รัฐเดินหน้าเลิกใช้เตา IF เพื่อมาตรฐานเหล็กไทยและความปลอดภัยของประชาชน

รัฐเดินถูกทาง! ยกเลิกเตา IF เพื่อมาตรฐานเหล็กไทย–ความปลอดภัยประชาชน

อัปเดตล่าสุด 9 พ.ค. 2568
  • Share :

กูรูเหล็กหนุนยกเลิกเตา IF ชี้เสี่ยงผลิตเหล็กไม่ได้มาตรฐาน หนุนรัฐยึดความปลอดภัยประชาชนเป็นหลัก

8 พฤษภาคม 2568 - นายวิกรม วัชระคุปต์ กรรมการบริหารสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมเหล็กมานานกว่า 50 ปี โดยมีประสบการณ์สูงทั้ง ประธานคลัสเตอร์วัสดุก่อสร้าง ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมเหล็ก สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ผู้อำนวยการสถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย รองผู้อำนวยการสถาบันโลหะและวัสดุ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้แสดงความเห็นสนับสนุนแนวทางของกระทรวงอุตสาหกรรมในการยกเลิกการใช้เตาอินดักชัน (Induction Furnace – IF) สำหรับการผลิตเหล็กในประเทศไทย โดยระบุว่าเตา IF มีข้อจำกัดสำคัญในการควบคุมคุณภาพของเหล็กให้ได้มาตรฐานตลอดชิ้นงาน ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยในโครงสร้างอาคาร โดยเฉพาะในกรณีเกิดภัยพิบัติหรือเหตุไม่คาดฝัน

 

นายวิกรม วัชระคุปต์ กรรมการบริหารสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย 

ในอดีต มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) ของประเทศไทยกำหนดให้การผลิตเหล็กเส้นก่อสร้างสามารถใช้ได้เฉพาะกระบวนการถลุงเหล็กหรือเตาหลอมไฟฟ้า (Electric Arc Furnace – EAF) เท่านั้น อย่างไรก็ตาม ในปี 2559 มีการปรับมาตรฐานให้สามารถใช้เตา IF ได้ ซึ่งเป็นช่วงเดียวกับที่ประเทศจีนมีนโยบายปิดโรงงาน IF เพื่อควบคุมมลภาวะจากวัตถุดิบคุณภาพต่ำ ทำให้โรงงานจำนวนหนึ่งย้ายฐานการผลิตมายังอาเซียนบางประเทศ รวมถึงประเทศไทยด้วย

“แม้เตา IF จะเหมาะสมกับการผลิตเหล็กชนิดพิเศษ เช่น เหล็กหล่อ หรือสแตนเลส ซึ่งต้องการการควบคุมทางเคมีอย่างแม่นยำ แต่เมื่อนำมาใช้กับการผลิตเหล็กก่อสร้างที่ใช้เศษเหล็กทั่วไปเป็นวัตถุดิบ เตา IF ไม่สามารถกำจัดสารเจือปนในระดับที่ปลอดภัยได้อย่างมีประสิทธิภาพเท่ากับเตา EAF ซึ่งอาจส่งผลให้เหล็กที่ได้มีคุณภาพไม่สม่ำเสมอ และไม่สามารถรับแรงได้ตามที่ออกแบบไว้” นายวิกรมกล่าว

ล่าสุดในการประชุมสายงานส่งเสริมและสนับสนุนอุตสาหกรรม ซึ่งมีนายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เป็นประธาน ที่ประชุมได้มีการหารือในประเด็นดังกล่าวอย่างเข้มข้น และเน้นย้ำว่าการพัฒนาอุตสาหกรรมเหล็กของประเทศไทยต้องมุ่งสู่การผลิตสินค้าที่มีคุณภาพสูง แข็งแรง และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพื่อรองรับการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า ลดปริมาณเหล็กที่ใช้ และช่วยลดการปล่อยคาร์บอนในระยะยาว ความมั่นใจในคุณภาพของเหล็กจึงเป็นปัจจัยสำคัญที่สุด โดยเฉพาะเมื่อเกี่ยวข้องกับชีวิตและความปลอดภัยของประชาชน ทั้งนี้ กระบวนการผลิตที่ใช้เตา EAF มีศักยภาพในการควบคุมสารปนเปื้อนได้ดีกว่า โดยสามารถปรับคุณภาพของน้ำเหล็กให้เหมาะสมกับการผลิตเหล็กเส้นที่มีความแข็งแรงและทนทาน เพื่อใช้ในการก่อสร้างอาคารและโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ได้อย่างปลอดภัย

นายวิกรมกล่าวส่งท้ายว่า ผู้ผลิตเหล็กที่ใช้เทคโนโลยี EAF มีจำนวนและกำลังการผลิตเกินพอรองรับความต้องการของตลาดในประเทศไทย อีกทั้งการผลิตเหล็กยังครอบคลุมหลากหลายประเภท ไม่จำกัดเฉพาะเหล็กเส้น ดังนั้น การยกเลิกเตา IF จะไม่ส่งผลให้สินค้าเหล็กขาดแคลนสินค้าเหล็กอย่างใด 

 

#เตาIF #เหล็กไม่ได้มาตรฐาน#เหล็กไทย #กระทรวงอุตสาหกรรม #มาตรฐานเหล็ก #EAF  #InductionFurnace #MReportTH #IndustryNews

 

บทความยอดนิยม 10 อันดับ

 

อัปเดตข่าวทุกวันที่นี่ www.mreport.co.th   

Line / Facebook / X / YouTube @MreportTH