ส่งออกไทย 9 เดือนแรกของปี 63 ใช้สิทธิ FTA-GSP ลดลง 14.76%

ส่งออกไทย 9 เดือนแรกของปี 63 ใช้สิทธิ FTA-GSP ลดลง 14.76%

อัปเดตล่าสุด 5 ม.ค. 2564
  • Share :
  • 394 Reads   

ภาพรวมการส่งออกไทยใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้าภายใต้ FTA และ GSP ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2563 ที่ผ่านมา ใช้สิทธิลดลง 14.76% ยกเว้นการใช้สิทธิฯ ส่งออกอาหาร ยังขยายตัวต่อเนื่อง

นายกีรติ รัชโน อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยการใช้สิทธิประโยชน์สำหรับการส่งออกภายใต้ความตกลงการค้าเสรี (FTA) และภายใต้ระบบสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป (GSP) ระหว่างเดือนมกราคม-กันยายน 2563 โดยมูลค่าการใช้สิทธิฯ รวมเท่ากับ 45,609.30 ล้านเหรียญสหรัฐ มีสัดส่วนการใช้สิทธิฯ ร้อยละ 76.27 แบ่งเป็นมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ความตกลงการค้าเสรี (FTA) 42,337.88 ล้านเหรียญสหรัฐ และมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ระบบสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป (GSP) 3,271.43 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยภาพรวมการใช้สิทธิประโยชน์ฯ 9 เดือนแรกของปี 2563 ลดลงร้อยละ 14.76

การใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ความตกลงทางการค้าเสรี (FTA) ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2563 มีมูลค่า 42,337.88 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา ร้อยละ 15.85 มีสัดส่วนการใช้สิทธิฯ ร้อยละ 76.68 โดยตลาดที่ไทยส่งออกโดยมีมูลค่าการใช้สิทธิฯ ภายใต้ FTA สูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ 1) จีน (มูลค่า 14,445.60 ล้านเหรียญสหรัฐ) 2) อาเซียน (มูลค่า 13,636.22 ล้านเหรียญสหรัฐ) 3) ญี่ปุ่น (มูลค่า 4,858.47 ล้านเหรียญสหรัฐ) 4) ออสเตรเลีย (มูลค่า 4,765.41 ล้านเหรียญสหรัฐ) และ 5) อินเดีย (มูลค่า 2,373.79 ล้านเหรียญสหรัฐ) สำหรับกรอบความตกลงการค้าเสรีที่มีอัตราการใช้สิทธิ-ประโยชน์ฯ สูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ 1) ไทย-ชิลี (ร้อยละ 100) 2) อาเซียน-จีน (ร้อยละ 91.27) 3) ไทย-เปรู (ร้อยละ 86.49) 4) ไทย-ญี่ปุ่น (ร้อยละ 82.24) และ 5) อาเซียน-เกาหลี (ร้อยละ 71.62) สินค้าที่มีมูลค่าการใช้สิทธิฯ สูง อาทิ ทุเรียนสด ผลิตภัณฑ์ยางสังเคราะห์ผสมยางธรรมชาติ ผลไม้ (ลำไย เงาะ ลางสาด) รถบรรทุกขนส่งขนาดไม่เกิน 5 ตัน เครื่องปรับอากาศ ฝรั่ง มะม่วง มังคุด มันสำปะหลัง เป็นต้น

การใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ระบบสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป หรือ GSP ทั้ง 4 ระบบ สหรัฐอเมริกา สวิตเซอร์แลนด์ รัสเซียและเครือรัฐเอกราช และนอร์เวย์ ในช่วง มกราคม-กันยายน 2563 มีมูลค่าการใช้สิทธิฯ 3,271.43 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 2.44 และมีสัดส่วนการใช้สิทธิฯ ร้อยละ 71.30 ตลาดส่งออกที่ไทยมีมูลค่าการใช้สิทธิฯ มากที่สุดคือ สหรัฐอเมริกา มีมูลค่าการใช้สิทธิฯ 2,905.83 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 2.63 และมีสัดส่วนการใช้สิทธิฯ ร้อยละ 71.78 สินค้าส่งออกสำคัญ อาทิ ถุงมือยาง อาหารปรุงแต่ง เครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ อันดับสองคือ สวิตเซอร์แลนด์ มีมูลค่าการใช้สิทธิฯ 238.96 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 0.19 และมีสัดส่วนการใช้สิทธิฯ ร้อยละ 60.55 สินค้าส่งออกสำคัญ อาทิ น้ำสับปะรด ปลาทูน่ากระป๋อง กระเป๋าเดินทางขนาดใหญ่ อันดับสามคือ รัสเซียและเครือรัฐเอกราช มีมูลค่าการใช้สิทธิฯ 102.22 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 2.30 และมีสัดส่วนการใช้สิทธิฯ ร้อยละ 81.74 สินค้าส่งออกสำคัญ อาทิ เนื้อปลาแบบฟิลเลสด แช่เย็น แช่แข็ง พืช/ผลไม้ปรุงแต่ง ข้าวที่สีบ้างแล้ว/สีทั้งหมด และนอร์เวย์ มีมูลค่าการใช้สิทธิฯ 24.42 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 33.96 และมีสัดส่วนการใช้สิทธิฯ ร้อยละ 100 สินค้าส่งออกสำคัญ อาทิ อาหารปรุงแต่ง ข้าวโพดหวาน ข้าว สำหรับสินค้าที่มีมูลค่าการใช้สิทธิฯ GSP สูง อาทิ สับปะรดกระป๋อง ถุงมือยาง พืชและผลไม้ปรุงแต่ง อาหารปรุงแต่ง ส่วนประกอบของเครื่องปรับอากาศ เครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ เลนส์แว่นตา ล้อและส่วนประกอบของยานยนต์ เป็นต้น

สำหรับการใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้าในช่วงครึ่งหลังของปี 2563 สินค้าที่เติบโตต่อเนื่องและเป็นดาวเด่นของการส่งออกไทยยังคงเป็นสินค้าอาหาร เครื่องดื่ม และเกษตรแปรรูป โดยสามารถส่งออกไปยังหลายตลาดที่ไทยมีความตกลงฯ อาทิ เครื่องดื่มที่ไม่เติมแก๊ซ เช่น นม นมถั่วเหลือง (อาเซียน) น้ำตาลที่ได้จากอ้อย (อาเซียน) อาหารปรุงแต่ง (อาเซียน, ไทย-ชิลี) เนื้อ เครื่องใน หรือเลือดของไก่ (อาเซียน-เกาหลี) กุ้ง (อาเซียน-เกาหลี) สับปะรดปรุงแต่ง (ไทย-ชิลี ) ปลาทูน่า ปลาสคิปแจ็ก และปลาโบนิโตชนิดซาร์ดา (กระป๋อง) (ไทย-ชิลี) มะนาวฝรั่งและมะนาว (รัสเซียและเครือรัฐเอกราช) เนื้อปลาแบบฟิลเลสด แช่เย็น แช่แข็ง (รัสเซียและเครือรัฐเอกราช) สับปะรดกระป๋อง (รัสเซียและเครือรัฐเอกราช) ซอสและของปรุงแต่งสำหรับทำซอส (อาเซียน-ญี่ปุ่น) ขนมปัง เพสทรี เค้ก บิสกิตและขนมจำพวกเบเกอรี่ (อาเซียน-ญี่ปุ่น) 

หากผู้ประกอบการมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้าสามารถค้นหาข้อมูลได้ที่เว็บไซต์กรมการค้าต่างประเทศ www.dft.go.th หรือโทร สายด่วน 1385 รวมถึงไลน์แอปพลิเคชันชื่อบัญชี @gsp_helper

 

อ่านต่อ: