คาดการณ์การผลิต Machine Tools เยอรมัน ปี 2023 โต 9% ลุ้นทำสถิติยอดสูงอันดับ 2

คาด Machine Tools เยอรมัน ปี 2023 โต 9% ลุ้นทำสถิติใหม่

อัปเดตล่าสุด 15 ก.พ. 2566
  • Share :
  • 1,870 Reads   

อุตสาหกรรมเครื่องจักรกลเยอรมันปี 2023 เริ่มต้นปีด้วย Backlog มากถึง 12 เดือน จึงเป็นที่คาดการณ์ว่ามูลค่าการผลิตแตะ 1.55 หมื่นล้านยูโร เติบโต 9% ลุ้นทำสถิติยอดผลิตรายปีสูงสุด 

Advertisement

เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2023 สมาคมผู้ผลิตเครื่องจักรกลแห่งเยอรมนี หรือ VDW คาดการณ์ว่า อุตสาหกรรมเครื่องจักรกลเยอรมันในปี 2023 จะมีมูลค่าการผลิตรวมแล้วคิดเป็นมูลค่า 1.55 หมื่นล้านยูโร หรือราว 1.66 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 9% จากปีก่อนหน้า และต่ำกว่าสถิติสูงสุดในปี 2018 เพียง 10% เท่านั้น

นาย Franz-Xaver Bernhard ประธานสมาคมผู้ผลิตเครื่องจักรกลแห่งเยอรมนี กล่าวในงานแถลงข่าวประจำปีว่า ยอดการผลิตและยอดการสั่งซื้อของอุตสาหกรรมเครื่องจักรกลเยอรมันได้สะท้อนถึงการก้าวข้ามผลกระทบจากการระบาดของโควิดมาแล้ว 

อุตสาหกรรมเครื่องจักรกลเยอรมันเริ่มต้นปีด้วย Backlog คำสั่งซื้อจำนวนมาก โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติรายงานว่า อุตสาหกรรมเครื่องจักรกลเยอรมันยังคงมี Backlog ย้อนหลังถึง 12 เดือน 

ซึ่งนาย Bernhard อธิบายว่าตัวเลขนี้แสดงให้เห็นว่าบริษัทต่าง ๆ พร้อมรับมือกับคำสั่งซื้อที่จะตกต่ำในช่วงครึ่งแรกของปี 2023 ได้เป็นอย่างดี ซึ่งในเดือนมกราคม 2023 ที่ผ่านมา เยอรมนีมีการใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ 91.1% และกำลังเพิ่มขึ้นอย่างมั่นคง นอกจากนี้ ผลสำรวจโดย VDW ในเดือนธันวาคม 2022 ยังเผยว่า ผู้ผลิตเครื่องจักรเยอรมันมากถึง 45% คาดการณ์ว่าปี 2023 จะเป็นปีที่ดีอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม การคาดการณ์นี้อยู่บนสมมติฐานที่ว่าอัตราเงินเฟ้อได้ถึงจุดสูงสุดแล้ว และราคาพลังงานและสินค้าโภคภัณฑ์กำลังจะลดลงอีกครั้ง การยกเลิกมาตรการคุมเข้มโควิดในจีนซึ่งเป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุดจะเข้ามากระตุ้นธุรกิจ อีกทั้งประเทศอื่นในเอเชียอย่างอินเดียและประเทศในอาเซียนผลักดันการเติบโตของเศรษฐกิจ นอกจากนี้ แม้ใน 2 ปีที่ผ่านมาการลงทุนจะชะลอตัวบ้าง แต่การลงทุนทั่วโลกยังเติบโตต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 ส่งผลให้ความต้องการเครื่องจักรกลเพิ่มขึ้นตามไปด้วย

ส่วนในเยอรมนี เป็นที่คาดการณ์ว่าความต้องการเครื่องจักรกลจะเพิ่มขึ้นหลังซบเซามา 3 ปี สืบเนื่องจากอุตสาหกรรมเครื่องจักรกลได้รับผลพลอยได้จากการปรับตัวของผู้ผลิตยานยนต์ในช่วงวิกฤตชิปขาดตลาดด้วยการปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิต ไปจนถึงความพยายามในการปรับโครงสร้างลูกค้าใหม่

จากผลสำรวจโครงสร้างลูกค้าของสมาคมฯ เผยว่า สัดส่วนลูกค้าในอุตสาหกรรมยานยนต์ลดลงจากเดิม 43% ในปี 2019 เหลือ 31% ในปี 2021 อย่างไรก็ตาม สัดส่วนลูกค้าในกลุ่มงานวิศวกรรมและการแปรรูปผลิตภัณฑ์โลหะได้เพิ่มขึ้น

นอกจากนี้ ดัชนีบรรยากาศทางธุรกิจของเยอรมนี (German Ifo Business Climate Index) ยังสะท้อนการลงทุนสินค้าและเครื่องจักรในเดือนมกราคมที่ผ่านมายังเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก มีการพลิกผันตามความคาดหวังของอุตสาหกรรมยานยนต์ นอกจากนี้ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อทั่วโลกยังเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเป็นครั้งแรกในรอบ 12 เดือน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแถบยุโรปที่มีตลาดสำคัญอย่างอิตาลี สเปน และฝรั่งเศส รวมถึงสหราชอาณาจักร และตุรกีอีกด้วย

 

#Investment #machinetools #Germany #Mreport #mreportth #ข่าวอุตสาหกรรม #onlinecontent

 

บทความยอดนิยม 10 อันดับ

 

อัปเดตข่าวทุกวันที่นี่ www.mreport.co.th   

Line / Facebook / Twitter / YouTube @MreportTH