ดัชนีราคาผู้ผลิตไทย 2566 เดือนธันวาคม ดัชนีราคาผู้ผลิตไทย ธ.ค. 66

ดัชนีราคาผู้ผลิตไทย 2566 ภาพรวมทั้งปีเพิ่มเพียง 2.4%

อัปเดตล่าสุด 11 ม.ค. 2567
  • Share :
  • 22,113 Reads   

สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยสรุปรายงานดัชนีราคาผู้ผลิตของประเทศไทย เดือนธันวาคม 2566 อยู่ที่ระดับ 110.0 ลดลง 0.8% จากช่วงเดียวกันปีก่อน และลดลง 1.2% จากเดือนก่อนหน้า ภาพรวมดัชนีราคาผู้ผลิต 2566 เฉลี่ยทั้งปี สูงขึ้น 2.4% จากช่วงเดียวกันปีก่อน โดยมีปัจจัยหลักจากการลดลงต่อเนื่องเกือบตลอดทั้งปี โดยเฉพาะหมวดผลิตภัณฑ์จากเหมืองและหมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม

ดัชนีราคาผู้ผลิต​ แบ่งตามกิจกรรมการผลิต (CPA : Classification of Products by Activity) เดือนธันวาคม 2566 (ปี 2558 = 100) เท่ากับ 110.0 เทียบกับเดือนธันวาคม 2565 ลดลงร้อยละ 0.8

  • หมวดผลิตภัณฑ์จากเหมือง ลดลงร้อยละ 26.9 จากกลุ่มสินค้าปิโตรเลียมดิบและก๊าซธรรมชาติ และกลุ่มสินแร่โลหะ
  • หมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม สูงขึ้นร้อยละ 0.3 โดยมีกลุ่มสินค้าสำคัญที่ราคาสูงขึ้น ได้แก่ ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมอื่นๆ เครื่องดื่ม ผลิตภัณฑ์อาหาร ผลิตภัณฑ์ยางและพลาสติก และผลิตภัณฑ์ที่ทำจากแร่อโลหะ
  • หมวดผลิตภัณฑ์เกษตรกรรมและการประมง สูงขึ้นร้อยละ 3.1 เป็นผลจากสินค้าสำคัญ ได้แก่ ข้าวเปลือก อ้อย หัวมันสำปะหลังสด ยางพารา สับปะรดโรงงาน และไข่ไก่

ขณะที่ ดัชนีราคาผู้ผลิต แบ่งตามขั้นตอนการผลิต (SOP : Stage of Processing) พบว่า ดัชนีหมวดสินค้าสำเร็จรูป สูงขึ้นร้อยละ 1.3 ขณะที่หมวดสินค้ากึ่งสำเร็จรูป (แปรรูป) และหมวดสินค้าวัตถุดิบ ลดลงร้อยละ 1.7 และ 9.2 ตามลำดับ โดยในห่วงโซ่อุปทานมีสินค้าสำเร็จรูปที่ราคาเคลื่อนไหวตามราคาวัตถุดิบในอุตสาหกรรมต้นน้ำ/กลางน้ำ ประกอบด้วย สินค้าสำคัญที่ราคาสูงขึ้น ได้แก่ ข้าวเปลือกเจ้า → ข้าวสารเจ้า/ข้าวนึ่ง/ปลายข้าว และ ข้าวเปลือกเหนียว → ข้าวสารเหนียว สำหรับสินค้าสำคัญที่ราคาลดลง ได้แก่ สุกรมีชีวิต/ไก่มีชีวิต → เนื้อสุกร/ไก่สด และ เม็ดพลาสติก → บรรจุภัณฑ์พลาสติก (ถุงพลาสติก บรรจุภัณฑ์อื่น ๆ ) /แผ่นฟิล์มพลาสติก

ดัชนีราคาผู้ผลิต 2566 เดือนธันวาคม เทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน (YoY) ลดลงร้อยละ 0.8 โดยมีการเปลี่ยนแปลงรายหมวด ดังนี้

  • หมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม สูงขึ้นร้อยละ 0.3 จากการสูงขึ้นของราคาสินค้าสำคัญ ประกอบด้วย กลุ่มผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมอื่นๆ ได้แก่ ทองคำ เนื่องจากราคาเคลื่อนไหวตามทิศทางราคาตลาดโลก และเครื่องประดับเทียม เนื่องจากราคาวัตถุดิบสูงขึ้น กลุ่มเครื่องดื่ม ได้แก่ สุรากลั่น เบียร์ นมถั่วเหลือง เครื่องดื่มกาแฟสำเร็จรูป และน้ำดื่ม เนื่องจากต้นทุนการผลิตปรับสูงขึ้น อาทิ ราคาวัตถุดิบ บรรจุภัณฑ์ และพลังงาน (ค่าไฟฟ้า) กลุ่มสิ่งพิมพ์และ
    สิ่งที่เกี่ยวข้องกับการพิมพ์ ได้แก่ หนังสือแบบเรียน และหนังสือพิมพ์ เนื่องจากต้นทุนการผลิตสูงขึ้น โดยเฉพาะค่าไฟฟ้า ประกอบกับปริมาณการผลิตน้อยลงจากปีก่อน ส่งผลให้ต้นทุนการพิมพ์ต่อเล่มเพิ่มขึ้น กลุ่มผลิตภัณฑ์อาหาร ได้แก่ ข้าวสารเจ้า ข้าวนึ่ง ข้าวสารเหนียว และน้ำตาลทราย เนื่องจากความต้องการของตลาดทั้งภายในประเทศและส่งออกเพิ่มขึ้น มันเส้น น้ำสับปะรด และสับปะรดกระป๋อง เนื่องจากสินค้าเกษตรที่เป็นวัตถุดิบปรับราคาสูงขึ้น กลุ่มผลิตภัณฑ์ยางและพลาสติก ได้แก่ ยางแท่ง น้ำยางข้น ยางแผ่นรมควัน และถุงยางอนามัย เนื่องจากราคาวัตถุดิบสูงขึ้น กลุ่มผลิตภัณฑ์ที่ทำจากแร่อโลหะ ได้แก่ ปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ คอนกรีตผสมเสร็จ เสาเข็มคอนกรีต แผ่นคอนกรีตสำเร็จรูป และอิฐก่อสร้าง เนื่องจากต้นทุนการผลิตปรับสูงขึ้นทั้งราคาวัตถุดิบและพลังงาน ประกอบกับผู้ผลิตสินค้าบางรายการให้ส่วนลดกับลูกค้าน้อยลง นอกจากนี้ ยังมีสินค้าอุตสาหกรรมหลายกลุ่มปรับราคาสูงขึ้นตามราคาวัตถุดิบ ประกอบด้วย กลุ่มเสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย ได้แก่ เสื้อยืด เครื่องแบบนักเรียนชาย เครื่องแบบนักเรียนหญิง และถุงเท้า กลุ่มเครื่องหนังและผลิตภัณฑ์ ได้แก่ กระเป๋าเดินทาง กระเป๋าถือ และรองเท้าแตะ และกลุ่มผลิตภัณฑ์โลหะประดิษฐ์ ได้แก่ เตาแก๊ส กุญแจ และตะปู/สกรู/น๊อต

