บีโอไอ เผยดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนต่างชาติยังน่าพอใจ ร้อยละ 97.3 พร้อมเดินหน้าลงทุนไทย

อัปเดตล่าสุด 24 ส.ค. 2562
  • Share :
  • 612 Reads   

บีโอไอเผยผลสำรวจความเชื่อมั่นนักลงทุนต่างประเทศในไทยประจำปี 2562 นักลงทุนต่างชาติ มั่นใจศักยภาพประเทศไทย ร้อยละ 97.3 เดินหน้าลงทุนไทย ชูปัจจัยสำคัญมาจากมีวัตถุดิบเพียงพอ และสิทธิประโยชน์กระตุ้นการลงทุน 

นางสาวบงกช อนุโรจน์ รองเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยผลสำรวจความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติในประเทศไทย ประจำปี 2562 ในงานสัมมนาเรื่อง “ลงทุนไทย 2562 รุ่งแค่ไหนในสายตาต่างชาติ” เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2562 ณ โรงแรมแลนด์มาร์ค กรุงเทพฯ โดยได้สำรวจจากกลุ่มตัวอย่าง จำนวน 600 บริษัท พบว่าผู้ตอบแบบสำรวจร้อยละ 97.3 มีแผนการลงทุนในไทยอย่างต่อเนื่อง โดยร้อยละ 65.5 ยังคงรักษาระดับการลงทุนในไทย ในขณะที่ร้อยละ 31.83 มีแผนจะขยายการลงทุนเพิ่มเติม 

สำหรับปัจจัยหลักที่ทำให้นักลงทุนตัดสินใจขยายหรือรักษาระดับการลงทุนในประเทศไทยนั้น พบว่าสามอันดับแรก คือ มีวัตถุดิบและชิ้นส่วนที่เพียงพอ ร้อยละ 55 ตามด้วยสองปัจจัย คือ มีสิทธิประโยชน์ด้านการลงทุน และมีซัพพลายเออร์เพียงพอ ที่ระดับร้อยละ 51 เท่ากัน 

“นักลงทุนต่างชาติส่วนใหญ่มองว่า สถานการณ์เศรษฐกิจไทยในปัจจุบันอยู่ในภาวะทรงตัวจากปีก่อน พิจารณาได้จากปริมาณยอดขายในช่วงที่ผ่านมายังมีเท่าเดิมหรือลดลงเล็กน้อย และคาดว่าจะยังทรงตัวต่อไปในอนาคต นักลงทุนต่างชาติโดยรวมมีความพึงพอใจต่อโครงสร้างพื้นฐานของไทยและการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานใน 2 ประเทศที่เพิ่มขึ้น ซึ่งจะช่วยทำให้นักลงทุนที่ทำธุรกิจอยู่แล้วภายในประเทศมีแผนจะขยายการลงทุน” นางสาวบงกช กล่าว 

นอกจากนี้ การสำรวจความพึงพอใจต่อการบริการของบีโอไอ พบว่านักลงทุนต่างชาติมีความพึงพอใจ โดยเฉพาะการปรับใช้ระบบออนไลน์ (e-Services) มีประโยชน์เป็นอย่างมาก โดยนักลงทุนสามารถยื่นแบบฟอร์มขอรับการส่งเสริมการลงทุนออนไลน์ได้ทำให้ไม่ต้องเสียเวลาและเสียค่าใช้จ่ายในการเดินทาง นอกจากนี้ นักลงทุนยังมีความพึงพอใจเพิ่มขึ้นจากบริการที่ได้รับจากศูนย์ประสานการบริการด้านการลงทุน (OSOS) และบริการที่ได้รับจากศูนย์บริการวีซ่า และใบอนุญาตทำงาน เมื่อเทียบกับผลสำรวจของปีที่ผ่านมา 

จากการสำรวจเชิงลึกในปัจจัยด้านการลงทุน พบว่า นอกจากปัจจัยด้านโครงสร้างพื้นฐานที่มีการพัฒนาเพิ่มขึ้นแล้ว นักลงทุนต่างชาติมีความพึงพอใจต่อสิทธิประโยชน์ด้านการลงทุน และแรงงานที่มีคุณภาพ 

ส่วนด้านปัจจัยอื่น ๆ นักลงทุนเห็นว่าหน่วยงานภาครัฐมีประสิทธิภาพมากขึ้น และมีการดำเนินงานที่โปร่งใส อย่างไรก็ตาม นักลงทุนบางส่วนต้องการให้บีโอไอพิจารณาให้สิทธิประโยชน์เพิ่มขึ้นแก่อุตสาหกรรมอื่น ๆ ที่นอกเหนือจากอุตสาหกรรมที่เน้นการใช้นวัตกรรม เพื่อเพิ่มศักยภาพของประเทศให้ครอบคลุมในหลากหลายด้าน เป็นต้น