
สวทช. จัดประชุม NAC2025 ขับเคลื่อน AI เพื่อไทยยั่งยืน
สวทช. จัดงานประชุมวิชาการประจำปี ‘NAC2025’ ขับเคลื่อนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีด้วย AI เพื่อประเทศไทยที่ยั่งยืน
27 มีนาคม 2568 - ณ อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย จ.ปทุมธานี : สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เป็นองค์ประธานในพิธีเปิดการประชุมวิชาการ สวทช. ประจำปี 2568 (NSTDA Annual Conference 2025 : NAC2025) การประชุมจัดขึ้นภายใต้แนวคิด “ขับเคลื่อนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีด้วย AI เพื่อประเทศไทยที่ยั่งยืน” (AI-driven Science and Technology for Sustainable Thailand” เพื่อเผยแพร่ความรู้และผลงานวิจัย สร้างความตระหนัก สร้างแรงบันดาลใจ และส่งเสริมความร่วมมือในการพัฒนาและประยุกต์ใช้ AI โดยมุ่งเน้นการนำเสนอความก้าวหน้าและผลกระทบของเทคโนโลยี AI ต่อการพัฒนาประเทศในหลากหลายมิติ อาทิ ด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และการศึกษา งานจัดขึ้นระหว่างวันที่ 26 -28 มีนาคม 2568 ณ อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย จ.ปทุมธานี โดยมีผู้ร่วมรับเสด็จฯ ประกอบด้วย นายพงศธร กาญจนะจิตรา รองผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) นายสุจินต์ หลีสกุล ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดธัญบุรี พ.อ.ธวัชชัย วรรณดิลก รองผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 11 พล.ต.ต. ยุทธนา จอนขุน ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดปทุมธานี ศาสตราจารย์ ดร.ศุภชัย ปทุมนากุล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ศาสตราจารย์ ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) คณะกรรมการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ พร้อมอดีตผู้บริหาร คณะผู้บริหารและพนักงานกระทรวง อว. และ สวทช.
นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กราบบังคมทูลรายงานว่า สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เป็นหน่วยงานภายใต้การกำกับของกระทรวง อว. ที่ดำเนินงานตามพระราชบัญญัติพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พ.ศ. 2534 จนถึงปัจจุบันเป็นเวลา 34 ปี โดยมีเป้าหมายหลักในการสร้างขีดความสามารถทางการแข่งขันของประเทศด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ภายใต้แผนงานการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อประเทศไทยที่ยั่งยืน (Science and Technology Implementation for Sustainable Thailand)
ในปีงบประมาณ 2567 สวทช. พัฒนางานวิจัยเชิงรุกที่สร้างผลกระทบในวงกว้าง โดยมีผู้ได้รับประโยชน์มากกว่า 8 ล้านคน ครอบคลุมหน่วยงานกว่า 40,000 แห่ง สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจและสังคมกว่า 20,000 ล้านบาท และส่งผลให้เกิดการลงทุนด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมในการผลิตและบริการกว่า 3,600 ล้านบาท อีกทั้งยังมีการอบรมพัฒนาเกษตรกรไทยกว่า 10,000 คน ด้านความเป็นเลิศทางวิชาการ สวทช. มีบทความตีพิมพ์ในวารสารวิชาการนานาชาติ 724 บทความ คำขอจดทรัพย์สินทางปัญญา 247 คำขอ และได้รับรางวัลทั้งในระดับชาติและนานาชาติ 78 รางวัล นอกจากนี้ ยังส่งเสริมการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมแก่เยาวชนกว่า 10,000 คน