  • หมวดผลิตภัณฑ์จากเหมือง ลดลงร้อยละ 26.9 จากการลดลงของราคาสินค้า ได้แก่ ก๊าซธรรมชาติ น้ำมันปิโตรเลียมดิบ ก๊าซธรรมชาติเหลว (คอนเดนเสท) และสินแร่โลหะ (สังกะสี เหล็ก) เนื่องจากราคาเคลื่อนไหวตามทิศทางราคาตลาดโลกที่ลดลง ประกอบกับฐานราคาอยู่ระดับสูงมากในปีก่อน
  • หมวดผลิตภัณฑ์เกษตรกรรมและการประมง สูงขึ้นร้อยละ 3.1 จากการสูงขึ้นของราคาสินค้าสำคัญ ผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร ประกอบด้วย กลุ่มพืชล้มลุก ได้แก่ ข้าวเปลือกเจ้า ข้าวเปลือกเหนียว และอ้อย เนื่องจากความต้องการเพิ่มขึ้นจากทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งเป็นผลมาจากการที่ประเทศผู้ค้าข้าวและอ้อยรายสำคัญประกาศมาตรการจำกัดการส่งออกข้าวและน้ำตาล ประกอบกับปรากฏการณ์เอลนีโญทำให้ปริมาณผลผลิตลดลง หัวมันสำปะหลังสด เนื่องจากภาคอุตสาหกรรมยังมีความต้องการอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ราคาปรับตัวเพิ่มขึ้น กลุ่มไม้ยืนต้น ได้แก่ ยางพารา เนื่องจากภาคอุตสาหกรรมในประเทศคู่ค้าเริ่มฟื้นตัวจากปีที่แล้ว ส่งผลให้ความต้องการในตลาดเพิ่มขึ้น สับปะรดโรงงาน เนื่องจากปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดลดลงจากสภาพอากาศที่แปรปรวน และปริมาณน้ำที่ใช้ในภาคการเกษตรมีน้อย และกลุ่มสัตว์ ได้แก่ ไข่ไก่ เนื่องจากความต้องการบริโภคทั้งในประเทศและการส่งออกเพิ่มขึ้น สำหรับสินค้าที่ราคาปรับลดลง ประกอบด้วย ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เนื่องจากความต้องการใช้ในภาคปศุสัตว์ลดลง และผลปาล์มสด เนื่องจากปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ความต้องการใช้ในประเทศทรงตัว ประกอบกับการส่งออกชะลอตัวจากปัจจัยด้านราคาที่เป็นอุปสรรคต่อการแข่งขัน ส่งผลให้ราคาปรับลดลงตามราคาน้ำมันปาล์มดิบในตลาดต่างประเทศกลุ่มสัตว์ ได้แก่ สุกรมีชีวิต โคมีชีวิต และไก่มีชีวิต เนื่องจากปริมาณผลผลิตในประเทศเพิ่มขึ้น ทั้งจากการนำเข้าและการผลิตของเกษตรกรบางส่วนในประเทศ ขณะที่ความต้องการบริโภคยังไม่ฟื้นตัวดี ส่งผลให้ราคาหน้าฟาร์มลดลง และผลิตภัณฑ์จากการประมง ได้แก่ กุ้งแวนนาไม เนื่องจากได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ผลผลิตกุ้งโลกล้นตลาด และระดับราคากุ้งโลกที่ปรับตัวลดลง ประกอบกับความต้องการบริโภคจากภาคครัวเรือนและภาคการท่องเที่ยวยังฟื้นตัวช้าเมื่อเทียบกับปีก่อน

ดัชนีราคาผู้ผลิต 2566 เดือนธันวาคม เทียบกับเดือนก่อนหน้า (MoM) ลดลงร้อยละ 1.2 โดยมีการเปลี่ยนแปลงรายหมวด ดังนี้

  • หมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม  ลดลงร้อยละ 1.0 จากการลดลงของราคาสินค้าสำคัญกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการกลั่นปิโตรเลียม ได้แก่ น้ำมันดีเซล น้ำมันเครื่องบิน น้ำมันแก๊สโซฮอล์ 91 และ 95 น้ำมันเตา น้ำมันก๊าด ยางมะตอย และน้ำมันหล่อลื่น เนื่องจากความต้องการใช้น้ำมันทั่วโลกลดลงจากภาวะ
    เศรษฐกิจโลกชะลอตัว กลุ่มเคมีภัณฑ์และผลิตภัณฑ์เคมี ได้แก่ เม็ดพลาสติก โซดาไฟ ยางสังเคราะห์ และปุ๋ยเคมีผสม เนื่องจากราคาวัตถุดิบลดลง ประกอบกับความต้องการสินค้าชะลอตัว กลุ่มผลิตภัณฑ์คอมพิวเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ ได้แก่ อุปกรณ์จัดเก็บข้อมูล และหน่วยรับข้อมูล/แสดงผล เนื่องจากเป็นสินค้าส่งออก ราคาจึงเคลื่อนไหวตามค่าเงินบาทที่แข็งค่า กลุ่มผลิตภัณฑ์อาหาร ได้แก่ น้ำตาลทราย เนื่องจากราคาเคลื่อนไหวตามทิศทางราคาตลาดโลก มันเส้น เนื่องจากราคาปรับลดลงตามผลผลิตในฤดูกาลใหม่ที่จะออกสู่ตลาด ประกอบกับผู้ผลิตบางรายได้รับคำสั่งซื้อลดลง น้ำมันปาล์มดิบ
    เนื่องจากผลผลิตปาล์มออกสู่ตลาดต่อเนื่องและเพียงพอต่อความต้องการของโรงสกัดน้ำมันปาล์ม ขณะที่ความต้องการใช้ในประเทศยังคงอยู่ในระดับทรงตัว และการส่งออกชะลอตัวลงจากการแข่งขันสูงด้านราคา รวมทั้งราคาในตลาดต่างประเทศมีการปรับลดลงด้วย ปลาทูน่ากระป๋อง และสับปะรดกระป๋อง เนื่องจากเป็นสินค้าส่งออก ราคาจึงปรับตามค่าเงินบาทที่แข็งค่า เนื้อปลาบด และปลาป่น เนื่องจากปริมาณวัตถุดิบในการผลิตมีมาก ประกอบกับสินค้าปลาป่นมีความต้องการใช้ชะลอตัวในภาคปศุสัตว์และสัตว์น้ำ กลุ่มโลหะขั้นมูลฐาน ได้แก่ เหล็กแท่ง เหล็กรูปตัวซี เหล็กแผ่นเคลือบดีบุก และลวดเหล็กเนื่องจากผู้ผลิตบางรายปรับราคาลดลงเล็กน้อยตามราคาวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตแต่ละรอบ กลุ่มผลิตภัณฑ์ยางและพลาสติก ได้แก่ ยางแท่ง ถุงมือยาง และถุงยางอนามัย เนื่องจากราคาซื้อขายวัตถุดิบในเดือนนี้เคลื่อนไหวค่อนข้างผันผวน ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัยทั้งตลาดโลกและในประเทศ รวมถึงผู้ผลิตบางรายซื้อวัตถุดิบในช่วงที่ราคาปรับลดลง ประกอบกับราคาสินค้าส่งออกเคลื่อนไหวตามค่าเงินบาทที่แข็งค่า บรรจุภัณฑ์พลาสติกอื่นๆ และกระสอบพลาสติก เนื่องจากความต้องการสินค้าชะลอตัว ประกอบกับมีการแข่งขันสูง สำหรับสินค้ากลุ่มเครื่องดื่ม ได้แก่ เบียร์ กลุ่มสิ่งทอ ได้แก่ ผ้าดิบ ผ้าใยสังเคราะห์ และผ้าฝ้าย และกลุ่มเครื่องหนังและผลิตภัณฑ์ ได้แก่ รองเท้าบุรุษ รองเท้าสตรี และรองเท้าแตะ เนื่องจากสินค้าบางรายการมีการผลิตเพื่อส่งออกในรูปเงินเหรียญสหรัฐ ราคาจึงปรับลดลงตามค่าเงินบาทที่แข็งค่า และสินค้ารองเท้าประเภทหนังเทียมปรับราคาลดลงตามต้นทุนวัตถุดิบ นอกจากนี้ กลุ่มไม้และผลิตภัณฑ์จากไม้ ได้แก่ ไม้ยางพารา เนื่องจากความต้องการของตลาดส่งออกลดลง โดยเฉพาะจีนที่ชะลอการผลิตสินค้าจากไม้ยางพารา

