แนวโน้มการลงทุนเครื่องจักรผลิตชิปเซมิคอนดักเตอร์ 2022

ลงทุนเครื่องจักร 'ผลิตชิปเซมิคอนดักเตอร์' โต รับเทรนด์ดิจิทัล คาดปี 2022 ทำสถิติใหม่

อัปเดตล่าสุด 25 มี.ค. 2565
  • Share :
  • 1,765 Reads   

สมาคมอุตสาหกรรมเซมิคอนดัคเตอร์นานาชาติ (SEMI) เผย ปี 2022 การลงทุนเครื่องจักรและอุปกรณ์ผลิตเซมิคอนดักเตอร์มีแนวโน้มเติบโตสูงทำสถิติใหม่ โดยเฉพาะไต้หวัน เกาหลีใต้ และอาเซียน

Advertisement

เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2022 สมาคมอุตสาหกรรมเซมิคอนดัคเตอร์นานาชาติ หรือ SEMI คาดการณ์ว่า ในปี 2022 การลงทุนเครื่องจักรและอุปกรณ์ผลิตเซมิคอนดักเตอร์สำหรับโรงงานแบบ front-end หรือโรงงานที่มีกระบวนการผลิตเริ่มตั้งแต่แผ่นเวเฟอร์เปล่าจนสำเร็จเป็นเซมิคอนดักเตอร์จะอยู่ที่ 107,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 42% จากปี 2021 และจะเป็นสถิติใหม่เท่าที่เคยมีการบันทึกข้อมูลมาตั้งแต่ปี 2006

นาย Ajit Manocha ประธานสมาคม SEMI แสดงความเห็นว่า การลงทุนเครื่องจักรและอุปกรณ์ผลิตเซมิคอนดักเตอร์มูลค่ารวมมากกว่า 1 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ สะท้อนให้เห็นความต้องการนำเซมิคอนดักเตอร์ไปใช้งานในด้านใหม่ ๆ ซึ่งกำลังขยายตัว เน้นย้ำให้เห็นถึงการเติบโตของอุตสาหกรรมในระยะยาวและบทบาทของอิเล็กทรอนิกส์ในยุคดิจิทัล

นาย Sanjay Malhotra ฝ่ายการตลาดจาก SEMI คาดการณ์ว่า ความต้องการลงทุนเครื่องจักรและอุปกรณ์ผลิตเซมิคอนดักเตอร์จะดีขึ้นอย่างต่อเนื่องและเติบโตอย่างมั่นคงทั่วโลก โดยจะมีมูลค่าสูงกว่า 1 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐไปจนถึงปี 2023

แนวโน้มการลงทุนเครื่องจักรและอุปกรณ์ผลิตเซมิคอนดักเตอร์แบ่งตามภูมิภาค

ทางสมาคมฯ คาดการณ์ว่า ในปี 2022 การลงทุนเครื่องจักรและอุปกรณ์ผลิตเซมิคอนดักเตอร์ในภูมิภาคหลัก จะมีแนวโน้มเรียงตามลำดับ ดังนี้

1. ไต้หวัน ลงทุนสูงสุดเป็นมูลค่ารวม 3.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 56% จากปี 2021
2. เกาหลีใต้ ลงทุนมูลค่ารวม 2.6 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 9% จากปี 2021
3. จีน ลงทุนมูลค่ารวม 1.75 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลง 30% จากปี 2021 ซึ่งเป็นช่วงพีคของการลงทุน
4. ยุโรป ลงทุนมูลค่ารวม 9.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 248% จากปี 2021

ตัวเลขคาดการณ์ที่น่าสนใจคือ ไต้หวัน เกาหลีใต้ และอาเซียนจะมีการลงทุนทำลายสถิติในปี 2022 นี้ ส่วนอเมริกาจะมีการลงทุนเพิ่มขึ้นในระดับ 9.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2023

คาดการณ์กำลังการผลิตเซมิคอนดักเตอร์

จากกำลังการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ทั่วโลกในปี 2021 ซึ่งเพิ่มขึ้น 7% นั้น ทางสมาคมฯ จึงคาดการณ์ว่า ในปี 2022 กำลังการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ทั่วโลกจะเพิ่มขึ้น 8% ขณะที่ปี 2023 จะเพิ่มในอัตราที่ลดลงอยู่ที่ 6% 

ตัวเลขการขยายตัวของกำลังการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ที่ 8% นั้นเคยเกิดขึ้นครั้งสุดท้ายเมื่อปี 2010 ซึ่งมีกำลังการผลิตเวเฟอร์ (200 mm) ที่ 16 ล้านหน่วยต่อเดือน หรือคิดเป็นสัดสวนเกือบครึ่งของกำลังการผลิตในปี 2023 ที่คาดการณ์ว่าจะอยู่ที่ 29 ล้านหน่วยต่อเดือน 

 

#ชิป #เซมิคอนดักเตอร์ #Semiconductor #Silicon Wafer #ชิปกึ่งตัวนำ #เครื่องจักรและอุปกรณ์ผลิตเซมิคอนดักเตอร์ #ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ #Electronics #M Report #mreportth #วงในอุตสาหกรรม #ข่าวอุตสาหกรรม

 

บทความยอดนิยม 10 อันดับ

 

อัปเดตข่าวทุกวันที่นี่ www.mreport.co.th   

Line / Facebook / Twitter / YouTube @MreportTH