NEA แนะทริคตีตั๋วลงทุนใน “สปป.ลาว” แลนด์ลิ้งค์และแบตเตอรี่แห่งเอเชียที่น่าจับตา

อัปเดตล่าสุด 1 พ.ค. 2563
  • Share :
  • 733 Reads   

ในบรรดาเพื่อนบ้านของไทย “สปป.ลาว” เป็นประเทศน้องใหม่ที่น่าลงทุน เนื่องด้วยยุทธศาสตร์อันชาญฉลาดหลากหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนตัวเองจาก Land Locked Country หรือประเทศที่ไม่มีอาณาเขตติดกับทะเลสู่ Land Link หรือการเป็นศูนย์กลางเชื่อมทางบกระหว่างจีน ไทย เวียดนาม และกัมพูชา เพื่ออำนวยความสะดวกด้านการขนส่ง รวมถึงการตั้งเป้าหมายในการเป็น Battery of Asia หรือแหล่งพลังงานของภูมิภาคเอเชีย ที่มุ่งเป็นแหล่งผลิตกระแสไฟฟ้าและส่งขายให้กับเพื่อนบ้าน นอกจากนี้ ยังมีทรัพยากรที่อุดมสมบูรณ์เหมาะแก่การเป็นฐานการผลิต รวมทั้งไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคที่กำลังก้าวสู่ความเป็นเมือง และยังมีปัจจัยอีกหลากหลายด้านที่ผู้ประกอบการจำเป็นต้องศึกษา เพื่อเป็นทางเลือกในการขยายธุรกิจในอนาคต

จากเหตุผลที่กล่าวมา สปป.ลาว จึงเป็นตลาดน้องใหม่ที่เนื้อหอม พร้อมเชิญชวนนักลงทุนให้เข้ามาลงทุนมากที่สุดตลาดหนึ่งในภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ทั้งนี้ ยังมีข้อมูลด้านมูลค่าการค้าระหว่างไทย-สปป.ลาว ในปี 2562 ที่ผ่านมา โดยมีมูลค่ารวมที่ 6,385.82 ล้านเหรียญสหรัฐอเมริกา แบ่งเป็นมูลค่าการส่งออก 3,847.50 ล้านเหรียญสหรัฐอเมริกา และมูลค่าสินค้านำเข้า 2,538.31 ล้านเหรียญสหรัฐอเมริกา ซึ่งในปี 2564 ได้มีการวางเป้าหมายมูลค่าการค้าไทย-สปป.ลาว คาดว่าน่าจะสูงถึง 11,743.04 ล้านเหรียญสหรัฐอเมริกาเลยทีเดียว 

สถาบันพัฒนาผู้ประกอบการการค้ายุคใหม่ (NEA) กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ หน่วยงานที่จัดโครงการอบรมและสัมมนาเพื่อสร้างความเข้าใจและองค์ความรู้ให้ผู้ประกอบการไทยเกี่ยวกับการทำธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ ได้นำเทรนด์ 3 กลุ่มธุรกิจที่น่าลงทุนในตลาด สปป.ลาว จากโครงการสัมมนา “ติวเข้ม...เจาะตลาดลาว” มาเพื่อเป็นไอเดียในการทำธุรกิจให้กับผู้ประกอบการไทย ที่กำลังตั้งเป้าที่จะทำการค้าร่วมกับ สปป.ลาว โดยมีกลุ่มธุรกิจที่น่าลงทุน ดังนี้

  1. ธุรกิจอุตสาหกรรม ได้แก่ เครื่องจักรกลการเกษตร รถจักรยานยนต์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ เครื่องสำอาง และผลิตภัณฑ์ความงาม คอมพิวเตอร์อุปกรณ์ ส่วนประกอบ ของตกแต่งบ้าน / โรงแรม / ร้านอาหารผลิตภัณฑ์จากพลาสติก เครื่องใช้ไฟฟ้า วัสดุก่อสร้าง เครื่องจักรและอุปกรณ์ด้านบรรจุภัณฑ์ เนื่องจากเป็นประเทศที่อุดมสมบูรณ์ทางด้านชีวภาพด้านพลังงาน ไฟฟ้า และทรัพยากรธรรมชาติ จึงเหมาะแก่การเป็นฐานการผลิตด้านอุตสาหกรรมในอนาคต อีกทั้งยังเป็นแหล่งแรงงานราคาถูก ที่เหมาะสำหรับเป็นฐานการผลิตให้แก่ประเทศอื่น ๆ
  2. ธุรกิจการเกษตร ได้แก่ อาหารสำเร็จรูป อาหารทะเลแช่แข็ง ผัก ผลไม้ตามฤดูกาล ผลิตภัณฑ์ยาง ไก่สดแช่แข็งเนื้อสัตว์ชิ้นส่วนต่าง ๆ การทำเกษตร Organic ฟาร์มปศุสัตว์ เนื่องจากสินค้าจากไทยยังคงได้รับความนิยมจากประชาชนลาว เนื่องจากสินค้าไทยเป็นสินค้าที่ดีมีคุณภาพ ประกอบกับความใกล้ชิดที่มีภาษาคล้ายกัน ดังนั้นจึงได้รับความเชื่อถือจนกลายมาเป็นคู่ค้าทางเศรษฐกิจที่สำคัญ
  3. ธุรกิจบริการ ได้แก่ สปา โรงแรม การพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว ร้านอาหาร และแฟรนไชส์ ออกแบบก่อสร้าง การวางระบบ IT การศึกษา บันเทิง ถ่ายทำภาพยนตร์ ห้างสรรพสินค้า สถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิง อู่ซ่อมรถ ล้างรถ และประดับยนต์ ร้านเสริมสวย สถาบันความงาม สถาบันฝึกอบรม ซ่อมบำรุงเครื่องใช้ไฟฟ้า บำรุงดูแลรักษา ซ่อมแซมอาคาร เขื่อน ระบบ IT คอมพิวเตอร์ ฯลฯ เนื่องจากทางด้านภาษานั้น ก็จะมีวัฒนธรรมการสื่อสารที่ค่อนข้างได้เปรียบ ซึ่งเราสามารถสื่อสารกันได้โดยไม่ต้องใช้ล่าม ในจุดนี้เราจึงได้เปรียบประเทศอื่นอย่างมากและมีโอกาสมากกว่าชาติอื่น