ศาสตราจารย์ ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กราบบังคมทูลรายงานว่า ปีนี้ สวทช. นำเสนอผลงานวิจัยและพัฒนาด้าน AI และการบูรณาการกับศาสตร์แขนงต่าง ๆ ภายใต้การดำเนินงานของ 5 ศูนย์วิจัยแห่งชาติ ได้แก่ BIOTEC, MTEC, NECTEC, NANOTEC และ ENTEC เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประเทศและประชาชน นอกจากนี้ สวทช. ยังจัดการสัมมนาพิเศษ “Decoding Thailand’s AI Future: Strategy for Competitive Edge” ในวันที่ 26 มีนาคม 2568 โดยร่วมมือกับ Techsauce เชิญวิทยากรชั้นนำมาร่วมถอดรหัสและวางยุทธศาสตร์เส้นทางสู่อนาคตที่ขับเคลื่อนด้วย AI สำหรับประเทศไทย ครอบคลุมการวางรากฐานนโยบาย ค้นหาโอกาส Quick Win ในอุตสาหกรรมเป้าหมาย เรียนรู้บทเรียนจากทั่วโลกเพื่อกำหนดทิศทางที่เหมาะสมกับไทย และเจาะลึกปัจจัยขับเคลื่อนเศรษฐกิจผ่านกรณีศึกษาจากภาคธุรกิจชั้นนำ ภายในงานยังมีการจัดแสดงนิทรรศการตัวอย่างการประยุกต์ใช้ AI ในรูปแบบต่าง ๆ ผ่านผลงานวิจัยของ สวทช. ประกอบด้วย นิทรรศการเฉลิมพระเกียรติและผลงานเด่นของ สวทช. จำนวน 11 บูท ณ บ้านวิทยาศาสตร์สิรินธร ผลงานวิจัยของ สวทช. กว่า 100 บูท รวมถึงบูทจากหน่วยงานพันธมิตรอีก 40 บูท ทั้งหมดนี้มุ่งเน้นการพัฒนา AI เพื่อเพิ่มศักยภาพทางวิทยาศาสตร์และอุตสาหกรรมของประเทศ
สวทช. ยังได้จัดสัมมนาวิชาการกว่า 35 หัวข้อ โดยเชิญผู้เชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับ AI มาร่วมแบ่งปันความรู้และประสบการณ์ ขณะเดียวกัน ในส่วนของกิจกรรม OPEN HOUSE ได้จัดเส้นทางพิเศษ 9 เส้นทาง เพื่อเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนเข้าถึงห้องปฏิบัติการวิจัยและโครงสร้างพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีชั้นนำของประเทศ รวมถึงกิจกรรมพิเศษสำหรับเด็กและเยาวชนที่ช่วยสร้างแรงบันดาลใจด้าน AI
ทั้งนี้ ศาสตราจารย์ ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการ สวทช. ได้กราบบังคมทูลเบิกคณะผู้เข้ารับพระราชทานรางวัลในกิจกรรมพัฒนาศักยภาพบุคลากรทางการวิจัย ที่สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ให้การสนับสนุนและส่งเสริมเพื่อสร้างบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถในการประยุกต์ใช้ทรัพยากรต่าง ๆ ให้เกิดนวัตกรรมหรือเทคโนโลยีที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ โดยมีผู้เข้าเฝ้าทูลละอองพระบาท รับพระราชทานถ้วยรางวัลพระราชทานและเกียรติบัตร จำนวนทั้งสิ้น 21 ราย ดังนี้
- ผู้ชนะเลิศการประกวดแข่งขันสิ่งประดิษฐ์ระดับชาติ NSTDA Micro-mouse contest จำนวน 1 ทีม จากโรงเรียนเบญจมราชรังสฤษฎิ์ จังหวัดฉะเชิงเทรา
- ผู้ชนะเลิศการแข่งขันออกแบบและสร้างหุ่นยนต์แห่งประเทศไทย ครั้งที่ 16
- ผู้ชนะเลิศการแข่งขันพัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์แห่งประเทศไทย ครั้งที่ 26
- ผู้ชนะเลิศการประกวดโครงงานของนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์ ครั้งที่ 27
