ผลประกอบการ Boeing ไตรมาสที่ 3 2020

โบอิ้งวิกฤตหนัก เล็งปลด 30,000 ตำแหน่ง หลังขาดทุนยับ

อัปเดตล่าสุด 30 ต.ค. 2563
  • Share :
  • 509 Reads   

โบอิ้ง (Boeing) รายงานผลประกอบการไตรมาสที่ 3 ปี 2020 ขาดทุนอย่างหนัก โดยกลุ่มธุรกิจเครื่องบินพาณิชย์ช้ำหนักจากยอดจัดส่งเพียง 28 ลำ เล็งปลดพนักงาน 30,000 ตำแหน่งภายในสิ้นปี 2021

เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม ที่ผ่านมา โบอิ้งรายงานผลประกอบการไตรมาสที่ 3 ปี 2020 เผย บริษัทฯ มีรายได้ 14,139 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงจากไตรมาสเดียวกันปีก่อนหน้าถึง 29% ซึ่งเป็นการลดลงต่อเนื่อง 4 ไตรมาส และขาดทุนจากการดำเนินงานถึง 401 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

Mr. Dave Calhoun ประธานบริษัท และ CEO โบอิ้ง รายงานถึงวิกฤตโควิดส่งผลกระทบต่อธุรกิจในไตรมาสนี้อย่างรุนแรง แม้ว่าโบอิ้งได้ทุ่มเทกับการปรับปรุงแนวทางบริหารในกลุ่มธุรกิจเครื่องบินพาณิชย์เพื่อให้มีสภาพคล่อง และสามารถกลับมาเติบโตอย่างยั่งยืนได้ในระยะยาว ในขณะที่การดำเนินงานในกลุ่มธุรกิจอื่น ๆ เช่น อุตสาหกรรมอวกาศ ความมั่นคง และบริการภาครัฐ เป็นส่วนช่วยให้โบอิ้งยังสามารถประคองธุรกิจต่อไปได้

โดยกลุ่มธุรกิจเครื่องบินพาณิชย์ในไตรมาสนี้ โบอิ้งจัดส่งอากาศยานเพียง 28 ลำจาก 62 ลำในช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งทำให้ปี 2020 นี้มียอดจัดส่งสะสม 9 เดือนรวม 98 ลำจาก 301 ลำ และทำรายได้ไตรมาสนี้อยู่ที่ 3,596 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงมากถึง 56% และขาดทุนจากการดำเนินงานถึง 1,369 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยมีสาเหตุหลักมาจากการที่ไม่สามารถจัดส่งอากาศยานได้ตามเป้าซึ่งเป็นผลจากโควิด และอีกสาเหตุมาจากปัญหาความปลอดภัยของ Boeing 787 รวมไปถึงปัญหาจากโปรเจกต์ 737 MAX ที่ทำให้สูญเสียรายได้อีก 590 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

จากการจัดส่งอากาศยานได้เพียง 28 ลำในไตรมาสที่ผ่านมา ทำให้โบอิ้งมียอดอากาศยานค้างส่งจำนวนมากกว่า 4,300 ลำ คิดเป็นมูลค่า 313,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และพร้อมจะลดกำลังการผลิตลงอีกหากมีความจำเป็น

นอกจากนี้ ทางบริษัทฯ ยังมุ่งแก้ไขปัญหาของอากาศยานรุ่น 737 MAX เพื่อขอใบรับรองความปลอดภัย และสร้างความเชื่อมั่นให้กับลูกค้าสายการบินอีกครั้ง ซึ่งล่าสุดในเดือนตุลาคม อากาศยานรุ่นนี้ได้ผ่านการบินทดสอบแล้วกว่า 1,400 เที่ยวบิน และมีกำหนดการทดสอบเพิ่มอีก 3,000 ชั่วโมงบิน รวมไปถึงขยายการลงทุนไปยังกลุ่มธุรกิจอื่นนอกเหนือจากอากาศยาน และเสริมความมั่นคงของซัพพลายเชนให้มากขึ้นในอนาคต

 

อย่างไรก็ตาม โบอิ้งคาดการณ์ถึงปริมาณเที่ยวบินทั่วโลกในปีนี้จะลดลง 30-35% จากปี 2019 และต้องใช้เวลาอีก 3 ปีจึงจะฟื้นตัวมาเทียบเท่าก่อนโควิด และตั้งเป้าปลดพนักงานมากถึง 30,000 ตำแหน่งภายในสิ้นปี 2021 ซึ่งมากกว่าที่เคยประกาศไว้ก่อนหน้าถึง 11,000 ตำแหน่ง 

 

อ่านต่อ