  • หมวดผลิตภัณฑ์จากเหมือง ลดลงร้อยละ 10.6 จากการลดลงของราคาสินค้า ได้แก่ ก๊าซธรรมชาติ ก๊าซธรรมชาติเหลว (คอนเดนเสท) น้ำมันปิโตรเลียมดิบ และสินแร่โลหะ (สังกะสี เหล็ก ดีบุก) เนื่องจากราคาเคลื่อนไหวตามทิศทางตลาดโลก
  • หมวดผลิตภัณฑ์เกษตรกรรมและการประมง สูงขึ้นร้อยละ 1.1 จากการสูงขึ้นของราคาสินค้าสำคัญ ผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร ประกอบด้วย กลุ่มพืชล้มลุก ได้แก่ อ้อย เนื่องจากราคาน้ำตาลในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้น รวมถึงประเทศผู้ส่งออกน้ำตาลรายสำคัญมีมาตรการจำกัดการส่งออก ขณะที่ปริมาณผลผลิตในภาพรวมต่ำกว่าที่คาดการณ์จากภาวะภัยแล้ง หัวมันสำปะหลังสด เนื่องจากผลผลิตฤดูกาลใหม่เริ่มทยอยออกสู่ตลาด แต่ปริมาณยังไม่เพียงพอกับความต้องการใช้ในภาคอุตสาหกรรมที่ปรับตัวดีขึ้น กลุ่มไม้ยืนต้น ได้แก่ ยางพารา เนื่องจากความต้องการของภาคการส่งออกสูงขึ้นจากการที่เศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าสำคัญเริ่มฟื้นตัว และกลุ่มผลิตภัณฑ์จากการประมง ได้แก่ กุ้งแวนนาไม เนื่องจากความต้องการบริโภคเพิ่มขึ้นในช่วงฤดูกาลท่องเที่ยว ประกอบกับมีคำสั่งซื้อจากผู้ประกอบการร้านอาหารเพิ่มขึ้นเพื่อรองรับการบริโภคในช่วงเทศกาลปีใหม่และวันหยุดยาว สำหรับสินค้าสำคัญที่ราคาปรับลดลง ประกอบด้วย ผลปาล์มสด เนื่องจากราคาน้ำมันโลกและในประเทศปรับตัวลดลงจากช่วงก่อนหน้า พืชน้ำมันที่ใช้เป็นส่วนประกอบเชื้อเพลิงชีวภาพจึงปรับราคาลดลงในทิศทางเดียวกัน และพืชผัก (มะนาว ต้นหอม ผักคะน้า ผักกวางตุ้ง) เนื่องจากผลผลิตเข้าสู่ตลาดมาก รวมทั้งฝนนอกฤดูทำให้ผลผลิตเกิดความเสียหาย ราคารับซื้อจึงลดลง

ดัชนีราคาผู้ผลิต 2566 ไตรมาสที่ 4 เทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน (YoY) ลดลงร้อยละ 1.8 โดยมีการเปลี่ยนแปลงรายหมวด ดังนี้

