ตลาด ‘หุ่นยนต์บริการ’ 2022 - 2030 มีแนวโน้มอย่างไร?

แนวโน้มตลาด ‘หุ่นยนต์บริการ’ 2022 - 2030

อัปเดตล่าสุด 3 มี.ค. 2566
  • Share :
  • 3,142 Reads   

“หุ่นยนต์บริการ” กำลังขยายตัวอย่างรวดเร็ว ตอบสนองต่อการขาดแคลนแรงงาน สังคมผู้สูงอายุ ค่าแรงที่พุ่งสูง ไปจนถึงไลฟ์สไตล์ที่เปลี่ยนไป ขณะที่การลงทุนหุ่นยนต์มีความเสี่ยงน้อยลง แต่ให้ความคุ้มค่ามากขึ้น ทำให้หลายอุตสาหกรรมเริ่มพิจารณาจัดหาหุ่นยนต์มาใช้งาน

“หุ่นยนต์บริการ (Service Robots) คือ หุ่นยนต์ที่ปฏิบัติหน้าที่ช่วยเหลือหรือสนับสนุนการทำงานของคนหรืออุปกรณ์ต่าง ๆ ซึ่งมีการจัดประเภทตามการใช้งานส่วนบุคคลหรือมืออาชีพ โดยไม่นับรวมการใช้งานระบบอัตโนมัติทางอุตสาหกรรม”

วันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2023 สำนักวิเคราะห์ Fuji Keizai ประเทศญี่ปุ่น เผยแพร่รายงานผลสำรวจตลาดหุ่นยนต์บริการ รายงานว่า ในปี 2022 ตลาดหุ่นยนต์บริการทั่วโลกมีมูลค่า 2,344,700 ล้านเยน (17,387 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) เพิ่มขึ้น 27.6% จากปีก่อนหน้า

Advertisement

มีความเป็นไปได้มากว่า หลังจากนี้ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีจะทำให้ต้นทุนการผลิตหุ่นยนต์บริการต่ำลง มีคุณภาพมากขึ้น ทำให้หุ่นยนต์บริการมีความคุ้มค่ามากกว่าที่ผ่านมา นำไปสู่การลงทุนหุ่นยนต์ที่จะเพิ่มขึ้นตามไปด้วย 

แนวโน้มเหล่านี้จะเป็นลมหนุนให้การนำหุ่นยนต์ไปใช้ในภาคธุรกิจแพร่หลายยิ่งขึ้น จึงคาดการณ์ว่า ในปี 2030 ตลาดหุ่นยนต์บริการทั่วโลกจะมีมูลค่า 4,185,000 ล้านเยน (31,084 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) เพิ่มขึ้น 78.5% จากปี 2021 

หุ่นยนต์บริการในสำนักงานและร้านค้า

การใช้หุ่นยนต์บริการในสำนักงานและร้านค้ากำลังได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นจากโควิด โดยในปี 2022 ที่ผ่านมา การใช้หุ่นยนต์ทำความสะอาด หุ่นยนต์เสิร์ฟ หุ่นยนต์ส่งของภายในอาคาร และหุ่นยนต์ในคลังสินค้าเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก ในขณะที่หุ่นยนต์บริการประเภทอื่น เช่น หุ่นยนต์ทำอาหาร ก็เริ่มมีการนำมาใช้งานมากขึ้น

เข้าสู่ปี 2023 ความต้องการหุ่นยนต์ในกลุ่มนี้กำลังเพิ่มสูงขึ้น จึงเป็นที่คาดการณ์ว่าตลาดจะมีการเติบโต นอกจากนี้ ในระยะกลางและระยะยาว หุ่นยนต์บริการที่ทำได้เพียงหน้าที่เดียว เช่น หุ่นยนต์ทำความสะอาด หุ่นยนต์ส่งของ และอื่น ๆ ก็จะสามารถทำงานได้หลากหลายขึ้น เพิ่มมูลค่าให้หุ่นยนต์บริการอีกด้วย

คาดการณ์ว่า ในปี 2030 ตลาดหุ่นยนต์บริการสำหรับใช้ภายในสำนักงานและร้านค้าทั่วโลกจะมีมูลค่า 247,800 ล้านเยน (1,837 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) เพิ่มขึ้น 2.4 เท่าจากปี 2021

หุ่นยนต์บริการสำหรับโครงสร้างพื้นฐาน

หุ่นยนต์บริการสำหรับโครงสร้างพื้นฐานนั้น โดยทั่วไปแล้ว เป็นหุ่นยนต์ที่ถูกออกแบบขึ้นเพื่อทำงานเฉพาะด้าน เช่น โดรน หุ่นยนต์ส่งของภายนอกอาคาร หุ่นยนต์ก่อสร้าง หุ่นยนต์เกษตร และอื่น ๆ นั้น คาดการณ์ว่าจะมีการเติบโตเพื่อใช้เป็นโซลูชันในการแก้ปัญหาขาดแคลนแรงงานและผู้เชี่ยวชาญในภาคส่วนนั้น ๆ 

ซึ่งในปี 2022 ที่ผ่านมา โดรนยังเป็นหุ่นยนต์ที่มีสัดส่วนมากที่สุดในกลุ่มนี้ คิดเป็นราว 60% ของจำนวนหุ่นยนต์บริการสำหรับโครงสร้างพื้นฐานทั้งหมด และมีบริษัทสตาร์ทอัพเปิดตัวโดรนสำหรับอุตสาหกรรมต่าง ๆ ออกมาหลายรุ่นทั่วโลก

ส่วนในระยะยาวนั้น ประชากรโลกมีแต่จะเพิ่มขึ้น ทำให้ความต้องการอาหารเพิ่มขึ้นตามไปด้วย แต่ในทางกลับกัน จำนวนเกษตรกรมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง ทำให้คาดการณ์ว่าหุ่นยนต์เกษตรจะมีการเติบโตในอนาคต ทั้งจำนวนแบรนด์ ไลน์อัพสินค้า ไปจนถึงมูลค่าตลาด ซึ่งเห็นได้จากหุ่นยนต์เก็บเกี่ยวและเครื่องจักรทางการเกษตรอัตโนมัติ (Unmanned Agricultural Machinery) ที่เริ่มมีการทดลองใช้งานแล้ว

คาดการณ์ว่า ในปี 2030 ตลาดหุ่นยนต์บริการสำหรับโครงสร้างพื้นฐานทั่วโลกจะมีมูลค่า 2,028,200 ล้านเยน (15,064 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) เพิ่มขึ้น 79.6% จากปี 2021

 

#หุ่นยนต์บริการ #Service Robots #เทคโนโลยีหุ่นยนต์ #Mreport #mreportth #ข่าวอุตสาหกรรม #onlinecontent

 

บทความยอดนิยม 10 อันดับ

 

อัปเดตข่าวทุกวันที่นี่ www.mreport.co.th   

Line / Facebook / Twitter / YouTube @MreportTH