จากนั้นสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี มีพระราชดำรัสเปิดการประชุมวิชาการ สวทช. ประจำปี 2568 และทรงตัดแถบแพรเปิดนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ “โครงการเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี” และนิทรรศการความก้าวหน้างานวิจัยพัฒนาทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของ สวทช. สำหรับนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ มีการจัดแสดงโครงการสำคัญ อาทิ “โครงการ National AI Strategy” หรือ “แผนปฏิบัติการด้านปัญญาประดิษฐ์แห่งชาติเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (พ.ศ. 2565 – 2570)” ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม โดยมีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมการพัฒนาและประยุกต์ใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ที่มีประสิทธิภาพสูงขึ้น และนําไปสู่การยกระดับเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตของประชาชน ผ่าน 5 ยุทธศาสตร์ 15 แผนงาน ทั้งนี้ แผนปฏิบัติการฉบับนี้ได้ถูกประกาศใช้อย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2565
การส่งเสริมทักษะโค้ดดิ้งเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้ต้องขังและนักเรียนพิการตามพระราชดำริ
การพัฒนาทักษะด้านโค้ดดิ้งให้กับผู้ต้องขังและนักเรียนพิการเป็นแนวทางสำคัญในการสร้างโอกาสทางการศึกษาและอาชีพอย่างเท่าเทียม ตามแนวพระราชดำริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ที่ทรงส่งเสริมการใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต มูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริฯ และ สวทช. โดยศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) ได้ดำเนินโครงการส่งเสริมการเรียนโค้ดดิ้งสำหรับนักเรียนพิการใน 10 โรงเรียนนำร่องตั้งแต่ปี 2561 โดยใช้บอร์ด KidBright เป็นเครื่องมือพัฒนาทักษะ ตั้งแต่พื้นฐานจนถึงการสร้างสรรค์โครงงานสมองกลฝังตัว และต่อมาในปี 2567 ได้ขยายขอบเขตสู่เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ผ่าน KidBright AI Platform และบอร์ด KidBright μAI เพื่อให้นักเรียนสามารถพัฒนาโครงงานที่ช่วยแก้ปัญหาในชีวิตประจำวัน และแข่งขันในเวทีระดับประเทศและนานาชาติ ในขณะเดียวกัน มูลนิธิฯ ยังร่วมกับกรมราชทัณฑ์ และ เนคเทค สวทช. พัฒนาโครงการเกษตรอัจฉริยะสำหรับผู้ต้องขัง โดยอบรมหลักสูตร "เกษตรอัจฉริยะ: โอกาสในการสร้างอาชีพใหม่" ให้กับผู้ต้องขัง 80 คน ในเรือนจำต้นแบบ 2 แห่งที่จังหวัดลำปางและหนองบัวลำภู ซึ่งมุ่งเน้นทักษะการติดตั้งและบำรุงรักษาระบบเกษตรอัจฉริยะ ผ่านการใช้งานอุปกรณ์ HandySense ระบบไฟ ระบบน้ำ และการคำนวณปริมาณน้ำในแปลงเกษตร เพื่อเพิ่มโอกาสในการประกอบอาชีพหลังพ้นโทษและนำเทคโนโลยีมาสร้างความยั่งยืนในชีวิตต่อไป
เครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สามมิติแบบเคลื่อนย้ายได้ (MobiiScan) เพื่อใช้ในการดูแลรักษาผู้ป่วยที่มีความพิการบนใบหน้าและกะโหลกศีรษะตามพระราชดำริฯ
สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณพระราชทานเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สามมิติแบบเคลื่อนย้ายได้ (MobiiScan) ซึ่งเป็นผลงานวิจัยและพัฒนาของ สวทช. ให้แก่หน่วยงานที่ดูแลรักษาผู้ป่วยที่มีภาวะปากแหว่งเพดานโหว่และผู้ที่มีความผิดปกติบนใบหน้าและกะโหลกศีรษะ จำนวน 3 หน่วยงาน ผ่านมูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ได้แก่ (1) ศูนย์แก้ไขความพิการบนใบหน้าและกะโหลกศีรษะ มูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริ ฯ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (2) ศูนย์ตะวันฉาย มหาวิทยาลัยขอนแก่น และ (3) ศูนย์พัฒนลักษณ์ มหาวิทยาลัยนเรศวร สำหรับใช้ในการตรวจวินิจฉัย วางแผนการผ่าตัด และติดตามการรักษาเพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาที่มีคุณภาพและเกิดประโยชน์สูงสุด
Hydrogen Economy และบทบาทของ สวทช. ต่อการพัฒนาเทคโนโลยีไฮโดรเจน
สวทช. โดย ศูนย์เทคโนโลยีพลังงานแห่งชาติ (ENTEC) ได้พัฒนาเทคโนโลยีไฮโดรเจนแบบองค์รวม เช่น ไฮโดรเจนชีวภาพ (Biohydrogen) ที่ผลิตจากก๊าซชีวภาพ ของเสียทางการเกษตร น้ำเสีย หรือชีวมวล ซึ่งช่วยลดของเสียและสนับสนุนพลังงานหมุนเวียน อีกทั้งยังศึกษาการผลิตไฮโดรเจนสีเขียว (Green Hydrogen) จากกระบวนการแยกน้ำด้วยไฟฟ้าโดยใช้พลังงานหมุนเวียน ซึ่งเป็นกุญแจสำคัญในการเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานสะอาด งานวิจัยนี้สอดคล้องกับแนวทาง BCG Economy และสามารถนำไปใช้ในอุตสาหกรรมพลังงาน การขนส่ง และยานยนต์เซลล์เชื้อเพลิง (FCEV) ที่ปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ ปัจจุบัน ENTEC สวทช. กำลังขยายกำลังการผลิตและร่วมมือกับสมาคมไฮโดรเจนประเทศไทย รวมถึงบริษัทเอกชน เช่น โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย และบางกอกอินดัสเทรียลแก๊ส เพื่อผลักดันการใช้งานจริงอย่างต่อเนื่อง
การยกระดับคุณภาพชีวิตคนไทยด้วยการแพทย์จีโนมิกส์
การแพทย์จีโนมิกส์เป็นแนวทางการรักษาสมัยใหม่ที่ใช้ข้อมูลพันธุกรรมของแต่ละบุคคลในการวินิจฉัยและรักษาโรคอย่างแม่นยำ ลดการลองผิดลองถูกและลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น รัฐบาลได้ริเริ่มโครงการจีโนมิกส์ประเทศไทยตั้งแต่ปี 2563 - 2567 โดยมีเป้าหมายให้ไทยเป็นผู้นำด้านนี้ในอาเซียน และให้ประชาชนเข้าถึงบริการอย่างทั่วถึง โดยมุ่งเน้นใน 5 กลุ่มโรคหลัก ได้แก่ โรคหายาก โรคมะเร็ง โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง โรคติดเชื้อ และเภสัชพันธุศาสตร์ สวทช. มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านข้อมูลขนาดใหญ่ เชื่อมโยงข้อมูลจีโนมให้แพทย์นำไปใช้จริง กระจายโอกาสทางการแพทย์สู่ภูมิภาค และเสริมศักยภาพบุคลากรด้านสาธารณสุข เทคโนโลยีนี้ช่วยลดผลข้างเคียงจากการรักษา ป้องกันโรคล่วงหน้า และลดค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพในระยะยาว ทำให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และช่วยวางแผนการมีบุตรที่ปลอดภัย ด้วยการสนับสนุนจาก สวทช. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โครงการนี้จะช่วยให้ไทยก้าวสู่การเป็นผู้นำด้านการแพทย์จีโนมิกส์ในภูมิภาค และสร้างระบบสาธารณสุขที่ทันสมัยเพื่อประชาชน