  • หมวดผลิตภัณฑ์จากเหมือง ลดลงร้อยละ 30.7 จากการลดลงของราคาสินค้า ได้แก่ ก๊าซธรรมชาติ น้ำมันปิโตรเลียมดิบ และสินแร่โลหะ (สังกะสี เหล็ก)
  • หมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ลดลงร้อยละ 0.4 จากการลดลงของราคาสินค้าสำคัญ กลุ่มผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการกลั่นปิโตรเลียม ได้แก่ น้ำมันดีเซล น้ำมันแก๊สโซฮอล์ 91 และ 95 น้ำมันก๊าด ยางมะตอยและน้ำมันหล่อลื่น กลุ่มเคมีภัณฑ์และผลิตภัณฑ์เคมี ได้แก่ เม็ดพลาสติก โซดาไฟ กรดกำมะถัน ปุ๋ยเคมีผสมและก๊าซที่ใช้ในงานอุตสาหกรรม (ออกซิเจน ไนโตรเจน) กลุ่มผลิตภัณฑ์คอมพิวเตอร์ และอิเล็กทรอนิกส์ ได้แก่ อุปกรณ์จัดเก็บข้อมูล (ฮาร์ดดิสไดรฟ์) Integrated Circuit (IC) และหน่วยรับข้อมูล/แสดงผล และกลุ่มโลหะขั้นมูลฐาน ได้แก่ เหล็กแท่ง เหล็กแผ่น เหล็กเส้น เหล็กรูปตัวซี และลวดเหล็ก
  • หมวดผลิตภัณฑ์เกษตรกรรมและการประมง สูงขึ้นร้อยละ 1.9 จากการสูงขึ้นของราคาสินค้าสำคัญ ประกอบด้วย กลุ่มผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร ได้แก่ ข้าวเปลือกเจ้า ข้าวเปลือกเหนียว หัวมันสำปะหลังสด อ้อย ผลปาล์มสด น้ำยางสด ยางแผ่นดิบ เศษยาง ผลไม้ (สับปะรดบริโภค สับปะรดโรงงาน ลำไย มะม่วง มะละกอสุก กล้วยไข่) และพืชผัก (มะนาว กะหล่ำปลี ผักคะน้า ผักกาดขาว หอมแดง กระเทียม ขิง) และกลุ่มผลิตภัณฑ์จากการประมง ได้แก่ ปลาทูสด ปลาสำลีปลาจะละเม็ด ปลาสีกุน และปลาหมึกกล้วย

ดัชนีราคาผู้ผลิต 2566 เฉลี่ยทั้งปี (ม.ค.- ธ.ค.) เทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน (AoA) สูงขึ้นร้อยละ 2.4 โดยมีการเปลี่ยนแปลงรายหมวด ดังนี้

  • หมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม​ ลดลงร้อยละ 1.9 จากการลดลงของราคาสินค้าสำคัญ ประกอบด้วย กลุ่มผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการกลั่นปิโตรเลียม ได้แก่ น้ำมันดีเซล น้ำมันเตา น้ำมันแก๊สโซฮอล์ 91 และ 95 ก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) น้ำมันเครื่องบิน และน้ำมันก๊าด กลุ่มเคมีภัณฑ์และผลิตภัณฑ์เคมี ได้แก่
    เม็ดพลาสติก โซดาไฟ ปุ๋ยเคมีผสม และกรดกำมะถัน กลุ่มผลิตภัณฑ์ยางและพลาสติก ได้แก่ ยางแท่ง น้ำยางข้น ยางแผ่นรมควัน ถุงมือยาง และแผ่นฟิล์มพลาสติก กลุ่มเหล็กและผลิตภัณฑ์ ได้แก่ เหล็กแท่ง เหล็กเส้น และเหล็กลวด กลุ่มผลิตภัณฑ์คอมพิวเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ ได้แก่ อุปกรณ์จัดเก็บข้อมูล
    (ฮาร์ดดิสไดรฟ์) 
  • หมวดผลิตภัณฑ์จากเหมือง ลดลงร้อยละ 17.6 จากการลดลงของราคาสินค้าสำคัญ ได้แก่ ก๊าซธรรมชาติ น้ำมันปิโตรเลียมดิบ และแร่โลหะ (แร่สังกะสี เหล็ก ดีบุก)
  • หมวดผลิตภัณฑ์เกษตรกรรมและการประมง สูงขึ้นร้อยละ 0.4 จากการสูงขึ้นของราคาสินค้าสำคัญ ประกอบด้วย กลุ่มผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร ได้แก่ ข้าวเปลือกเจ้า ข้าวเปลือกเหนียว หัวมันสำปะหลังสด พืชผัก (มะนาว กะหล่ำปลี ผักกาดขาว ผักกวางตุ้ง ถั่วฝักยาว ผักคะน้า) อ้อย ไข่ไก่ และผลไม้สด
    (สับปะรดโรงงาน/บริโภค ลำไย ส้มเขียวหวาน มะม่วง) สำหรับสินค้าสำคัญที่ราคาลดลง ได้แก่ ผลปาล์มสด ยางพารา ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ สุกรมีชีวิต และกุ้งแวนนาไม

