่องจากปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดเพิ่มขึ้นจากสภาพอากาศที่เอื้ออำนวยในการเพาะปลูก 

แนวโน้มดัชนีราคาผู้ผลิต 2565 เดือนกุมภาพันธ์

ดัชนีราคาผู้ผลิตเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2565 ยังมีแนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนื่อง จากราคาน้ำมันดิบที่ยังทรงตัวในระดับสูง ซึ่งส่งผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อดัชนีราคาผู้ผลิต ประกอบกับฐานราคาในปีที่ผ่านมาค่อนข้างต่ำ โดยเฉพาะหมวดผลิตภัณฑ์จากเหมือง และผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่อง นอกจากนี้ การผลิตสินค้ายังมีอุปสรรคจากการขาดแคลนวัตถุดิบ ต้นทุนการขนส่งปรับตัวสูงขึ้น และการขาดแคลนแรงงาน ซึ่งส่งผลให้การผลิตสินค้าไม่เพียงพอต่อความต้องการ และราคาจะปรับสูงขึ้นตามกลไกตลาด

ขณะที่ผลิตภัณฑ์เกษตรกรรมและการประมงที่สำคัญทางเศรษฐกิจ อาทิ อ้อย มันสำปะหลังสด ผลปาล์มสด ยางพารา และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ราคายังคงมีทิศทางที่ดีจากอุปสงค์โลก ขณะที่ปัญหาด้านอุปทานยังคงส่งผลให้ปริมาณผลผลิตไม่เพียงพอ ซึ่งปัจจัยเหล่านี้จะส่งผลให้ดัชนีราคาผู้ผลิตยังคงขยายตัวอย่างมีนัยสำคัญ

อย่างไรก็ตาม การแพร่ระบาดของโควิด-19 และมาตรการช่วยเหลือเพื่อลดค่าครองชีพให้กับประชาชน ในมิติต่าง ๆ ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำและปลายน้ำ อาจจะเป็นปัจจัยกดดันให้ดัชนีราคาผู้ผลิตไม่สามารถขยายตัวได้ในระดับที่ควรจะเป็น

 

#ดัชนีราคาผู้ผลิต 2564 #ดัชนีราคาผู้ผลิต ppi #ดัชนีราคาผู้ผลิต ย้อนหลัง #แนวโน้มดัชนีราคาผู้ผลิต #ดัชนีราคา #ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม #กองดัชนีเศรษฐกิจการค้า #สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า #กระทรวงพาณิชย์

 

บทความยอดนิยม 10 อันดับ

 

อัปเดตข่าวทุกวันที่นี่ www.mreport.co.th   

Line / Facebook / Twitter / YouTube @MreportTH