 

บรรยากาศงานสัมมนา “ติวเข้ม...เจาะตลาดลาว”
 

นอกจากนี้ สปป.ลาว ยังมีลักษณะภูมิประเทศเป็นภูเขามากมาย และมีแม่น้ำไหลผ่านหลายสาย รวมถึงแม่น้ำหลักอย่างแม่น้ำโขง ทำให้ลาวมีสภาพที่เหมาะแก่การสร้างเขื่อนพลังน้ำ เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าใช้ในประเทศ และส่งออกไปยังประเทศใกล้เคียง ซึ่งคาดการณ์ว่าในอีก 10 ปีข้างหน้า กลุ่มประเทศ CLMV ได้แก่ กัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม อันเป็นประเทศในกลุ่มอาเซียนที่มีเศรษฐกิจขยายตัวอย่างต่อเนื่อง มีทรัพยากรที่ยังอุดมสมบูรณ์ และยังมีจุดเชื่อมต่อเป็นประเทศเพื่อนบ้านกับไทย ทำให้ประเทศที่อยู่ในกลุ่ม CLMV เป็นที่น่าจับตามองเป็นอย่างมากในสายตาของนักลงทุน และประเทศมหาอำนาจ แม้ในสภาวการณ์ระบาดของโรค Covid-19 ที่เป็นปัญหาไปทั่วโลกนั้น ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อการนำเข้าสินค้าจากประเทศไทยไปยังประเทศลาว ซึ่งยังสามารถนำเข้าได้ปกติดีที่จุดผ่านแดนถาวร โดยอนุญาตรถขนส่งสินค้าข้ามแดนได้เท่านั้น นั่นจึงถือเป็นโอกาสที่ดีของผู้ประกอบการไทยที่จะได้มองเห็นลู่ทางในการทำธุรกิจและการลงทุนใน สปป.ลาว 
ดร.ณรงค์ ตนานุวัฒน์ นักธุรกิจไทยเจ้าของ วิวมอลล์ คอมมิวนิตี้ไลฟ์สไตล์แห่งแรกในเวียงจันทน์และหนึ่งในวิทยากรในโครงการ “ติวเข้ม...เจาะตลาดลาว” ได้เผยเคล็ดลับการลงทุนสำคัญในการทำธุรกิจที่น่าสนใจไว้ดังนี้            

  1. กลุ่ม CLMV มีความนิยมสินค้าและบริการของไทย และเชื่อมั่นคุณภาพของไทย ซึ่งถือเป็นแต้มต่อของคนไทย       
  2. ลาวเป็นประเทศผู้บริโภคไม่ใช่ผู้ผลิต มีการนำเข้ามากกว่าการส่งออก ดังนั้น ลาวยังต้องการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศอยู่
  3. รายได้กว่า 75% ของลาวมาจากการลงทุนของต่างประเทศ และยังคงต้องการการลงทุนค่อนข้างมาก
  4. โลจิสติกส์ เป็นเรื่องที่จะเปลี่ยนลาวให้เป็น Land Link ข้ามผ่านจากการเป็น Land Locked
  5. สิ่งสำคัญที่เหนือกว่า Know how คือ Know who เราต้องทำความรู้จักกลุ่มลูกค้าเป็นอันดับแรก
  6. เวลาเข้าไปทำธุรกิจในกลุ่มประเทศ CLMV สำคัญคือการมี Connection ที่ดี
  7. ลาวให้ความสำคัญกับเอกสารแสดงตัวตน และสัญญาทุกอย่างที่ทำกับ สปป.ลาว ต้องเป็นภาษาลาวเท่านั้น
  8. ตรวจสอบกฎหมายในสปป.ลาวให้แน่ใจก่อนส่งสินค้าไป
  9. ศึกษานโยบายและแผนพัฒนาเศรษฐกิจของลาวให้ละเอียด เพื่อทราบถึงกฎและระเบียบต่าง ๆ

ดังนั้น การทำธุรกิจและการลงทุนในสปป.ลาว รวมทั้งการจับคู่ธุรกิจต้องแสดงความจริงใจ ซึ่งเป็นพื้นฐานหลักในการสร้างพันธมิตรในลาว โดยปัจจุบันกำลังซื้อในลาวเพิ่มสูงขึ้น รวมทั้งมีชาวต่างชาติเข้าไปท่องเที่ยวมากขึ้น จึงถือเป็นอีกช่องทางหนึ่งในการทำการค้าร่วมกันได้เป็นอย่างดี