ดัชนีราคาผู้ผลิต เฉลี่ยทั้งปี 2566 หดตัวร้อยละ 2.4 จากปีก่อน ซึ่งเป็นการหดตัวต่อเนื่องเกือบตลอดทั้งปี โดยเฉพาะหมวดผลิตภัณฑ์จากเหมืองและหมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ตามราคาพลังงานในตลาดโลกที่ส่งผลให้ราคาสินค้าในกลุ่มปิโตรเลียม ก๊าซธรรมชาติและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องหดตัวลงค่อนข้างมาก นอกจากนี้ ภาวะเศรษฐกิจในประเทศยังคงฟื้นตัวได้ช้าจากปัญหาหนี้ภาคครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง ส่งผลให้ผู้บริโภคระมัดระวังการจับจ่ายใช้สอย และเงินบาทที่แข็งค่า รวมถึงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่สูงขึ้น แม้จะทำให้ต้นทุนทางการเงินของผู้ประกอบการเพิ่มขึ้น แต่ผู้ประกอบการยังคงต้องรักษาขีดความสามารถในการแข่งขันทางการค้า ส่งผลให้ทั้งผลผลิตภาคอุตสาหกรรมโดยรวมของประเทศและระดับราคาสินค้าโดยเฉลี่ยยังคงปรับลดลงกว่าปีก่อน

อย่างไรก็ดี ความกังวลด้านความมั่นคงทางอาหารที่เกิดขึ้นทั่วโลก ทำให้ความต้องการสินค้าในกลุ่มผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรและผลิตภัณฑ์อาหารเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ระดับราคาของสินค้าในกลุ่มดังกล่าวยังคงขยายตัวได้ในปี 2566

แนวโน้มดัชนีราคาผู้ผลิตในปี 2567

ดัชนีราคาผู้ผลิตปี 2567 มีแนวโน้มขยายตัวเล็กน้อย ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก เศรษฐกิจไทย และฐานราคาที่ต่ำในปี 2566 อย่างไรก็ตาม ความผันผวนของราคาน้ำมัน ความแปรปรวนของสภาพอากาศ สถานการณ์ความขัดแย้งในภูมิภาคต่างๆ ของโลก และมาตรการภาครัฐ รวมทั้งการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ซึ่งส่งผลต่อต้นทุนการผลิต อาจทำให้ดัชนีราคาผู้ผลิตไม่เป็นไปตามที่คาดการณ์ได้ ทั้งนี้จะต้องมีการติดตามและประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิดต่อไป

 

 

#ดัชนีราคาผู้ผลิต 2566 #ดัชนีราคาผู้ผลิต ppi #ดัชนีราคาผู้ผลิต (ppi) #ดัชนีราคาผู้ผลิต (ppi) คือ #ดัชนีราคาผู้ผลิต คือ #ดัชนีราคาผู้ผลิต ย้อนหลัง #แนวโน้มดัชนีราคาผู้ผลิต #ดัชนีราคา #ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม #กองดัชนีเศรษฐกิจการค้า #สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า #กระทรวงพาณิชย์

 

บทความยอดนิยม 10 อันดับ

 

อัปเดตข่าวทุกวันที่นี่ www.mreport.co.th   

Line / Facebook / Twitter / YouTube @MreportTH