Gunther IMU และ Janine Application อุปกรณ์และแอปพลิเคชันแจ้งเตือนท่าทางและการพลัดตกหกล้ม Gunther IMU เป็นอุปกรณ์อัจฉริยะที่ทำหน้าที่ตรวจจับและบ่งชี้การเคลื่อนไหวด้วยระบบปัญญาประดิษฐ์ ทีมวิจัยได้ออกแบบให้มีขนาดเล็ก น้ำหนักเบา สามารถติดตั้งร่วมกับเสื้อผ้าได้อย่างกลมกลืน ทำให้ผู้ใช้สามารถสวมใส่ได้ตลอดทั้งวันโดยไม่รู้สึกรำคาญหรือเกะกะ อุปกรณ์ Gunther IMU นี้จะทำงานคู่กับ Janine Application ซึ่งเป็นแอปพลิเคชันที่เอ็มเทคพัฒนาขึ้น ทำหน้าที่แสดงผลท่าทางและการเคลื่อนไหวของผู้ใช้งานแบบทันท่วงที โดยจะแจ้งเตือนทันทีเมื่อตรวจพบว่า ผู้ใช้อยู่ในท่าทาง หรือมีการเคลื่อนไหวที่มีความเสี่ยงต่อการบาดเจ็บ ช่วยให้ผู้ใช้สามารถปรับท่าทางให้ถูกต้องและปลอดภัยได้อย่างทันท่วงที นอกจากนี้ ระบบยังแจ้งเตือนผู้ดูแลเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน เหมาะสำหรับผู้สูงอายุและกลุ่มที่ต้องการป้องกันอาการบาดเจ็บจากท่าทางผิดปกติ โครงการนี้เกิดขึ้นจากความร่วมมือเชิงบูรณาการระหว่างเอ็มเทค สวทช. กับเครือข่ายพันธมิตรด้านการวิจัยและสาธารณสุขชั้นนำของประเทศ ประกอบด้วย สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) และสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต รองรับสังคมผู้สูงอายุ และส่งเสริมสุขภาพเชิงป้องกัน
นวัตกรรมระบบบำบัดน้ำเสียสำหรับโรงเลี้ยงของกองพันทหารราบ โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า
สวทช. โดย ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) พัฒนานวัตกรรมระบบบำบัดน้ำเสียสำหรับโรงเลี้ยงของกองพันทหารราบ โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า เพื่อแก้ไขปัญหาการจัดการน้ำเสียที่ยังไม่สมบูรณ์ของโรงเลี้ยง ระบบประกอบด้วยการรวบรวมน้ำเสีย คัดแยกเศษอาหาร ดักไขมัน และ Moving Bed Biofilm Reactor (MBBR) ที่ใช้ตัวกลางชีวภาพเคลือบนาโนวัสดุเพิ่มประสิทธิภาพการย่อยสลายสารอินทรีย์ พร้อมนวัตกรรมเคลือบหัวเติมอากาศเพื่อลดการอุดตันและยืดอายุการใช้งาน ระบบนี้ใช้พลังงานแสงอาทิตย์ช่วยลดต้นทุน มีเซนเซอร์ตรวจวัดคุณภาพน้ำแบบเรียลไทม์เชื่อมต่อผ่าน IoT platform สำหรับติดตามและปรับปรุงประสิทธิภาพอย่างต่อเนื่อง เป็นตัวอย่างการนำนวัตกรรมวิจัยไปใช้แก้ปัญหาจริงที่พร้อมขยายผลสู่หน่วยงานอื่นที่มีข้อจำกัดด้านพื้นที่และพลังงาน
ข้าวสายพันธุ์ใหม่กับการยกระดับประสิทธิภาพการผลิตข้าวพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้
สวทช. โดยสถาบันการจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตร (สท.) และศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) ร่วมกับกรมการข้าว กรมส่งเสริมการเกษตร มหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ดำเนินโครงการยกระดับประสิทธิภาพการผลิตข้าวของเกษตรกรในพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ ผ่านการพัฒนาและส่งเสริมการใช้ข้าวสายพันธุ์ใหม่ 6 สายพันธุ์ ควบคู่กับการถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวตามมาตรฐาน GAP Seed เพื่อเพิ่มผลผลิต ลดปริมาณเมล็ดพันธุ์ที่ใช้ต่อไร่ และสนับสนุนให้เกษตรกรสามารถผลิตเมล็ดพันธุ์คุณภาพดีไว้ใช้เองได้ โดยมีเกษตรกรเป้าหมาย 510 ราย จาก 11 กลุ่ม ในพื้นที่ อ.