ยอดขายชิปเซมิคอนดักเตอร์ ปี 2022

‘ชิป’ ปี 2022 ทำสถิติใหม่ ยอดขายสูงสุด 5.7 แสนล้านเหรียญ

อัปเดตล่าสุด 14 ก.พ. 2566
  • Share :
  • 1,861 Reads   

ยอดขายชิปเซมิคอนดักเตอร์ทั่วโลกในปี 2022 ปิดที่ 573,000 ล้านเหรียญ เพิ่มขึ้น 3.2% ทำสถิติใหม่แม้ครึ่งปีหลังยอดหดตัว แต่ความสำคัญของชิปต่อเทคโนโลยีสมัยใหม่จะทำให้อุตสาหกรรมชิปเติบโตในระยะยาว

ชิป (Chip) หรือ เซมิคอนดักเตอร์  (Semiconductor) คือ สารกึ่งตัวนำ มีคุณสมบัติในการนำไฟฟ้าและเป็นฉนวนได้ ทำให้ชิปเป็นชิ้นส่วนสำคัญของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และเทคโนโลยีสมัยใหม่


สมาคมอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ (SIA) รายงานว่า ยอดขายชิปเซมิคอนดักเตอร์ในปีที่ผ่านมามีมูลค่ารวม 573,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 3.2% จากปีก่อนหน้า และทำสถิติมูลค่ายอดขายสูงสุดเป็นประวัติการณ์ 

นาย John Neuffer ประธานและ CEO สมาคมอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ แสดงความเห็นว่า ในปี 2022 อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์มีความผันผวน โดยทำยอดขายสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในช่วงต้นปี และเกิดการชะลอตัวในช่วงปลายปี และมองว่าในระยะสั้นยอดขายจะมีความผันผวนจากวัฏจักรของตลาดและสภาวะเศรษฐกิจมหภาค

Advertisement

การเติบโตของยอดขายชิปเซมิคอนดักเตอร์ ปี 2022

  • จีน ลดลง 6.3% แต่ครองแชมป์ตลาดที่มียอดขายชิปเซมิคอนดักเตอร์สูงสุด ด้วยยอดขาย 180,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
  • สหรัฐอเมริกา เพิ่มขึ้น 16.0% 
  • ยุโรป เพิ่มขึ้น 12.7%
  • ญี่ปุ่น เพิ่มขึ้น 10.0%

ยอดขายชิปเซมิคอนดักเตอร์ ปี 2022 แบ่งตามหมวดผลิตภัณฑ์

ในปี 2022 ผลิตภัณฑ์เซมิคอนดักเตอร์มีการเติบโตในหลายหมวดหมู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งชิปอนาล็อก (Analog) ซึ่งเป็นชิปที่ถูกใช้ในยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า และคอมพิวเตอร์ โดยมีรายละเอียด ดังนี้

  • ชิปอนาล็อก ยอดขาย 89,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 7.5%
  • หน่วยความจำ ยอดขาย 130,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 30.9%
  • Logic ยอดขาย 176,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ 
  • ชิป IC สำหรับยานยนต์ ยอดขาย 34,100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 29.2%

คาดการณ์แนวโน้ม ตลาดเซมิคอนดักเตอร์ในระยะยาว

แม้ว่าในช่วงครึ่งหลังของปี 2022 ตลาดเซมิคอนดักเตอร์ได้เกิดการชะลอตัว แต่ทางสมาคมฯ ยังคาดการณ์ว่าตลาดจะยังคงเข้มแข็งในระยะยาวจากบทบาทของชิปในการพัฒนาโลกให้สมาร์ท มีประสิทธิภาพ และเชื่อมต่อกันมากยิ่งขึ้น

อุตสาหกรรมชิปมีความผันผวนอย่างมากในช่วงที่ผ่านมา เริ่มจากการระบาดของโควิดในปี 2020 ทำให้ความต้องการชิปเติบโตอย่างมาก จนกระทั่งครึ่งหลังของปี 2022 เริ่มเกิดแนวโน้มชะลอตัวในระยะสั้นจากปัจจัยต่าง ๆ ทั้งภาวะเศรษฐกิจถดถอย อัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น ความไม่สงบทางภูมิรัฐศาสตร์ และผลกระทบต่อเนื่องจากโควิด เศรษฐกิจมหภาคมีความไม่แน่นอน การใช้จ่ายของผู้บริโภคลดลงทำให้ความต้องการอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ลดลงเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นคอมพิวเตอร์ สมาร์ทโฟน และแท็บเล็ต 

ผลการศึกษาโดยสมาคมอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ และ Boston Consulting Group เมื่อปี 2020 นำมาซึ่งการคาดการณ์ว่า ความต้องการกำลังการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ทั่วโลกจะเพิ่มขึ้น 56% ภายในปี 2030 ซึ่งแนวโน้มระยะยาวนี้จะไปสู่การลงทุนการวิจัย การออกแบบ และการผลิตที่เพิ่มขึ้น ทำให้มีแผนสร้างโรงงานผลิตชิป แต่ประเด็นอยู่ที่จะสร้างขึ้นที่ใด

นอกจากนี้ ตลอดเวลาที่ผ่านมา อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์มักมีการลงทุนขนาดใหญ่ในช่วงขาลงเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับความต้องการที่จะเพิ่มขึ้น ซึ่งการลงทุนของบริษัทใหม่จะนำไปสู่การผลิตและนวัติกรรมที่มากขึ้น นำไปสู่การป้องกันการขาดแคลนชิปในอนาคต รองรับความต้องการที่เพิ่มขึ้นจากภาคส่วนต่าง ๆ เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์ การจัดเก็บข้อมูล และการเชื่อมต่อไร้สาย

ยกตัวอย่างเช่น อุตสาหกรรมยานยนต์ซึ่งคาดการณ์ว่าจะมีความต้องการชิปคิดเป็น 20% ในขณะที่อุตสาหกรรมการสื่อสารไร้สายจะมีส่วนผลักดันความต้องการชิปเพิ่มขึ้นมากถึง 25% ภายในปี 2030

สรุป

แม้ว่าอุตสาหกรรมชิปเซมิคอนดักเตอร์จะมีความผันผวนและประสบภาวะการชะลอตัวในระยะสั้น แต่ “ชิป” เป็นกุญแจสู่เทคโนโลยีสมัยใหม่ เช่น AI, IoT, และ 6G ซึ่งมีความสำคัญต่อสังคมเป็นอย่างมาก ทำให้คาดการณ์ได้ว่าแนวโน้มของอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์จะยังคงสดในในระยะยาว

 

#ชิป #ยอดขายชิป #semiconductor #mreportth #ข่าวอุตสาหกรรม #onlinecontent

 

บทความยอดนิยม 10 อันดับ

 

อัปเดตข่าวทุกวันที่นี่ www.mreport.co.th   

Line / Facebook / Twitter / YouTube @MreportTH