ท่าตูม และ อ.ชุมพลบุรี จ.สุรินทร์ และ อ.พยัคฆภูมิพิสัย จ.มหาสารคาม โครงการนี้ช่วยให้เกษตรกรลดต้นทุนการใช้เมล็ดพันธุ์ต่อไร่ พัฒนาแปลงต้นแบบผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวคุณภาพดี และขยายโอกาสทางการตลาดผ่านข้าวสายพันธุ์ใหม่ เช่น หอมสยาม 2 ที่ให้ผลผลิตสูงขึ้นเมื่อเทียบกับพันธุ์เดิม รวมถึงข้าวสีโภชนาการสูงอย่าง นิลละมุน แดงจรูญ และไรซ์เบอร์รี่ 2 ที่ตอบโจทย์ตลาดข้าวเพื่อสุขภาพ นอกจากนี้ โครงการยังพัฒนาเกษตรกรต้นแบบที่สามารถตรวจสอบแปลงนาและผลิตข้าวคุณภาพสูงได้ด้วยตนเอง ซึ่งเป็นก้าวสำคัญในการสร้างความยั่งยืนให้กับการปลูกข้าวในพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ ทั้งในด้านผลผลิต คุณภาพ และความสามารถในการพึ่งพาตนเองของเกษตรกร
กิจกรรมสาธิตหุ่นยนต์ NSTDA Micro-Mouse
‘ทีม BRR ROBOT’ จากโรงเรียนเบญจมราชรังสฤษฎิ์ จ.ฉะเชิงเทรา แชมป์การแข่งขันหุ่นยนต์นำทางในเขาวงกต NSTDA Micro-Mouse Contest ครั้งที่ 1 ซึ่งจัดขึ้นโดย สวทช. ระหว่างวันที่ 15 - 18 กุมภาพันธ์ 2568 โดยมีผู้สมัครเข้าร่วมการแข่งขันทั้งหมด 404 ทีมจากทั่วประเทศ กิจกรรมนี้มีเป้าหมายเพื่อสร้างแรงบันดาลใจด้าน AI และนวัตกรรม ส่งเสริมการเรียนรู้ผ่านเวิร์กช็อปและการแข่งขันที่เกี่ยวข้องกับ AI ภายในงาน NAC 2025 เยาวชนสามารถทดลองเล่นและเรียนรู้จากหุ่นยนต์นำทางในเขาวงกต NSTDA Micro-Mouse ซึ่งจะช่วยเสริมทักษะด้านวิทยาศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ และนวัตกรรม โดยกิจกรรมสาธิตจะจัดขึ้นที่บ้านวิทยาศาสตร์สิรินธร ในช่วงบ่ายของวันที่ 27 และ 28 มีนาคมตลอดทั้งวัน
งานประชุมวิชาการประจำปี สวทช. ครั้งที่ 20 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 26 – 28 มีนาคม 2568 เพื่อเป็นเวทีนำเสนอผลงานของบุคลากรวิจัย เปิดโอกาสให้มีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ และเรียนรู้ร่วมกันกับเครือข่ายพันธมิตรทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชน ภายในงานยังมีกิจกรรม NAC Market 2025 ตลาดนัดจำหน่ายสินค้านวัตกรรมจากงานวิจัย รวมถึงสินค้าชุมชนจากเครือข่าย สวทช. ในราคาพิเศษ ผู้สนใจสามารถเข้าร่วมงานได้ฟรีตลอดงาน ณ อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี
#NAC2025 #AIforSustainableThailand #NSTDA #วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี #AI #การประชุมวิชาการ #สวทช #กระทรวงอว #ThailandInnovation #SustainableFuture
บทความยอดนิยม 10 อันดับ
- ยอดขายรถยนต์ 2567
- 10 อันดับธุรกิจดาวรุ่ง ปี 2568
- คาร์บอนเครดิต คือ
- ยอดขายมอเตอร์ไซด์ 2567
- “ยานยนต์ไร้คนขับ” กับทิศทางการเติบโตในปี 2022-2045
- ยอดลงทุนปี 67 ทะลุ 1 ล้านล้านบาท สูงสุดเป็นประวัติการณ์
- ยอดจดทะเบียนใหม่ยานยนต์ไฟฟ้า 2567
- สถิติส่งออกกลุ่มยานยนต์และชิ้นส่วนไทยปี 2567
- เทคโนโลยีในงานโลจิสติกส์ มีอะไรบ้าง
- 5 เทคนิค “มือใหม่ใช้เครื่อง CNC”
อัปเดตข่าวทุกวันที่นี่ www.mreport.co.th
Line / Facebook / X / YouTube @MreportTH